×

สรุปทำไมค่าไฟไทยแพงกว่าเวียดนาม อินโดนีเซีย และ สปป.ลาว

27.02.2024
  • LOADING...

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุถึงสถานการณ์ราคาค่าไฟฟ้าขณะนี้ว่า เนื่องจากปัญหาการขุดก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่ขาดหายไปเป็นจำนวนมากพอสมควร ทำให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่มีราคาแพงมาชดเชย 

 

ซึ่งสถานการณ์นี้จะส่งผลต่อราคาค่าไฟฟ้างวดถัดไป (พฤษภาคม-สิงหาคม 2567) หรือไม่นั้น กระทรวงพลังงานไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยจะพยายามบริหารจัดการรักษาอัตราค่าไฟฟ้าให้อยู่ในอัตราเดิมที่หน่วยละ 4.18 บาท 

 

โดยแนวโน้มที่จะเป็นไปได้นั้น ส่วนหนึ่งมาจาก ปตท.สผ. ยืนยันว่าจะสามารถขุดก๊าซจากอ่าวไทยที่ขาดหายไปจำนวนมากกลับคืนมาได้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 อีกทั้งยังคงเดินหน้ารื้อโครงสร้างพลังงานทั้งระบบภายในปีนี้

 

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ชำแหละค่าไฟฟ้าปี 2567

 

ด้าน คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าไฟงวด 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2567) ต้องดูอัตราปัจจัยแรก ‘ค่าเงินบาท’ ของงวดที่ 1 (มกราคม-เมษายน 2567) อยู่ที่ 35.83 บาท ปัจจุบันลงมาเหลือ 35.34 บาท หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นก็จะส่งผลให้ไทยซื้อเชื้อเพลิงถูกลง 

 

อีกปัจจัยสำคัญคือ ราคาก๊าซธรรมชาติ (Spot LNG) ซึ่งปกติอ้างอิงราคาจาก 2 แหล่ง ได้แก่ JKN คือราคาในตลาดเอเชีย และ TTF คือราคาในตลาดยุโรป คาดว่าน่าจะต่ำไปจนถึงเดือนกันยายนแล้วค่อยกลับขึ้นมาใหม่ ทำให้ต้นทุนราคา LNG น่าจะต่ำกว่าเดิมอย่างแน่นอน อยู่ที่ประมาณ 8-11 ดอลลาร์สหรัฐ จากราคาเดิมในงวด 1 ที่ 14.32 ดอลลาร์สหรัฐ 

 

ส่วนอีกปัจจัยคือ ตอนนี้หลายประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นและยุโรปมีปริมาณ LNG เพียงพอแล้ว ประกอบกับเศรษฐกิจจีนฟื้นตัว ซึ่งเป็นสัญญาณดีที่ว่าต้นทุน Spot LNG น่าจะถูกกว่าปีที่แล้ว ทำให้คาดว่าราคา Pool Gas ในงวด 2/67 น่าจะต่ำกว่างวดที่ 1/67 ที่ 3.33 บาทต่อหน่วย แม้จะไม่มีเงิน Shortfall เข้ามาช่วย แต่ก็น่าจะถูกลง

 

“อย่างไรก็ตาม ยังไม่รวมว่ารัฐบาลจะมีนโยบายใช้หนี้คืน กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาท และหนี้ที่ค้าง ปตท. จากการคงราคา Pool Gas ให้ใช้ก๊าซเรตเดียวกัน (Single Pool Gas) ในการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเมื่องวด 1 ที่ผ่านมาอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท อีกทั้งต้องจับตาปัจจัยเรื่องภูมิรัฐศาสตร์อีกด้วยว่าจะมีสงครามปะทุขึ้นที่ไหนอีกหรือไม่”

 

ขณะที่ปัจจัยสุดท้ายที่จะมีผลต่อค่าไฟในระยะยาว ต้องจับตาแหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานา ประเทศเมียนมา ที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2565 จึงอาจจะต้องหาแหล่งทดแทน การกลับมาของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย รวมถึงความคืบหน้าเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (OCA) อีกด้วย

 

อินโดนีเซีย-เวียดนาม เน้นเชื้อเพลิงถ่านหิน อนาคตอาจไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป

 

คมกฤชฉายภาพให้เห็นถึงราคาค่าไฟฟ้าไทยเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอาเซียนว่า ราคาค่าไฟเฉลี่ยของประเทศไทยในปีที่ผ่านๆ มาอยู่ที่ 4.14 บาทต่อหน่วย ถือเป็นระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับที่อื่น แต่ข้อดีคือการให้บริการของเราดีกว่าประเทศอื่นในอาเซียน เช่น เวียดนามและอินโดนีเซีย ซึ่งประเทศเหล่านี้จะต้องมีโครงข่ายจ่ายไฟออกไปต่างจังหวัด 

 

“แต่ละประเทศจะมีทรัพยากรที่ใช้ผลิตไฟฟ้าแตกต่างกันไป อย่างอินโดนีเซียที่ราคาถูกเพราะใช้ไฟฟ้าจากถ่านหิน ซึ่งในอนาคตหากจะต้องเปลี่ยนเป็นพลังงานสีเขียวจะต้องรื้อโครงสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมด ส่วนเวียดนามใช้ถ่านหินและพลังน้ำ ซึ่งหากเกิดภาวะแล้งก็จะขาดแคลนไฟฟ้า ทำให้การออกแบบการใช้ไฟฟ้าในแต่ละประเทศต้องคำนึงถึง 3 ด้าน ได้แก่ ราคา ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไอเท็มใหม่ที่โผล่ขึ้นมาคือการลดโลกร้อน”

 

ต้นทุนและราคาซื้อไม่เท่ากัน บวกกับปริมาณก๊าซในอ่าวไทยหายไป 

 

ขณะที่ไทยหากดูต้นทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ราคาซื้อไฟฟ้า (ต้นทุน) ในปี 2565 จะเห็นได้ว่าราคาไฟฟ้าที่ผลิตหน้าโรงจะเฉลี่ยที่ 3.77 บาทต่อหน่วย แต่การผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) อยู่ที่ 4.02 บาทต่อหน่วย และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จะอยู่ที่ 4.87 บาทต่อหน่วย 

 

ดังนั้น SPP ต้นทุนสูงกว่า เพราะประสิทธิภาพยังไม่เท่ากับ IPP ประกอบกับเวลานั้นไทยเผชิญปัญหาก๊าซในอ่าวไทยขาดแคลน ทำให้ราคา Pool Gas แพงขึ้น จะเห็นได้ว่าโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซจะแพงกว่าต้นทุนเฉลี่ยจากเดิมปกติที่ต่ำกว่า รวมถึงใช้น้ำมันดีเซลเข้ามาผลิตไฟฟ้า ทำให้ต้นทุนไฟฟ้าสูงมากที่ 8.4 ดอลลาร์สหรัฐ 

 

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนยังถูกกว่าการนำเข้าก๊าซ ซึ่งต้นทุน 3.77 บาทต่อหน่วย ยังไม่รวมถึงค่าสายส่งหรือค่าไฟสาธารณะ ส่งผลให้ราคาขายให้กับประชาชนอยู่ที่ 4.14 บาทต่อหน่วย 

 

ค่าไฟบ้านกับค่าไฟอุตสาหกรรมคิดต่างกัน

 

โดยราคาขายไฟฟ้าของแต่ละกลุ่ม การคิดค่าไฟจะไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นบ้านที่อยู่อาศัยจะเป็นการคิดแบบขั้นบันได ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมจะเป็นแบบ TOU (อัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาของการใช้ หรือ Time of Use Tariff) ที่ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ไฟของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม 

 

จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้อยู่อาศัยที่ใช้มากกว่า 150 หน่วยจะมีราคาถูกที่สุดอยู่ที่ 3.80 บาทต่อหน่วย บ้านที่อยู่อาศัยที่ใช้เกิน 150 หน่วยขึ้นไปอยู่ที่ 4.49 บาทต่อหน่วย ส่วนอุตสาหกรรมขนาดเล็กเฉลี่ย 4.55 บาทต่อหน่วย อุตสาหกรรมขนาดกลาง 4.31 บาทต่อหน่วย และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ซึ่งมีราคาถูกที่สุดเฉลี่ย 3.81 บาทต่อหน่วย เพราะใช้ค่าไฟฟ้าแบบ TOU ทำให้หลบเลี่ยงช่วงไฟฟ้าพีคได้และบริหารจัดการได้ 

 

 

สรุปสาเหตุที่ค่าไฟไทยแพงกว่าเพื่อนบ้านอาเซียน?

 

ต้องอธิบายก่อนว่า ค่าไฟพีคของแต่ละประเทศจะไม่เหมือนกัน คือค่าไฟปกติตามตารางจะบวกค่า Ft ทุก 4 เดือน โดยตารางคิดค่าไฟจะไม่มีการปรับเลย จะปรับแค่เฉพาะค่า Ft เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนจะพบว่า อินโดนีเซียมีค่าไฟในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ถูกที่สุด เพราะใช้พลังงานถ่านหินและเงินรัฐอุดหนุน จากนั้นก็เป็นเวียดนามที่ 2.62 บาทต่อหน่วย และไทยที่ 3.46 บาทต่อหน่วย ซึ่งในช่วงเริ่มต้นปี 2565 ค่าไฟระหว่างไทยกับเวียดนามอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน

 

แต่เรามาเจอปัญหาในเรื่องราคาก๊าซที่หายไปอย่างที่กล่าวข้างต้น และต้องเพิ่มการนำเข้า ซึ่งตอนนี้กลับลงมาไม่ต่างกันเท่าไรแล้ว 

 

“หากเราสามารถรักษาระดับราคาให้อยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ก็สามารถแข่งขันได้ แต่ต้องบอกก่อนว่าเป็นเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เท่านั้น เพราะเวียดนามคิดค่าไฟของแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน”

 

โดยแบ่งเป็นธุรกิจขนาดกลาง เช่น เมื่อเดือนพฤศจิกายนปรับค่าไฟขึ้น 3.98 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟขึ้นค่อนข้างสูง แต่เมื่อเทียบกับไทยที่ 3.46 บาทต่อหน่วยแล้ว ค่าไฟของธุรกิจขนาดกลางในเวียดนามมีราคาสูงกว่าของประเทศไทย ส่วนบ้านที่อยู่อาศัยจะใช้การคิดค่าไฟแบบขั้นบันได 

 

หากเป็นบ้านที่ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า 300 หน่วย จะพบว่ามาเลเซียเป็นประเทศที่มีค่าไฟฟ้าในบ้านที่อยู่อาศัยถูกที่สุด เพราะให้ความสำคัญกับบ้านที่อยู่อาศัยเป็นพิเศษ จึงใช้เงินรัฐเข้าอุดหนุน รองลงมาคือเวียดนาม ส่วนบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟมากกว่า 600 หน่วย มาเลเซียก็ยังมีราคาที่ถูกกว่า เช่นเดียวกับเวียดนามที่ค่าไฟในบ้านที่อยู่อาศัยราคาถูกกว่าไทย 

 

ดังนั้นจากการคิดค่าไฟที่แตกต่างกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนของแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับการออกแบบนโยบายของภาครัฐว่าจะสนับสนุนด้านไหนเป็นพิเศษ บางประเทศเน้นดูแลประชาชน ส่วนบางประเทศให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรม 

 

นี่คือเหตุผลว่าทำไมค่าไฟฟ้าของไทยแพงกว่าคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินโดนีเซีย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X