×

ทำไมถึงห้ามนั่งดื่มสุราในร้าน? และข้อสังเกตอื่นๆ ต่อการผ่อนคลายมาตรการของ ศบค.

01.02.2021
  • LOADING...
ทำไมถึงห้ามนั่งดื่มสุราในร้าน

HIGHLIGHTS

  • การผ่อนคลายมาตรการในระลอกนี้ถือว่าเร็วกว่าระลอกก่อนมาก ถึงแม้ในแต่ละวันยังพบผู้ป่วยรายใหม่เป็นหลักสิบ-ร้อยคนก็ตาม แต่ ศบค. น่าจะประเมินว่าเป็นระดับที่ ‘ควบคุมได้’ คือผู้ป่วยส่วนใหญ่ถูกตรวจพบจากการค้นหาเชิงรุก และมีโรงพยาบาล/โรงพยาบาลสนามรองรับเพียงพอ
  • มาตรการที่หลายคนสงสัยมากที่สุดอย่างหนึ่งคือการห้ามนั่งดื่มสุราในร้านอาหารว่าเกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด-19 อย่างไร เหตุผลหลักน่าจะเป็นเพราะการดื่มสุราจะทำให้เกิดการรวมตัวกัน เมื่อรวมตัวกันก็จะใช้ระยะเวลานานกว่าการรับประทานอาหารตามปกติ และนำไปสู่พฤติกรรมอื่นๆ ระหว่างการดื่มและหลังการดื่มที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อมากกว่า
  • ผลของมาตรการผ่อนคลายซึ่งจะเริ่มในสัปดาห์นี้น่าจะเริ่มเห็นแนวโน้มว่าแผนที่ประเทศไทยจะเปลี่ยนเป็นสีโทนร้อนขึ้นหรือเย็นลงภายใน 7-14 วันข้างหน้า ในขณะที่พื้นที่ที่พบผู้ป่วยอยู่ในขณะนี้อย่างสมุทรสาคร และ กรุงเทพมหานคร ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

เมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในหลายจังหวัดดีขึ้น ภาพแผนที่ประเทศไทยที่ ศบค. นำเสนอเริ่มมีสีเขียวมากขึ้น (ในแผนที่การระบาด สีเขียวหมายถึงจังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยมากกว่า 1 สัปดาห์ขึ้นไป) และเมื่อถึงกำหนดระยะเวลา 4 สัปดาห์ของ ‘มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ’ ที่ประกาศเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2564 ศบค. จึงเริ่มผ่อนคลายมาตรการในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ และนี่คือข้อสังเกตต่อการผ่อนคลายมาตรการครั้งนี้ 

 

ทำไมถึงห้ามนั่งดื่มสุราในร้าน

ภาพเปรียบเทียบแผนที่สถานการณ์การระบาดและแผนที่มาตรการ (อ้างอิง: เพจศูนย์ข้อมูล COVID-19)

 

  1. มาตรการควบคุมโควิด-19 ของ ศบค. ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ยังคงเป็นมาตรการตามระดับสีของพื้นที่เหมือนเดิม (ผมขอเรียก ‘พื้นที่สีแดงเข้ม/แดง/ส้ม/เหลือง/เขียว’ แทน ‘พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด/ควบคุมสูงสุด/ควบคุม/เฝ้าระวังสูงสุด/เฝ้าระวัง’) หลายจังหวัดได้รับการกำหนดสีอ่อนลง เช่น ชลบุรี เดิมเป็นพื้นที่สีแดงเข้มลดลงเหลือสีส้ม

 

โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงเมื่อวันที่ 27 มกราคมว่าใช้เกณฑ์หลายข้อในการปรับสีพื้นที่ ได้แก่ 

  • สถานการณ์การระบาดของโรคในจังหวัดว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายในใน 7-14-28 วัน 
  • แหล่งโรคที่เสี่ยงต่อการกระจายไปพื้นที่จังหวัด/ภูมิภาคอื่น เช่น สถานบันเทิง บ่อน สนามชนไก่
  • จังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงต่อการลักลอบเดินทางเข้าประเทศ เช่น จังหวัดชายแดนภาคใต้ติดกับมาเลเซียซึ่งยังมีการระบาดรุนแรงอยู่ 
  • มาตรการทางสาธารณสุขในพื้นที่ เช่น การเฝ้าระวังเชิงรุกในชุมชน/สถานประกอบการ และพบสัดส่วนผู้ป่วยน้อย (<1%, 1-5%)

 

และยังใช้รูปแบบจังหวัดแนวกันชนกับจังหวัดที่มีความเสี่ยง เพราะพื้นที่จังหวัดที่อยู่ติดกันไม่ได้ถูกแบ่งแยกกันเด็ดขาด เช่น กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตกกับสมุทรสาคร

 

นอกจากนี้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 18) ข้อ 10 ยังให้อำนาจแต่ละจังหวัดสามารถกำหนดสีในแต่ละอำเภอเองได้ ซึ่งเป็นข้อเสนอของ สธ. ว่า ในกรณีที่จังหวัดไม่พบผู้ติดเชื้อ/จำนวนน้อย และรายอำเภอมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคภายใน-ภายนอกจังหวัดต่างกัน อาจพิจารณาปรับลดหรือเพิ่มระดับสีรายอำเภอได้

 

  1. การผ่อนคลายมาตรการในระลอกนี้ถือว่าเร็วกว่าระลอกก่อนก่อนมาก ถึงแม้จะในแต่ละวันยังพบผู้ป่วยรายใหม่เป็นหลักสิบ-ร้อยคนก็ตาม แต่ ศบค. น่าจะประเมินว่าเป็นระดับที่ ‘ควบคุมได้’ คือผู้ป่วยส่วนใหญ่ถูกตรวจพบจากการค้นหาเชิงรุก และมีโรงพยาบาล/โรงพยาบาลสนามรองรับเพียงพอ (แต่ยังต้องติดตามการสอบสวนโรค โดยเฉพาะกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในสมุทรสาครและกรุงเทพมหานครอย่างใกล้ชิด)

 

เมื่อเปรียบเทียบกับการผ่อนคลายในระลอกก่อนที่แบ่งออกเป็นอย่างน้อย 5 ระยะ ห่างกัน 2 สัปดาห์ พร้อมกันทั้งประเทศ กว่าแต่ละกิจการ/กิจกรรมในแต่ละจังหวัดจะกลับมาดำเนินการได้ใช้เวลา 2 เดือนครึ่ง ยังไม่นับว่าบางจังหวัดไม่พบผู้ป่วยเลย หรือไม่พบผู้ป่วยเกิน 4 สัปดาห์ (2 เท่าของระยะฟักตัว) แล้วก่อนหน้านั้น ในขณะที่ระลอกนี้มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นระดับสีจึงช่วยร่นเวลาผ่อนคลายในบางจังหวัดให้เร็วขึ้น

 

  1. ความแตกต่างของมาตรการตามระดับสีของพื้นที่ระหว่างช่วงปลายธันวาคม 2563 ถึงต้นมกราคม 2564 (ข้อกำหนดฉบับที่ 15-17 และมาตรการที่แถลงโดยโฆษก ศบค.) กับช่วงปลายมกราคม 2564 ที่เพิ่งประกาศนี้คือ รายละเอียดที่แต่ละกิจการ/กิจกรรม เช่น สถานบันเทิง ร้านอาหาร สถานที่จัดเลี้ยง สนามกีฬา ต้องปฏิบัติ ซึ่งสังเกตว่าน่าจะมีการจัดกลุ่มตามความเสี่ยงในการแพร่ระบาดด้วย

 

ทำไมถึงห้ามนั่งดื่มสุราในร้าน

 

ถ้าย้อนกลับไปในการผ่อนคลายระลอกก่อน ศบค. จะแบ่งกิจการ/กิจกรรมออกเป็น 4 กลุ่มคือ สีขาว, สีเขียว (เช่น ร้านขายของทั่วไป สวนสาธารณะ ลานกีฬา), สีเหลือง (เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า) และสีแดง (เช่น ร้านเกมส์/อินเทอร์เน็ต โรงภาพยนตร์ ผับ บาร์ คาราโอเกะ สนามมวย) แล้วทยอยผ่อนปรนในแต่ละระยะ โดยพิจารณาจาก 

  • ความเสี่ยงของการระบาดของโรคในหลายพื้นที่
  • ความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ซึ่งมีปัจจัยการระบายอากาศของสถานที่และการใช้เครื่องปรับอากาศ, การรวมกลุ่มคนจำนวนมาก, พฤติกรรมของผู้ร่วมกิจกรรมเพิ่มโอกาสในการแพร่เชื้อ และระยะเวลาในการทำกิจกรรมหรือการใช้บริการ
  • ความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต และผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม

 

สำหรับระลอกนี้ สธ. ไม่ได้แถลงหลักเกณฑ์นี้ แต่คาดว่าน่าจะเป็นแนวคิดเดิม ทำให้แต่ละประเภทกิจการ/กิจกรรมในพื้นที่สีหนึ่งๆ มีข้อปฏิบัติที่แตกต่างกันตามระดับความเสี่ยงและความจำเป็น เช่น พื้นที่สีส้ม ร้านอาหารเปิดให้นั่งได้ถึง 23.00 น. ศูนย์การค้าเปิดได้ตามเวลาปกติ สถานบริการ/สถานบันเทิงเปิดได้ถึง 23.00 น. (แต่ร้านอาหาร เช่น ข้าวต้มโต้รุ่ง น่าจะมีความเสี่ยงต่ำกว่าผับ บาร์ คาราโอเกะ)

 

  1. มาตรการที่หลายคนสงสัยมากที่สุดอย่างหนึ่งคือการห้ามนั่งดื่มสุราในร้านอาหารว่าเกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด-19 อย่างไร โดยพื้นที่สีแดงเข้ม นั่งได้ไม่เกิน 21.00 น. ในขณะที่พื้นที่สีแดงนั่งได้ไม่เกิน 23.00 น. แต่ทั้ง 2 พื้นที่นี้ห้ามดื่มสุรา ส่วนพื้นที่อื่นดื่มสุราได้ แต่ยังกำหนดเวลานั่งในร้านคือไม่เกิน 23.00 และ 00.00 น. ในพื้นที่สีส้มและสีเหลืองตามลำดับ (เวลาต่างกันเพียง 1-2 ชั่วโมง) 

 

เหตุผลหลักน่าจะเป็นเพราะการดื่มสุราจะทำให้เกิดการรวมตัวกัน เมื่อรวมตัวกันก็จะใช้ระยะเวลานานกว่าการรับประทานอาหารตามปกติ และนำไปสู่พฤติกรรมอื่นๆ ระหว่างการดื่มและหลังการดื่มที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อมากกว่า (แต่ถ้าผู้ที่นั่งโต๊ะเดียวกันยอมรับความเสี่ยงในการรับประทานอาหารร่วมกันอยู่แล้ว หากดื่มสุราก็ยังเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงกลุ่มเดิมอยู่ดี เพียงแต่โอกาสในการติดเชื้อของแต่ละคนจะเพิ่มขึ้น)

 

ประเด็นนี้น่าจะสามารถถกเถียงกันได้ระหว่างผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยถ้าหากผู้ประกอบการ หรือผู้บริโภคต้องการให้จำหน่ายสุราในร้านอาหาร (ส่วนสถานบันเทิงน่าจะมีความเป็นไปได้ยาก) ควรเสนอมาตรการเสริมเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ หรือโต้แย้งด้วยหลักฐานวิชาการ ส่วนข้ออ้างเรื่องศีลธรรมหรือเรื่องการลดอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับไม่ใช่เหตุผลในการห้ามดื่มสุราในสถานการณ์โควิด-19 แต่อย่างใด

 

  1. โรงเรียนและมหาวิทยาลัยเปิดได้ในพื้นที่สีแดงลงมา บางคนอาจตั้งตัวไม่ทัน เพราะในการระบาดระลอกก่อนกว่าที่ ศบค. จะคลายล็อกก็เป็นการผ่อนปรนระยะที่ 5 ไปแล้ว (พร้อมกับสถานบันเทิง) แต่ในระลอกนี้ ศบค.ผ่อนคลายให้พร้อมกับกิจการ/กิจกรรมอื่น น่าจะเป็นเพราะการหยุดเรียนส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก และเด็กบางกลุ่มไม่ได้รับอาหารกลางวัน 

 

นอกจากนี้ผู้ปกครองยังไม่สามารถดูและบุตรหลานได้เต็มที่ และบางครอบครัวก็ไม่พร้อมกับการเรียนการสอนออนไลน์ จึงมีความจำเป็นต้องเปิดโรงเรียน 

 

ส่วนความกังวลเรื่องการระบาดของโรค เด็กมีโอกาสติดเชื้อต่ำ และหากติดเชื้อจะไม่มีอาการรุนแรง สำหรับประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 อายุไม่เกิน 18 ปี รวม 278 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 21 มกราคม 2564) 3 ใน 4 เป็นผู้ป่วยในระลอกแรก กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 7-12 ปี รองลงมาเป็น 16-18 ปี ที่สำคัญคือไม่มีเด็กเสียชีวิต เมื่อชั่งข้อดี-ข้อเสียแล้วเด็กจึงควรไปโรงเรียนมากกว่า

 

ความกังวลอีกเรื่องคือโอกาสที่เด็กจะติดเชื้อแล้วนำมาแพร่ให้กับสมาชิกคนอื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุในครอบครัว ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปทางวิชาการ เพราะงานวิจัยในกรีซและเกาหลีใต้พบว่าโอกาสต่ำมาก (0.5%) แต่ในสหรัฐอเมริกากลับพบว่ามีความเป็นไปได้มาก ยิ่งถ้าอายุน้อยกว่า 12 ปี (เทียบกับอายุ 12-17 ปี) ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการป้องกันโรคภายในโรงเรียนและรถรับส่งนักเรียนอย่างเคร่งครัด

 

  1. มาตรการตามระดับสีของพื้นที่ถือเป็น ‘New normal’ ของมาตรการควบคุมและป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย ศบค.พยายามสร้างความสมดุลใหม่ระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ ให้ประชาชนและเอกชนสามารถดำเนินกิจการ/กิจกรรมของตนเองต่อ โดยจังหวัดสีเขียว 35 จังหวัดแทบจะสามารถดำเนินชีวิตได้เหมือนปกติ  ส่วนในฝั่งของสุขภาพก็มีการสำรวจเชิงรุกมากขึ้น แทนการตั้งรับในรพ.เพียงอย่างเดียว

 

ผลของมาตรการผ่อนคลายนี้ซึ่งจะเริ่มในสัปดาห์นี้น่าจะเริ่มเห็นแนวโน้มว่าแผนที่ประเทศไทยจะเปลี่ยนเป็นสีโทนร้อนขึ้นหรือเย็นลงภายใน 7-14 วันข้างหน้า ในขณะที่พื้นที่ที่พบผู้ป่วยอยู่ในขณะนี้อย่างสมุทรสาคร และกทม. ยังต้องติดตามอย่างตใกล้ชิด ซึ่งสถานการณ์การระบาดน่าจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าอาจใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X