วงการอุตสาหกรรมยานยนต์ถูกจับตาอีกครั้ง เมื่อ ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) ประกาศปรับแผนผลิตใหม่ โดยย้ายการผลิตรถยนต์ไปที่โรงงานจังหวัดปราจีนบุรีทั้งหมด ส่วน ‘โรงงานฮอนด้าจังหวัดพระนครอยุธยา’ หันไปทำชิ้นส่วน ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยว่า คนงานในจังหวัดอยุธยาไม่ได้ตกงาน ยังคงอยู่ เพียงแค่เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ แต่ยอมรับว่า “วันนี้ การแข่งขันอุตสาหกรรมยานยนต์รุนแรง บวกกับสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว หลายโรงงานจึงต้องปรับแผนการผลิต”
สื่อญี่ปุ่นตั้งข้อสังเกตว่าปัจจัยที่ทำให้หลายค่ายรถญี่ปุ่นในไทยต้องปรับกลยุทธ์ ยุติการผลิตนั้น อาจกำลังยืนอยู่ในจุดเสี่ยง ถูกแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากจีนถล่มอย่างหนัก
อย่างไรก็ตาม หากมองในอีกแง่มุม ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยหลักของการปรับสายการผลิตของแต่ละโรงงาน อาจเป็นเพราะ ‘นโยบาย’ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานจากรถยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ EV โดยได้ให้ผู้ประกอบการในประเทศ ‘สร้างโรงงานที่เป็น Green Energy และการติดตั้งปลั๊กอินไฮบริด’ รายละเอียดเป็นอย่างไร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- “สถานการณ์ตอนนี้น้องๆ ต้มยำกุ้งเมื่อปี 39” แบงก์เข้มปล่อยสินเชื่อ โรงงานปิดตัว ข้าวของ-น้ำมันแพง ภาพสะท้อนบทเรียนอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย
- ข่าวโรงงานทยอยปิดตัวไปทีละราย ปีนี้คนไทยตกงานแล้วกว่า 40,000 คน สัญญาณอันตรายกำลังบอกอะไร
- เกิดอะไรขึ้นกับโครงสร้างประชากรไทย เมื่อคุณภาพชีวิตหาย ผู้สูงวัยล้น มีรายได้แค่ 6,975 บาท/เดือน ต่ำกว่าเส้นความยากจน
จุดเริ่มต้นมาจากช่วงต้นสัปดาห์ หลังการรายงานข่าวจากบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ออกแถลงการณ์เรื่องการปฏิรูปฟังก์ชันสายการผลิตรถยนต์ของไทยว่า บริษัทผลิตรถยนต์สำเร็จรูป รวมถึงการเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ xEV อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม ‘e:HEV Series’ ระบบฟูลไฮบริดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
อีกทั้งสัดส่วนยอดขายมีการเติบโตขึ้นอย่างมาก จาก (ผลประกอบการในปี 2565) 32% เป็น 70% (แผนในปี 2567) ในด้านธุรกิจ บริษัทจะปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตแบบรวมศูนย์
โดยต่อไปจะมีการปฏิรูปแต่ละโรงงานเพื่อยกระดับโครงสร้างดังต่อไปนี้
โรงงานปราจีนบุรี: พัฒนาเป็นฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปที่สมบูรณ์แบบ โดยการใช้ประโยชน์จากสายการผลิตที่ผสมผสานเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความสามารถในการรองรับธุรกิจ
โรงงานพระนครศรีอยุธยา: พัฒนาเป็นฐานการผลิตและส่งออกชิ้นส่วน โดยใช้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกันของเทคโนโลยีการผลิตและห่วงโซ่อุปทานที่เราได้มีการพัฒนาและสั่งสมมาเป็นเวลาหลายปี
ทั้งนี้ ไทยยังเป็นฐานการส่งออกทั่วโลกและเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยด้วย
หมายความว่าฮอนด้าจะปิดไลน์ผลิตรถยนต์ในโรงงานพระนครศรีอยุธยา เหลือเพียงการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ โดยหลังจากนี้แหล่งผลิตรถยนต์ฮอนด้าจะเหลือที่เดียวที่จังหวัดปราจีนบุรี ภายในปี 2568
THE STANDARD WEALTH สำรวจข้อมูลฐานการผลิตทั้ง 2 แห่งของฮอนด้า พบว่า ฮอนด้าเปิดสายการผลิตรถยนต์ทั้ง 2 โรงงาน โดยโรงงานพระนครศรีอยุธยามีกำลังผลิตสูงสุด (Capacity) 1.5 แสนคันต่อปี ซึ่งผลิตรถยนต์รุ่น Accord, BR-V, HR-V, CR-V และ Civic
ส่วนโรงงานปราจีนบุรี (สวนอุตสาหกรรมโรจนะ) มีกำลังการผลิต 1.2 แสนคันต่อปี รองรับการผลิตรถยนต์รุ่น Civic Hatchback, Jazz, City Sedan, City Hatchback และล่าสุดคือ e:N1 ซึ่งเป็นแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นแบรนด์แรกที่ผลิตรถยนต์ EV ในไทย นับเป็นก้าวสำคัญของฮอนด้าที่แสดงถึงความเชื่อมั่นว่าฮอนด้ายังคงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการดำเนินธุรกิจในไทย ทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการผลิตและการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ
อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนแผนการผลิตเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่เผชิญกับสภาวะยอดขายหดตัวต่อเนื่องหลายเดือนติดต่อกัน บวกกับการเข้ามาทำตลาดของรถยนต์ EV จีนหลายแบรนด์ และการประกาศหยุดการผลิตรถยนต์ของแบรนด์ญี่ปุ่น 2 แบรนด์คือ ซูบารุ ที่จะมีผลปลายปี 2567 และ ซูซูกิ ที่จะมีผลปลายปี 2568 จึงเป็นที่จับตาว่านี่คือขาลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ดั้งเดิมหรือไม่
ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นปรับแผนสู้รถยนต์ EV จีน?
สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า ยอดการผลิตรวมของทั้งสองโรงงานในช่วง 4 ปีหลังมานี้ ตั้งแต่ปี 2562-2566 พบยอดการผลิตลดลงจาก 2.28 แสนคันต่อปี เหลือไม่ถึง 1.5 แสนคันต่อปี ส่วนยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยช่วง 4 ปีหลังสุดก็ต่ำกว่า 1 แสนคันต่อปี
อย่างไรก็ตาม โฆษกฮอนด้าระบุว่า ฮอนด้ายังคงส่งออกรถที่ผลิตจากโรงงานในไทย ไปยังตลาดอื่นๆ ในอาเซียน เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์
รายงานระบุอีกว่า ในประเทศจีน ฮอนด้าและนิสสัน รวมถึงคู่แข่งจากญี่ปุ่นต่างได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแข่งขันของแบรนด์รถยนต์ EV จีนที่กำลังเติบโต ซึ่งดึงดูดผู้บริโภคด้วยรถยนต์ไฟฟ้าและปลั๊กอินไฮบริดราคาถูกที่มาพร้อมซอฟต์แวร์ใหม่ๆ
ส่งผลให้ขณะนี้ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะสูญเสียลูกค้าในตลาดนอกประเทศจีน เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้กับแบรนด์รถยนต์ EV จีนที่กำลังเพิ่มการส่งออกรถยนต์และตั้งโรงงานในต่างประเทศ
นอกจากหลายแบรนด์รถยนต์ EV จีนจะเข้ามาทำตลาดพร้อมตั้งโรงงานเดินสายการผลิตแล้ว 3 แบรนด์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว BYD ของจีนได้เปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนมูลค่ากว่า 1.44 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาท) เพื่อหวังให้ไทยเป็นฐานผลิตส่งออกภูมิภาค
ส.อ.ท. มอง เศรษฐกิจชะลอ หลายโรงงานปรับแผนผลิต ชี้เห็นสัญญาณยอดขายไฮบริดมาแรงในไทย
สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD WEALTH เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า กรณีที่ฮอนด้าปรับแผนการปฏิรูปฟังก์ชันสายการผลิตรถยนต์ของไทยนั้น คนงานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไม่ได้ตกงาน ยังคงอยู่ เพียงแค่ย้ายสายการผลิตรถยนต์สำเร็จรูปไปรวมที่โรงงานปราจีนบุรี เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ตอนนี้ยังมีแผนการผลิตเท่าเดิม
“แต่คงต้องยอมรับว่าท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงและสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว หลายโรงงานปรับแผนการผลิต แต่อย่าลืมว่ายอดขายไฮบริดเพิ่ม 2 เท่า ซึ่งฮอนด้ามีไฮบริดที่ขายดี แบรนด์ใหญ่ไม่ล้มง่ายๆ”
เป็นปกติที่ผู้ผลิตจะปรับโรงงานพัฒนาเป็นฐานการผลิตและส่งออกชิ้นส่วน ซึ่งใช้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกันของเทคโนโลยีการผลิต ก็เป็นไปตามเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไป
“ที่ผ่านมาทุกแบรนด์ก็เป็นเหมือนกัน ทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาที่ยอดขายมีขึ้นมีลงตามเศรษฐกิจโลก” สุรพงษ์กล่าว
ปี 2551 เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ จึงปรับไปตั้งโรงงานอีกแห่งหนึ่งที่ปราจีนบุรี
ภาพ: Paula Bronstein / Gettyimages
สำหรับฮอนด้าเริ่มผลิตรถยนต์ในไทยปี 2527 จากนั้นปี 2539 ได้เปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นครั้งแรก หลังจากนั้นได้ขยายงานด้วยการเปิดสายการผลิตที่ 2 ในปี 2551 จนกระทั่งเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่จึงปรับไปตั้งโรงงานอีกแห่งที่จังหวัดปราจีนบุรี
จับสัญญาณการลงทุนแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นในไทย
เมื่อย้อนดูจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยนั้นเริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 2504-2513 ซึ่งนับว่าเป็นการพัฒนาระยะแรกที่รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนเพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมการประกอบรถยนต์ โดยต้องยอมรับว่าแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นช่วยวางรากฐานอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยสู่การเป็น ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ ในที่สุด
แต่เมื่อการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้ามีมากขึ้น บวกกับนโยบายรัฐบาลของไทยที่มุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด ซึ่ง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ย้ำมาตลอดว่าไม่ทิ้งนักลงทุนญี่ปุ่น ไม่ทิ้งแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นที่อยู่คู่กับไทยมานาน
ชัดเจนที่สุดก็เมื่อปลายปีที่แล้ว ภารกิจการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan) เศรษฐาได้หารือกับผู้บริหารบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ข้อสรุปชัดเจนว่าภายใน 5 ปี ผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่น 4 ราย พร้อมขยายการลงทุนสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย มูลค่าการลงทุน 1.5 แสนล้านบาท ได้แก่
- บริษัทโตโยต้า 5 หมื่นล้านบาท
- บริษัทฮอนด้า 5 หมื่นล้านบาท
- บริษัทอีซูซุ 3 หมื่นล้านบาท
- บริษัทมิตซูบิชิ 2 หมื่นล้านบาท
โดยเศรษฐาย้ำว่า รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านการใช้ ‘พลังงานจากรถยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า’ โดยได้ให้ผู้ประกอบการในประเทศ ‘สร้างโรงงานที่เป็น Green Energy และการติดตั้งปลั๊กอินไฮบริด’
เช็กโรงงานประกอบรถยนต์ญี่ปุ่นตั้งอยู่ที่ไหนในไทยบ้าง
THE STANDARD WEALTH สรุปข้อมูลการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่น และสำรวจที่ตั้งโรงงานในไทย พบว่า
- ฮอนด้า เป็นบริษัทที่ทำการลงทุนในประเทศไทยมานาน มีการลงทุนเยอะ มีแผนที่จะลงทุนอีก 5 หมื่นล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า โดยนายกรัฐมนตรีให้เร่งการลงทุน EV หรือปลั๊กอิน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
- นิสสัน ได้ปักหมุดให้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกรถปิกอัพมากกว่า 100 ประเทศ ได้แก่ นิสสัน เทอร์ร่า และนิสสัน นาวารา ซึ่งเป็นรุ่นที่ใช้มายาวนานในไทย และได้รับความนิยมจากความทนทานจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีโรงงานประกอบรถยนต์บางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ นิสสันถือเป็นบริษัทที่เข้ามาทำตลาดรถ EV ในประเทศไทยยุคแรก ซึ่งบริษัทยืนยันว่าจะเข้ามาทำตลาดต่อเนื่อง
- มิตซูบิชิ เริ่มเปิดสายการผลิตในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2535 โดยตั้งโรงงานแห่งแรกในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ปัจจุบันบริษัทมีความต้องการพัฒนารถกระบะให้เป็นรถ EV ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอให้บริษัทเร่งลงทุนให้เร็วขึ้น เพราะขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างรวดเร็วจากการใช้รถสันดาปไปสู่ EV ซึ่งมิตซูบิชิจะเริ่มใช้ไทยเป็นฐานในการส่งออกรถกระบะในอีกไม่กี่ปีนี้
- ซูซูกิ หลังจากเตรียมยุติการผลิตรถยนต์ในไทยที่โรงงานปลวกแดง จังหวัดระยอง สิ้นปี 2568 เปลี่ยนมานำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นต่างๆ รวมถึง HEVs เข้าสู่ตลาดไทยในอนาคต แม้เป็นบริษัทเล็กแต่อยู่ในไทยมานานในการผลิตรถอีโคคาร์อย่าง ซูซูกิ สวิฟ โดยซูซูกิขอให้รัฐบาลไทยช่วยส่งเสริมการผลิตรถอีโคคาร์อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่นายกรัฐมนตรีแนะนำให้ผลิตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพราะแนวโน้มขายดีในเมืองไทย
- อีซูซุ มีโรงงานประกอบรถยนต์ 2 แห่ง คือโรงงานสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ และโรงงานเกตเวย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีกำลังการผลิตรถอีซูซุรวมกันสูงถึง 3.85 แสนคันต่อปี อีซูซุพร้อมลงทุนในไทยอีกราว 3.2 หมื่นล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า หลังจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ลงทุนไปแล้ว 2 หมื่นกว่าล้านบาท
- มาสด้า ยังคงปักหมุดให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถเพื่อส่งไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ โดยมั่นใจว่ารถ SUV มีสมรรถนะที่ดี และมาสด้าจะพยายามลงทุนเพิ่มเติมในไทย ซึ่งบริษัทมีการจ้างแรงงานไทยค่อนข้างมาก ปัจจุบันมาสด้ามีโรงงานร่วมทุนของฟอร์ดและมาสด้าที่จังหวัดระยอง ซึ่งมีสายการผลิตคือ ฟอร์ด เอเวอเรสต์ และมีโรงงานผลิตเครื่องยนต์แห่งใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง)
- โตโยต้า มีโรงงานที่อำเภอสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ, อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา และโรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้า (เกตเวย์) จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นบริษัทที่ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และทำตลาดในไทยมากว่า 60 ปีแล้ว จึงเข้าใจการทำธุรกิจในไทยเป็นอย่างดี โดยมีรถกระบะโตโยต้า ไฮลักซ์ เป็นรถที่มียอดจำหน่ายสูงและบริษัทมีแผนจะเริ่มผลิตรถกระบะ EV ภายในปี 2025 เพียง 5 พันคัน ซึ่งเป็นจำนวนไม่มาก เนื่องจากโตโยต้ามีความเป็นห่วงเรื่องสถานีชาร์จไฟฟ้า
เศรษฐายืนยันว่าจะเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าให้มากขึ้น กระจายไปยังหลายจังหวัด ซึ่งโตโยต้ารับจะไปพิจารณาเร่งการผลิตรถกระบะ EV ให้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ เศรษฐาได้ย้ำกับค่ายรถญี่ปุ่นว่า ต้องเร่งให้แต่ละบริษัทลงทุนผลิตรถยนต์ EV ให้เร็วขึ้น เพราะบริษัทเหล่านี้อยู่ในไทยมานาน ขณะที่กลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นรวม 7 ราย ยืนยัน ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักในภูมิภาค และญี่ปุ่นยังได้นำเสนอโมเดลของการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Swapping) สำหรับรถเชิงพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม Krungthai COMPASS วิเคราะห์ว่า ประเด็นที่ต้องจับตาในระยะถัดไป นอกจากการที่ผู้ผลิตรถยนต์ทั้ง 2 ค่ายจากญี่ปุ่นอย่างซูบารุและซูซูกิตัดสินใจหยุดสายการผลิตในไทย ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอาจต้องปรับการผลิตและเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการเข้ามาของรถยนต์ BEV ที่ทยอยแทนที่รถยนต์ ICE มากขึ้นเรื่อยๆ
นี่อาจเป็นสัญญาณแรกที่เตือนว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคของยานยนต์ไฟฟ้าเป็นวงกว้างมากขึ้น
อ้างอิง: