×

‘ธุรกิจไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา’ น่าสนใจอย่างไร ทำไม ‘เอ็กโก กรุ๊ป’ ถึงเข้าไปลงทุนในช่วงเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงาน [ADVERTORIAL]

13.12.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • แม้จะเกิดที่ไทยและเติบโตในอาเซียนเป็นหลัก แต่ในช่วง 2 ปีมานี้ ‘เอ็กโก กรุ๊ป’ เข้าไปลงทุนในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมองเห็นโอกาสในการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด รวมถึงโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก (Conventional Fuel) ซึ่งตอบโจทย์ช่วงเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงาน (Energy Transition)
  • การก้าวสู่ดินแดนพญาอินทรีอย่างเป็นทางการของเอ็กโก กรุ๊ป เริ่มขึ้นเมื่อต้นปี พ.ศ. 2564 ด้วยการซื้อหุ้น 28% ในโครงการโรงไฟฟ้าโคเจเนอเรชัน ‘ลินเดน โคเจน’ และในปีเดียวกันได้มีการซื้อหุ้นในสัดส่วน 17.46% ใน ‘บริษัท เอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง’ ผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ และปี 2565 ได้ซื้อหุ้นในสัดส่วน 49% ในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ‘ไรเซ็ก’
  • จากการลงทุนในตลาดสหรัฐอเมริกาส่งผลให้เอ็กโก กรุ๊ป สามารถเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน มีโอกาสร่วมมือกับพันธมิตรศึกษา พัฒนา และลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกใหม่ๆ ตลอดจนขยายเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่งในตลาดที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

ถึง ‘บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)’ หรือ ‘เอ็กโก กรุ๊ป’ จะเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในไทยมานานกว่า 30 ปี และมีการเติบโตในด้านการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นหลัก แต่ 2 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อไปลงทุนยัง ‘สหรัฐอเมริกา’ ซึ่งปัจจุบันมีการลงทุนแล้ว 3 โครงการ และได้มองหาโอกาสใหม่ๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง

 

ตลาดพลังงานในสหรัฐอเมริกาน่าสนใจแค่ไหน ทำไม ‘เอ็กโก กรุ๊ป’ ต้องเดินทางไกลเพื่อไปลงทุน เราจะชวนทุกคนมาหาคำตอบจากบทความนี้กัน

 

โอกาสในการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด รวมถึงโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก

“เอ็กโก กรุ๊ป เข้าไปลงทุนในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมองเห็นโอกาสในการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด รวมถึงโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก (Conventional Fuel) ซึ่งตอบโจทย์ช่วงเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงาน (Energy Transition)” เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป ตอบเมื่อถูกถามว่าทำไมจึงสนใจสหรัฐอเมริกา

 

 

สหรัฐอเมริกามีพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศไทย 18 เท่า และมีประชากรกว่า 300 ล้านคน ทำให้ที่นี่เป็นตลาดไฟฟ้าและพลังงานขนาดใหญ่ที่มีความต้องการไฟฟ้าสูง และมีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมประมาณ 1,000 กิกะวัตต์ ซึ่งกำลังผลิตส่วนใหญ่มาจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและโรงไฟฟ้าถ่านหิน

 

สิ่งที่น่าสนใจคือดินแดนพญาอินทรีแห่งนี้มีการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไฟฟ้าและพลังงานไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างจริงจังในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนที่จะปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่ในปัจจุบัน และแทนที่ด้วยโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

 

รัฐบาลยังได้ตั้งเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ร้อยละ 40 ของกำลังผลิตทั้งหมดภายในปี 2573 และใช้มาตรการกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้ประเทศบรรลุเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนได้

 

นโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ต้องการให้มีการใช้พลังงานสะอาดผลิตไฟฟ้า 100% ภายในปี 2578 หรือล่าสุดการออกกฎหมายว่าด้วยการปรับลดเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล พร้อมส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด

 

ขณะเดียวกัน ตลาดไฟฟ้าและพลังงานในสหรัฐอเมริกาก็มีโมเดลธุรกิจที่แตกต่างจากตลาดอื่นๆ เช่น การลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเพื่อจำหน่าย หรือการให้บริการเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น

 

“จากภาพรวมของตลาดสหรัฐอเมริกาตามที่กล่าวมา เอ็กโก กรุ๊ป เล็งเห็นศักยภาพการลงทุนในโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่เป็นพลังงานสะอาด และช่วยรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน รวมถึงการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งมีการประเมินว่าสหรัฐอเมริกาต้องการกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อบรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล”

 

เรื่องนี้สะท้อนได้จากการที่สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในตลาดพลังงานหมุนเวียนที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุดในโลก และมีโอกาสในการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนอีกมาก โดยคาดว่าจะเข้าสู่ตลาดจำนวนกว่า 100,000 เมกะวัตต์ ในอีก 10 ปีข้างหน้า

 

เทพรัตน์ย้ำด้วยว่า เอ็กโก กรุ๊ป ยังเห็นโอกาสในการร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานทางเลือกใหม่ๆ ในอนาคต รวมถึงใช้ประสบการณ์และโมเดลการลงทุนในตลาดสหรัฐอเมริกาไปพัฒนาการลงทุนในตลาดและประเทศอื่นๆ ต่อไป

 

เริ่มต้นด้วยโรงไฟฟ้าโคเจเนอเรชัน ‘ลินเดน โคเจน’

การก้าวสู่ดินแดนพญาอินทรีอย่างเป็นทางการของเอ็กโก กรุ๊ป เริ่มขึ้นเมื่อต้นปี 2564 ด้วยการซื้อหุ้น 28% ในโครงการโรงไฟฟ้าโคเจเนอเรชัน ‘ลินเดน โคเจน’ ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง กำลังผลิต 972 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่เมืองลินเดน รัฐนิวเจอร์ซีย์

 

 

ทำไมเอ็กโก กรุ๊ป ถึงยังสนใจโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิมที่ใช้ ‘เชื้อเพลิงฟอสซิล’ ทั้งที่ ‘พลังงานสะอาด’ กำลังเป็นสิ่งที่สหรัฐอเมริกากำลังมุ่งเดินหน้าจากแผนที่กล่าวไว้ข้างต้น

 

เรื่องนี้เทพรัตน์อธิบายไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า โรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิมยังมีความได้เปรียบจากการที่เสถียรภาพในการจ่ายไฟได้นิ่งๆ ตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถปรับเพิ่ม-ลด กำลังผลิตตามความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ ซึ่งทุกประเทศจะให้ความสำคัญกับเรื่องเสถียรภาพมาก เพราะถ้าไม่มีแล้วจะกลายเป็นความเสี่ยงในหลายๆ ด้าน ตัวอย่างเช่น ประเทศไหนที่ไฟตกหรือไฟดับบ่อยๆ อุตสาหกรรมต่างๆ จะไม่อยากมาลงทุน ด้วยไฟดับอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องกับเครื่องจักร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

 

ในขณะที่การใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างแสงอาทิตย์และลมจะให้พลังงานที่สะอาดกว่าก็จริง แต่ทั้ง 2 รูปแบบมีข้อจำกัดเรื่องการผลิตที่ต้องพึ่งแสงอาทิตย์และลมที่ยังมีความไม่แน่นอน ดังนั้นโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิมจึงยังมีความจำเป็นเพราะสามารถสั่งเดินเครื่องเมื่อไรก็ได้ และโรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีคอมไบน์ไซเคิล (Combined Cycle) ซึ่งถือว่าดีกว่าโรงไฟฟ้าแบบเดิม ทำให้มีการใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่ได้ประสิทธิภาพสูงขึ้น

 

“โรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิมจำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญในการเข้าไปบริหารจัดการ เนื่องจากมีความซับซ้อนของเครื่องจักรและระบบ นี่จึงเป็นจุดที่เอ็กโก กรุ๊ป ได้เปรียบ เพราะอยู่ในธุรกิจนี้มา 30 ปี จึงมีความเข้าใจเป็นอย่างดี”

 

โรงไฟฟ้าลินเดน โคเจน ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าลินเดน หน่วยที่ 1-5 กำลังผลิตรวม 800 เมกะวัตต์ ซึ่งขายไฟฟ้าและให้บริการเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้าแก่ระบบและโครงข่ายไฟฟ้าในรัฐนิวยอร์ก (NY-ISO Zone J) และโรงไฟฟ้าลินเดน หน่วยที่ 6 กำลังผลิต 172 เมกะวัตต์ ซึ่งขายไฟฟ้าให้แก่ตลาดซื้อขายไฟฟ้าพีเจเอ็ม พีเอส นอร์ธ (PJM PS North) ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ทั้งโครงข่ายไฟฟ้าในรัฐนิวยอร์กและตลาดซื้อขายไฟฟ้าพีเจเอ็ม พีเอส นอร์ธ เป็นตลาดไฟฟ้า 2 แห่งที่มีความต้องการไฟฟ้าและกำลังไฟฟ้าสำรองสูงที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา

 

“โรงไฟฟ้าลินเดน โคเจน เป็นสินทรัพย์คุณภาพ ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดี ใกล้กับแหล่งจ่ายก๊าซธรรมชาติ จึงทำให้มีต้นทุนเชื้อเพลิงต่ำ รวมทั้งขายไฟฟ้าให้กับรัฐนิวเจอร์ซีย์และนิวยอร์ก ซึ่งเป็นตลาดที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดในสหรัฐอเมริกา และยังมีสัญญาขายไอน้ำและไฟฟ้าระยะยาวกับลูกค้ารายใหญ่”

 

โรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังมีความพิเศษอีกตรงที่ในปี 2565 โรงไฟฟ้าลินเดน หน่วยที่ 6 ได้ถูกปรับปรุงให้สามารถรองรับก๊าซที่เกิดจากกระบวนการผลิตของโรงกลั่นที่มีองค์ประกอบเป็นไฮโดรเจน เพื่อนำมาผสมเป็นเชื้อเพลิงร่วมกับก๊าซธรรมชาติที่ใช้อยู่เดิม ส่งผลให้โรงไฟฟ้าลินเดน หน่วยที่ 6 สามารถรองรับการเผาไหม้เชื้อเพลิงผสมที่มีไฮโดรเจนผสมอยู่ได้สูงสุดถึง 40% ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 10% เมื่อเทียบกับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่โรงไฟฟ้าลินเดน หน่วยที่ 6 ปลดปล่อยปกติในแต่ละปี

 

ขยับเข้าลงทุนใน ‘บริษัท เอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง’

ในปีเดียวกันนั้นเอง เอ็กโก กรุ๊ป ซื้อหุ้นในสัดส่วน 17.46% ใน ‘บริษัท เอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง’ ผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งสร้างรายได้รวมกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2552 และขายโครงการพลังงานสะอาดให้กับกลุ่มลูกค้าในตลาดพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

 

 

สิ่งที่ทำให้เอ็กโก กรุ๊ป สนใจในเอเพ็กซ์มาจากการมีโมเดลธุรกิจแบบใหม่ ซึ่งพัฒนาโครงการเพื่อเดินเครื่องเชิงพาณิชย์เอง 2 ใน 3 ส่วน และจำหน่ายโครงการออกไป 1 ใน 3 ส่วน

 

“เอเพ็กซ์จะมีการศึกษาวิจัยเพื่อหาพื้นที่ที่เหมาะสม ประเมินความคุ้มค่าในการลงทุน จากนั้นก็ลงทุนก่อสร้าง หากในระหว่างนี้มีผู้สนใจและประเมินแล้วว่ามีผลตอบแทนที่ดีก็สามารถขายได้เลย เพื่อนำกระแสเงินสดไปลงทุนในโครงการใหม่ๆ ส่วนโครงการอื่นๆ ที่ไม่ได้ขายก็เดินเครื่องเชิงพาณิชย์เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าต่อไป”

 

เทพรัตน์ขยายความต่อว่า สิ่งที่เอ็กโก กรุ๊ป ได้เรียนรู้จากการเข้าไปลงทุนในสหรัฐอเมริกาคือ นอกจากการได้พาร์ทเนอร์ที่นำไปสู่การค้นหาโครงการที่เหมาะสมต่อการลงทุนแล้ว ยังได้เรียนรู้ระบบขายไฟฟ้าของสหรัฐอเมริกา ซึ่งที่นี่มีการแข่งขันด้านราคา ใครที่มีศักยภาพมากกว่าและมีต้นทุนที่ดีกว่าก็สามารถทำกำไรได้ดีกว่า ต่างจากไทยที่เป็นการตกลงราคาแบบมีระยะเวลาที่กำหนด

 

ปัจจุบันเอเพ็กซ์มีโครงการพลังงานสะอาดอยู่ใน Pipeline จำนวน 50,152 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงโครงการระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าแบบเดี่ยว (Standalone Storage) อีกจำนวนหนึ่ง

 

โครงการต่างๆ ของเอเพ็กซ์จะทยอยแล้วเสร็จ จากนั้นจะจำหน่ายออกหรือเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) เอง ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะทำให้เอ็กโก กรุ๊ป มีกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นดังนี้

  • ปี 2565 จำนวน 51 เมกะวัตต์
  • ปี 2566 จำนวน 167 เมกะวัตต์
  • ปี 2567 จำนวน 450 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ ในปี 2564 ยังได้ลงนามเป็นพันธมิตรกับบริษัท Bloom Energy Corporation ในการพัฒนาการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าอีกด้วย

 

ซื้อหุ้นในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ‘ไรเซ็ก’

สำหรับปี 2565 เอ็กโก กรุ๊ป ได้ต่อยอดการลงทุนในสหรัฐอเมริกา ด้วยการลงนามในสัญญาซื้อหุ้นในสัดส่วน 49% ในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ‘ไรเซ็ก’ (RISEC) กำลังผลิต 609 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในเมืองจอห์นสตัน รัฐโรดไอแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยคาดว่าการซื้อขายหุ้นจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566

 

 

การเข้าซื้อหุ้นในไรเซ็กนับเป็นการต่อยอดธุรกิจของเอ็กโก กรุ๊ป ในตลาดไฟฟ้าของประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจาก ‘ไรเซ็ก’ ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักที่มีความจำเป็นต่อการสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้านิวอิงแลนด์ (ISO-NE) โดยเฉพาะด้านการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดในอนาคต

 

จุดเด่นของโรงไฟฟ้า ‘ไรเซ็ก’ เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในระบบของ ISO-NE และตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณที่มีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงมากของเมืองบอสตันและเมืองโพรวิเดนซ์ โดยโรงไฟฟ้าอื่นเข้ามาในโซนนี้ยากและยังไม่มีโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้ามาตั้งใน ISO-NE โดย ‘ไรเซ็ก’ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มเนื่องจากมีศักยภาพในการลงทุนเพิ่มกำลังผลิตในพื้นที่ของโรงไฟฟ้าเดิมด้วยการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Battery Energy Storage System) รวมถึงการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงผสมในการผลิตไฟฟ้าอีกด้วย

 

ด้านผลประกอบการ ‘ไรเซ็ก’ มีแนวโน้มรายได้ที่มั่นคงและสม่ำเสมอ โดยได้ทำสัญญาขายกำลังผลิตพร้อมจ่ายทั้งหมดและให้บริการเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า Blackstart กับ ISO-NE ในขณะเดียวกันยังทำสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดพร้อมทั้งให้บริการเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าอื่นๆ กับบริษัท เชลล์ เอ็นเนอร์ยี่ นอร์ธ อเมริกา (Shell Energy North America) ซึ่งเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าที่มีความน่าเชื่อถือด้านการลงทุนในระดับ A/A2 ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบรับจ้างแปลงพลังงาน (Energy Tolling Agreement)

 

“เอ็กโก กรุ๊ป ยังมองเห็นโอกาสต่อยอดความร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตรที่ร่วมลงทุนในโรงไฟฟ้าแห่งนี้ รวมถึงโอกาสการลงทุนเพิ่มเติมในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพสูงและโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกาในอนาคต”

 

สอดคล้องกับทิศทางมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

การลงทุนในสหรัฐอเมริกาของเอ็กโก กรุ๊ป เป็นหนึ่งในแผนกลยุทธ์ที่รับมือกับความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งได้ขับเคลื่อนองค์กรภายใต้แนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ‘Cleaner, Smarter and Stronger to Drive Sustainable Growth’ ด้วยเป้าหมายมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่

 

  • เป้าหมายระยะกลาง คือการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% และลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ลง 10% ภายในปี 2573
  • เป้าหมายระยะยาว คือการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2593

 

ดังนั้นการลงทุนในสหรัฐอเมริกาจึงสอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจและตอบสนองต่อเป้าหมายการมุ่งสู่ Carbon Neutral ของเอ็กโก กรุ๊ป เนื่องจากการลงทุนในตลาดสหรัฐอเมริกาส่งผลให้เอ็กโก กรุ๊ป สามารถเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน มีโอกาสร่วมมือกับพันธมิตรศึกษา พัฒนา และลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกใหม่ๆ ตลอดจนขยายเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่งในตลาดที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

 

ทั้งหมดนี้จะส่งเสริมให้เอ็กโก กรุ๊ป สามารถบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutral ในระยะยาวได้สำเร็จ

 

 

อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดที่มีโอกาสสูง แต่ก็มีการแข่งขันในระดับสูงเช่นกัน โดยเฉพาะผู้เล่นในระดับภูมิภาคและระดับโลก นอกจากนี้ตลาดมีรูปแบบและโมเดลทางธุรกิจที่ซับซ้อนและแตกต่างออกไป รวมถึงการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็มีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงสูง

 

ด้วยเหตุนี้เอ็กโก กรุ๊ป จึงต้องพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบและรอบด้าน ด้วยการศึกษาและทำความเข้าใจการลงทุนแต่ละโครงการอย่างชัดเจน เพื่อเปลี่ยนความท้าทายให้เป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงต้องมีเครือข่ายพันธมิตรที่เข้มแข็ง เพื่อให้แน่ใจว่าการลงทุนแต่ละโครงการให้ผลตอบแทนที่ดีในการลงทุน สอดคล้องกับทิศทางอุตสาหกรรมพลังงาน ตอบโจทย์เป้าหมายการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผู้มีส่วนได้เสียอย่างยั่งยืน

 

“ด้วยประสบการณ์ในธุรกิจไฟฟ้ามา 30 ปี ทำให้เรามีองค์ความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญที่จะทำให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าได้อย่างแข็งแรงและยั่งยืน เรามีโอกาสที่จะไปลงทุนทั่วโลก ซึ่งสิ่งที่ได้มา นอกจากผลตอบแทนแล้วยังมีโอกาสอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นพาร์ทเนอร์ การได้เห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดจนเข้าใจตลาดและระบบของธุรกิจในประเทศต่างๆ ซึ่งจะทำให้เราสามารถขยายธุรกิจออกไปได้มากขึ้นและเร็วขึ้น” เทพรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X