×

ทำไมคนเกลียดความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากกลุ่มคนร่ำรวย แต่กลับชื่มชมมหาเศรษฐีอย่าง ‘บิล เกตส์’ และ ‘อีลอน มัสก์’

28.10.2021
  • LOADING...
ความเหลื่อมล้ำ

ผู้คนส่วนใหญ่ต่างเกลียดความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำทางรายได้ แต่ทำไมอภิมหาเศรษฐีอย่างบิล เกตส์ และ อีลอน มัสก์ กลับเป็นที่ชื่นชอบของผู้คน ล่าสุดนักจิตวิทยาและนักการตลาดได้ทำการวิจัยถึงความขัดแย้งนี้ โดยมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอและมหาวิทยาลัยคอร์เนลได้ตีพิมพ์งานวิจัยฉบับใหม่เมื่อ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า เหตุใดผู้คนจึงมักชื่นชอบมหาเศรษฐีเป็นรายคนไป แต่กลับไม่ชอบกลุ่มคนที่มีชนชั้นรายได้ระดับสูงมากๆ โดยรวม 

 

งานวิจัยนี้มีผู้เข้าร่วม 2,800 คน ในการทดลอง 8 แบบที่แตกต่างกัน พบว่าผู้คนส่วนใหญ่มักเชื่อว่าคนที่ร่ำรวยได้แต่ละคน ร่ำรวยขึ้นมาได้เพราะพวกเขาฉลาด มีความสามารถ และขยัน ซึ่งสมควรได้รับความมั่งคั่งเหล่านั้น 

 

แต่เมื่อพูดถึงกลุ่มบุคคลที่ร่ำรวยอย่างผู้บริหารระดับสูง C-Suite ไม่ว่าจะเป็นระดับ CEO, CFO และ COO หรือกลุ่มผู้ที่มีรายได้สูงสุด 1% ของชาวอเมริกัน คนส่วนใหญ่กลับให้ความเห็นในเชิงถากถางมากกว่าชื่นชม 

 

“ความมั่งคั่งของคนกลุ่มนี้มาจากโชคและระบบเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยต่อพวกเขา” เจสซี วอล์กเกอร์ หัวหน้าทีมวิจัย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการตลาดของ Fisher College of Business ของมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตต กล่าว

 

ในการทดลองหนึ่ง ผู้เข้าร่วมได้อ่านข้อเท็จจริงเดียวกันที่ว่าเงินเดือนของ CEO ของบริษัทที่ใหญ่ที่สุด 350 แห่งในอเมริกา มีเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ปกติได้เงินเดือนเป็น 48 เท่าของเงินเดือนพนักงานโดยเฉลี่ยในปี 1995 แต่ในปัจจุบันเพิ่มเป็น 372 เท่าของเงินเดือนพนักงานโดยเฉลี่ย ซึ่งผู้เข้าร่วมทดลองมีความคิดเห็นแตกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่หนึ่งจับใจความได้ว่าเงินเดือนของ CEO ทั้งหมดโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่อีกกลุ่มจับใจความได้ว่ามีแค่ CEO เฉพาะในบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้นที่เงินเดือนเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้เข้าร่วมจำนวนมากที่อยู่ในกลุ่มที่สองกล่าวว่า CEO ก็สมควรได้รับมากกว่าพนักงานทั่วไปอยู่แล้ว

 

การค้นพบนี้อาจนำไปปรับใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงได้ โดยวอล์กเกอร์กล่าวว่า รัฐบาลและสื่อต่างๆ ที่ต้องการพูดเกี่ยวกับเรื่องความมั่งคั่งและความไม่เท่าเทียมกัน สามารถมีอิทธิพลต่อความคิดของประชาชนที่มีต่อความเหลื่อมล้ำทางรายได้ได้ และสามารถทำให้ผู้คนมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการเก็บภาษีความมั่งคั่งกับเหล่าเศรษฐี เมื่อสื่อสารว่าเป็นเรื่องที่พูดถึงกลุ่มมหาเศรษฐี ไม่ใช่พูดถึงมหาเศรษฐีเป็นรายบุคคล

 

เรื่องความเหลื่อมล้ำนี้เห็นได้ชัดเจนอย่างยิ่งในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด เนื่องจากมหาเศรษฐีชาวอเมริกันต่างๆ ยังคงทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง และมหาเศรษฐีเหล่านี้รวยขึ้นถึง 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 70 ล้านล้านบาท ในช่วงการระบาดใหญ่ ซึ่งความมั่งคั่งรวมของพวกเขาเพิ่มขึ้นถึง 70% ตามข้อมูลที่วิเคราะห์โดยกลุ่มผู้สนับสนุนการเก็บภาษีคนรวยอย่าง Americans for Tax Fairness และ Institute for Policy Studies 

 

แต่มหาเศรษฐีบางคนก็ได้ออกมาพูดเกี่ยวกับการลดความเหลื่อมล้ำในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น เกตส์ เขียนในโพสต์เมื่อเดือนธันวาคม 2019 ว่าเขาสนับสนุนการเก็บภาษีที่สูงขึ้นในกำไรที่ได้จากการลงทุน และการเพิ่มภาษีเงินได้ในรัฐวอชิงตันซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาเอง 

 

“ผมได้รับรางวัลอย่างไม่สมส่วนในงานที่ผมทำ ในขณะที่คนอื่นๆ อีกหลายคนที่ทำงานหนักพอๆ กับผม กลับต้องดิ้นรนอย่างมากเพื่อให้ได้มา” เกตส์เขียน โดยในขณะนั้นเกตส์มีความมั่งคั่งสุทธิอยู่ที่ 109 พันล้านดอลลาร์ (3.6 ล้านล้านบาท) ตามข้อมูลของ Forbes และในวันนี้ความมั่งคั่งสุทธิของเขาอยู่ที่ 134 พันล้านดอลลาร์ (4.4 ล้านล้านบาท) ทำให้เขากลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 4 ของโลก 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising