×

ทำไม Fed ลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจสู้โควิด-19 แต่หุ้นยังดิ่งเหว

17.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • ดัชนี Dow Jones ตลาดหุ้นนิวยอร์กดิ่งลงเกือบ 3,000 จุด (16 มีนาคม) แม้ Fed ลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน 1% และออกมาตรการ QE เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจจากภาวะชะลอตัวอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19
  • การที่ Fed ดำเนินนโยบายแบบ Proactive เป็นสัญญาณที่สะท้อนความกังวลของ Fed ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย และมีโอกาสเกิดการผิดนัดชำระหนี้ในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงเกิดแรงเทขายแบบตื่นตระหนก ขณะที่นักลงทุนจำนวนมากกำลังรอมาตรการกระตุ้นทางการคลังจากรัฐบาล
  • KTBST คาดว่าตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วโลกจะถึงจุดสูงสุดราวช่วงกลางปี หรือเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม
  • หุ้นอาจจะไม่ได้ฟื้นตัวเร็วมากนักในระยะสั้น แต่ถ้าดูจากในอดีตที่ผ่านมา หากมีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบจนเกิดสภาพคล่องส่วนเกินแล้ว สินทรัพย์จำพวกพันธบัตรรัฐบาล กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และทองคำ จะเริ่มฟื้นตัวในระยะถัดมา 

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับตลาดการเงินด้วยการหั่นดอกเบี้ยฉุกเฉินรวดเดียว 1% จากที่เพิ่งลด 0.5% ไปเมื่อวันที่ 3 มีนาคม โดยหวังว่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ต่อ แต่ปรากฏว่าตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ตระหนกกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อยู่ก่อนแล้วกลับไม่ขานรับมากนัก ซ้ำร้ายยังเกิดแรงเทขายแบบตื่นตระหนก (Panic Sell) จนวอลล์สตรีทต้องงัด Circuit Breaker พักการซื้อขายชั่วคราวเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 2 สัปดาห์ในวันที่ 16 มีนาคม ขณะที่ดัชนี Dow Jones ปิดที่ 20,188.52 จุด ลดลง 2,997.10 จุด หรือ 12.9% 

 

คำถามคือมีปัจจัยอะไรกดดันตลาดหุ้น ทำไมมาตรการของ Fed จึงไม่ช่วยปรับอารมณ์ของนักลงทุน    

 

ก่อนอื่นไปดูรายละเอียดกันก่อนว่า Fed ออกมาตรการอะไรบ้างที่สร้างแรงกระเพื่อมต่อตลาดการเงินทั่วโลก

 

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของ Fed (FOMC) มีมติปรับลดดอกเบี้ยลงเป็นวาระพิเศษ 1% สู่ระดับ 0-0.25% พร้อมทั้งประกาศมาตรการทางการเงินชุดใหญ่ ประกอบด้วย

1. ประกาศวงเงินซื้อคืนพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ราว 7 แสนล้านดอลลาร์ โดยแบ่งเป็นวงเงิน 5 แสนล้านดอลลาร์ในการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล และ 2 แสนล้านดอลลาร์สำหรับการเข้าซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (Mortgage-backed Securities)


2. ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ฉุกเฉินสำหรับธนาคารพาณิชย์ลง 1% พร้อมทั้งขยายระยะเวลาเงินกู้เป็น 90 วัน


3. ปรับอัตราสำรองตามกฎหมายของธนาคารหลายแห่งสู่ระดับ 0% มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2020 เป็นต้นไป ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น


4. ประกาศทำ SWAP ร่วมกับธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก เช่น ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ), ธนาคารกลางยุโรป (ECB), ธนาคารกลางแคนาดา และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) เพื่อลดความเสี่ยงของสภาพคล่องทั่วโลกในกรณีที่เกิดภาวะตึงตัวทางการเงิน (Liquidity Crunch)

 

คำถามที่นักลงทุนอยากรู้คำตอบคือ

 

Fed ลดดอกเบี้ยฉุกเฉินแล้วทำไมหุ้นยังลง
การปรับลดดอกเบี้ยฉุกเฉินในอดีตมักจะทำเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านขาลงของเศรษฐกิจ โดยที่ผ่านมา Fed พยายามที่จะสื่อสารกับนักลงทุนและตลาดมาโดยตลอด (Forward Guidance) ผ่านการส่งสัญญาณต่างๆ 

 

ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนของ KTBST SEC มองว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่กระทบเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนเป็นตัวแปรที่สำคัญตัวเดียวของตลาดในเวลานี้ ซึ่งการที่ Fed ดำเนินนโยบายแบบ Proactive เป็นสัญญาณที่สะท้อนความกังวลของ Fed ว่าเศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย และมีโอกาสที่จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงความไม่แน่ใจของ Fed ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ 

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้ยาก นักลงทุนและนักเศรษฐศาสตร์ต่างทราบดีว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัว (Slowdown) และมีโอกาสเกิดภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) หรือก็คือการที่ GDP หดตัวลง 2 ไตรมาสติดต่อกัน และในอดีตทุกครั้งที่มีการทำ Emergency Cut หรือลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน มักจะเกิดการปรับตัวลดลงของราคาสินทรัพย์ทุกประเภททั่วโลก (กราฟด้านล่าง) โดยพบว่าการลดดอกเบี้ยรวดเดียว 1% เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในประวัติศาสตร์

 

 

ประกอบกับในปัจจุบัน ตลาดสินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลกเข้าเงื่อนไขตลาดหมี (Bear Market) อย่างสมบูรณ์ (การปรับลดลงของราคาสินทรัพย์จากจุดสูงสุดมากกว่า 20%) จนทำให้เกิดภาวะ Correlation Spiking หรือการที่นักลงทุนเกิดความกลัวจนขายสินทรัพย์ทุกอย่างออกมาและถือเงินสดเพราะความไม่แน่ไม่นอน จนทำให้การลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงไม่มีผล เนื่องจากความสัมพันธ์ของราคาสินทรัพย์เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกัน (กราฟล่าง) และนำมาซึ่งแนวคิด Cash is king! (การถือเงินสดคือพระเจ้าและไม่ขาดทุน)

 

 

ขนาดของมาตรการ QE ล่าสุดใหญ่แค่ไหน
การประกาศวงเงินซื้อคืนพันธบัตรและ MBS ก้อนปัจจุบันหากเทียบกับ QE1-3 นั้นถือว่าไม่ได้มีขนาดใหญ่กว่ากันมากนัก จากการประมาณการพบว่าหาก Fed อัดฉีด QE ทุกสัปดาห์ด้วยจำนวนเงินเท่าๆ กัน จะทำให้งบดุลในระยะ 1 ปีข้างหน้าทะลุสู่จุดสูงสุดใหม่

 

การลดดอกเบี้ยฉุกเฉินจะช่วยให้เศรษฐกิจไม่ถดถอยได้หรือไม่
ทาง KTBST มองว่าการลดดอกเบี้ยเอื้อให้สถาบันการเงินลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ (Default) ของทั้งระบบการเงินโลก ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ แต่สถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันไม่ใช่โจทย์เดียวกับวิกฤตการเงินในปี 2008 เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ได้หดตัวจากความเสื่อมถอยของเศรษฐกิจ ทว่าระบบเศรษฐกิจโดยรวมชะงักงันจนเกิดภาวะชะลอตัว อันเนื่องมาจากมาตรการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาด

อะไรที่จะทำให้หุ้นขึ้น
หุ้นอาจจะไม่ได้ฟื้นตัวเร็วมากนักในระยะสั้น แต่ถ้าดูจากในอดีตที่ผ่านมา หากมีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบจนเกิดสภาพคล่องส่วนเกินแล้ว สินทรัพย์จำพวกพันธบัตรรัฐบาล กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และทองคำ จะเริ่มฟื้นตัวในระยะถัดมา อย่างไรก็ดี ทาง KTBST คาดว่ากุญแจหลักที่จะช่วยให้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นพลิกฟื้นได้จะเป็นในเรื่องความคืบหน้าเกี่ยวกับการตรวจพบผู้ติดเชื้อให้เร็วที่สุดก่อนที่จะมีการแพร่กระจาย มากกว่าจะคาดหวังให้เกิดวัคซีนในการรักษาโรคดังกล่าว

 

ขณะที่นักวิเคราะห์ในต่างประเทศมองว่าเวลานี้บรรดาบริษัท ภาคธุรกิจ หรือแม้แต่ตลาด ต่างกำลังรอคอยข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่ทำเนียบขาวและสภาคองเกรสตกลงกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นั่นคือแผนขยายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเครื่องมือทางการคลังจากภาครัฐ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ ยังขาดแผนการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปกป้องภาคธุรกิจและแรงงานในประเทศจากภาวะที่เข้าใกล้การชัตดาวน์เศรษฐกิจอันเนื่องมาจากไวรัส

 

จากแบบจำลองทางสถิติ (SIR Model) ทาง KTBST คาดว่าตัวเลขผู้ป่วยทั่วโลกจะถึงจุดสูงสุดราวช่วงกลางปี หรือเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ในขณะที่จีนผ่านจุดสูงสุดของภาวะการระบาดไปแล้ว และน่าจะกลับมาเริ่มทำการผลิตได้ในเร็ววัน ดังจะเห็นได้จากการที่โรงงานในเมืองอู่ฮั่น แหล่งต้นตอการระบาดของไวรัส เริ่มเปิดการผลิตโดยมีการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ในช่วงครึ่งเช้าของทุกวัน (ภาพด้านล่าง)

 

  

โดย KTBST คาดว่าตลาดหุ้นจีนจะเป็นตัวนำตลาดหุ้นโลกในระยะต่อจากนี้ หลังจีนเดินเครื่องสายการผลิตหลังจากที่หยุดไปตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งข้อแนะนำจาก KTBST ก็คือให้กระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ภายใต้การจัดสรรการลงทุนแบบ Conservative โดยเน้นลงทุนในตราสารหนี้ 70-80% ของพอร์ต สินทรัพย์ทางเลือกอย่างทองคำและกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 5-10% ของพอร์ต และหุ้นต่างประเทศอย่างจีน 5-10% ของพอร์ต ส่วนที่เหลือถือเป็นเงินสด

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising