×

ทำไม BA.2 ถึงแพร่กระจายเร็วกว่าโอมิครอนสายพันธุ์เดิม

18.02.2022
  • LOADING...
KEY MESSAGES: ทำไม BA.2 ถึงแพร่กระจายเร็วกว่าโอมิครอนสายพันธุ์เดิม

ในระยะ 1-2 เดือนนี้ หากโอมิครอนกลายพันธุ์ไม่ต่างไปจากเดิมมากนัก และไม่มีสายพันธุ์ใหม่ที่ผ่าเหล่าผ่ากอแยกออกไป (เหมือนโอมิครอนที่แยกออกมาจากเดลตาอย่างชัดเจน) ไวรัสโควิดที่ระบาดทั่วโลกจะมี 3 สายพันธุ์หลัก ได้แก่ BA.1 (และกลายพันธุ์ต่อเป็น BA.1.1) BA.2 และ BA.3 ซึ่งตอนนี้องค์การอนามัยโลกยังจัดเป็น ‘โอมิครอน’ ทั้งหมด 

 

แม้ที่ระบาดส่วนใหญ่ยังเป็น BA.1 อยู่ แต่ BA.2 ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในบางประเทศ เช่น เดนมาร์ก สวีเดน อินเดีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ 

 

สำหรับในไทย เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิดในประเทศไทยว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (5-11 กุมภาพันธ์) ส่วนใหญ่เป็นโอมิครอน 97.2% รองลงมาเป็นเดลตา 2.8% ในขณะที่อัลฟาและเบตาไม่พบมาประมาณ 1 เดือนแล้ว เมื่อวิเคราะห์เพิ่มเติมพบว่าผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นสายพันธุ์ BA.1 เท่ากับ 81.5% และ BA.2 เท่ากับ 18.5% ซึ่งถือว่าเริ่มเพิ่มขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องว่าจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร

 

ประเทศที่พบการระบาดของ BA.2

 

BA.2 พบครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนที่กลายพันธุ์จากสายพันธุ์ดั้งเดิมมากที่สุด (70-80 ตำแหน่ง) และมีตำแหน่งที่กลายพันธุ์ต่างจาก BA.1 มากกว่า 20 ตำแหน่ง โดยประมาณครึ่งหนึ่งอยู่บนโปรตีนหนาม (Spike Protein) ที่ไวรัสใช้ในการจับกับเซลล์ของมนุษย์ ส่วนการขาดหายไปของกรดอะมิโนตำแหน่งที่ 69-70 ซึ่งไม่พบใน BA.2 ถูกพูดถึงมากเพราะใช้ในการแยกสายพันธุ์เบื้องต้นระหว่างเดลตากับ BA.1

 

ปัจจุบันมีรายงานพบใน 74 ประเทศ และกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในบางประเทศ/เขตการปกครอง เช่น ฟิลิปปินส์ (100%) เดนมาร์ก (79%) ฮ่องกง (70%) อินเดีย (67%) สิงคโปร์ (64%) สวีเดน (49%) และเมื่อย้อนกลับไปที่แอฟริกาใต้ BA.2 ก็กำลังจะแทนที่ BA.1 เช่นกัน (63%) บางประเทศยังพบเป็นสัดส่วนที่น้อย เช่น สหราชอาณาจักร (9%) สหรัฐอเมริกา (ประมาณ 2%) ในขณะที่ประเทศฝั่งเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ที่กำลังระบาดหนักในขณะนี้เป็นสายพันธุ์ BA.1.1  

 

สายพันธุ์ BA.2 แพร่เร็วกว่า BA.1 จริงไหม

 

ข้อมูลจากรายงานของสำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร (UKHSA) ระบุว่าอัตราของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.2 เพิ่มจำนวนเป็นเท่าตัวทุกสัปดาห์ โดยช่วงปลายมกราคม 2565 คิดเป็น 126% และต้นกุมภาพันธ์คิดเป็น 106% ต่อสัปดาห์ 

 

นอกจากนี้ยังพบว่าในผู้สัมผัสใกล้ชิดในครอบครัว อัตราการติดเชื้อสายพันธุ์ BA.2 เพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับ BA.1 (13.4% vs. 10.3%) จึงมีความเป็นไปได้ที่สายพันธุ์นี้จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักต่อจาก BA.1

 

ส่วนข้อมูลจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่ศึกษาการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนช่วงปลายธันวาคม 2564 ถึงต้นมกราคม 2565 พบว่าอัตราการติดเชื้อในครอบครัวของสายพันธุ์ BA.2 มากกว่า BA.1 (39% vs. 29%) และผู้สัมผัสในครอบครัวมีโอกาสติดเชื้อ BA.2 มากกว่า ประมาณ 2-3 เท่า (ไม่ว่าจะเคยได้รับหรือไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน) แต่สำหรับผู้ติดเชื้อ BA.2 ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนจะมีโอกาสแพร่เชื้อต่อได้มากกว่า BA.1 ประมาณ 3 เท่า

 

ทำไม BA.2 ถึงแพร่เร็วกว่า BA.1

 

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนว่าทำไม BA.2 ถึงแพร่กระจายเร็วกว่า BA.1 แต่มีข้อค้นพบจากการวิจัยที่สำคัญ 2 ประการคือ 

 

1. สายพันธุ์ BA.2 มีระยะ Serial Interval สั้นกว่า

 

ระยะนี้หมายถึงระยะเวลาในการแพร่จากผู้ติดเชื้อคนหนึ่งไปทำให้อีกคนติดเชื้อ โดยทั่วไปจะนับจากวันที่ผู้ป่วยรายแรกมีอาการถึงวันที่ผู้รับเชื้อต่อมามีอาการ ข้อมูลจาก UKHSA ที่ศึกษาการระบาดในกลุ่มผู้สัมผัสนอกครอบครัวในสหราชอาณาจักรพบว่า

 

  • ค่าเฉลี่ย Serial Interval ของ BA.2 สั้นกว่าประมาณครึ่งวัน (3.3 vs. 3.7 วัน)
  • ค่ามัธยฐาน Serial Interval ของ BA.2 สั้นกว่าประมาณค่อนวัน (2.7 vs. 3.3 วัน)

 

สมมติ 

ก. แพร่เชื้อให้ ข. แสดงว่าถ้า ก. ติดเชื้อ BA.1 และมีอาการ ข. จะเริ่มมีอาการในอีก 3.3 วันถัดมา 

 

แต่ถ้า ก. ติดเชื้อ BA.2 ข. จะเริ่มมีอาการในอีก 2.7 วันถัดมา 

 

นึกภาพต่อว่า ข. แพร่เชื้อให้ ค., ง., … จึงทำให้ BA.2 แพร่เร็วกว่า BA.1 ในที่สุด

 

2. สายพันธุ์ BA.2 หลบภูมิคุ้มกันได้มากกว่า

 

งานวิจัยของศูนย์ไวรัสวิทยาและวิจัยวัคซีน บอสตัน สหรัฐอเมริกา ศึกษาระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถยับยั้งไวรัส (Neutralizing Antibodies) พบว่า ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนเข็มกระตุ้นยับยั้ง BA.2 ได้น้อยกว่า BA.1 เท่ากับ 1.4 เท่า และน้อยกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม 8.4 เท่า ส่วนภูมิคุ้มกันหลังจากการติดเชื้อในช่วงที่สายพันธุ์โอมิครอนระบาดยับยั้ง BA.2 ได้น้อยกว่า 1.3 เท่า ทั้งนี้ เป็นผลการศึกษาเบื้องต้น และศึกษาในกลุ่มตัวอย่างจำนวนน้อย

 

“มันอาจทำให้การระบาดระลอกโอมิครอนนานขึ้น แต่ข้อมูลของเราชี้ว่ามันน่าจะไม่นำไปสู่การระบาดระลอกใหม่” Dan Barouch นักภูมิคุ้มกันวิทยาและไวรัสวิทยาเจ้าของงานวิจัยกล่าว

 

ความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันได้มากกว่าของ BA.2 สอดคล้องกับงานวิจัยอีกชิ้นของมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ศึกษาระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถยับยั้งไวรัส BA.1 และ BA.2 เทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิมพบว่า 

 

  • กลุ่มที่ได้รับวัคซีน Moderna ยับยั้งได้ลดลง 15 เท่า และ 18 เท่า 
  • กลุ่มที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca ยับยั้งได้ลดลง 17 เท่า และ 24 เท่าตามลำดับ 

 

นอกจากนี้ยังพบว่าหนูทดลองที่ได้รับวัคซีนที่ออกแบบจากโปรตีนหนามของ BA.1 สร้างภูมิคุ้มกันที่สามารถยับยั้ง BA.2 ได้ลดลง 6.4 เท่า 

 

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวถึงงานวิจัยชิ้นนี้ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2565 ว่า ความแตกต่างระหว่าง BA.2 กับ BA.1 นอกจากจะมีการเปลี่ยนแปลงบนโปรตีนหนามที่ต่างมีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะตัวแล้ว เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่งอื่นนอกโปรตีนหนามอาจมีส่วนทำให้ BA.2 มีคุณสมบัติที่โดดเด่นกว่า BA.1 และโอมิครอน 2 สายพันธุ์นี้อาจใช้ทำเป็นวัคซีนแทนกันไม่ได้เสียทีเดียว

 

BA.2 ไม่รุนแรงกว่า BA.1

 

ถึงแม้ BA.2 จะแพร่กระจายเร็วกว่า แต่ข้อมูลจากเดนมาร์กเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 พบว่าความรุนแรงของทั้ง 2 สายพันธุ์นี้ไม่แตกต่างกัน และจากการวิเคราะห์อัตราตายส่วนเกิน (Excess Mortality) พบว่าลดลงจากปลายปีที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงที่สายพันธุ์เดลตาระบาด และลดลงมาอยู่ในระดับปกติ ทำให้เดนมาร์กเริ่มผ่อนคลายมาตรการโควิดตั้งแต่ต้นกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เดนมาร์กเป็นประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงมากคือ ครบ 2 เข็ม 81.3% และเข็มกระตุ้น 62.0%

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X