×

‘บวก’ กลายเป็น ‘ลบ’ ทำไมผลตรวจโควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาลจึงกลับเป็นอีกแบบ

26.12.2020
  • LOADING...
‘บวก’ กลายเป็น ‘ลบ’ ทำไมผลตรวจโควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาลจึงกลับเป็นอีกแบบ

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • การตรวจหาภูมิคุ้มกัน (Antibody Test) เป็นการตรวจทางอ้อมด้วยการเจาะ ‘เลือด’ ตรวจว่าผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี้ที่จำเพาะต่อไวรัสหรือไม่ ซึ่งถ้ากำลังติดเชื้ออยู่หรือเคยติดเชื้อมาแล้วก็จะตรวจพบ 
  • ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อธิบายต่อว่าการตรวจคัดกรองจากการเจาะเลือดปลายนิ้วเป็นการตรวจดูว่าคนคนนั้นติดเชื้อหรือไม่ เพื่อที่จะได้แยกตัวออกจากคนอื่นทันทีทันใด
  • ที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นการตรวจ ‘เลือด’ ปลายนิ้ว จึงเป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 และคาดว่าเป็น ‘Rapid Test’ เพราะทราบผลเร็ว 
  • ต่อมามีการตรวจหาเชื้อจากตัวอย่างสารคัดหลั่งบริเวณหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal Swab) ในเจ้าหน้าที่ที่พบผลบวกทั้ง 6 รายก็พบว่าไม่มีเชื้อ การตรวจโควิด-19 ที่เป็นผล ‘บวก’ จึงกลายเป็น ‘ลบ’ ได้ เพราะประเภทและวิธีการตรวจวินิจฉัยโควิด-19 ที่แตกต่างกัน 

จากกรณีพาดหัวข่าว ‘ผลบวก 6 คน ลุ้น! ข้าราชการทำเนียบติดโควิด-19’ ซึ่งเป็นการรายงานข่าวผลการตรวจคัดกรองโควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 และได้สร้างความตื่นตระหนกและการตั้งคำถามในสังคมออนไลน์

 

ขณะที่ต่อมาในช่วงค่ำของวันเดียวกัน มีการรายงานข่าวยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ทั้ง 6 รายได้รับการตรวจหาเชื้อซ้ำแล้วผลเป็น ‘ลบ’

 

กรณีแบบนี้ หลายท่านน่าจะสงสัยว่าทำไมจึงเกิดขึ้นได้ (และสำหรับสื่อมวลชนควรรอบคอบในการนำเสนอข่าวทำนองนี้มากขึ้นหรือเปล่า)

 

การตรวจวินิจฉัยโควิด-19

ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า ‘การตรวจวินิจฉัย’ โควิด-19 แบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ 

 

  • การตรวจหาเชื้อ (Viral Test)
  • การตรวจหาภูมิคุ้มกัน (Antibody Test)

 

หมายความว่าถ้าแพทย์ต้องการทราบว่าผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ จะพิจารณาเลือกตรวจระหว่างสองประเภทนี้ 

 

โดยอย่างแรกเป็นการตรวจหาไวรัสใน ‘ทางเดินหายใจ’ โดยตรง ซึ่งมักมีการเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมของไวรัสให้มากขึ้น (RT-PCR) จนกระทั่งสามารถตรวจจับได้เสียก่อน

 

ส่วนอย่างที่สองเป็นการตรวจทางอ้อมด้วยการเจาะ ‘เลือด’ ตรวจว่าผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี้ที่จำเพาะต่อไวรัสหรือไม่ ซึ่งถ้ากำลังติดเชื้ออยู่หรือเคยติดเชื้อมาแล้ว เช่น ผู้ป่วยในการระบาดระลอกแรกก็จะตรวจพบ โดยแต่ละประเภทสามารถแบ่งย่อยอีก 2 แบบตามวิธีการตรวจคือ

 

  • ชุดตรวจแบบรวดเร็ว (Rapid Test) 
  • การตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน 

 

ความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างสองแบบนี้คือระยะเวลาในการรอผล โดย ‘Rapid Test’ จะรวดเร็วทันใจ เพราะทราบผลภายใน 5-15 นาที ส่วนการตรวจหาเชื้อด้วย ‘วิธีมาตรฐาน’ จะรายงานผลภายใน 8-24 ชั่วโมง และการตรวจหาภูมิคุ้มกันด้วยวิธีมาตรฐานจะรอผลประมาณ 3-8 ชั่วโมง

 

อีกความแตกต่างคือระยะเวลาที่เหมาะสมในการตรวจ โดย ‘การตรวจหาเชื้อ’ จะสามารถตรวจพบเชื้อได้ตั้งแต่ก่อนเริ่มมีอาการจนถึงหลังมีอาการได้นานถึง 3 เดือน จนเป็นที่มาของคำว่า ‘ซากเชื้อ’ (คือตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัส แต่ไวรัสไม่มีชีวิต หรือไม่สามารถเพาะเชื้อขึ้นได้) [1]

 

ส่วน ‘การตรวจหาภูมิคุ้มกัน’ จะมีภูมิคุ้มกัน 2 ชนิดคือ ภูมิคุ้มกันระยะสั้น (IgM) และภูมิคุ้มกันระยะยาว (IgG) ซึ่งภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 ทั้งสองชนิดมักจะตรวจจับได้หลังจากเริ่มมีอาการป่วยประมาณ 1 สัปดาห์เป็นต้นไป การตรวจพบ IgM แสดงว่าเพิ่งติดเชื้อ ส่วนถ้าพบ IgG แสดงว่าติดเชื้อมานานแล้ว

 

ภาพ: กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

 

ดังนั้นการเลือกว่าจะใช้ประเภทและวิธีการตรวจแบบใดจึงขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการตรวจ เช่น

 

  • การตรวจคัดกรอง ต้องการความรวดเร็วและประหยัด อาจเลือกใช้ Rapid Test ถ้าผลเป็น ‘บวก’ ต้องส่งตรวจยืนยันอีกครั้ง 
  • การตรวจยืนยัน ต้องการความถูกต้อง จึงต้องใช้การตรวจหาเชื้อด้วยวิธีมาตรฐาน
  • การสำรวจความชุกของโรคในประชากร (Seroprevalence Survey) เช่น การระบาดระลอกก่อนมีผู้ติดเชื้อทั้งหมดเป็นร้อยละเท่าใด ควรตรวจหาภูมิคุ้มกัน เพราะเป็นการสำรวจผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้ว

 

การตรวจที่ทำเนียบรัฐบาล

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย เปิดเผยผลการตรวจคัดกรองโควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาลผ่านเพจเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ว่า “นี่คือชุดตรวจคัดกรองใบยาของไฟโตฟาร์ม จุฬาฯ ที่ไม่หลุดและนำมาใช้แยกตัวคนติดเชื้อออกไปได้ทันที”

 

จากการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ‘ใบยา ไฟโตฟาร์ม’ (Baiya Phytopharm) เป็นสตาร์ทอัพของศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub)

 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ อธิบายต่อว่า “การตรวจคัดกรองจากการเจาะเลือดปลายนิ้วเป็นการตรวจดูว่าคนคนนั้นติดเชื้อหรือไม่เพื่อที่จะได้แยกตัวออกจากคนอื่นทันทีทันใด แต่การคัดกรองนี้ด้วยชุดตรวจใบยา (ซึ่งก็ทำการผลิตวัคซีนใบยาโควิด-19 ด้วย) เนื่องจากมีความไวที่สุด จึงอาจจะมีผลบวกเกินจริง 

 

“นั่นก็คือคนไม่ติดเชื้ออาจจะได้ผลบวกไปด้วย แต่คนติดเชื้อจริงจะไม่หลุดรอดเลย โดยมีผลบวกหมด”

 

เนื่องจากการตรวจครั้งนี้เป็นการเจาะ ‘เลือด’ ปลายนิ้ว จึงเป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 และคาดว่าเป็น ‘Rapid Test’ เพราะทราบผลเร็ว และอาจารย์ระบุว่าได้นำตัวอย่างเลือดมาตรวจด้วย ‘วิธีมาตรฐาน’ ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ฯ แล้วไม่พบว่ามีการติดเชื้อ

 

นอกจากนี้เมื่อตรวจหาเชื้อจากตัวอย่างสารคัดหลั่งบริเวณหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal Swab) ในเจ้าหน้าที่ที่พบผลบวกทั้ง 6 รายก็พบว่าไม่มีเชื้อ การตรวจโควิด-19 ที่เป็นผล ‘บวก’ จึงกลายเป็น ‘ลบ’ ได้ เพราะประเภทและวิธีการตรวจวินิจฉัยโควิด-19 ที่แตกต่างกัน 

 

โดยเป็น ‘ผลบวก’ จากการตรวจคัดกรองเพื่อกรองคนจำนวนหนึ่งมาตรวจยืนยันซ้ำจึงพบว่าไม่ใช่การติดเชื้อจริง ซึ่งในทางการแพทย์ถือว่าเป็น ‘ผลบวกลวง’ (False Positive) ที่ต้องระมัดระวังในการแปลผล โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองที่มักใช้วิธีการตรวจที่มีความไว (Sensitivity) สูง

 

สื่อมวลชนก็ควรมีความรอบคอบในการนำเสนอข่าว โดยเฉพาะการพาดหัวข่าวที่ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ ‘ติดเชื้อแล้ว’ จะเกิดความตื่นตระหนกหรือไม่ ทว่าการตรวจคัดกรองที่ทำเนียบรัฐบาลในวันคริสต์มาสนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ต้องการสื่อสารอะไร

 

‘สาร’ ที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ต้องการ ‘สื่อ’

“นั่นก็คือในการคัดกรองนั้นไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแยงจมูกและนำมาตรวจทั้ง 350 ราย เพียงแต่ทำการตรวจใน 9 ราย* นี้เท่านั้นเองโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง คือหาเชื้อด้วยการแยงจมูกหรือหาภูมิในเลือดด้วย ‘เครื่องใหญ่’ ที่เป็นมาตรฐาน แต่ต้องใช้เวลา 3 ชั่วโมง” อาจารย์กล่าวในย่อหน้ารองสุดท้าย

 

(*ตัวเลขไม่ตรงกับที่สื่อมวลชนนำเสนอ)

 

หมายความว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ต้องการเสนอวิธีการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อภายในประเทศใหม่ โดยเปลี่ยนจากการ ‘แยงจมูก’ เพื่อเก็บตัวอย่างจากด้านหลังโพรงจมูก มาเป็นการเจาะเลือด ซึ่งอาจใช้ชุดตรวจของใบยา ไฟโตฟาร์ม หรือการตรวจทางห้องปฏิบัติการมาตรฐานก็ได้

 

โดยอาจารย์กล่าวทิ้งท้ายว่า “การคัดกรองนี้มีความหมายมากสำหรับประเทศไทย เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดจากคนที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะคนที่ไม่มีอาการ ‘ให้มีการแยกตัวทันที’ ไม่ให้มีการแพร่ออกไปเป็นลูกโซ่” ซึ่งยิ่งตรวจพบผู้ป่วยไวก็จะยิ่งตีวงการระบาดและควบคุมโรคได้เร็ว

 

แต่ข้อจำกัดของการตรวจหาภูมิคุ้มกันก็มี เพราะอย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่าร่างกายจะเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันหลังเริ่มป่วยประมาณ 1 สัปดาห์ หากรวมระยะฟักตัวด้วยก็จะประมาณ 2 สัปดาห์ จึงเกิดช่องโหว่ (Window Period) ในช่วงนี้ที่หากตรวจหาภูมิคุ้มกันเร็วเกินไปก็อาจให้ผลลบได้ 

 

คำแนะนำของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

อย่างไรก็ตาม แนวทางตรวจการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรคโควิด-19) ด้วยการตรวจแอนติบอดี้ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ฉบับตุลาคม 2563 ระบุว่าการตรวจประเภทนี้ไม่จัดเป็นวิธีมาตรฐานสําหรับวินิจฉัยโควิด-19 เพื่อนําไปสู่การดูแลรักษา แต่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ดังนี้

 

  • ประกอบการวินิจฉัยที่สรุปผลไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรคที่มีผลการตรวจ RT-PCR เป็นลบ แต่มาพบแพทย์ล่าช้า
  • สํารวจความชุกของการพบภูมิคุ้มกันซึ่งเกิดขึ้นจากการติดเชื้อ รวมทั้งใช้ประเมินประสิทธิภาพของวัคซีน
  • ประกอบกับการตรวจ RT-PCR เพื่อการบริหารจัดการกลุ่มผู้ที่มีความจําเป็นต้องเดินทางเข้าประเทศไทย (Travel Bubble) เช่น นักธุรกิจ ผู้เดินทางมาประชุม เป็นต้น

 

เชิงอรรถ:

[1] การตรวจหาเชื้อด้วยวิธีมาตรฐาน (High Analytic Sensitivity) อาจตรวจจับการติดเชื้อได้ล่วงหน้าก่อน Rapid Test (Low Analytic Sensitivity) แต่การตรวจจับได้ก่อนก็อาจเป็นช่วงที่ผู้ป่วยยังไม่สามารถแพร่เชื้อได้ (ช่วงสีเขียว) เท่ากับว่าไม่มีประโยชน์ในการตรวจ ในขณะที่การตรวจหาเชื้อด้วยวิธีมาตรฐานก็ตรวจพบการติดเชื้อได้นานกว่า ทั้งที่ไม่สามารถแพร่เชื้อได้แล้ว (ช่วงสีม่วง)

 

ภาพ: NEJM

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X