×

ความฮอตของ ‘บิวกิ้นและพีพี’ จะไปสุดที่ตรงไหน? ชวนวิเคราะห์ทำไมแบรนด์ดังถึงเลือกคู่จิ้นเป็นพรีเซนเตอร์? แม้ค่าตัว 7 หลักก็ยอม

01.03.2024
  • LOADING...
บิวกิ้นพีพี

HIGHLIGHTS

  • การที่บิวกิ้นและพีพีมีภาพลักษณ์ที่ดี รสนิยมดี มีการศึกษาที่ดี ภาษาดี บ้านมีฐานะ ทุกอย่างล้วนดีไปหมด ทั้งหมดจะสร้างมูลค่าให้กับแบรนด์ได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นมูลค่าของมาร์เก็ตเตอร์ที่ต้องการคนที่จะสามารถสื่อสารแบรนด์ไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลายกลุ่ม หลากหลายวัฒนธรรม
  • ปัจจุบันเราจะเห็นหลายๆ แบรนด์พยายามใช้ศิลปินหลายคน เพื่อให้ศิลปินสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละตลาด และจะเห็นโฆษณาที่มีพรีเซนเตอร์หลายๆ คนมารวมกัน สิ่งเหล่านี้จะตอบโจทย์เรื่องของอิมแพ็กต์ความยิ่งใหญ่ของแบรนด์ 
  • ในปัจจุบันการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียง คำจำกัดความไม่ได้อยู่แค่ดาราต่อไปอีกแล้ว แต่เป็นคนที่มีชื่อเสียงในแต่ละคอมมูนิตี้ ซึ่งอนาคตเราอาจจะเห็นแบรนด์เลือกใช้พรีเซนเตอร์ที่หลากหลายขึ้นในหนึ่งแบรนด์หรือหนึ่งแคมเปญด้วยซ้ำ และจะไม่ได้เป็นแค่การทำโฆษณาแบบปกติแล้ว 
  • สิ่งที่แบรนด์ควรระวังไม่ใช่แค่จ้างคนดัง แต่ต้องจ้างคนดังที่เหมาะกับแบรนด์ด้วย และมากกว่านั้นคือ ต้องระวังว่าคนคนนั้นจะมีความใกล้เคียงกับแบรนด์อื่นที่จ้างอยู่หรือไม่ เพราะแม้จะรับงานในอุตสาหกรรมที่ต่างกัน แต่ก็มีความใกล้เคียงกัน อย่างเช่น ธุรกิจอาหารเสริมและเครื่องสำอาง ที่มีความใกล้เคียงเรื่องความสวยความงาม อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนในที่สุด 

ความฮอตของ ‘บิวกิ้นและพีพี’ จะไปสุดที่ตรงไหน นักวิเคราะห์คอนเฟิร์ม! บิวกิ้นและพีพียังเป็นที่สนใจของแบรนด์ดัง เพราะสร้างอิมแพ็กต์ได้อย่างแน่นอน พร้อมเปิดเทรนด์ จากนี้แบรนด์สินค้าจะเลือกใช้พรีเซนเตอร์มากกว่า 1 คนขึ้นไปถึงจะประสบความสำเร็จ

 

ถึงวันนี้มองไปทางไหนก็จะเห็นบิวกิ้นและพีพีรับเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับหลากหลายแบรนด์ ซึ่งนอกจากจะรับงานเดี่ยวแล้ว ทั้งสองคนยังควงคู่กันรับงานพรีเซนเตอร์คู่ให้กับแบรนด์ใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น AIS หรือเมื่อไม่นานมานี้อย่าง The Pizza Company ที่ก็เปิดตัวบิวกิ้นและพีพีเป็นพรีเซนเตอร์อย่างเป็นทางการแล้วเช่นกัน ว่ากันว่าค่าตัวทั้งสองคนสูงถึง 7 หลักเลยทีเดียว 

 

 

หากย้อนกลับไป บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล และ พีพี-กฤษฏ์ อำนวยเดชกร เริ่มต้นจากการเป็นนักแสดงซีรีส์สายวาย ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่เส้นทางของการเป็นศิลปิน โดยบิวกิ้นนั้นได้เข้าสู่บทบาทผู้บริหารและเป็นศิลปินในค่าย Billkin Entertainment ในวัย 24 ปี ส่วนพีพีในวัย 24 ปีนั้นก็เป็นผู้บริหารและศิลปินในค่าย PP Krit Entertainment ของตัวเองเช่นกัน โดยทั้งคู่มีผลงานในวงการบันเทิงออกมามากมาย

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

คอนเฟิร์ม! บิวกิ้นและพีพียังเป็นที่สนใจของแบรนด์และยังไม่ช้ำ

 

ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI GROUP ฉายภาพกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ในอดีตปัจจัยหลักที่แบรนด์เลือกใช้พรีเซนเตอร์จะมุ่งไปที่ดาราหรือศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับแมส 

 

ยกตัวอย่างเช่น อั้ม-พัชราภา ไชยเชื้อ, ณเดชน์ คูกิมิยะ, ญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์, เบลล่า-ราณี แคมเปน หรือ มาริโอ้ เมาเร่อ ฯลฯ ที่คนรู้จักกันทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันแบรนด์จะเลือกใช้พรีเซนเตอร์ที่มีความเชื่อมโยงกับคัลเจอร์และตรงกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ 

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร / THE STANDARD

 

 

ทั้งนี้ เพื่อรองรับกับพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป หากสังเกตดูก็จะเห็นว่ากลุ่มลูกค้ามีความชัดเจนขึ้นและแตกกระจายอยู่ในหลายๆ คอมมูนิตี้ ทำให้ดาราในสมัยก่อนถูกดิสรัปต์ไปค่อนข้างมาก สลับมาที่บิวกิ้นและพีพีที่เป็นทั้งดาราและศิลปิน มีผลงานต่างๆ มากมาย และเริ่มแมส มีคนรู้จักมากขึ้น จนทำให้ปัจจุบันมีฐานแฟนคลับจำนวนมาก

 

“จริงๆ จุดกำเนิดของทั้งสองคนมาจากการเป็นคู่จิ้นในซีรีส์วายและละคร รักฉุดใจนายฉุกเฉิน ซึ่งช่วงนั้นก็ยังไม่เป็นกระแสมากนัก แต่หลังจากนั้นไม่นานก็เริ่มมีกระแสขึ้นมาจากองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งการเล่นซีรีส์ แปลรักฉันด้วยใจเธอ, ภาพลักษณ์ดี, คาแรกเตอร์โดดเด่นไม่ซ้ำใคร แถมมีความสามารถทั้งการเป็นนักแสดงและเป็นศิลปิน ที่ไม่ว่าจะมีผลงานอะไรออกมาก็มักมีแฟนคลับติดตามจนกลายเป็นแมสได้ระดับหนึ่ง”

 

และอีกประเด็นหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของทั้งคู่คือ มีภาพลักษณ์ที่ดี รสนิยมดี มีการศึกษาที่ดี ภาษาดี บ้านมีฐานะ ทุกอย่างดีไปหมด ทั้งหมดจะสร้างมูลค่าให้กับแบรนด์ได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นมูลค่าของมาร์เก็ตเตอร์ที่ต้องการคนที่จะสามารถสื่อสารแบรนด์ไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลายกลุ่ม หลากหลายวัฒนธรรม

 

 

เสี่ยงไหม? ศิลปินรับพรีเซนเตอร์หลายตัว

 

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าบิวกิ้นและพีพีรับเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับหลากหลายแบรนด์รวมแล้วมากกว่าหลายสิบแบรนด์ ทำให้คำถามที่ตามมาคือ จะสร้างความสับสนในใจให้ผู้บริโภคหรือไม่?

 

เรื่องนี้ภวัตให้มุมมองที่น่าสนใจว่า ในยุคนี้ดารารับพรีเซนเตอร์หลายตัวจะไม่หนักเท่าเมื่อก่อน ถ้าเราย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา อย่าง เคน-ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ ช่วงนั้นมีชื่อเสียงและรับเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าทุกกลุ่ม ในยุคต่อมาก็มี ณเดชน์ คูกิมิยะ, ญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์ และ มาริโอ้ เมาเร่อ สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคไม่สนใจว่านักแสดงที่เขาชอบจะรับพรีเซนเตอร์สินค้าหลายตัวหรือไม่ แต่ผู้บริโภคจะสนใจแค่ว่าสินค้าไหนที่เขาจำได้เท่านั้น

 

ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์สินค้าจ้าง ณเดชน์ คูกิมิยะ มาเป็นพรีเซนเตอร์ แต่ไม่มีการร้องเพลงประกอบ ทำให้แบรนด์สร้างได้แค่ Awareness แต่ไม่สามารถเชื่อมพรีเซนเตอร์ให้เข้าไปสร้าง Engagement กับกลุ่มเป้าหมายได้

 

เช่นเดียวกับบิวกิ้นและพีพี เราจะเห็นทั้งคู่รับงานโฆษณาคู่กันอย่าง B-Quik ที่มีการร้องเพลงประกอบ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะสร้างเรื่องราวได้ว่าเป็นธุรกิจครอบครัวของบิวกิ้น ทำให้โฆษณามีหลายมิติมากขึ้น

 

รวมถึงที่พีพีที่ไปเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับแบรนด์โอโม ก็สามารถสร้าง Awareness ได้ เพราะฉะนั้นในมุมของ Awareness สร้างได้แน่นอน ซึ่งถ้าศิลปินหรือนักแสดงรับงานพรีเซนเตอร์ 20 แบรนด์ คอนซูเมอร์ก็จะรับรู้ได้ทุกแบรนด์ แต่รับมาก็ลืมๆ ไป แต่ความคาดหวังมาร์เก็ตเตอร์คือ การสร้างมูลค่าให้กับแบรนด์ให้ได้

 

 

กลยุทธ์พรีเซนเตอร์ 1 คนหรือ 2 คนขึ้นไป แบบไหน Success กว่ากัน

 

ในอดีตการใช้พรีเซนเตอร์ 1 คนดีกว่าทุกมุม เช่น ณเดชน์ คูกิมิยะ โฆษณาของแชมพูหรือ NIVEA  คอนซูเมอร์ก็จะมีภาพจำว่า NIVEA MEN คือณเดชน์ เพราะฉะนั้นคำว่าณเดชน์กับ NIVEA จะผูกกันชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้นถ้าแบรนด์จะใช้พรีเซนเตอร์มากกว่า 1 คนขึ้นไป งบประมาณทางการตลาดก็จะยิ่งสูงตามไปด้วย 

 

ที่สำคัญเรตในการลงโฆษณาของแต่ละคนจะถูกแชร์ตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น หนึ่งแบรนด์มีงบ 100 บาท มีพรีเซนเตอร์หลายคน ต้องใช้งบยิงแอดโฆษณาไปหาลูกค้าที่เป็นฐานแฟนคลับของดาราคนนั้น ซึ่งต้องยอมรับว่าปัจจุบันตลาดหรือกลุ่มเป้าหมายมีหลากหลายมาก ดังนั้นการมีพรีเซนเตอร์คนเดียวอาจไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ และสร้างได้แค่ Awareness แต่ไม่ได้ Community และไม่ได้ Engagement 

 

สะท้อนได้ว่า ในอดีตพรีเซนเตอร์คนเดียวได้ผลชัดเจน แต่ปัจจุบันการมีพรีเซนเตอร์หลายคนจะตอบโจทย์กับยุคนี้มากกว่า เพราะกลุ่มเป้าหมายคนไทยที่มีอยู่ 70 ล้านคน มีพรีเซนเตอร์ในใจมากกว่าหนึ่งคน 

 

“ถ้าเทียบกับในอดีต เดินไปตลาดถามใครก็จะตอบว่าชื่นชอบแค่อั้ม-พัชราภา ไชยเชื้อ, นุ่น-วรนุช ภิรมย์ภักดี, ชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต อยู่แค่ 3-4 คน แต่ปัจจุบันถ้าเดินไปในคอมมูนิตี้หนึ่ง กลุ่มผู้บริโภคอาจจะบอกว่ามีดาราหรือศิลปินในดวงใจมากถึง 20 คนด้วยซ้ำ” ภวัตให้ความเห็น 

 

พรีเซนเตอร์มากกว่า 1 คน สร้างอิมแพ็กต์ความยิ่งใหญ่ให้กับแบรนด์

 

แน่นอนว่าปัจจุบันเราจะเห็นหลายๆ แบรนด์พยายามใช้ศิลปินหลายคน เพื่อให้ศิลปินสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละตลาด และจะเห็นโฆษณาที่มีพรีเซนเตอร์หลายๆ คนมารวมกัน สิ่งเหล่านี้จะตอบโจทย์เรื่องของอิมแพ็กต์ความยิ่งใหญ่ของแบรนด์ 

 

ก่อนหน้านี้ AIS ที่มีพรีเซนเตอร์หลายคนก็ชัดเจน และประสบความสำเร็จกับการดึงพรีเซนเตอร์ตัวท็อปมาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ และหนึ่งในนั้นมีชื่อ ลิซ่า BLACKPINK และแบมแบม GOT7 ก็สร้างความฮือฮาอยู่ไม่ใช่น้อย 

 

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีพรีเซนเตอร์ที่เป็น AI อย่างน้องไอรีน ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่าน้องไอรีนคือใคร ไม่รู้จัก แต่อย่าลืมว่าน้องไอรีนสามารถดึงกลุ่มคนที่ชอบเรื่องเมตาเวิร์ส หรือ AI เข้ามาได้อย่างแน่นอน 

 

 

ไม่เว้นแม้แต่ Samsung ที่มีสินค้าหลากหลาย ก็ใช้พรีเซนเตอร์และอินฟลูเอ็นเซอร์ให้เข้ากับภาพลักษณ์ของสินค้านั้นๆ

 

เราจะเห็นเลยว่า แบรนด์ใหญ่ๆ เริ่มใช้พรีเซนเตอร์หลายคนเต็มไปหมด จริงๆ ก็เปรียบเสมือนกับการใช้อินฟลูเอ็นเซอร์ ซึ่งแบรนด์ระดับกลางหรือแบรนด์ทั่วไปอาจจะใช้เงินจ้างพรีเซนเตอร์คนหนึ่ง แล้วพรีเซนต์ก็เป็นเหมือนแบรนด์แอมบาสเดอร์ 

 

แต่คำว่าแบรนด์แอมบาสเดอร์อาจไม่ได้สร้าง Engagement ได้อย่างเต็มที่ เพราะอาจไม่ได้อยู่ในคอมมูนิตี้นั้นๆ แล้วหลังจากนั้นแบรนด์ค่อยมาใช้อินฟลูเอ็นเซอร์เพื่อเข้าไปหาลูกค้าในแต่ละเซ็กเมนต์ทีหลัง  

 

แบรนด์จะเลือกศิลปินที่เหมาะสมกับสินค้าอย่างไร

 

เมื่อศิลปินมีภาพลักษณ์ที่หลากหลายจากการรับพรีเซนเตอร์หลายตัว ทำให้เรื่องนี้มาร์เก็ตเตอร์กังวลมานานกว่า 20 ปีแล้ว เพราะสมัยก่อนที่แบรนด์จะเลือกนักแสดงหรือศิลปินมาเป็นพรีเซนเตอร์ ต้องพิจารณาจากเบื้องหลังการใช้ชีวิต 

 

อย่างเช่น โฆษณารถยนต์ ก็ต้องดูว่าในชีวิตประจำวันดาราคนนั้นขับรถยนต์แบรนด์อะไร และขับมานานแค่ไหน กลายเป็นภาพจำแล้วหรือไม่ แน่นอนว่าถ้าเป็นคู่แข่ง แบรนด์ก็เลือกที่จะไม่ใช้ เพราะมีความสุ่มเสี่ยงที่ลูกค้าจะมีเกิดความสับสนได้

 

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องกฎของแบรนด์นั้นไม่สามารถจ้างพรีเซนเตอร์ที่เคยรับงานสินค้าประเภทเดียวกันได้ นอกจากจะหมดสัญญาแล้ว โดยปกติสัญญาก็อยู่ประมาณ 6 เดือน – 1 ปี

 

เลือกพรีเซนเตอร์ให้ตรงกับภาพลักษณ์สินค้ามีความท้าทายมาก

 

อีกหนึ่งความท้าทายที่พูดง่ายแต่ทำยากคือ พรีเซนเตอร์คนนี้ที่จ้างมาในราคาประมาณ 7-8 หลัก โจทย์คือแบรนด์จะดึงเสน่ห์และตัวตนเขามาเชื่อมโยงกับแบรนด์ได้อย่างไร เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกดีกับแบรนด์ 

 

แต่เรื่องนี้ก็ถือว่ายากที่จะทำให้พรีเซนเตอร์เข้ากับแบรนด์สินค้าได้จริงๆ ต้องเลือกให้ตรงจริต โดยพรีเซนเตอร์กับสินค้าต้องมีความเข้ากันได้ในระดับหนึ่งและต้องเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายด้วยว่าแบรนด์ต้องการขายใคร 

 

อย่างกรณีของคัลแลนกับพี่จองที่มาเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับ Samsung S24 เราไม่มีทางรู้ว่าจะขายดีมากน้อยแค่ไหน แต่ได้มากกว่าแค่ Awareness แน่นอน เพราะคนพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ทำให้ได้อินไซต์มาด้วย แตกต่างกับหลายๆ แบรนด์ก็จะแค่โฆษณา แต่ยังไม่ได้สร้างอิมแพ็กต์มากนัก ดังนั้นแบรนด์จะต้องสร้างความแตกต่างให้ได้

 

สำหรับกรณีของ Samsung นั้นได้ออกมาเปิดเผยอย่างเป็นการทางว่า Galaxy S24 Series ได้รับความนิยมและการตอบรับอย่างท่วมท้นจากผู้บริโภคชาวไทย ด้วยยอดการสั่งจองล่วงหน้ากว่า 200% เมื่อเทียบกับรุ่น Galaxy S23 Series และสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย ตัวเลขเติบโตติดท็อป 1 ใน 5 ของโลก ส่วนยอดขายติดท็อป 10 โดย 1 ใน 4 ของยอดพรีออร์เดอร์นั้นมาจากแบรนด์คู่แข่ง

 

“นอกจากการก้าวเข้าสู่ยุค AI Phone ส่วนตัวมองว่า ปรากฏการณ์คัลแลน-พี่จองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขการจองเติบโตสูงแบบนี้” สิทธิโชค นพชินบุตร รองประธานธุรกิจองค์กร โมบายล์ เอ็กซ์พีเรียนซ์ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH

 

 

อนาคตกลยุทธ์ ‘Celebrity Endorsement’ ในยุคดิจิทัลจะเป็นอย่างไร

 

ภวัต เรืองเดชวรชัย ฉายภาพต่อไปว่า ในปัจจุบันการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียง คำจำกัดความไม่ได้อยู่แค่ดาราต่อไปอีกแล้ว แต่เป็นคนที่มีชื่อเสียงในแต่ละคอมมูนิตี้ ซึ่งอนาคตเราอาจจะเห็นแบรนด์เลือกใช้พรีเซนเตอร์ที่หลากหลายขึ้นในหนึ่งแบรนด์หรือหนึ่งแคมเปญด้วยซ้ำ และจะไม่ได้เป็นแค่การทำโฆษณาแบบปกติแล้ว 

 

“สมมติว่าเราจ้างบิวกิ้นกับพีพีมาทำโฆษณาหลักหนึ่งตัว จากนั้นเราจะเห็นชิ้นงานโฆษณาย่อยในมิติอื่นๆ เพราะมาร์เก็ตเตอร์รู้แล้วว่าการทำลักษณะนี้ผู้บริโภคจะยอมรับแบรนด์หรือมี Value ที่ดีกับแบรนด์แน่นอน

 

“เห็นได้จากโฆษณา Samsung S24 คัลแลนกับพี่จอง จะมีที่เป็นโฆษณาหลักหนึ่งตัวและจะมีคลิปวิดีโอที่สะท้อนตัวสินค้า S24 ในมุมมองต่างๆ ที่เรียลขึ้น เพราะเทรนด์ผู้บริโภควันนี้เขาจะเข้าถึงคอนเทนต์ในลักษณะนี้มากกว่า” 

 

ดารา-ศิลปินรับพรีเซนเตอร์หลายงาน จะมีความช้ำเป็นเรื่องธรรมดา

 

สอดคล้องกับ ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ประธานหลักสูตรปริญญาโทด้านแบรนด์และการตลาด ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ในช่วง10 ปีที่ผ่านมา การใช้พรีเซนเตอร์ถือว่าจำเป็นมากสำหรับแบรนด์ที่ต้องเพิ่มขีดการแข่งขันในตลาด แต่ปัจจุบันแบรนด์จะใช้พรีเซนเตอร์คนเดียวไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะผู้คนมีความชอบหลากหลายมากขึ้น 

 

ภาพ: สลัก แก้วเชื้อ / THE STANDARD

 

เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวที่หลายๆ แบรนด์เลือกใช้บิวกิ้นกับพีพีเป็นพรีเซนเตอร์มาสักระยะหนึ่งแล้ว โดยทั้งสองคนรับพรีเซนเตอร์ในกลุ่มสินค้าหลากหลายประเภท ที่สำคัญสามารถจับกลุ่มลูกค้าได้อย่างครอบคลุม จึงทำให้หลายๆ แบรนด์เลือกใช้ ซึ่งก็ยอมรับว่าถ้าแบรนด์ใช้ไปเรื่อยๆ ก็จะมีความช้ำอยู่บ้าง เพราะคนจำไม่ได้ว่าเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับแบรนด์อะไรมาบ้าง ซึ่งกรณีแบบนี้ ณเดชน์ คูกิมิยะ และ เบลล่า-ราณี แคมเปน ก็เคยประสบกับปัญหาแบบนี้มาก่อน ถือว่าเป็นเรื่องปกติ

 

ขณะเดียวกันการรับพรีเซนเตอร์หลายตัว ถ้าอยู่ในกลุ่มสินค้าประเภทแตกต่างกันก็ไม่มีปัญหาอะไร คือผู้บริโภคไม่ได้เดือดร้อนที่พรีเซนเตอร์คนหนึ่งจะไปรับสินค้าหลายตัว เพียงแต่แบรนด์ที่มาใช้ทีหลังคนอาจจะจำได้น้อยกว่า

 

ทั้งนี้ กลยุทธ์ก็แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ Daikin ที่เคยใช้ณเดชน์เป็นพรีเซนเตอร์คนเดียว แต่ปัจจุบันนั้นเป็นพรีเซนเตอร์คู่กับบิวกิ้น สะท้อนให้เห็นว่า พอใช้ณเดชน์ไปสักพักคนจะเริ่มคุ้นตาและเริ่มอยากเห็นอะไรใหม่ๆ แบรนด์ก็เลยต้องเพิ่มพรีเซนเตอร์คนใหม่เข้ามา แต่ขณะเดียวกันก็เลิกใช้พรีเซนเตอร์คนเดิมไม่ได้ 

 

ในบางครั้งการใช้พรีเซนเตอร์ 2 คนมีประโยชน์ก็จริง แต่ก็ต้องพิจารณาค่าใช้จ่ายและพรีเซนเตอร์คนเดิมและคนใหม่ว่าสามารถเข้ากันได้หรือไม่ เพราะไม่ใช่ว่าภาพลักษณ์ของพรีเซนเตอร์ทั้งสองคนจะเข้ากันได้ง่ายๆ แต่ข้อดีคือสามารถดึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขึ้น

 

ก่อนหน้าที่เราจะเห็นแบรนด์ที่ใช้พรีเซนเตอร์หลายคน อย่างเช่น MISTINE ที่มีโปรดักต์หลากหลายและตั้งใจเจาะกลุ่มแมส นอกจากจะแบ่งตามเพศและตามอายุแล้ว สิ่งสำคัญที่แบรนด์ให้ความสำคัญมากๆ ก็คือ การแบ่งตามไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ทั้งนี้ ก็เพื่อรองรับบริบทสังคมและพฤติกรรมของผู้คนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น

 

พรีเซนเตอร์ที่มีฐานแฟนคลับเหนียวแน่น นับเป็นเกาะปกป้องแบรนด์

 

เรียกได้ว่าการที่แบรนด์จะเลือกพรีเซนเตอร์ 

 

  1. ต้องดูที่งบการตลาด 
  2. ดูว่าพรีเซนเตอร์จะเชื่อมกับแบรนด์และจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตามที่แบรนด์ต้องการหรือไม่
  3. ต้องศึกษากลุ่มเป้าหมายว่ามีลักษณะเป็นแฟนคลับหรือไม่ เพราะพรีเซนเตอร์บางคนมีคนรู้จัก แต่ไม่มีกลุ่มแฟนคลับ 

 

“ถึงกระนั้นข้อดีของพรีเซนเตอร์ที่มีฐานแฟนคลับคือ คนกลุ่มนี้จะไม่ใช่แค่ชอบในตัวศิลปิน แต่จะสนับสนุนและปกป้องด้วย”

 

ในกรณีที่แบรนด์ถูกโจมตี ก็จะมีแฟนคลับของพรีเซนเตอร์เข้ามาปกป้องทันที จุดนี้นักการตลาดก็จะใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการเลือก เพราะมองว่าเป็นการซื้อเกราะปกป้องแบรนด์ โดยศิลปินที่มีแฟนคลับเหนียวแน่นที่เรารู้จักกันดีก็มีแต่ตั้งบิวกิ้น, พีพี, เป๊ก-ผลิตโชค อายนบุตร รวมถึงศิลปิน K-Pop จากเกาหลีอย่าง BTS และ BLACKPINK

 

 

ความท้าทายของการที่แบรนด์จะเลือกศิลปินหรือดาราให้เหมาะสมกับสินค้า

 

ถ้าหากแบรนด์สามารถเลือกพรีเซนเตอร์ให้เข้ากับแบรนด์ได้จะสร้างประโยชน์ได้อย่างมากมาย อย่างเช่น Samsung S24 ที่ดึงคัลแลนกับพี่จองมารับหน้าที่พรีเซนเตอร์ ด้วยความที่ทั้งสองคนเป็นเกาหลีอยู่แล้วและมีไลฟ์สไตล์น่ารัก รู้สึกน่าเอ็นดู และพอมาเข้ากับ Samsung ที่เป็นแบรนด์เกาหลี ทุกอย่างก็ดูเข้ากันไปหมด

 

ดังนั้นสิ่งที่แบรนด์ควรระมัดระวังไม่ใช่แค่จ้างคนดัง แต่ต้องจ้างคนดังที่เหมาะกับแบรนด์ และมากกว่านั้นคือต้องระวังว่าคนคนนั้นมีความใกล้เคียงกับแบรนด์อื่นที่จ้างอยู่หรือไม่ เพราะแม้จะรับงานในอุตสาหกรรมที่ต่างกัน แต่มีความใกล้เคียงกัน อย่างเช่น ธุรกิจอาหารเสริมและเครื่องสำอาง ที่มีความใกล้เคียงเรื่องความสวยความงาม อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนในที่สุด 

 

เทรนด์พรีเซนเตอร์ AI กำลังมาแรงในยุคดิจิทัล

 

นอกจากนี้แบรนด์ก็ต้องมีเครื่องมือการตลาดเพื่อสร้างความแตกต่างและไม่ทิ้งเรื่องคุณภาพของสินค้า ควบคู่ไปกับการขยายช่องทางจำหน่าย เพื่อหาโอกาสในการสร้างรายได้ใหม่ๆ เนื่องจากการใช้พรีเซนเตอร์ในบางครั้งจะช่วยสร้างยอดขายได้ในระยะสั้นเท่านั้น ถ้าอยากให้สร้างยอดขายได้ในระยะยาว ต้องจัดกิจกรรมและแคมเปญเข้ามาเสริมด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตการที่แบรนด์จะใช้ดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงเข้ามาสนับสนุนแบรนด์ในยุคดิจิทัล ที่พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงเร็วและซับซ้อนมากขึ้น การใช้พรีเซนเตอร์คนเดิมในระยะเวลานานอาจไม่ตอบโจทย์อีกแล้ว จากนี้จะเริ่มเห็นการใช้พรีเซนเตอร์ในรูปแบบของ AI ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มเกิดขึ้นแล้วในบางแบรนด์ เช่น AIS และ AirAsia ที่ใช้ AI มาเป็นพรีเซนเตอร์ เพียงแต่หลายคนอาจยังไม่คุ้นเคยมากนัก 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X