ฟินแลนด์และสวีเดน สองประเทศที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นกลางในภาวะสงครามมาอย่างยาวนาน ได้ประกาศการตัดสินใจครั้งสำคัญที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ซึ่งล่าสุด NATO ก็ได้ร่วมลงนามในพิธีสารการสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสองชาติอย่างเป็นทางการแล้ว โดยหลังจากนี้เหลือเพียงการรออนุมัติจากสภานิติบัญญัติของแต่ละประเทศสมาชิก ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่อาจกินระยะเวลายาวนาน
หลายคนอาจมีคำถามว่า ทำไมชาติที่เคยมีจุดยืนไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดมานานหลายปี จึงตัดสินใจเปลี่ยนท่าที โดยยอมเลือกข้างอย่างชัดเจนในวันนี้
💥 ทำไมฟินแลนด์และสวีเดนจึงเปลี่ยนใจเข้าร่วม NATO 💥
- 🔺 ต้องเล่าย้อนกลับไปก่อนว่า NATO ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1949 โดยสมาชิก 12 ประเทศ ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ แคนาดา และสหภาพยุโรป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันป้องกันดินแดนจากอิทธิพลของสหภาพโซเวียต
- 🔺 แต่หลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย NATO ก็ได้ขยายกำลังพันธมิตรออกไปเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีอยู่ 30 ประเทศ โดย NATO ให้คำมั่นว่าจะสร้างหลักประกันถึงเสรีภาพและความมั่นคงของชาติสมาชิก ทั้งทางการเมืองและทางทหาร
- 🔺 แต่แล้วรัสเซียก็ได้เปิดฉากบุกโจมตียูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตามคำสั่งของประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ส่งผลให้หลายชาติรู้สึกถึงความไม่มั่นคงในยุโรปเหนือ รวมถึงฟินแลนด์และสวีเดน ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของ NATO มานานตั้งแต่ปี 1994 แม้จะไม่ได้มีฐานะเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการก็ตาม
- 🔺 ความเคลื่อนไหวดังกล่าวบีบให้ทั้งสองชาติอยู่ในภาวะที่ต้องแสวงหาความมั่นคง เพราะหวั่นเกรงว่าในท้ายที่สุดรัสเซียอาจเล็งเป้ามาโจมตีประเทศของตัวเอง ไม่ต่างจากที่ยูเครนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
💥 สงครามรัสเซีย-ยูเครน ตัวเร่งปฏิกิริยาให้ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงไป 💥
- 🔺 ประธานาธิบดี เซาลี นีนิสเตอ ของฟินแลนด์ กล่าวว่า ประเทศของเขาต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO เนื่องจากสงครามที่เกิดขึ้นพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า รัสเซียไม่เคารพประเทศที่มีสถานะเป็นกลาง
- 🔺 เขามองว่า ปัจจุบันประเทศต่างๆ มีการแบ่งขั้วอย่างชัดเจน ซึ่งโลกทุกวันนี้อาจไม่มีที่ยืนให้กับประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
- 🔺 นอกจากนี้รัสเซียยังเคยสร้างฝันร้ายให้กับฟินแลนด์มาแล้วในอดีต โดยสงครามที่เกิดขึ้นในยูเครนเหมือนเป็นการฉายภาพซ้ำกลับไปเมื่อปี 1939 ที่สหภาพโซเวียตบุกเข้าโจมตีฟินแลนด์ในลักษณะเดียวกัน ส่งผลให้กองทัพต้องใช้กำลังต้านอยู่นานถึง 3 เดือนกว่าจะรอดมาได้ อีกทั้งยังต้องสูญเสียดินแดนให้กับโซเวียตไป 10%
- 🔺 นับตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา ชาวฟินแลนด์ได้ออกตัวสนับสนุนให้รัฐบาลเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO กันเป็นจำนวนมาก จากเดิมที่ระดับ 30% ก็พุ่งขึ้นมาแตะที่ 80% ในหลายโพล เช่นเดียวกับประชาชนชาวสวีเดนที่ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับนโยบายพาประเทศเข้าเป็นสมาชิก NATO
- 🔺 ด้าน มักดาเลนา แอนเดอร์สสัน นายกรัฐมนตรีสวีเดน มองว่า การที่รัสเซียโจมตียูเครนถือเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของยุโรป อีกทั้งสวีเดนจะตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างมาก หากเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคบอลติกที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของ NATO เพราะถือว่าอยู่ในจุดที่มีความอ่อนด้อยด้านกำลังทหารมากกว่าประเทศอื่นๆ
- 🔺 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อรัสเซียบุกโจมตียูเครน ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากถึง 44 ล้านคน มีตัวเลข GDP สูงถึง 1.55 แสนล้านดอลลาร์ และมีกำลังทหารมากถึง 2 แสนนาย จึงเกิดความกังวลว่า แล้วประเทศที่เล็กกว่าอย่างฟินแลนด์และสวีเดนจะรอดเงื้อมมือของปูตินไปได้อย่างไร
💥 เมื่อ NATO อ้าแขนรับ แล้วฟินแลนด์-สวีเดนจะได้อะไร 💥
- 🔺 และแล้วนาทีประวัติศาสตร์ก็ได้เปิดฉากขึ้น เมื่อฟินแลนด์และสวีเดนตัดสินใจสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม
- 🔺 หลังจากนั้นบรรดาผู้นำประเทศสมาชิก NATO ก็ได้เชิญทั้งสองประเทศเข้าเป็นสมาชิกใหม่อย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มิถุนายน หลังผู้นำตุรกียกเลิกการวีโต้ และที่ประชุมใหญ่ในการประชุมสุดยอดผู้นำ NATO เห็นพ้องเปิดรับสมาชิกเพิ่ม
- 🔺 NATO ให้คำมั่นว่า การเปิดรับสวีเดนและฟินแลนด์จะทำให้พวกเขาปลอดภัยยิ่งขึ้น ขณะที่กองกำลัง NATO เองก็จะแข็งแกร่งขึ้นด้วย
- 🔺 การที่ฟินแลนด์และสวีเดนเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO จะได้รับการปกป้องจากกลุ่มพันธมิตรทางทหารภายใต้ ‘มาตรา 5’ ของ NATO ซึ่งบัญญัติว่า การโจมตีสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่ง เท่ากับเป็นการโจมตีสมาชิกทุกประเทศ ซึ่งจะทำให้ทั้งสองประเทศมีความมั่นคงทางทหารมากขึ้น
- 🔺 สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดนั้น สวีเดนและฟินแลนด์ขยับเข้าใกล้การเป็นสมาชิก NATO ขึ้นอีกขั้น หลังลงนามพิธีสารรับเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา เหลือเพียงแค่รอการอนุมัติรับรองจากสภานิติบัญญัติของแต่ละประเทศสมาชิก ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่อาจกินระยะเวลายาวนาน
- 🔺 ในระหว่างที่รอกระบวนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสิ้นสุดนั้น ชาติสมาชิก NATO ให้คำมั่นว่า จะรับประกันความปลอดภัยให้กับทั้งสองประเทศ เพื่อป้องกันการข่มขู่จากรัสเซียที่กำลังไม่พอใจอย่างหนัก
💥 ท่าทีของรัสเซีย 💥
- 🔺 ด้านประธานาธิบดีปูตินมีท่าทีไม่พอใจ เพราะมองว่านี่เป็นการผนึกกำลังกันของชาติตะวันตกที่มุ่งเป็นปรปักษ์กับรัสเซีย จึงได้ออกมาประณามการตัดสินใจของ NATO ว่าหวังจะสั่งสมอำนาจในเวทีโลก พร้อมย้ำว่า การตัดสินใจดังกล่าวจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับสวีเดนและฟินแลนด์เปลี่ยนไป
- 🔺 แต่ไหนแต่ไรมาปูตินมองว่า NATO เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของรัสเซียอยู่ตลอด โดยกล่าวย้ำอยู่บ่อยครั้งว่า NATO ล้ำเส้นรัสเซียมากเกินไปแล้ว และควรรักษาสัญญาที่เคยให้ไว้เมื่อปี 1990 ว่า NATO จะไม่แผ่ขยายอำนาจเข้าไปในโลกฝั่งตะวันออก
- 🔺 ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน ปรามาสว่า การที่ NATO ขยายชาติสมาชิกไม่ได้ช่วยให้โลกมีความมั่นคงมากขึ้น และรัสเซียจะตอบโต้กลับอย่างแน่นอน โดยจะประเมินว่า โครงสร้างทางทหารของชาติตะวันตกขยับเข้ามาใกล้ชิดกับพรมแดนของรัสเซียมากน้อยเพียงใด
- 🔺 ปัจจุบันรัสเซียมีพรมแดนติดกับชาติสมาชิก NATO อยู่ 5 ประเทศ รวมความยาวของพื้นที่ทั้งหมด 755 ไมล์ ซึ่งหากเพิ่มฟินแลนด์เข้าไปอีกประเทศ ก็จะทำให้ความยาวพรมแดนของชาติที่มีแนวร่วมทางทหารกับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีก 830 ไมล์
- 🔺 นอกจากนี้การเพิ่มฟินแลนด์และสวีเดนเข้าเป็นสมาชิก NATO นั้นก็จะยิ่งสร้างอุปสรรคให้กับรัสเซีย เพราะถึงแม้ทั้งสองประเทศจะมีขนาดไม่ใหญ่มากอีกทั้งยังมีประชากรน้อย แต่อำนาจทางทหารก็ถือว่าไม่ด้อยไปกว่าชาติอื่นๆ
- 🔺 สำหรับฟินแลนด์ที่มีพรมแดนติดกับรัสเซียนั้นมีตัวเลขการใช้จ่ายด้านกลาโหมแตะระดับ 2% ของ GDP โดยมีทหารทั้งสิ้น 257,250 นาย ส่วนสวีเดนให้คำมั่นว่าจะเพิ่มงบประมาณด้านการกลาโหม เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดในการเป็นสมาชิก NATO โดยปัจจุบันสวีเดนมีทหารทั้งสิ้น 24,600 นาย
💥 การเข้าร่วม NATO ของทั้งสองชาติ มีโอกาสก่อให้เกิดสงครามที่รุนแรงกว่าเดิมหรือไม่ 💥
- 🔺 ที่ผ่านมารัสเซียเคยขู่ว่า หากฟินแลนด์และสวีเดนเข้าร่วม NATO รัสเซียจะเสริมการป้องกันดินแดนและตอบโต้เชิงยุทธวิธี ซึ่งรวมถึง ‘การปรับตำแหน่งอาวุธนิวเคลียร์’ โดยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัสเซียขู่ว่าจะส่งอาวุธนิวเคลียร์เข้าประจำการในแถบทะเลบอลติก หาก NATO ตัดสินใจรับทั้งสองชาติเข้าร่วมเป็นสมาชิก
- 🔺 แต่ถึงเช่นนั้นผู้เชี่ยวชาญมองว่า โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงในทั้งสองประเทศค่อนข้างต่ำ เนื่องจากปูตินมีมุมมองเกี่ยวกับฟินแลนด์และสวีเดนแตกต่างจากยูเครน ด้วยภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน
- 🔺 ปูตินวาดภาพเอาไว้ว่า ‘โลกรัสเซีย’ ในอนาคตจะต้องมียูเครนถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่ได้คิดเช่นนั้นกับสวีเดนและฟินแลนด์ แม้จะมีภูมิศาสตร์ใกล้กับรัสเซีย
- 🔺 นักวิเคราะห์บางคนมองว่า รัสเซียไม่น่าจะตัดสินใจบุกโจมตีฟินแลนด์หรือสวีเดน ไม่ว่าจะเป็นก่อนหน้าหรือหลังจากเป็นสมาชิกของ NATO แล้ว เพราะจะเสี่ยงสร้างสงครามที่ใหญ่และรุนแรงกว่ามาก เมื่อเทียบกับระดับความใกล้ชิดของทั้งสองชาติที่มีต่อมหาอำนาจตะวันตก
- 🔺 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทั้งสองชาติได้เป็นสมาชิกแล้ว ก็จะยิ่งส่งผลให้กองกำลังของ NATO แข็งแกร่งมากขึ้น ทั้งในแง่ของอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังพล อีกทั้งกองกำลังติดอาวุธของทั้งฟินแลนด์และสวีเดนต่างเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสู้รบแถบอาร์กติก
- 🔺 และหากมองในแง่ของภูมิศาสตร์ การมีฟินแลนด์เข้ามาเป็นสมาชิกอีกรายหนึ่งได้ช่วยเข้ามาเติมเต็มช่องว่างขนาดใหญ่ของชาติ NATO ที่มีพรมแดนติดกับรัสเซีย และช่วยยกระดับความมั่นคงในทะเลบอลติก
- 🔺 ส่วนในแง่ของการเมืองนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นการผนึกกำลังกันของชาติตะวันตกที่ส่งสัญญาณไปถึงปูตินว่า เกือบทุกชาติในยุโรปเห็นพ้องกันที่จะต่อต้านการบุกโจมตียูเครนของรัสเซีย
ภาพ: Dursun Aydemir / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.aljazeera.com/news/2022/4/15/why-finland-and-sweden-will-likely-join-nato
- https://edition.cnn.com/2022/06/29/europe/nato-sweden-finland-summit-explainer-intl/index.html
- https://www.bbc.com/news/world-europe-61397478
- https://www.axios.com/2022/05/16/nato-expansion-ukraine-russia-putin-finland-sweden
- https://www.bbc.com/news/world-europe-61369963