หลายคนมักสงสัยว่าทำไมช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือการผ่านช่วงเวลาของโรคระบาดอย่างโควิดมานั้น ‘แว่นตา’ ที่ถูกมองว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ยังสามารถเติบโตได้
เรื่องนี้สะท้อนได้จากตลาดค้าปลีกแว่นตาของไทยในปี 2565 ที่มีมูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 14% เป็นประมาณ 8,000 ล้านบาท
“คนคนหนึ่งจะมีแว่นตา 15 อันในช่วงชีวิต” ประพันธ์ ผดุงเกียรติสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อายลิ้งค์ วิชั่น จำกัด กล่าว “แว่นตาถือเป็นของจำเป็น ดังนั้นแม้เศรษฐกิจไม่ดีคนก็ต้องซื้อ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Lenskart เชนร้านแว่นตาอินเดียจะเข้าซื้อหุ้น 75% ของ Owndays เชนร้านแว่นตาของญี่ปุ่น
- มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก การเดิมพันกับ ‘แว่นตา’ และ ‘โลกเสมือนจริง’ ที่ยังไม่รู้ว่าจะหมู่หรือจ่า?
- สิ้นสุดการรอคอย! มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เปิดตัวแว่นตาอัจฉริยะ ‘Ray-Ban Stories’ ถ่ายภาพ-ฟังเพลง-รับโทรศัพท์ ในราคาเริ่มต้น 9,200 บาท
อีกอานิสงส์ที่ทำให้ตลาดแว่นโตคือช่วงโควิดที่ผ่านมา ผู้คนกักตัวอยู่ที่บ้านและใช้ชีวิตอยู่หน้าจอ ทำให้เกิดปัญหาทางสายตา ธุรกิจแว่นจึงเติบโต อีกส่วนหนึ่งคือการที่คนเห็นความจำเป็นที่ต้องมีแว่นสำรองเพราะตอนโควิดร้านแว่นปิด
“ประเทศไทยเป็นตลาดแว่นฟังก์ชันนัลที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน (ที่ 2 มาเลเซีย) โดยส่วนใหญ่คนใส่แว่นฟังก์ชันมักจะซื้อแว่นแฟชั่นด้วยเพื่อเอาไว้ใช้บางโอกาส เช่น เที่ยว เดินห้าง ซึ่งความถี่ในการเปลี่ยนแว่นสายตาจะอยู่ที่ 2-3 ปี ส่วนแว่นแฟชั่นจะอยู่ที่ 1-2 ปี”
ปีที่แล้ว อายลิ้งค์ วิชั่น มีผลประกอบการ 350 ล้านบาท เติบโตจากปี 2564 ราว 40% ส่วนแบ่งการตลาด 20% จากสินค้ากลุ่มแว่นตาพรีเมียมที่มีมูลค่าขายส่งอยู่ประมาณ 650 ล้านบาท
ความสำเร็จท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจโลกและการระบาดของโควิดมีสาเหตุหลักมาจากการมุ่งเน้นที่การนำเสนอผลิตภัณฑ์แว่นตาคุณภาพสูง ทันสมัย และใช้งานได้จริง
เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค อายลิ้งค์ วิชั่น จึงเตรียมนำเสนอแบรนด์ที่หลากหลาย ซึ่งปีนี้นอกจากแบรนด์ ic!berlin แล้ว ยังมีแบรนด์ Dior, Givenchy, Silhouette และ Kenzo ล่าสุดเตรียมนำเข้าแว่นตาแฟชั่นสตรีทไฮเอนด์ระดับโลกอีก 3 แบรนด์ คือ Off-White, Palm Angels และ Porsche Design
อายลิ้งค์ วิชั่น ระบุว่า ให้ความสำคัญกับการนำเข้าแว่นตาที่ทันสมัยเพื่อจำหน่ายในประเทศไทย ก่อนที่รูปแบบดังกล่าวจะวางจำหน่ายในต่างประเทศเสียอีก กลยุทธ์นี้ไม่เพียงแต่ส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศเท่านั้น แต่ยังดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ซื้อสินค้าภายในประเทศไทยได้อีกด้วย ขณะเดียวกัน แม้ต้นทุนของแว่นตาจะเพิ่มขึ้น แต่อายลิ้งค์ วิชั่น จะยังไม่ขึ้นราคา
การเพิ่มสินค้ามาพร้อมกับงบลงทุนในเกมการตลาดในปีนี้ที่สูงกว่าปีที่แล้ว 50% หรือราว 50 ล้านบาท เน้นทำตลาดเชิงรุก แม้คู่แข่งจะมีไม่มากแต่ประมาทไม่ได้ ที่สำคัญคือต้องการขยายฐานลูกค้าจากที่มีอยู่แล้วให้ครอบคลุม
นั่นคือเหตุผลที่ดึง แอลลี่-อชิรญา นิติพน มาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์คนล่าสุด เชื่อมั่นว่าจะสามารถดึงกลุ่มผู้บริโภควัยรุ่นที่ชื่นชอบแบรนด์แฟชั่นระดับพรีเมียม สำหรับตลาดกลุ่มผู้ชายนั้นได้มีการต่อสัญญาปีที่ 2 กับ หมาก-ปริญ สุภารัตน์ ซึ่งต้องยอมรับว่าเขาทรงอิทธิพลต่อผู้บริโภคมาก
เมื่อมองไปข้างหน้า อายลิ้งค์ วิชั่น มีแผนทะเยอทะยานในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ที่อยากเติบโตเฉลี่ย 5-10% ซึ่งรวมถึงความฝันในการสร้างแบรนด์แว่นตาของตัวเองด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง
- กูรูแนะกลยุทธ์นักลงทุนในปี 2023 ศึกษาตลาด อย่าหวั่นไหว และรู้ข้อจำกัดตนเอง
- สินทรัพย์ไหนรุ่ง/ร่วง? เปิด 5 คำทำนายจากผู้จัดการกองทุนต่างๆ สำหรับปี 2023
- โปรดระวังดอลลาร์ ‘กลับทิศ’ กระทบเศรษฐกิจโลก