×

ทำไมโอมิครอนถึงไม่ใช่ ‘วัคซีนเชื้อเป็น’ และเมื่อไรจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น

06.01.2022
  • LOADING...
โอมิครอน

โอมิครอนแพร่กระจายเร็ว แต่มีความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา จึงมีผู้เชี่ยวชาญเปรียบเทียบโควิดสายพันธุ์ล่าสุดนี้ว่า ‘วัคซีนเชื้อเป็น’ แต่ทำไมผู้เชี่ยวชาญบางท่านถึงไม่เห็นด้วย ส่วนในภาพใหญ่โควิดจะกลายเป็น ‘โรคประจำถิ่น’ (Endemic) ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ประกาศว่าปีนี้จะใช้แนวคิด ‘Moving to COVID-19 Endemic’ เราจะชะลอการระบาดของโอมิครอนให้เข้าสู่ระยะโรคประจำถิ่นได้อย่างไร

 

#โอมิครอนรุนแรงน้อยกว่าเดลตา

 

เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 มีความเห็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางของ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธว่า “ไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจมากเกินไป” กับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน

 

ประโยคนี้มาจากเพจเฟซบุ๊กของ นพ.มนูญ ว่า “หลังวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่นี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะก้าวกระโดดหลายหมื่นคนแต่ละวันในไม่ช้า แต่คนไทยไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจมากเกินไป” เพราะไวรัสวิวัฒนาการเปลี่ยนไปจากเดิมมากโดย

 

“ปรับตัวเองให้เข้ากับคนได้ดียิ่งขึ้น แพร่จากคนสู่คนง่ายขึ้น ลดระยะฟักตัว และเปลี่ยนจากการก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจอักเสบทั้งส่วนบนและส่วนล่างรุนแรงเฉียบพลัน กลายเป็นเชื้อโคโรนาไวรัสที่ทำให้เกิดหวัดเล็กธรรมดา ไม่รุนแรง เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ค่อยลงปอด” เหมือนกับไวรัสโคโรนา 4 สายพันธุ์ก่อนหน้าซึ่ง “ผู้ใหญ่มักไม่ติดเชื้อนี้ เพราะมีภูมิต้านทานตามธรรมชาติ เนื่องจากเกือบทุกคนเคยติดเชื้อนี้มาแล้วสมัยเป็นเด็ก”

 

นพ.มนูญทิ้งท้ายไว้ว่า “อนาคตเราคงไม่ต้องมาฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 เข็ม 4 กันอีก เพราะเราทุกคนได้รับเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน เปรียบเสมือนวัคซีนธรรมชาติชนิดตัวเป็นอ่อนฤทธิ์ (Live Attenuated Vaccine) กระตุ้นภูมิต้านทานได้ดีกว่าวัคซีนทุกชนิดที่มีในปัจจุบัน อนาคตของบริษัทผลิตวัคซีนต่อต้านไวรัสโควิดคงไม่รุ่งเหมือนช่วงที่ผ่านมา”

 

#โอมิครอนไม่ใช่วัคซีนเชื้อเป็น

 

ประเด็น ‘วัคซีนธรรมชาติ’ นี้มีผู้เชี่ยวชาญที่เห็นต่างออกไปว่าโอมิครอนไม่ใช่วัคซีน ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัส ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นในวันเดียวกันว่า

 

“วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ ไม่ทำให้ผู้รับวัคซีนมีอาการป่วยใดๆ ถ้าวัคซีนตัวนั้นยังคงทำให้คนเสียชีวิตได้ เข้า ICU ได้ และที่สำคัญมีอาการลองโควิด (Long COVID) ได้ ผมไม่นิยามสิ่งนั้นว่าวัคซีนครับ” นั่นคือต้องระมัดระวังว่าถึงแม้โอมิครอนจะเป็น ‘เชื้อเป็น’ ที่ ‘อ่อนฤทธิ์’ ลง แต่โอมิครอนก็สามารถก่อโรครุนแรงถึงเสียชีวิต และมีผลข้างเคียงระยะยาวอยู่

 

ตามหลักการแล้ว ‘วัคซีนเชื้อเป็น’ จะหมายถึง วัคซีนที่ผลิตขึ้นจากการทำให้เชื้อโรคอ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถเกิดโรค แต่เพียงพอที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (MMR) วัคซีนโปลิโอชนิดกิน ในขณะที่โอมิครอนยังเป็น ‘เชื้อโรค’ ที่สามารถแพร่กระจายและเกิดโรคได้ ข้อมูลที่แอฟริกาใต้พบว่าระลอกโอมิครอนมีผู้ป่วยอาการรุนแรงลดลงประมาณ 60% แต่กลุ่มผู้สูงอายุและโรคประจำตัวยังเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรงอยู่

 

สิ่งที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับโอมิครอนอีกอย่างหนึ่งคือภาวะลองโควิด ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นหลังหายจากติดเชื้อโควิดแล้วว่าพบเหมือนสายพันธุ์ก่อนหน้าหรือไม่ ยิ่งระลอกโอมิครอนพบเด็กและวัยรุ่นติดเชื้อเพิ่มขึ้น ก็อาจพบภาวะนี้เพิ่มขึ้น

 

ดังนั้นในการสื่อสารต้องแยกเรื่อง ‘ไวรัสและภูมิคุ้มกันหลังการติดเชื้อ’ และ ‘วัคซีน’ ออกจากกัน โดย ดร.อนันต์ทิ้งท้ายว่า “เราบังเอิญติดเชื้อจากธรรมชาติแล้วอาการไม่รุนแรง หายเองได้ แล้วมีภูมิเป็นสิ่งดี แต่สิ่งนั้นไม่ใช่วัคซีน”

 

#ชะลอการระบาดและเร่งฉีดวัคซีน

 

ในระดับ ‘บุคคล’ เมื่อได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม และมีข้อมูลว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง (อาจเป็นผลทั้งจากไวรัสที่กลายพันธุ์และภูมิคุ้มกันจากวัคซีน) จึงต้องการดำเนินชีวิตให้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด ส่วนเมื่อติดเชื้อ ผู้ป่วยสีเขียวก็สามารถแยกรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรของโรงพยาบาล

 

แต่ในระดับ ‘สังคม’ ถ้ามีการระบาดเป็นวงกว้าง สัดส่วนผู้ป่วยอาการหนักซึ่งคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำ x จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว = อาจมีผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลได้ โดยเฉพาะถ้าการระบาดเข้าไปถึงกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ซึ่งในประเทศไทยยังมีผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคอีกประมาณ 30% ที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ 2 เข็ม

 

นพ.ศุภโชค เกิดลาภ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์เฟซบุ๊กถึงคำแนะนำส่วนตัวเกี่ยวกับการระบาดของโอมิครอนว่า 

 

  1. ใครยังไม่เคยฉีดต้องฉีดวัคซีนก่อน เพื่อลดความรุนแรง ถึงจะกันติดได้ไม่ 100% แต่ก็ยังช่วยลดการนอนโรงพยาบาลและเข้า ICU ได้ ส่วนใครฉีดแล้วอย่าลืมฉีดเข็มกระตุ้น (Booster) โดยข้อมูลเข็มกระตุ้นมากสุดตอนนี้คือวัคซีนชนิด mRNA (Pfizer หรือ Moderna)

 

  1. อย่าประมาทที่บอกว่าโอมิครอนกระจอก ไม่รุนแรง ไม่หนักมากนั้น อย่าลืมว่าในประเทศอย่างแอฟริกาใต้หรืออังกฤษ คนส่วนใหญ่ที่ติดโอมิครอนนั้นเป็นคนที่เคยฉีดวัคซีนหรือเคยติดเชื้อแล้วมีภูมิตามธรรมชาติ 

 

และหากไปดูที่สหรัฐอเมริกา จะพบว่าถึงอาการรุนแรงจะไม่มากเท่าเดลตา แต่ถ้าติดเชื้อกันวันละเป็นแสนๆ คน อย่างไรก็ยังต้องมีคนที่มีโอมิครอนลงปอดแล้วต้องนอนโรงพยาบาล ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจแน่นอน ซึ่งตอนนี้อัตราครองเตียงของอเมริกาก็เพิ่มมากขึ้น เริ่มตึงๆ มือเช่นกัน

 

ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย นพ.ศุภโชคเห็นว่า “เราเลี่ยงการระบาดไม่ได้ แต่เราสามารถชะลอได้โดยอาศัยการใช้/ปฏิบัติตามมาตรการทางสังคมควบคู่ไปด้วยกันกับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3

 

โดยโจทย์ที่ยากที่สุดคือ แค่ไหนเรียกว่าเพียงพอระหว่างการควบคุมโรคและการทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจสังคมของเรายังไปได้ โดยไม่ทำให้ระบบสาธารณสุขเกินศักยภาพ อันนี้ก็คงยาก และเป็นโจทย์ที่ต้องหาทางออกร่วมกัน”

 

#เดินหน้าสู่โรคประจำถิ่น

 

เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงแนวคิดในการควบคุมโควิดในปี 2565 นี้ว่าจะทำให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น (Moving to COVID-19 Endemic) เพื่อให้ทุกคนสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ หลังจากที่ใช้แนวคิดควบคุมโควิดให้เป็นศูนย์ (Zero COVID-19) ด้วยการล็อกดาวน์แบบประเทศจีนในปี 2563 และอยู่ร่วมกับโควิดและการเปิดประเทศอีกครั้ง (Living with COVID-19 and Re-opening Thailand) ในปี 2564

 

ปัจจัยที่จะทำให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น ไม่ได้เป็นเพราะไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งแพร่เชื้อได้เร็ว ติดง่ายขึ้น แต่อาการน้อย ไม่รุนแรงเท่านั้น แต่ต้องอาศัยความสมดุลระหว่างเชื้อโรค-คน-สิ่งแวดล้อม (Agent-Host-Environment)

 

โดยเชื้อโรคจะต้องอ่อนแรงลง ไม่ทำให้คนป่วยหนักหรือเสียชีวิต คนจะต้องมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น โดยเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ส่วนสิ่งแวดล้อมจะต้องมีการจัดการเพื่อลดความเสี่ยง และเตรียมความพร้อมระบบสาธารณสุขและยารองรับ

 

โอมิครอนแพร่ระบาดไปทั่วโลกมาประมาณ 1 เดือนแล้ว แต่บริบทของแต่ละประเทศก็แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการระบาดระลอกก่อนหน้า สัดส่วนของผู้ที่ได้รับวัคซีนและเข็มกระตุ้น มาตรการของรัฐและการปฏิบัติตามมาตรการของประชาชน ทำให้ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นแตกต่างกันออกไป ในขณะที่จะมั่นใจได้อย่างไรว่าไวรัสจะไม่กลายพันธุ์ต่อไปอีก

 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนคือผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งท้าทายความสามารถของรัฐบาลว่าจะกำหนดทิศทางการบริหารสถานการณ์อย่างไรให้สังคม เศรษฐกิจ และสาธารณสุขไปได้พร้อมกันทั้งในระดับประเทศและจังหวัด และสิ่งที่ต้องทำแน่นอนคือการเร่งฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนและเข็มกระตุ้นให้ผู้ที่ได้รับครบแล้วเกิน 3 เดือน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising