×

ทำไมเปิดเมืองแล้วเศรษฐกิจยัง ‘บ้ง’

08.09.2021
  • LOADING...
เศรษฐกิจพัง

เมื่อวันที่ 1 กันยาที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรกของการคลายล็อกดาวน์ในจังหวัดพื้นที่เสี่ยงสูงสุด เชื่อว่าหลายท่านคงมีโอกาสได้ออกนอกบ้านมากขึ้น ไปร้านอาหาร ร้านตัดผม สวนสาธารณะ หรือที่อื่นๆ ที่ไม่สามารถไปได้ในช่วงล็อกดาวน์นับแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมาที่ผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงขึ้น ซึ่งมาตรการผ่อนคลายที่มากขึ้นนับเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคบริการต่างๆ การบริโภคภาคเอกชนน่าจะขยับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าได้ 

 

ภาพการเปิดเมืองพร้อมกับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่ลดลงเช่นนี้จะทำให้นักเศรษฐศาสตร์ปรับมุมมองเศรษฐกิจขึ้นได้หรือไม่ ในช่วงที่ตัวเลขเศรษฐกิจยังไม่ได้อัปเดต การฉายภาพอนาคตคงต้องอาศัยการเดินถนนซอกแซกถามผู้คนตามสไตล์ ‘ซอกแซกเศรษฐศาสตร์’ เพื่อหาคำตอบกันว่าตกลงเศรษฐกิจจะฟื้นเร็วหรือไม่

 

สิ่งที่ผมได้สอบถามพ่อค้าแม่ขาย และเดินสำรวจในที่ต่างๆ ผมกลับได้มุมมองว่า เศรษฐกิจยัง ‘บ้ง’ คนค้าขายจะ ‘ตุยไปสู่ขิต’ แล้ว… เอาภาษาวิชาการละกัน ก่อนจะอ่านต่อไม่รู้เรื่อง คือการบริโภคภาคเอกชนหลังเปิดเมืองรอบนี้ขาด Pent-Up Demand หรือการเร่งตัวหลังอัดอั้นการใช้จ่ายมานาน 

 

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ผมมองว่า เพราะเราขาด 4 ปัจจัยสนับสนุน

 

1. จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังสูงหลักหมื่น แม้จะลดลงจากเดือนก่อนก็ตาม แต่มีส่วนสำคัญให้คนระวังการออกนอกบ้าน

2. การฉีดวัคซีนยังล่าช้า ซึ่งผู้ที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็มมีสัดส่วนราว 10% ของประชากรเท่านั้น และบางส่วนอาจมีความกังวลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนที่ได้รับต่อการป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลตา ซึ่งความล่าช้าในการกระจายวัคซีนและประสิทธิภาพของวัคซีนมีผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคในการใช้จ่ายและการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ

3. คนห่วงความมั่นคงทางการงาน หรือ Job Security ห่วงตกงานหรือถูกลดเงินเดือนหลังเปิดเมือง นั่นเพราะบริษัท ร้านค้า สถานประกอบการ อาจเลือกที่จะปรับลดขนาดลง โดยเฉพาะหากหมดมาตรการช่วยเหลือจากประกันสังคมแต่ยอดขายยังไม่ฟื้น

4. การฟื้นตัวรอบนี้ขาดมาตรการกระตุ้นทางการคลังเพื่อเร่งการใช้จ่าย โดยเฉพาะมาตรการโอนเงินเข้ากระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดภาระค่าครองชีพ หรือให้เงินโอนอื่นๆ ด้วยปัจจัยเหล่านี้ผมจึงประเมินว่า การใช้จ่ายของคนหลังเปิดเมืองรอบนี้อาจไม่หวือหวาเหมือนการเปิดเมืองในปีที่แล้ว แต่ก็นับว่าดีกว่าที่ประมาณการไว้ก่อนหน้าว่าจะเริ่มเปิดเมืองได้ในเดือนตุลาคม ซึ่งการเปิดได้เร็วก็มีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจไทยบ้าง แต่ที่ยังห่วงตอนนี้น่าจะไม่ใช่ภาคบริการในส่วนของการบริโภคเอกชน

 

สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์กังวลในขณะนี้น่าจะเป็นเรื่องการระบาดของโควิดที่ลามจากภาคบริการไปสู่ภาคอุตสาหกรรม และกำลังกระทบกับแนวโน้มการส่งออกในอนาคต เพราะเกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก (Supply Chain Disruption) สิ่งที่โรงงานหลายแห่งกำลังเผชิญอยู่ในวันนี้คือ กำลังการผลิต หรือ Capacity Utilization Rate (CapU) ที่ลดลง 

 

โดยเฉพาะในหมวดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เช่น ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอาหารแปรรูป ซึ่งการลดลงของกำลังการผลิตกระทบกับชั่วโมงการทำงานของแรงงาน ทำให้รายได้นอกภาคการเกษตรลดลง หลังจากที่ผมมีโอกาสสัมภาษณ์และแลกเปลี่ยนมุมมองด้านเศรษฐกิจกับหน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการในโรงงานต่างๆ จำนวนมาก ผมพบว่า ภาคการผลิตกำลังเผชิญปัญหาสำคัญอยู่ 2 ประการ 

 

ประการแรกคือ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และประการที่ 2 คือ ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบจากต่างประเทศ ปัญหาขาดแคลนแรงงานเกิดขึ้นมาก่อนหน้าการระบาดรอบนี้แล้ว จากแรงงานต่างด้าวที่ทยอยเดินทางออกนอกประเทศจากความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจ และปัญหาการระบาดของโควิดในปีก่อนและยังไม่ได้เดินทางกลับเข้ามา และปัญหารุนแรงขึ้นหลังสงกรานต์ที่ผ่านมาจากแรงงานไทยในภาคอุตสาหกรรมได้เดินทางกลับต่างจังหวัดและยังไม่กลับเข้ามาทำงานมากนัก จึงทำให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนกระทบกับกำลังการผลิตของโรงงาน ในส่วนของการขาดแคลนวัตถุดิบจากต่างประเทศเกิดขึ้น โดยเฉพาะในหมวดชิปอิเล็กทรอนิกส์ (Semiconductor Chip) ทำให้ต้องชะลอการผลิตลง และปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งกระทบกับภาคการส่งออกที่ทำให้ต้นทุนการขนส่งแพงขึ้น 

 

นอกจากนี้ทางภาคอุตสาหกรรมพยายามที่จะป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสไม่ให้เข้าสู่โรงงาน โดยได้มีมาตรการจำกัดพื้นที่และคัดแยก เช่น Bubble and Seal หรือ Factor Isolation ซึ่งก็อาจสามารถทำได้ในโรงงานขนาดใหญ่ ขณะที่โรงงานขนาดเล็กยังมีปัญหาหรือขาดศักยภาพในการคัดแยก ซึ่งอาจจะทำให้ไม่สามารถที่จะผลิตสินค้าขั้นกลางหรือวัตถุดิบป้อนโรงงานขนาดใหญ่ได้ จนโรงงานขนาดใหญ่ที่แม้ควบคุมการระบาดได้ดีก็อาจต้องลดกำลังการผลิตลงจนกระทบผ่านการส่งออกในที่สุด ซึ่งความไม่แน่นอนในภาคการผลิตและการส่งออกนี้อาจมีผลให้นักเศรษฐศาสตร์ยังคงกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จนยังไม่ปรับขึ้นการคาดการณ์ในช่วงนี้

 

เพิ่งเปิดเมือง อย่าขู่ว่าจะกลับมาปิดอีกรอบสิครับ

 

ตัวเลขการระบาดที่ลดลงในรอบนี้อาจจะอาศัย ‘บุญเก่า’ หรือการปิดเมืองที่ทำในช่วงก่อนหน้า ดังนั้นหลังเปิดเมืองแล้ว หากยอดจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้น เราอาจจะมีการกลับไปใช้มาตรการเข้มงวดกันใหม่ หรือมีการปิดเมืองกันอีกรอบ แต่ถ้าหากคนไทยได้รับการฉีดวัคซีนครบสองเข็มได้เร็ว เราคงสามารถควบคุมการระบาดได้ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน ยกเว้นหากมีความล่าช้าในการกระจายวัคซีนหรือมีไวรัสกลายพันธุ์เพิ่มเติม หรือมีข้อจำกัดอื่นๆ ก็อาจจะทำให้มีการปิดเมืองเกิดขึ้นใหม่ที่ลากยาวได้ 

 

ทั้งนี้ การปิดเมืองรอบหน้านี้อาจมีร้านค้าหรือธุรกิจบางกลุ่มได้รับผลกระทบไม่มาก เช่น กลุ่มอาหารแปรรูปและกลุ่มเครื่องดื่ม โดยเฉพาะในร้านค้าปลีก ค้าส่ง ซึ่งอาจจะลดลงชั่วคราวก่อนที่จะฟื้นตัวได้เร็วหลังจากมีการเปิดเมืองหรือมีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น แต่ในส่วนของร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านขนาดเล็กที่มีต้นทุนสูงและมีการจำกัดพื้นที่ค่อนข้างมาก อาจมีความเป็นไปได้ที่การปิดเมืองในรอบต่อไปเราอาจเริ่มเห็นการเลิกจ้างคนงาน หรือมีการลดขนาดของธุรกิจลง เพื่อให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่นและคล่องตัวต่อการดำเนินการได้มากขึ้น 

 

ดังนั้นเราอาจจะเห็นเศรษฐกิจไทยที่ยังคงเปราะบางอยู่ในช่วงไตรมาสที่ 4 นี้ แม้ต่อให้ไม่มีการปิดเมือง นักเศรษฐศาสตร์ก็กังวลต่อการบริโภคที่อ่อนแอ กำลังการผลิตที่ลดลงกระทบการส่งออก และมาตรการกระตุ้นจากคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยที่ไม่ได้ปังเท่าปีก่อน จึงยังรีรอปรับตัวเลขเศรษฐกิจรับการเปิดเมืองรอบนี้ครับ

FYI

บ้ง หมายถึง ไม่ได้ตามที่คาดหวังเอาไว้

ตุย หมายถึง ตาย

สู่ขิต หมายถึง สู่สุคติ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising