×

ทำไมต้อง CPTPP? แค่ทำ FTA กับแคนาดาและเม็กซิโกเพิ่มไม่พอหรือ?

16.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • คำถามที่ถกเถียงกันมากคือไทยจำเป็นต้องเข้าร่วม CPTPP หรือไม่ ในเมื่อเรามีข้อตกลงการค้าเสรีอยู่แล้วกับเวียดนาม, สิงคโปร์, บรูไน และมาเลเซียภายใต้ประชาคมอาเซียน มีข้อตกลง FTA กับญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมถึงเปรูและชิลี ซึ่งทำให้เวลานี้ขาดเพียงกรอบการค้าเสรีกับแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งเป็นอีก 2 ประเทศที่อยู่ในวงเจรจา CPTPP เท่านั้น
  • ในความเป็นจริงเราจะใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ได้ หรือสามารถค้าขายด้วยภาษี 0% และไม่มีมาตรการการค้าที่ไม่ใช่ภาษีได้ก็ต่อเมื่อสินค้าที่เราจะขายต้องมีถิ่นกำเนิดในไทย และ/หรือ ประเทศที่เรามี FTA ด้วยเท่านั้น ซึ่งพิสูจน์ได้ง่ายกับสินค้าเกษตร แต่กับสินค้าที่ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม การบ่งชี้ว่าสินค้านี้มีถิ่นกำเนิดที่ไหนเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน เพราะประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนที่มาจากหลายประเทศในห่วงโซ่การผลิต ดังนั้นจึงต้องอาศัยหลักการคำนวณมูลค่าเพิ่มของสินค้านั้นๆ
  • การเจรจา CPTPP ระดับภูมิภาค จึงไม่ใช่เพียงแค่การมี FTA เพิ่มขึ้นกับอีก 2 ประเทศดังที่หลายฝ่ายกล่าวเท่านั้น แต่ในโลกที่ไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานที่เราต้องนำเข้าและส่งออกทั้งวัตถุดิบและสินค้าขั้นสุดท้าย การเจรจาการค้าเสรีในระดับภูมิภาคที่มีหลายๆ ประเทศ จะทำให้เราสามารถสะสมถิ่นกำเนิดเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้

หนึ่งในประเด็นที่หลายๆ ฝ่ายถกเถียงในการสนับสนุนหรือคัดค้านไทยเจรจาเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership หรือ CPTPP) ก็คือ เราจำเป็นแค่ไหนที่ต้องร่วม CPTPP ในเมื่อเรามีข้อตกลงการค้าเสรีอยู่แล้วกับเวียดนาม, สิงคโปร์, บรูไน และมาเลเซีย ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC), มีข้อตกลงการค้าเสรีอยู่แล้วกับญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ทั้งในระดับทวิภาคี (เจรจา 2 ประเทศ) และในระดับ ASEAN+1 (เจรจาร่วมกันทั้งกลุ่มในระดับภูมิภาค) 

 

และในกรณีของชิลีกับเปรู เราก็เริ่มต้นบังคับใช้ข้อตกลงเปิดเสรีการค้าไปแล้วบางส่วน (ลดภาษีศุลกากรไปแล้วในบางรายการสินค้า) ก่อนที่จะสรุปผลการเจรจา (Early Harvest) นั่นเท่ากับเรายังขาดกรอบการค้าเสรีกับแค่อีก 2 ประเทศ นั่นคือ แคนาดากับเม็กซิโกเท่านั้นไม่ใช่หรือ แล้วมูลค่าการค้ากับ 2 ประเทศนั้นก็ไม่ได้สูงด้วย รวมกันมีมูลค่าคิดเป็นเพียงร้อยละ 2 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทยเท่านั้น

 

 

เพื่อที่จะหาคำตอบนี้ เราต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) คือการที่ประเทศคู่เจรจาตกลงที่จะลด ละ เลิก มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างกัน ทั้งมาตรการภาษี และมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี (Non-Tariff Measures: NTMs) แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ไทยจะสามารถส่งอะไรก็ได้ออกไปขายกับคู่เจรจาของเราแล้วได้สิทธิประโยชน์ภาษีศุลกากร 0% และไม่มี NTMs ทันทีโดยอัตโนมัติ 

 

ในความเป็นจริงเราจะใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ได้ หรือเราจะสามารถค้าขายด้วยภาษี 0% และไม่มี NTMs ได้ก็ต่อเมื่อสินค้าที่เราจะขายต้องมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย และ/หรือ ประเทศที่เรามี FTA ด้วยเท่านั้น เช่น ไทยจะส่งสินค้าออกไปขายที่ญี่ปุ่นและจะไม่ต้องถูกเก็บภาษีศุลกากรเมื่อนำเข้าไปในญี่ปุ่นได้ก็ต่อเมื่อสินค้านั้นๆ มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย และ/หรือ ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น เพราะนี่คือข้อตกลงระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่จะลด ละ เลิกสิ่งกีดกันทางการค้าระหว่างกัน ดังนั้นไทยจะลักไก่ไปซื้อของจากฝรั่งเศสเข้ามาแล้วส่งออกไปขายที่ญี่ปุ่น แล้วขอให้ญี่ปุ่นไม่เก็บภาษีไม่ได้ 

 

นั่นหมายความว่า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิด (Rules of Origin: ROO) ซึ่งเป็นหลักการในการชี้บ่งว่าสินค้าใดมีถิ่นกำเนิดที่ไหนจึงมีความสำคัญมาก และในการเจรจา FTA ส่วนใหญ่ เรื่องที่เจรจายากและใช้เวลาในการเจรจายาวนานก็คือเรื่อง ROO นี่แหละ ที่มีความยุ่งยากซับซ้อนมาก 

 

แน่นอนสำหรับสินค้าเกษตร กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดคงไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนมากมายนัก เพราะส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดใช้กฎการใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด (Wholly Obtained: WO) เช่น ทุเรียน มังคุด มันสำปะหลัง การชี้บ่งว่าสินค้านี้เป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย เพื่อให้เราขอใช้สิทธิประโยชน์ไม่ต้องถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าเมื่อเราส่งออกไปขายยังประเทศที่มี FTA ด้วยก็เป็นเรื่องไม่ซับซ้อน เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าทุเรียนลูกนั้นเริ่มต้นจากต้นทุเรียนที่อยู่ในสวนในประเทศไทย จากดอก กลายเป็นผลอ่อน กลายเป็นผลโต เราก็สามารถส่งทุเรียนไปขายด้วยภาษี 0% กับประเทศที่เรามี FTA ได้ง่าย ไม่ต้องพิสูจน์ถิ่นกำเนิดให้ยุ่งยากซับซ้อน

 

แต่กับสินค้าที่ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม การชี้บ่งว่าสินค้านี้มีถิ่นกำเนิดที่ไหนเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนมากๆ เช่น รถกระบะ Toyota ที่มีโรงงานประกอบอยู่ในประเทศไทย เราจะสามารถบ่งชี้ได้หรือไม่ว่ารถกระบะคันนี้เป็นสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในไทย (อย่าลืมนะครับว่าชื่อ Toyota ก็บอกแล้วว่าเป็นรถยนต์สัญชาติญี่ป่น) ในความเป็นจริงรถกระบะคันนี้อาจจะประกอบในไทย แต่ใช้ชิ้นส่วนจากทั่วโลก ในชิ้นส่วนนับพันๆ ชิ้นที่ประกอบขึ้นเป็นรถกระบะ 1 คันมีทั้งชิ้นส่วนที่ผลิตในไทย ในจีน ในอาเซียน ในญี่ปุ่น และในที่ต่างๆ ทั่วโลก แล้วแบบนี้เราจะบ่งชี้ถิ่นกำเนิดของรถยนต์คันนี้อย่างไร 

 

คำตอบคือ เราใช้หลักการที่เรียกว่า หลักการคำนวณมูลค่าเพิ่ม (Value Added Rule: VA หรือ Ad Valorem Rule)

 

ยกตัวอย่างเช่น ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น (ชื่อทางการคือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือ Japan-Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA) อาจจะกำหนดไว้ว่า หากรถกระบะคันนี้มีมูลค่าของชิ้นส่วนที่ประกอบขึ้นเป็นรถคันนี้ที่ผลิตในไทย และ/หรือ ในญี่ปุ่น รวมกันสูงกว่า 40% (ตัวเลขสมมติ) ให้ถือว่ารถยนต์คันนี้มีถิ่นกำเนิดในไทยและญี่ปุ่น ที่เพียงพอที่จะขอใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกไปขายแล้วคิดภาษีศุลกากรที่ 0% และไม่มีข้อกีดกันทางการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นได้ โดยการขอใช้สิทธิประโยชน์นี้ ผู้ประกอบการต้องพิสูจน์กับกรมการค้าต่างประเทศ

 

 

อ่านมาถึงตรงนี้ผมเชื่อว่าผู้อ่านคงจะเริ่มเห็นความแตกต่างระหว่างการเจรจาเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคี คือ 2 ประเทศ กับการเจรจาการค้าเสรีในระดับภูมิภาค ที่มีประเทศร่วมกันเจรจาหลายๆ ประเทศมีความแตกต่างกัน เพราะการเจรจาการค้าแบบภูมิภาคที่มีหลายๆ ประเทศจะทำให้เราสามารถสะสมถิ่นกำเนิดได้ (Cumulative Value Added) โดยเฉพาะในโลกยุคที่การผลิตอยู่ในรูปแบบที่เรียกว่า ห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก (Global Value Chains: GVCs) 

 

ลองนึกดูนะครับว่า ถ้าโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่องมีชิ้นส่วนมากกว่า 300 ชิ้น ซึ่งแน่นอนมาจากหลากหลายประเทศทั่วโลก มีทั้งชิ้นส่วนที่มาจากไทย ญี่ปุ่น จีน เกาหลี และทั่วโลก ดังนั้นการนับมูลค่าเพิ่มแบบทวิภาคีแค่ 2 ประเทศ เราก็จะสะสมถิ่นกำเนิดได้แค่ 2 ประเทศ ซึ่งอาจจะไม่ถึงเกณฑ์ที่จะใช้สิทธิประโยชน์ได้ (เกณฑ์ VA ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 35-40%) เพราะโทรศัพท์มือถือเครื่องนั้นอาจจะมีมูลค่าชิ้นส่วนจากไทย 15% จากญี่ปุ่น 10% รวมกันแค่ 25% ซึ่งไม่พอ

 

แต่ในกรอบภูมิภาค เราอาจรวมถิ่นกำเนิดจากไทย 15% ของญี่ปุ่น 10% เข้ากับของ มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และประเทศอื่นๆ ในอาเซียนจนครบ VA 40% ตามข้อตกลง และทำให้เราส่งออกไปขายในประเทศเหล่านี้ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ อาเซียน-ญี่ปุ่น ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership: AJCEP) ได้ด้วยภาษี 0% นี่คือความแตกต่างระหว่างกรอบทวิภาคีกับกรอบภูมิภาค ที่กรอบภูมิภาคแน่นอนว่าอาจจะเจรจาได้ยุ่งยากซับซ้อนมากกว่า ใช้เวลานานกว่า แต่เมื่อเวลาที่บังคับใช้ข้อตกลงแล้ว กรอบระดับภูมิภาคก็จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิประโยชน์และเข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น

 

กลับมาที่ CPTPP แน่นอนถึงแม้เราจะมีกรอบอื่นๆ อยู่แล้วที่เป็นการเปิดเสรีกับประเทศสมาชิกถึง 9 จาก 11 ประเทศ แต่อย่าลืมว่าหลายๆ ข้อตกลง เราก็ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ เช่น ในกรณีของชิลีและเปรูที่เจรจาการค้ามานานแต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ และแน่นอนข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับแคนาดา และไทยกับเม็กซิโกก็ยังไม่เกิดขึ้น 

 

ดังนั้นหากมี CPTPP จึงไม่ใช่เพียงแค่การมี FTA เพิ่มขึ้นกับอีก 2 ประเทศดังที่หลายฝ่ายกล่าวเท่านั้น แต่ในโลกที่ไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานที่เราต้องนำเข้าและส่งออกทั้งวัตถุดิบและสินค้าขั้นสุดท้าย ผู้ประกอบการของเราจะมีแต้มต่อเพิ่มมากยิ่งขึ้น หากมีข้อตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมจำนวนสมาชิกที่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกรอบนั้นๆ เป็นกรอบที่มีแหล่งวัตถุดิบ มีกำลังแรงงาน มีตลาดขนาดใหญ่ ซึ่ง CPTPP ก็เป็นกรอบหนึ่งที่มีคุณสมบัติเหล่านี้

 

และประเทศเพื่อนบ้านเรา เช่น เวียดนาม ก็ใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ในการดึงดูดเงินลงทุน เพราะนอกจาก FTA แบบทวิภาคีแล้ว เวียดนามเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ถือเป็นแหล่งรวมข้อตกลงทางการค้าในกรอบภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น RCEP หรืออาเซียน+6, CPTPP, และกรอบล่าสุดคือ ข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนาม-สหภาพยุโรป (ซึ่งมีสมาชิกถึง 27 ประเทศ) การมีอยู่ของข้อตกลงทางการค้าเหล่านี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนจากทั่วโลกเลือกที่จะเข้าไปตั้งโรงงาน หรือเอาเงินเข้าไปลงทุนในเวียดนาม เพราะไม่ว่าจะอยู่ในห่วงโซ่อุปทานไหน เวียดนามก็มีสิทธิประโยชน์ มีแต้มต่อในเรื่องของการค้าและการลงทุน

 

อย่างไรก็ตาม เหมือนที่ผู้เขียนกล่าวถึงมาตลอดในหลายวาระ นั่นคือ เราต้องมอง CPTPP แบบองค์รวม เพราะนอกจากการเข้าสู่ตลาดที่เพิ่มขึ้น ง่ายขึ้น แต่ CPTPP ก็ไม่ได้มาเฉพาะกับผลประโยชน์เพียงด้านเดียว CPTPP ยังมีต้นทุนและความท้าทายอีกมากมายหลากหลายมิติด้วย ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำมากที่สุดคือเราต้องแสดงข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ครบถ้วน และทันสมัยจากทุกฝ่าย เพื่อให้เราสามารถตัดสินใจในการเดินหน้าประเทศไทยในกรอบนี้ได้อย่างรอบคอบสมบูรณ์

 

ที่สำคัญ CPTPP ไม่ใช่การเชียร์มวยที่มีเพียงมุมแดง มุมน้ำเงิน เราสามารถเลือกได้ เราสามารถเจรจาเพื่อให้ไทยได้ผลประโยชน์สูงที่สุดได้ ดังนั้นเราต้องศึกษา แสดงความคิดเห็น แต่ไม่ใช่ฝ่ายสนับสนุน CPTPP ก็ด่าทอ ดูถูก ทับถมใส่ฝ่ายคัดค้าน CPTPP และในทางตรงกันข้าม ฝ่ายคัดค้านก็ต้องไม่ทำแบบเดียวกันกับฝ่ายสนับสนุน เราไม่ต้องการให้คนไทยแตกแยกกันมากไปกว่านี้เพียงเพราะข้อตกลงทางการค้า 1 ฉบับเท่านั้น

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising