×

ทำไมต้องปิดร้านอาหารในห้าง มาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ที่สังคมยังไม่เคลียร์

โดย THE STANDARD TEAM
20.07.2021
  • LOADING...
restaurant

‘แล้วร้านอาหารในห้างล่ะ’ พลันที่อ่านประกาศล็อกดาวน์ – ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ฉบับที่ 28 ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 จบ หลายคนน่าจะมีความสงสัยเหมือนกันว่า ตกลงร้านอาหารในห้างปิดหรือไม่ ซึ่งถ้าถูกสั่งปิดจริง ทำไมถึงต้องปิดด้วย ในเมื่อ ศบค. ประกาศห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านอยู่แล้ว ร้านอาหารในห้างจึงเปรียบเสมือน ‘ห้องครัว’ มากกว่าร้านอาหารตามปกติ

 

#ประเด็นด้านกฎหมาย

 

  • ย้อนกลับไปข้อกำหนดฯ ฉบับก่อนหน้า ข้อ 7 (1) การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ระบุว่า “ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม รวมถึงร้านที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์… ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 น.” ส่วน (2) ห้างสรรพสินค้า “เปิดให้บริการเฉพาะการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต…” ไม่ได้ระบุถึงร้านอาหารโดยตรง

 

  • ในขณะที่ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 28 ข้อ 7 (1) การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม กลับไม่ได้นิยาม ‘ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม’ เพิ่มเติม ระบุแต่เพียงว่า “ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 น.” ส่วน (2) ห้างสรรพสินค้า “ให้เปิดบริการได้เฉพาะแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต แผนกยาและเวชภัณฑ์…” ไม่ได้ระบุถึงร้านอาหารโดยตรงอีกเช่นกัน

 

  • สำหรับประเด็นด้านกฎหมายน่าจะเป็นที่ยุติแล้ว เพราะเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงข้อกำหนดฯ ฉบับล่าสุดว่า “ห้างสรรพสินค้าเคยให้เปิดในส่วนของร้านอาหารได้โดยให้ซื้อกลับไปบริโภคที่อื่น แต่ข้อกำหนดฉบับล่าสุดให้ปิดให้หมด เปิดได้เฉพาะที่ระบุไว้” เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน หรือจนถึงวันที่ 2 สิงหาคม

 

#ความสงสัยยังค้างคาใจ

 

  • บางร้านจัดโปรโมชันลดราคา 50% ในวันสุดท้ายก่อนที่จะต้องปิดตามข้อกำหนด บางร้านก็ปรับตัวเช่าร้านอาหารนอกห้างสำหรับขายแบบซื้อกลับและเดลิเวอรีต่อ แต่ความสงสัยยังค้างคาใจหลายคน รวมถึงผู้ประกอบการ ยกตัวอย่าง หนุ่มเมืองจันท์ ที่โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวานนี้ (19 กรกฎาคม) ว่า “พยายามคิดแทน ศบค. ว่าทำไมปิดร้านอาหารในศูนย์การค้า ไม่ให้เขาขายแบบเดลิเวอรี

 

  • แม้ว่ารายได้จากการขายเดลิเวอรีจะไม่เทียบเท่ากับการนั่งรับประทานในร้าน แต่อย่างน้อยก็ต่อลมหายใจให้เขาได้บ้าง พนักงานในร้านจะได้มีงานทำ แรงงานในกลุ่มนี้เยอะนะครับ … ผมพยายามคิดหาเหตุผล แต่นึกไม่ออกจริงๆ ถ้า ศบค. มีเหตุผลที่อธิบายได้ ช่วยอธิบายหน่อยเถอะครับ เจ้าของร้านเขาค้างคาใจมาก แต่ถ้าคิดไม่ครบ ตกหล่นไป ไม่ต้องกลัวเสียหน้าครับ ทุกอย่างแก้ไขได้”

 

  • ประเด็นนี้ ศบค. ไม่ได้อธิบายตั้งแต่แรก ส่วนในการแถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม มีเพียงแต่คำถามว่า “การปิดร้านอาหารในห้างจะปิดนานเท่าไร” ซึ่ง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ตอบว่ากรณีนี้เป็นไปตามคำสั่งของ ศบค. ให้ปิดเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน และต้องประเมินตามสถานการณ์ ถ้ามีแนวโน้มดีขึ้นชัดเจนก็จะมีมาตรการผ่อนคลายให้

 

#ประเด็นด้านระบาดวิทยา

 

  • ในระยะหลังกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้แถลงปัจจัยเสี่ยงของผู้ติดเชื้อที่รายงานในแต่ละวัน (เข้าใจว่าการสอบสวนโรคทำได้ยากขึ้นในระยะที่มีการระบาดเป็นวงกว้าง) จึงไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะระบุได้ว่าร้านอาหารในห้างเป็นปัจจัยเสี่ยงของการระบาดหรือไม่ แต่ถ้าประเมินความเสี่ยงของร้านอาหารทั่วไปอาจแบ่งได้เป็น 2 ส่วนคือความเสี่ยงด้าน ‘หน้าร้าน’ กับข้าง ‘หลังร้าน’

 

  • ความเสี่ยงหน้าร้านคือการแพร่เชื้อระหว่างลูกค้าด้วยกันระหว่างรับประทานอาหาร หรือระหว่างพนักงานกับลูกค้า ซึ่งตรงนี้ถูกตัดไปแล้วจากการห้ามนั่งในร้าน ให้ซื้อกลับบ้านหรือเดลิเวอรีเท่านั้น ส่วนความเสี่ยงหลังร้านคือการแพร่เชื้อระหว่างพนักงานด้วยกัน หรือพนักงานกับผู้ที่มาส่งวัตถุดิบ ซึ่งตรงนี้สามารถลดความเสี่ยงได้จากมาตรการ DMHT และเพิ่มการระบายอากาศ

 

  • ส่วนใน-นอกห้างอาจมีความแตกต่างเรื่องของระบบปรับอากาศ และความหนาแน่นของลูกค้าหรือไรเดอร์ที่มารอรับอาหาร แต่ถ้า ศบค. เห็นว่าการ ‘งดออกจากบ้าน’ จำเป็นต้องอาศัยร้านอาหารในห้างเป็นแหล่งกระจายอาหารที่สำคัญในพื้นที่สีแดงเข้ม ก็สามารถอนุญาตให้เปิดร้าน แล้วกำหนดมาตรการเสริม เช่น การตรวจหาเชื้อ และการจัดที่นั่งรอแบบเว้นระยะห่างได้เหมือนระลอกที่ผ่านมา

 

  • การล็อกดาวน์เป็นมาตรการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการเดินทางและการรวมตัวกันของคน เมื่อคนติดต่อกันน้อยลง การระบาดก็จะลดลง แต่การปิดร้านอาหารในห้างอาจไม่ได้ส่งผลต่อการระบาดมากนัก เพราะได้ห้ามนั่งในร้านตั้งแต่ข้อกำหนดฯ ฉบับก่อนแล้ว ส่วนพนักงานและผู้ประกอบการก็มีความระมัดระวังตัวมากขึ้น หรืออาจมีเหตุผลอื่นที่ ศบค. น่าจะออกมาทำความเข้าใจ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X