ลองหลับตาแล้วจินตนาการเล่นๆ ว่า ถ้าได้ยินชื่อ ‘Disney’ คุณจะนึกถึงอะไร ภาพไหนจะปรากฏขึ้นมาในหัวของคุณเป็นภาพแรก?
เชื่อว่าหลายๆ คนก็น่าจะรู้สึกไม่ต่างกัน เพราะเมื่อไรก็ตามที่นึกถึง Disney เรามักจะสัมผัสได้ถึงความสนุก ความสุข การเฉลิมฉลอง เสียงหัวเราะ และความอบอุ่นหัวใจเคล้าคลอปนกันไป
ตลอด 98 ปีของการดำเนินธุรกิจ Disney สามารถพาตัวเองขึ้นมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตคอนเทนต์ความบันเทิงให้กับโลกใบนี้ได้อย่างหวือหวา และเข้าไปนั่งอยู่ในใจของใครต่อใครหลายคนมาแล้วจากรุ่นสู่รุ่น เติบโตมาพร้อมๆ กับเราในทุกๆ ช่วงโมเมนต์ของอายุและชีวิต ผ่านตัวละคร คาแรกเตอร์การ์ตูน หนัง ซีรีส์ แอนิเมชัน ฯลฯ ที่ล้วนแล้วแต่มีเอกลักษณ์และมีชีวิตในโลกที่ Disney สรรค์สร้างขึ้น
แต่แล้วในวันที่อุตสาหกรรมคอนเทนต์เริ่มเผชิญกับความท้าทายจากเทคโนโลยีดิสรัปชันไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเชิงพฤติกรรมผู้บริโภค นั่นจึงทำให้แพลตฟอร์มสตรีมมิงคอนเทนต์จำนวนมากเริ่มเข้ามาแย่งชิงเวลาจากผู้ชม ผู้บริโภค และทำให้เม็ดเงินจำนวนไม่น้อยหลั่งไหลไปสู่เจ้าของพื้นที่ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มทั้งหลายแหล่
สิ่งที่ Disney ในฐานะผู้ผลิตคอนเทนต์ตัดสินใจเลือกทำคือ ‘ปรับตัว’ เพื่อช่วงชิงพื้นที่และเวลาของแฟนๆ และผู้บริโภคจากแพลตฟอร์มเจ้าอื่นๆ กลับคืนมาสู่พวกเขาให้ได้มากที่สุด
หลังจากที่ซุ่มพัฒนาแพลตฟอร์มและรวบรวมคอนเทนต์คุณภาพของตัวเองกลับคืนสู่อ้อมอก (คู่ขนานไปกับการเดินหน้าสร้างสรรค์คอนเทนต์ใหม่ๆ ทั้งการ์ตูน, ซีรีส์ และภาพยนตร์) Disney ก็ได้ฤกษ์ประกาศเปิดตัวแพลตฟอร์มของตัวเองในชื่อ ‘Disney+ (ดิสนีย์พลัส)’ อย่างเป็นทางการตั้งแต่เมษายนปี 2019 ก่อนจะเริ่มชิมลางให้บริการจริงเฉพาะในบางประเทศในช่วงปลายปีเดียวกัน
ตลอดระยะเวลาเกือบๆ 2 ปีที่ผ่านมาของการเปิดให้บริการ Disney ค่อยๆ ขยายตลาดและเปิดพื้นที่ให้บริการ Disney+ ในประเทศใหม่ไปเรื่อยๆ อาศัยคอนเทนต์ระดับแม่เหล็กและจุดแข็งของการเป็น ‘ผู้ผลิตคอนเทนต์’ ที่มีเนื้อหาโดนใจผู้คนมากมายหลากหลายกลุ่มจนทำให้แพลตฟอร์มของพวกเขากลายเป็นที่โปรดปรานและโดนใจผู้คนจำนวนมากในแทบจะทันที
ข้อมูลที่น่าสนใจที่เปิดเผยโดย Disney เอง พบว่า หลังจากที่พวกเขาเปิดให้บริการสตรีมมิงวิดีโอ Disney+ ได้เพียงวันเดียว ก็มียอดผู้สมัครใช้บริการมากกว่า10 ล้านรายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว!
ขณะที่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา (มีนาคม 2021) Disney+ ก็กลายเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิงที่มียอดสมาชิกผู้ใช้งานผ่านหลัก 100 ล้านรายเป็นที่เรียบร้อย หลังเปิดตัวได้เพียง 1 ปี 4 เดือนเท่านั้น เหนือความคาดหมายกว่าเป้าที่พวกเขาเคยวางเอาไว้ในตอนเปิดตัวให้บริการใหม่ๆ ซึ่งเดิมทีเคยหวังไว้ว่าจะต้องมียอดผู้ใช้บริการที่ 60-90 ล้านราย ภายในปี 2024 ให้สำเร็จ
แล้วอะไรล่ะที่ทำให้ Disney+ ครองความนิยมจากผู้ชม ผู้ใช้งานทั่วโลก
ความหลากหลายของคอนเทนต์ที่แม้แต่คู่แข่งก็ยังเอ่ยปากชม!
ถ้าให้สรุปแบบรวบรัด สาเหตุที่ทำให้แพลตฟอร์ม Disney+ เติบโตอย่างรวดเร็วก็น่าจะมาจาก 3 ปัจจัยหลักๆ นั่นคือ
- ช่วงเวลาที่ใช่! – Disney+ เกิดขึ้นมาในช่วงเวลาที่คนหรือผู้บริโภคเริ่ม ‘มีความคุ้นเคย’ กับแพลตฟอร์มสตรีมมิงคอนเทนต์แล้ว เลยไม่ต้องใช้เวลาในการบิลด์ตลาดนานนัก
- โควิดเป็นเหตุ – ได้รับอานิสงส์บวกจากการระบาดของโควิดที่ทำให้มียอดสมาชิกผู้ใช้งานหันมาทดลองใช้บริการกันอย่างคึกคัก
- มีในสิ่งที่แพลตฟอร์มอื่นๆ ไม่มี – นั่นคือความเข้าใจผู้ชม จากประสบการณ์ที่ช่ำชองในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ด้วยตัวเอง จนทำให้ Disney อ่านผู้ชมคอนเทนต์ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง มีคอนเทนต์ระดับแม่เหล็กที่โดนใจผู้ชมทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย โดยไม่มีกำแพงกั้น
สำหรับข้อสุดท้าย ถือว่าเป็นจุดแข็งเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญของ Disney มากๆ กับการที่พวกเขามีคอนเทนต์ที่หลากหลาย ครอบคลุมความสนใจกลุ่มผู้ใช้งานครอบครัวโดยเฉพาะเด็กๆ ซึ่งแม้แต่แพลตฟอร์มสตรีมมิงคู่แข่งอย่าง Netflix นำโดย รีด แฮสติงส์ ก็เคยออกมาให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปี 2020 ว่า พวกเขาต้องการจะเป็นแบรนด์ที่ดีกว่า Disney ให้ได้
โดยเฉพาะในแง่การเป็นสื่อ ‘ความบันเทิงสำหรับครอบครัว’ ที่ถือเป็นเป้าหมายสูงสุด และพวกเขาก็ต้องการที่จะผลิตคอนเทนต์จำพวกแอนิเมชันแนวครอบครัวออกมาให้ทัดเทียมกับมาตรฐานที่ Disney ทำไว้ให้ได้
มีเพียงแพลตฟอร์มสตรีมมิงไม่กี่แพลตฟอร์มในโลกที่มีคอนเทนต์ตอบโจทย์ความบันเทิงให้กับผู้ใช้งานกลุ่มเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน วัยกลางคน ไปจนถึงผู้สูงอายุ หรือเรียกง่ายๆ ว่าครอบคลุมผู้คนทุกช่วงวัย และ Disney+ ก็คือหนึ่งในนั้นที่ยืนหนึ่งโดดเด่นเหนือคนอื่นๆ
30 มิถุนายน เริ่มสตรีมความบันเทิงในไทยอย่างเป็นทางการด้วยค่าบริการที่เป็นมิตรสุดๆ
รอคอยมาเกือบ 2 ปีเต็ม ในที่สุดแฟนๆ และผู้ใช้งานในไทยก็จะได้รับชมคอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิง Disney+ ในชื่อ ‘Disney+ Hotstar’ กันแล้ว หลังจาก Disney ประเทศไทยได้ประกาศเปิดตัวการให้บริการแพลตฟอร์มไปเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
จุดแข็งของ Disney+ Hotstar ก็หนีไม่พ้นคอนเทนต์ออริจินัลระดับแม่เหล็กของ Disney ที่มีอยู่มากมาย ทั้งภาพยนตร์กว่า 700 เรื่อง และซีรีส์กว่า 14,000 ตอน จาก Disney, Marvel, Pixar, Star Wars, National Geographic และอื่นๆ อีกมากมาย เช่น Luca, Raya and the Last Dragon, Soul, Frozen, Toy Story, The Lion King, Pirates of the Caribbean ฯลฯ
นอกจากนี้ก็ยังมีคอนเทนต์ชนโรงหรือคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาคู่ขนานกับจักรวาลในโลกภาพยนตร์และแอนิเมชัน (อาทิ จักรวาล Marvel) ที่มีให้ดูแบบเอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะบน Disney+ Hotstar เท่านั้น
รวมถึงคอนเทนต์อื่นๆ อีกมากมายที่ต่อคิวรอสตรีมลงแพลตฟอร์มจากค่ายผู้ผลิตคอนเทนต์อย่าง GDH 559, สหมงคลฟิล์ม, กันตนา กรุ๊ป และ one31 และยังมีคอนเทนต์จากฝั่งเกาหลีให้เลือกดูตามความชอบอีกด้วย
ที่พิเศษยิ่งกว่าคือ ‘ราคาสมัครใช้บริการ’ ที่เปิดมาด้วยราคาที่เข้าถึงง่ายสุดๆ และเป็นมิตรกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ โดยก่อนหน้านี้ในช่วงระหว่างวันที่ 8-27 มิถุนายนที่ผ่านมา ลูกค้าของ AIS สามารถสมัครบริการแพ็กเกจพิเศษด้วยราคาโปรโมชันที่ 35 บาทต่อเดือน ได้นานสูงสุดถึง 12 เดือน (มีแพ็กเกจเดียวให้เลือกดู ดูได้พร้อมกันสูงสุด 2 จอ)
แต่สำหรับลูกค้าของ AIS คนไหนที่สมัครไม่ทันราคาโปร ไม่ต้องเป็นห่วงไป เพราะคุณยังสามารถสมัครใช้ Disney+ Hotstar ด้วยราคาสุดถูกที่ 49 บาทต่อเดือน และเลือกใช้แพ็กเกจแบบรายเดือนได้
ส่วนลูกค้าหรือผู้ใช้งานทั่วไปที่อยากดู Disney+ Hotstar จะต้องสมัครใช้บริการแบบรายปีเท่านั้น (เลือกแพ็กเกจรายเดือนไม่ได้) สนนราคาค่าบริการที่ 799 บาทต่อปี หรือเฉลี่ย 67 บาทต่อเดือน
เพียงเท่านี้ คุณก็จะสามารถเข้าถึงโลกของความสนุกด้วยคอนเทนต์ที่หลากหลายบนแพลตฟอร์ม Disney+ Hotstar ได้แล้ว (สำหรับใครที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ais.th/disney/ หรือ https://www.hotstar.com/th)
พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น