ถ้าพูดถึงของเล่นสะสมยอดนิยมและสร้างมูลค่าในตลาดรีเซลได้อย่างมหาศาล หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของตุ๊กตา BE@RBRICK รวมอยู่ด้วย เพราะนับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2001 เจ้าหมี BE@RBRICK ก็มีแฟนคลับนักสะสมไปทั่วโลก
โดยล่าสุด คิง เพาเวอร์ มหานคร ร่วมกับ MEDICOM TOY ได้จัดนิทรรศการงาน ‘BE@RBRICK WORLD WIDE TOUR 3 in Bangkok’ เป็นระยะเวลา 1 เดือนเต็ม ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม – 5 พฤศจิกายน 2566 โดยนำ BE@RBRICK ขนาด 1,000% (สูงประมาณ 70 เซนติเมตร) ดีไซน์หายากมากกว่าร้อยตัวมาจัดแสดงบนชั้น 74 ของคิง เพาเวอร์ มหานคร
โดยหนึ่งในไฮไลต์คือ การเปิดจองและจำหน่าย BE@RBRICK จำนวน 8 ดีไซน์ หนึ่งในนั้นคือ BE@RBRICK HxS (HIROTA SAIGANSHO) ดีไซน์หายาก ที่เปิดให้จับฉลากจำหน่ายเพียงวันละ 2 ตัว ในราคาราวๆ 125,000 บาท
แต่ในตลาดรีเซลของไทย ราคาพุ่งขึ้นไปที่ 250,000 บาทในระยะเวลาเพียง 2 วัน ส่วนในตลาดฮ่องกง BE@RBRICK HxS ราคาพุ่งขึ้นไปถึง 320,000 บาทเลยทีเดียว แล้วอะไรคือเสน่ห์ของเจ้าหมีพลาสติก จนทำให้นักสะสมยอมจ่ายเงินจำนวนมหาศาลเพื่อให้ได้เป็นเจ้าของ?
โบว์ลิ่ง-ชลทิพย์ ระยามาศ เจ้าของแอ็กเคานต์ Bearbrick.th ใน Instagram เริ่มสะสม BE@RBRICK มาตั้งแต่ปี 2558 จากการมองหาของสะสมสำหรับใช้แต่งบ้าน โดยเริ่มต้นจาก BE@RBRICK Jiangshi รุ่นพิเศษ ดีไซน์เป็นรูปผีจีน ขนาด 400% (สูงประมาณ 28 เซนติเมตร) ที่ออกจำหน่ายในประเทศสิงคโปร์ จนกระทั่งตอนนี้กลายเป็นเจ้าของ BE@RBRICK หายากขนาด 1,000% อยู่หลายตัว
“มีคำพูดในหมู่นักสะสมว่า ‘คนเล่นหมี ระวังหมีเรียกเพื่อน’ แล้วมันก็เรียกจริงๆ ตอนแรกซื้อขนาด 400% เพราะคิดว่าราคาไม่แรง ถ้าเบื่อเมื่อไรจะได้ไม่เจ็บตัวมาก แต่พอซื้อ 400% ไป 2-3 ตัวก็เริ่มรู้สึกว่าเล็กเกินไป และชอบ 1,000% มากกว่า หลังจากนั้น 90%ในคอลเล็กชันก็จะเป็นขนาด 1,000%”
การจะได้เป็นเจ้าของ BE@RBRICK ก็จะได้มาในรูปแบบพรีออร์เดอร์ ที่นอกจากนี้ยังมีตัวพิเศษที่เปิดขายเฉพาะกิจ ซึ่งต้องใช้การจับรางวัลหรือไปต่อคิวซื้อที่ร้าน โดยส่วนใหญ่ราคาก็จะพุ่งขึ้นแทบจะทันทีเมื่อไปอยู่ในมือนักสะสม โดย โบว์ลิ่ง ชลทิพย์ ใช้วิธีซื้อโดยตรงจากนักสะสมในต่างประเทศ บางตัวต้องใช้เวลาตื๊อนานเป็นปีๆ กว่าที่แต่ละคนจะยอมขาย
“เสน่ห์ของการสะสมก็คือ ‘การล่า’ หาตัวยากๆ ส่วนใหญ่ก็ต้องไปขอซื้อจากนักสะสม เพราะ BE@RBRICK ออกมา 300 ตัว หรือ 1,000 ตัว หมดแล้วหมดเลย จากนั้นก็ไปอยู่ในมือของนักสะสม ซึ่งตอนออกมาใหม่ๆ ราคาไม่แพงหรอก แต่พอไปอยู่ในมือนักสะสม ก็อยู่ที่เขาว่าจะขายไหม เลยเป็นกลไกทำให้ราคามันขยับขึ้นลง”
ในคอลเล็กชันของโบว์มี BE@RBRICK ตัวหายาก เช่น BE@RBRICK Kaws ทั้งคอลเล็กชัน, BE@RBRICK Pirate of the Caribbean ที่ว่ากันว่ามีเพียง 30 ตัวในโลก, BE@RBRICK Mickey x Clot, BE@RBRICK Daft Punk และ BE@RBRICK Hajime Sorayama Sexy Robot ฯลฯ แต่ปัจจุบันก็ขายออกไปบ้างแล้ว
“ปกติโบว์จะชอบสะสมตัวเก่าๆ แต่มีช่วงหนึ่งสะสม BE@RBRICK Charlie Brown แล้วทาง MEDICOM ทำรุ่นใหม่ออกมา ตอนนั้นตัวเก่าก็สวยกว่า แต่ก็ทำให้เราเสียความรู้สึกนิดหน่อยว่าตัวของเราไม่ได้หายากเหมือนเดิม เลยเป็นจุดเริ่มต้นปล่อยตัวเก่าๆ ออกไป เพราะไม่มีวันรู้ว่าจะมีตัวใหม่ออกมาอีกเมื่อไร”
นับตั้งแต่เริ่มสะสมในปี 2558 โบว์ลิ่งเล่าว่า ได้เห็นราคาขึ้นลงอยู่เรื่อยๆ และมีหลายตัวทำสถิติราคาอย่างน่าสนใจ อย่างเช่น BE@RBRICK Hajime Sorayama ที่ซื้อขนาด 400% มาในราคาราวๆ 20,000 บาท แล้วขายไปที่ราคาราวๆ 30,000 บาท แต่ในช่วงที่พีคสุดๆ ตุ๊กตาตัวนี้ราคาพุ่งไปที่ 450,000 บาทเลยทีเดียว ส่วน BE@RBRICK Mickey x Clot ช่วงพีคราคาก็อยู่ที่ประมาณ 600,000 บาท แต่ในปัจจุบันราคา BE@RBRICK กำลังอยู่ในช่วงตกต่ำ หลังจากขึ้นไปสูงสุดในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด
“ช่วงโควิดอาจเป็นเพราะเงินสะพัดจาก Bitcoin หรืออะไรก็แล้วแต่ มันทำให้คนเข้ามาสะสมกันเยอะขึ้นเกือบเท่าตัว และเป็นจังหวะให้คนขายได้ อย่างเช่น BE@RBRICK Daft Punk ตอนที่ออกมาใหม่ๆ ราคาประมาณ 60,000 บาท ช่วงที่พีคคือตอนที่เขาประกาศแยกวงช่วงโควิดพอดี ราคาก็พุ่งขึ้นไปที่ 600,000 บาท ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับคนที่ปล่อยว่าจะตั้งราคาอยู่ที่เท่าไร แต่นักสะสมจริงๆ ก็อาจจะไม่ตื่นเต้นกับราคา บางคนกำไรอยู่ที่ใจ คือของที่เรามีราคาขึ้นนะ เราภูมิใจ แต่เวลาราคาลงก็มานั่งคิดว่าตอนนั้นน่าจะปล่อยนะ หรือบางตัวยอมปล่อยเอากำไรนิดหน่อย แต่มันคือความภาคภูมิใจว่านี่คือคอลเล็กชันที่ฉันเคยมี
“แต่ตอนนี้ BE@RBRICK เป็นช่วงตก เนื่องจากช่วงโควิดคนเข้ามาเล่นเก็งกำไรกันเยอะมาก แล้วดองพรีออร์เดอร์กันไว้ อย่างช่วงนั้นพรีออร์เดอร์ราคา 14,000-15,000 บาท แต่ออกมาเดี๋ยวเดียวราคาพุ่งขึ้นเป็น 28,000 บาท บางทีขายใบพรีออร์เดอร์บวก 5,000-10,000 บาทก็มี ทำให้ตอนนี้ BE@RBRICK เฟ้อมาก บางทีคนเลิกเล่นกันแล้วก็โยนขายแบบขาดทุน ทำให้ราคาตก แต่นี่แหละเป็นช่วงเวลาที่ดีของคนใหม่ๆ ที่จะเข้ามาสะสม เพราะคุณจะในราคาที่มันไม่เวอร์วัง ซึ่งมองว่านี่คือสถานการณ์ปกติ เพราะขึ้นลงตามกลไกของมัน ไม่เหมือนช่วงโควิดที่ผ่านมา”
ในช่วงเดือนที่ผ่านมา การสะสม BE@RBRICK ถูกเชื่อมโยงกับธุรกิจสีเทาจากกรณีบุกค้นบ้านนายตำรวจระดับสูง ซึ่งโบว์ลิ่งให้ความเห็นว่า นี่คือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตลาด BE@RBRICK ที่กระทบกับนักสะสมที่ชอบ BE@RBRICK จริงๆ
“ถ้ามองกันจริงๆ นี่คือตุ๊กตา คือของสะสม ซึ่งห้ามให้ใครมาสะสมไม่ได้ ที่กลุ่มธุรกิจสีเทาเข้ามาในตลาด เป็นเพราะ BE@RBRICK ไม่มีราคากลาง ราคาขึ้นอยู่กับความพึงพอใจ เลยกลายเป็นเครื่องมือของคนกลุ่มนี้ได้ง่าย”
โบว์ลิ่งขยายความว่า การสะสม BE@RBRICK คล้ายกับการสะสมนาฬิกาหรือรถหรู อาจแตกต่างกันที่ BE@RBRICK เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมป๊อปมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ในกรณี Daft Punk แยกวง นอกจากนี้แนวโน้มของตลาดก็คล้ายๆ กัน เพราะราคานาฬิกาและรถซูเปอร์คาร์ก็อยู่ในช่วงขาลงเหมือนกัน
“โบว์คิดว่า BE@RBRICK ยังน่าลงทุน อย่างแรกเลยคือมองเป็นของแต่งบ้านได้ และถ้าเบื่อเมื่อไรก็มีคนรับซื้อแน่นอน มีสภาพคล่องมากกว่าของแต่งบ้านอื่นๆ สองคือช่วงนี้ราคาตกคนใหม่ๆ เข้ามาซื้อได้ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป ส่วนใครที่คิดทำเป็นอาชีพเสริม ในจังหวะนี้อาจจะต้องสายป่านยาวนิดหนึ่ง
“ถ้าซื้อมาเพื่อขาย ถ้าไม่แกะกล่องเลยราคาก็จะดีที่สุด ต่อมาคือแกะกล่องตรวจดูของแล้ว และอันสุดท้ายคือผ่านการตั้งโชว์มาแล้ว สำหรับโบว์ชอบซื้อแบบที่แกะเช็กของแล้ว ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า BE@RBRICK คือของเล่นที่อาจมีข้อผิดพลาด มีตำหนิ สีเพี้ยนบ้าง อีกอย่างที่อยากแนะนำให้แกะ เพราะความสุขคือเราได้ชื่นชมมันก่อน อย่างน้อยจะขาดทุนหรือกำไรเราก็ได้ชื่นชมแล้ว สิ่งสำคัญคืออย่าทิ้งกล่องเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นราคาจะตกมาก”
BE@RBRICK WORLD WIDE TOUR 3 in Bangkok
BE@RBRICK จำนวน 8 ดีไซน์ที่เปิดให้จองและวางจำหน่ายภายในงาน
โบว์ลิ่ง-ชลทิพย์ ระยามาศ และ BE@RBRICK Mickey x Clot
BE@RBRICK HxS (HIROTA SAIGANSHO)
BE@RBRICK Pirate of the Caribbean
BE@RBRICK Hajime Sorayama