(บทความนี้เป็นตอนที่ 2 และตอนจบของซีรีส์ ‘ที่มาและอำนาจของวุฒิสภาไทย’ ความเดิมตอนที่แล้ว เรานำเสนอ ‘ที่มา’ ของ ส.ว.ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน พร้อมมุมมองและความเห็นของนักวิชาการและ ส.ว. ชุดปัจจุบันที่มีต่อประเด็นดังกล่าว ซึ่งเนื้อหาจะต่อเนื่องกับในบทความนี้ – เพื่อความเข้าใจที่ต่อเนื่อง ตามอ่านตอนที่แล้วก่อนได้ที่ https://thestandard.co/thai-senator-history/)
สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทำอะไรได้บ้างในระบบการเมืองไทย?
หากถามคำถามข้อนี้ หลายคนอาจมีคำตอบในใจเป็นข้อแรกว่า “อยู่ในกระบวนการพิจารณากฎหมายต่อจาก ส.ส.” แต่แท้ที่จริงแล้วในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา ส.ว. มีหน้าที่มากกว่านั้น
สมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย, รัฐสภาให้ความเห็นชอบหรือรับทราบในการสืบราชสมบัติ (แล้วแต่กรณีและยุคสมัย), รัฐสภาให้ความเห็นชอบในการประกาศสงครามของพระมหากษัตริย์, สมาชิกวุฒิสภามีหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ, สมาชิกวุฒิสภามีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในเรื่องใดเกี่ยวกับงานในหน้าที่ ฯลฯ — เหล่านี้คือตัวอย่างของบทบัญญัติว่าด้วย ‘อำนาจ’ และ ‘หน้าที่’ ของ ส.ว. ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญของประเทศไทยมายาวนาน
แต่ในอีกหลายยุคหลายสมัย อำนาจของ ส.ว. กว้างขวางไปมากกว่านั้น ตัวอย่างเช่น
-
- ในอดีตรัฐสภาเคยสามารถลงมติความไว้ใจในคณะรัฐมนตรีได้ (รัฐธรรมนูญปี 2489, 2490 และ 2492), ส.ว. ก็เคยสามารถเข้าชื่อเสนอญัตติเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ (รัฐธรรมนูญปี 2511) หรือร่วมในการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะได้ แต่ไม่สามารถเข้าชื่อหรือร่วมเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายได้ (เฉพาะวาระเริ่มแรกตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญปี 2521 และปี 2534)
- รัฐธรรมนูญปี 2490 และ 2511 ให้อำนาจ ส.ว. มีอำนาจเสนอร่างพระราชบัญญัติได้เอง
- รัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ให้อำนาจ ส.ว. ในการถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ฯลฯ ที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย (รัฐธรรมนูญ 2550 เพิ่มข้อความ ‘หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง’ เข้าไปด้วย)
- หรือแม้แต่ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ที่ ส.ว. มีหน้าที่และอำนาจเพิ่มเติม อาทิ การติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ และการจัดทําและดําเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ หรือร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นต้น
‘พรสันต์’ วิเคราะห์ อำนาจ ส.ว. ปัจจุบันไม่สัมพันธ์กับที่มา
‘อำนาจ’ นั้นสัมพันธ์อย่างไรกับ ‘ที่มา’ ของ ส.ว. เรื่องนี้เราพูดคุยกับ ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งให้สัมภาษณ์กับเราด้วยหลักใหญ่ใจความว่าด้วยการตั้งคำถามถึงอำนาจและการทำหน้าที่ของ ส.ว. ชุดปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะยืนยันว่าตัวเขาเอง “ไม่ได้ Mind เรื่องสภาเดี่ยวหรือสภาคู่” แต่เขายืนยันว่าในหลักการนั้นจำเป็นต้องตอบให้ได้ว่า การที่ออกแบบระบบให้มีสภาคู่นั้น ‘เพื่ออะไร’ และถึงแม้ในรัฐธรรมนูญจะระบุว่าสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย แต่เขาก็ตั้งคำถามถึง ส.ว. ชุดปัจจุบันว่า “เป็นผู้แทนในแง่มุมไหน”
“ผมถามง่ายๆ ว่าที่ผ่านมา ถ้าคุณบอกว่าคุณเป็นองคาพยพหนึ่งในตัวฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายนิติบัญญัติเขาต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของรัฐบาล คำถามคือวุฒิสภาที่ผ่านมาเคยทำไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่ใช้ระบบรัฐสภาแล้ว รัฐสภาเป็นที่มาของฝ่ายบริหาร แล้วพูดถึงว่ายิ่งคุณกำหนดให้ 250 ส.ว. ชุดนี้ที่คุณไปเลือกนายกฯ ยิ่งต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบฝ่ายบริหารอย่างเข้มข้นเสียด้วยซ้ำ
“เพราะว่าอะไร เพราะว่าที่ผ่านมา ส.ว. ไม่เคยมีอำนาจในการเลือกนายกฯ ฉะนั้นปกติแล้วโดยระบบรัฐสภาทั่วไปของโลก ส.ว. เขาไม่ได้มีโอกาสในการไปเลือกนายกฯ อยู่แล้ว โดยบทบาทหน้าที่หลักๆ ตามหลักการในทางรัฐธรรมนูญมันจึงเป็นหน้าที่ของ ส.ส. แต่คราวนี้รัฐธรรมนูญปี 2560 มันดันไปกำหนดให้ ส.ว. มีอำนาจในการเลือกนายกฯ นั่นหมายความว่าตัวคุณเนี่ยไม่ได้แตกต่างกับ ส.ส.
“นั่นหมายความว่าเมื่อ ส.ส. มีอำนาจมีบทบาทในการตรวจสอบฝ่ายบริหารฉันใด คุณก็มีอำนาจในการตรวจสอบฉันนั้น แล้วยิ่งต้องทำด้วย มุมนี้ผมก็ไม่เห็นใครจะพูดอยู่ คำถามก็คือถ้าคุณเซ็ตตามมาตรฐานแบบนี้ คำถามก็คือที่ผ่านมา ส.ว. เคยทำหน้าที่ในการตรวจสอบฝ่ายบริหารหรือไม่ อย่างไร”
เขากล่าวต่อไปว่า ในทางกลับกันเรากลับเห็นภาพในเชิงตรงกันข้าม เมื่อประชาชนตั้งคำถาม และ ส.ว. ชุดนี้ถูกมองว่าเป็น ‘องครักษ์พิทักษ์รัฐบาล’
“ภาพแบบนี้มันเกิดในสังคมมากกว่า ทั้งในแง่ของการแก้รัฐธรรมนูญ การแก้กฎหมายหรืออะไรต่างๆ นานา เรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญอันนี้เห็นได้ชัดเลยว่า ภาพของการที่แก้รัฐธรรมนูญสำเร็จ ไม่สำเร็จ หรือว่าล้มเหลว ไม่ล้มเหลว มันคือภาพของการที่รัฐบาลกับ ส.ว. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ว. จะ Say Yes / Say No คือมันผ่านไม่ผ่านมันขึ้นอยู่กับ ส.ว. และทุกครั้งทั้งผ่านและไม่ผ่าน มันจะเห็นภาพของตัวพรรครัฐบาลกับ ส.ว. ไปกันเป็นแพ็ก คือ Say Yes ก็ Say Yes ด้วยกัน Say No ก็ Say No ด้วยกัน”
ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย (แฟ้มภาพ)
เขาชี้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 นำโมเดลจากรัฐธรรมนูญปี 2521 มาใช้ แม้ว่าจะมีบางปัจจัยที่อาจแตกต่างกันบ้าง แต่สมัยปี 2521 วุฒิสภาทำหน้าที่ในการสนับสนุนรัฐบาล และวุฒิสภาชุดปัจจุบันก็ถูกตั้งคำถามว่าทำหน้าที่สนับสนุนรัฐบาลเช่นกัน
นอกจากนี้ ผศ.ดร.พรสันต์ ยังระบุว่าตามหลักการในเชิงรัฐธรรมนูญนั้น ที่มาและอำนาจหน้าที่ต้องสัมพันธ์กัน และจุดนี้เองที่เขาชี้ว่ากรณีของ ส.ว. ไทยนั้น ‘มีปัญหา’
“ที่มาคุณมาแบบหนึ่ง แต่อำนาจหน้าที่คุณไม่สัมพันธ์กับที่มา เพราะว่าในเชิงหลักการในทางรัฐธรรมนูญ ที่มากับตัวอำนาจหน้าที่มันต้องสัมพันธ์กัน เช่น ที่มา ถ้ามันเชื่อมโยงกับประชาชนอย่างใกล้ชิด เขาก็จะมีอำนาจหน้าที่เยอะ ในขณะถ้าสมมติที่มาไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน อำนาจหน้าที่ก็จะลดน้อยถอยลงไปแล้วแต่กรณี ฉะนั้นเราถึงเห็นว่า ส.ส. เขามาจากการเลือกตั้งโดยตรงโดยประชาชน ดังนั้นเขาจึงมีอำนาจทุกอย่าง เขาทำหน้าที่ฟังก์ชันในฐานะที่เขารับมอบอำนาจมาจากประชาชน ในขณะที่ ส.ว. เอง คุณไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่คุณกลับมีอำนาจเยอะแยะเต็มไปหมด เลือกนายกฯ ก็ได้ ตรวจสอบ ตามดูเรื่องปฏิรูปประเทศโน่นนี่นั่น มีอำนาจในการแต่งตั้งคนที่จะมาดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ ต่างๆ เยอะแยะเต็มไปหมด คำถามคือคุณเอาอำนาจหน้าที่นี้มาจากไหน”
ยังไม่ทันที่เราจะถามอะไรต่อ ผศ.ดร.พรสันต์ ก็อธิบายต่อทันที
“คราวนี้ถ้าพูดแบบนี้เสร็จปุ๊บ เขาก็จะวนกลับไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจเลือกนายกฯ เขาก็จะพูดว่านี่ไง มาจากการทำประชามติ คือมันก็วนลูปกลับไปเหมือนเดิม แล้วมันก็ไม่จบตรงที่ว่า ก็ประชามติคุณมันไม่ได้อยู่บนครรลองของความเป็นสากลไง มันก็มีปัญหาอีก มันก็จะวนลูปอีท่าเดิม”
“คือพอยต์เท่าที่ผมฟังจาก ส.ว. เอง หรือฝ่ายรัฐบาลเองทุกคนก็จะบอกว่า โอ๊ย ไอ้เรื่องที่มาไม่ต้องไปดูแล้ว คุณมองไปดูเรื่องของเนื้อหา เรื่องของการทำหน้าที่เลย…เขาก็ดีนะ โน่นนี่นั่น อะไรอย่างนี้ หรือแม้กระทั่งคุณสุเทพเอง ใช่ไหม ถ้าผมจำไม่ผิดสัปดาห์ก่อนมั้งที่ออกมาบอกว่า สำหรับคนที่ไม่ชอบ ส.ว. คุณก็อดใจอีกแป๊บหนึ่ง เดี๋ยวสักพักเขาก็ใช้ ส.ว. ที่มาจากกลุ่มตัวแทนของวิชาชีพ โน่นนี่นั่น เดี๋ยวรอแป๊บเดียว เดี๋ยวเขาก็จะหมดวาระแล้ว เขาก็จะพูดแบบนั้น
“คำถามคือทำไมผมต้องรอล่ะ เพราะอะไร เพราะคุณเข้ามาไม่ชอบนี่ คือปัญหามันอยู่ตรงนี้ไง มันวิ่งกลับไปที่บอกว่า ถ้าคุณตั้งหลักด้วยการที่รัฐธรรมนูญเขาเขียนไว้ว่า ประเทศไทยมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยนี่ การยึดโยงกับประชาชนมันเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำเลยนะ อันนี้ผมยังไม่ไปพูดถึงเรื่องของเนื้อหาว่าคุณจะไปฟังก์ชันหน้าที่อะไรอย่างไรนะ คือการเชื่อมโยงกับประชาชนมันคือเกณฑ์ขั้นต่ำที่ต้องผ่านให้ได้เสียก่อน”
“ส.ว. ชุดนี้รับผิดกับใคร?”
เขาถามย้ำกลับมาว่า “ส.ว. ชุดนี้รับผิดกับใคร”
“ในขณะที่ตัวรัฐธรรมนูญบอกว่า คุณเป็นผู้แทนใช่ไหม คุณเป็นผู้แทนปวงชน แล้วคุณก็บอกว่าคุณเป็นผู้แทนใช่ไหม แล้วเวลาประชาชนเขาเรียกร้อง ผมไม่เห็นคุณเคยรับผิดกับประชาชนเลย…ส.ส. เนี่ยเขาต้องรับผิดกับประชาชนถูกไหม เพราะว่าประชาชนเลือกมา รัฐบาลเอง คุณต้องรับผิดกับสภา เพราะว่าสภาเป็นคนเลือกคุณมา ผมถามว่า ส.ว. ชุดนี้รับผิดกับใคร”
“รับผิดในที่นี้คือเวลาที่คุณจะออกจากตำแหน่ง ในทางการเมืองนะ คุณแสดงสปิริต คุณรับผิดชอบกับใคร คุณรับผิดชอบกับรัฐบาล หรือว่าคุณรับผิดชอบต่อประชาชน ใช่ไหม ผมไม่เห็น…คือภาพของผมนะ ถ้าคุณเป็นผู้แทน สมมติว่าถ้าประชาชนเขาเรียกร้องโน่นนี่นั่น หรือว่าคนท้องที่ท้องถิ่นกับพวก ส.ส. ในเขตใช่ไหม หรือว่าอาจจะเป็น ส.ส. ทั่วไป คือเวลาเขาแสดงบทบาทหน้าที่ เขาใช้อำนาจเขา เขาแคร์ประชาชน เขายังเกรงใจประชาชน เวลาที่เขาจะทำหน้าที่อะไรของเขา เขายังแคร์นะ ผมถามว่า ที่ผ่านมา…อันนี้ผมตั้งคำถามนะ แล้วให้เขาตอบกันเองว่า ส.ว. ที่ผ่านมาคุณทำหน้าที่อะไร คุณเคยแคร์ประชาชนหรือเปล่า”
ผศ.ดร.พรสันต์ ระบุต่อไปว่า เมื่อ ส.ว. ไม่ได้มายึดโยงกับตัวประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย จึงไม่ค่อยคิดถึงประชาชนมากเท่าไรนัก และจะเกรงใจคนที่สั่งตั้ง ส.ว. เหล่านี้เข้ามา เขายังกล่าวอ้างประจักษ์พยานจากการลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่ง ส.ว. 249 คนโหวตให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ขาดเพียง พรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภาที่งดออกเสียงในครั้งนั้น
เราลองตั้งข้อสังเกตว่าในอดีตก็มี ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งมาอย่างยาวนานหลายยุคหลายสมัยมาแล้ว แต่ ผศ.ดร.พรสันต์ ระบุว่า ส.ว. แต่งตั้งในอดีตก็ไม่ได้มีอำนาจมากมายเท่ากับในปัจจุบัน
รัฐธรรมนูญ 2560: อำนาจถอดถอนหายไป แต่อำนาจอื่นยังเหลือ
“เอาง่ายๆ เลยนะ อำนาจเลือกนายกฯ นี่ แค่นี้ก็ผิดแล้ว ที่ผ่านมาผมถามว่า ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกฯ เหรอ เอาแค่นี้อย่างเดียวเลย ถ้าย้อนกลับไปตอนรัฐธรรมนูญปี 2550 นะ จริงๆ รัฐธรรมนูญปี 2550 มันก็สืบเนื่องจาก (รัฐธรรมนูญ) 2540 ส.ว. ตอนนั้นเขามาจากการเลือกตั้งทั้งหมดใช่ไหม แล้วมีอำนาจในเรื่องของการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งคือ Impeachment หลังจากนั้นตอนปี 2550 มีการไปปรับ ส.ว. ครึ่งหนึ่งให้มาจากการเลือกตั้ง ครึ่งหนึ่งมาจากการสรรหา แต่อำนาจ Impeachment ยังอยู่ ตอนนั้นก็ถูกก่นด่าเยอะมาก เพราะว่าอะไร เพราะว่า Impeachment มันคือการไปถอดถอนคนที่มาจากการเลือกตั้ง…ส.ว. ครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้งไม่มีปัญหา เพราะว่าเขารับมอบอำนาจจากประชาชนไป มันก็สามารถถอดถอนได้ มันอธิบายได้ในเชิงหลักวิชาใช่ไหม ตามครรลองประชาธิปไตย แต่อีกครึ่งหนึ่งมาจากการสรรหา คุณเอาอำนาจจากไหนไปถอดถอนคนที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นมันขัดแย้งกันใช่ไหม
“เมื่อเป็นแบบนี้รัฐธรรมนูญ 2560 จึงปรับหมดเลยไง ว่าต่อไปนี้ไม่มีอำนาจในการถอดถอนแล้ว แล้วที่มาของ ส.ว. 250 คนก็มาจากการแต่งตั้ง โอเค มันไม่ได้มีอำนาจในการ Impeachment แต่คำถามคือว่า อ้าว แล้วคุณเลือกนายกฯ ได้อย่างไร หรือคุณมีอำนาจในการไปอนุมัติคนที่เข้าไปนั่งเป็นองค์กรอิสระต่างๆ และองค์กรอิสระต่างๆ เหล่านี้ก็ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารด้วย เห็นไหม มันเชื่อมโยงกันหมดเลย”
แฟ้มภาพโดย: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
ผศ.ดร.พรสันต์ ยังตั้งคำถามไว้ว่า เมื่อ ส.ว. เห็นชอบการแต่งตั้งองค์กรอิสระซึ่งจะไปตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารอีกทีหนึ่ง แล้วจะมีความเป็นกลางได้หรือไม่ หรือจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้ประชาชนได้หรือไม่ เมื่อมีการตั้งคำถามในลักษณะนี้ เราจึงถาม ผศ.ดร.พรสันต์กลับไปว่า แล้วถ้าหากมีการโต้แย้งว่า ส.ว. ทำหน้าที่ด้วยวิจารณญาณอันดีอยู่แล้ว ผศ.ดร.พรสันต์จะว่าอย่างไร
“คำถามคือ แล้วผมจะเชื่อคุณได้อย่างไร” เขาถามเรากลับมาอีกครั้ง “การเมืองในระบอบประชาธิปไตยโดยระบบรัฐสภามันขึ้นอยู่กับการไว้วางใจของประชาชน ความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนมันมาจากการที่คุณยึดโยงกับประชาชน”
เขาอธิบายว่าประชาชนเลือก ส.ส. ให้เข้าไปทำหน้าที่ ผู้แทนราษฎรเหล่านี้ก็ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชน แต่กับ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อะไรจะเป็นหลักประกันที่ทำให้ประชาชนวางใจ
“ผมถามว่าตัว ส.ว. ที่เขาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แล้วอยู่ดีๆ คุณบอก เฮ้ย คุณสัญญาว่า คุณแบบโน้นแบบนี้ คุณทำหน้าที่โน่นนี่นั่นมา ผมถามว่าอะไรมันเป็นตัวรับประกันหรือว่าเป็นเครื่องประกันที่ทำให้ประชาชนเขาไว้วางใจคุณ มันเหมือนกับเอาง่ายๆ ผมเปรียบเทียบง่ายๆ คือเราไม่ได้รู้จักกันมาก่อนนะ อยู่ดีๆ ผมเดินเข้าไป ผมบอก เฮ้ย คุณผมยืมเงินคุณล้านหนึ่งแล้วเดี๋ยวผมจ่ายคืนให้ กับอีกคนหนึ่งที่รู้จักกันมา มายืมเงินล้านหนึ่งบอกเดี๋ยวคืนให้ คุณเชื่อใครมากกว่ากัน มันต้องมีจุดเชื่อมโยงกัน”
นอกจากนี้ ผศ.ดร.พรสันต์ ยังชี้ว่าพฤติการณ์ของ ส.ว. ในทางความเป็นจริง ซึ่งเขามองว่าทำให้ประชาชนเกิดข้อสงสัย ตั้งคำถาม และอาจไม่ได้ทำให้ประชาชนเชื่อมั่น นอกจากนี้ บางครั้งการอภิปรายของ ส.ว. ก็ทำให้ประชาชนไม่พอใจ เช่น การใช้คำพูดที่ดูรุนแรง ซึ่งสิ่งนี้ก็จะเชื่อมกลับไปหาประเด็นเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ที่ควรเชื่อมโยงกับประชาชน เขายังเพิ่มเติมอีกประเด็นเกี่ยวกับวิจารณญาณในการทำหน้าที่ด้วยว่า ส.ว. ไม่สามารถอ้างเอกสิทธิ์ได้ เพราะเอกสิทธิ์ถูกสร้างขึ้นมาโดยระบบรัฐธรรมนูญเพื่อคุ้มครองความเป็นอิสระ
“เมื่อที่มาคุณไม่ได้มาอย่างอิสระ คุณไปอ้างเอกสิทธิ์ เอกสิทธิ์นี้จะคุ้มครองความไม่เป็นอิสระ” เขาระบุ “เอกสิทธิ์นี่ ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญมันคือคุ้มครองทำให้ ส.ส. ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลได้เพื่อประชาชน แล้วมันไม่มีใครเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ แต่อันนี้มันเหมือนกับว่าคุณไม่อิสระมาตั้งแต่ต้น เพราะคุณถูกแต่งตั้งขึ้นมาตั้งแต่ต้น คุณมาอ้างเอกสิทธิ์ เอกสิทธิ์นี้มันกลายเป็นว่าคุณไปปิดปากประชาชน หรือคุณไปปิดปากคนอื่นแล้วบอกว่า เฮ้ย อย่ามายุ่งกับเรานะ เรามีเอกสิทธิ์”
รัฐธรรมนูญ 2560: ดึงศาลสู่คู่ขัดแย้งทางการเมือง?
และแม้อำนาจการถอดถอน (Impeachment) โดย ส.ว. จะถูกนำออกไปในรัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว แต่ ผศ.ดร.พรสันต์ก็ไม่พอใจต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่เขาบอกว่า ‘แปลงสภาพ-เล่นแร่แปรธาตุ’ อำนาจดังกล่าวไปใส่ไว้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ไต่สวนและส่งเรื่องต่อศาลแทน เขาบอกว่านี่คือการ “ดึงศาลเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง”
โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 235 ระบุว่า ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย หรือมีการกล่าวหาว่าผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองเฉพาะที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ป.ป.ช. สามารถไต่สวนและมีมติให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย หรือส่งสํานวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดําเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง หรือดําเนินการอื่นตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้
“สำหรับรัฐธรรมนูญ ปี 2550 นักวิชาการหลายๆ คนก่นด่าเรื่องที่บอกว่าครึ่งหนึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แล้วคุณเอาอำนาจ Impeachment ไปได้อย่างไร เขาก็เลยไปจับยัดแล้วแปลงสภาพเล่นแร่แปรธาตุไปใส่ไว้กับตัว ป.ป.ช. ส่งศาลไง นี่ไง เป็นกลไกแบบนี้ ซึ่งถ้าถามผมนะ ผมว่าไม่ถูก คุณไปทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะว่ากลายเป็นว่าคุณเอาเรื่องในทางการเมืองทุกอย่างไปโยนใส่ศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คุณดึงเอาศาลเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งในทางการเมือง
“คือที่เขาตั้งไว้ตั้งแต่ตอนปี 2540 ก็คือว่ามันเฉพาะเรื่องของการทุจริตของนักการเมือง คือชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาใช่ไหม มันเป็นเรื่องการทุจริตและกระทำความผิดในทางอาญาที่มันรุนแรง เราดีไซน์ไป ดีไซน์มา ปะชุน ปะโน่น ปะนี่ ปะนั่น เขียนโน่น เขียนนี่ เขียนนั่น ตอนนี้จนมันเละปะปน เละเทะกันไปหมด แล้วก็ไม่เคยเอาศาลฎีกาเข้ามา นี่ก็ดึงศาลฎีกาเข้ามาด้วย แล้วเอาศาลฎีกามานั่งวินิจฉัยเรื่องมาตรฐานจริยธรรมนักการเมือง ที่ผมบอกว่าจริงๆ แล้วมันก็คือการ Impeachment ของ ส.ว. เดิม กลายเป็นว่าศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลอาชีพ ไม่เคยไปยุ่งกับเรื่องการเมือง คุณดึงเขาเข้ามายุ่งกับเรื่องการเมืองแล้ว แล้วต่อไปนักการเมืองหรือว่าประชาชนก็จะมองว่าศาลเล่นการเมือง มันจะพังกันหมด” ผศ.ดร.พรสันต์อธิบาย
ชี้นัยที่เปลี่ยนไป จาก ‘สภาพี่เลี้ยง’ มาสู่ ‘สภาตรวจสอบ’
เราถามย้อนไปเล็กน้อยว่าแล้วภาพของ ส.ว. แต่งตั้งในอดีตเป็นภาพแห่งการ ‘หนุนรัฐบาล’ เช่นเดียวกับที่เขาประเมิน ส.ว. ชุดปัจจุบันหรือไม่ เขาก็ย้ำว่าประเด็นอยู่ที่ว่าในอดีต ส.ว. ไม่ได้มีอำนาจมากเท่ากับปัจจุบัน และอาจจะเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะนัยของวุฒิสภาเปลี่ยนไปจาก ‘สภาพี่เลี้ยง’ มาสู่ ‘สภาตรวจสอบ’ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 แล้ว
“คือสมัยก่อนเราต้องเข้าใจนะ ส.ว.ถูกจัดตั้งขึ้นมาในสถานะสภาพี่เลี้ยง คำว่าสภาพี่เลี้ยงหมายถึงว่า ส.ส. ออกกฎหมายมา คุณก็เข้ามาช่วยกันตรวจสอบดูว่ากฎหมายที่ออกมามันรอบคอบไหม คือในฐานะที่คุณเป็นสภาสูงก็เข้ามาดูแลตรงนั้น
“แต่ความเป็น ส.ว. ของการเมืองไทย มันมีนัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540…รัฐธรรมนูญ 2540 มันเปลี่ยนสถานภาพของตัว ส.ว. เปลี่ยนเป็น ‘สภาตรวจสอบ’ ไม่ใช่สภาพี่เลี้ยงแบบเดิมแล้ว ฉะนั้นตอน 2540 นี่จึงติดอาวุธติดอำนาจเยอะมาก แต่ในขณะเดียวกัน การติดอำนาจเยอะมากให้กับ ส.ว. เป็นสภาในการตรวจสอบก็เพราะเขามาจากการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นนัยมันไปปรับที่ ส.ว. 2540 คือรัฐธรรมนูญปี 2540
“ฉะนั้นย้อนกลับไปนี่ สำหรับผมแล้วผมคิดว่ามันเทียบกันไม่ได้ เพราะฟังก์ชันของตัว ส.ว. เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญตอนรัฐธรรมนูญปี 2540 แล้วตั้งแต่ปี 2540 คอนเซปต์ของตัววุฒิสภายังคงอยู่ แต่กลายเป็นว่าคุณไปปรับที่มาเขา จึงไม่สัมพันธ์กับเรื่องของสถานะที่เป็นสภาตรวจสอบ เพราะสภาตรวจสอบ…ที่มาต้องมาจากการที่ประชาชนเลือกมา เพราะ ‘สภาตรวจสอบ’ คุณให้อำนาจเขาตรวจสอบเยอะ คราวนี้คุณก็แค่ไปตัดแค่บางส่วนออก แล้วก็ที่มาไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วคุณก็บอกว่า…นี่ไง คุณไปตัดอำนาจ Impeachment ออกแล้ว แต่ว่ามันยังมีนัย คุณอาจจะไม่ได้ตรวจสอบโดยตรง แต่ว่ามันผ่านองค์กรอิสระก็มีนี่ ถูกไหม นี่ไง ผมถึงบอกว่ามันไปเทียบกับสมัยก่อนไม่ได้เสียทีเดียว เพราะมันตัดกันอยู่ที่ 2540”
‘ธำรงศักดิ์’ ชี้ เห็นบทบาทในท้องถิ่นจาก ส.ว. เลือกตั้ง และบทบาทปกป้องรัฐบาลจาก ส.ว. แต่งตั้ง-เชียร์ยกเลิกวุฒิสภา
นักวิชาการอีกคนหนึ่งที่เราพูดคุยกับเขาไว้ตั้งแต่ตอนที่แล้วของบทความชุดนี้ คือ รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเมื่อเราถามว่ามีผลงานใดของ ส.ว. ที่เป็นที่จดจำของสังคมไทยบ้าง คำตอบของเขาคือ “ไม่มี”
“ผมว่าไม่มี เราไม่เคยสนใจว่า ส.ว. ทำอะไรเลย เรารู้แต่ว่า ส.ว. มาเพื่อทำให้ ส.ส. ไม่บรรลุความสำเร็จในการออกกฎหมาย ในการเป็นรัฐบาลเท่านั้นเอง ที่เรานึกถึง”
รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
(ภาพจาก Facebook: ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์)
อย่างไรก็ตาม เราถามต่อไปว่ามันเป็นเช่นนั้นในทุกยุคทุกสมัยจริงหรือ รศ.ดร.ธำรงศักดิ์จึงกล่าวต่อไปว่า หากเป็นยุค ส.ว. เลือกตั้ง จะเห็นบทบาทของ ส.ว. ในการลงไปจับประเด็นปัญหาในท้องถิ่น เพราะ ส.ว. เหล่านี้ทราบดีว่าเสียงของประชาชนคือสิ่งที่ทำให้เขาได้เป็น ส.ว. ต่อไปในสมัยหน้า นอกจากนี้ เขายังมองว่าเสียงของการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของ ส.ว. เลือกตั้งจะเป็นเสียงที่มีน้ำหนัก ซึ่งตรงกันข้ามกับ ส.ว. แต่งตั้ง
“วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งปี 2540 เสียงของการอภิปรายของเขา เสียงของการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเป็นเสียงที่มีน้ำหนัก แต่วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารนั้นจะไม่มีเสียงในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และจะไม่มีบทบาทในท้องถิ่น แต่จะทำตัวโดดเด่นเมื่อมีฝ่ายค้านรุมโจมตีรัฐบาล เราจะเห็นพวกนี้ออกมาแสดงบทนักเลงโต แสดงบทของการปกป้องรัฐบาล อันนี้ถ้ามาจากการแต่งตั้ง เราจะเห็นบทบาทอย่างนี้นะครับ ซึ่งจะต่างกันกับที่มาจากการเลือกตั้งเลย”
เมื่อถามว่า รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ยังเห็นความจำเป็นของการมีอยู่ของวุฒิสภาในยุคนี้หรือไม่ เขามองว่าต้องยกเลิกไปเลย
“กลุ่มคนที่จะได้ประโยชน์ของการคงคำว่าวุฒิสภาไว้ก็คือพวกคณะรัฐประหาร พวกศักดินา ดังนั้นต้องยกเลิกไปเลย เพื่อทำให้สิ่งที่บอกว่าจะมาจากการแต่งตั้งหายไปจากสารบบทางการเมืองของไทย”
‘ส.ว. สมชาย’ ระบุ ส.ว. 194 คน ไม่ยึดโยงกับประชาชน-อีก 50 คน ‘ยึดโยง แล้ว คสช. มาจิ้ม’
คำถามคืออีกด้านหนึ่ง ส.ว. ชุดปัจจุบันจะคิดเห็นอย่างไรกับอำนาจ หน้าที่ ตลอดจนการทำหน้าที่ของวุฒิสภา และคำถามที่ว่าสภาแห่งนี้ควรมีอยู่ต่อไปหรือไม่ เราพูดคุยกับ ส.ว. สองคนต่อจากครั้งที่แล้ว นั่นคือ ‘วันชัย สอนศิริ’ และ ‘สมชาย แสวงการ’ ซึ่งทั้งคู่มีประสบการณ์ในสภาแห่งนี้มายาวนานมากกว่า 1 สมัย
ตอนที่แล้วของบทความชุดนี้ ทั้งวันชัยและสมชายกล่าวกับเราไปบ้างแล้วเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ซึ่งอาจจะไปแตะประเด็นอำนาจอยู่บ้าง แต่คราวนี้เราจะมาลงลึกกันในรายละเอียดให้มากขึ้น เริ่มจากสมชาย เราถามเขาถึงมุมมองที่มีต่ออำนาจของ ส.ว. ในปัจจุบันว่า อำนาจที่มีอยู่ดังกล่าวเหมาะสมแล้วหรือไม่ และที่มาของ ส.ว. เอง ควรจะมีความสัมพันธ์หรือยึดโยงกับอำนาจที่ ส.ว. มีมากน้อยเพียงใด
“คือถ้าบอกว่าเอา ส.ว. ไปยึดโยงกับที่มากับประชาชน ต้องแยก 2 เรื่อง คือถ้าบอกว่า ส.ว. ไม่ยึดโยงกับประชาชน ผมก็ยอมรับว่า ส.ว. ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนในชุดนี้นะครับ ยึดโยงแค่ส่วนหนึ่งในการที่เขาเลือกกันเอง 50 คน แต่ก่อนจะเลือกมาเป็น 50 คน เขาเลือกจากอำเภอเป็นจังหวัด จังหวัดมาประเทศ แล้ว คสช. มาเลือกตอนสุดท้ายเพื่อให้เหลือ 50 คน ก็จะมีเฉพาะส่วนเดียว 50 แต่ว่าก่อนจะมาเป็น 50 (คน) เขายึดโยงกับประชาชนแน่แล้ว 50 คนนี้เขาก็ยังยึดโยงกับประชาชนด้วยวิธีการเลือกกันเอง เพียงแต่ว่า ส.ว. 50 คนนี้ ก็ คสช. มาจิ้ม อันนี้เราปฏิเสธไม่ได้
“ส่วน 194 คน ก็ต้องยืนยันว่าไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน เพราะที่มามาจากการสรรหาตามกลุ่มอาชีพ ตามอะไรต่างๆ นะครับ ซึ่งคณะกรรมการก็ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน อันนี้ก็ยอมรับ แต่อย่างที่ว่าแหละครับ มันก็เป็นเรื่องของการเปลี่ยนผ่านตามบทเฉพาะกาล”
สมชาย แสวงการ
(แฟ้มภาพโดย: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม)
ระบุบทบาท ส.ว. กลั่นกรองกฎหมาย ‘เหมาะสม’ ส่วนกรรมาธิการนิยม ‘ทำงานเงียบๆ’
“เรื่องอื่นๆ เรื่องการตรวจสอบกฎหมาย กลั่นกรองกฎหมาย ผมคิดว่าบทบาทเหมาะสมแล้ว เช่น การกลั่นกรองกฎหมายหลายฉบับที่มีการแก้ อย่างเช่นตอนนี้ พ.ร.บ.จราจร ชัดเจนมากนะ ผมไม่อยากจะยกว่ามันเพิ่งมีฉบับเดียว เพราะอะไร เพราะกฎหมาย…มันเพิ่งมีกฎหมายไม่กี่ฉบับผ่านสภาในลักษณะที่ ส.ว.ไม่เห็นด้วย ส่วนที่เหลือเรามีการเสนอความคิดเห็นตั้งแต่การทำมาตรา 77 วรรคสองอยู่แล้ว ศึกษาไปในชั้นกรรมาธิการก็เสนอความเห็นดีอยู่แล้ว สภาผู้แทนบางเรื่องเขาก็แก้ร่วมกันไปแล้ว มันจึงผ่านวุฒิสภาแบบไม่ต้องแก้
“ประเด็นถัดมาคือบางฉบับเป็นกฎหมายปฏิรูป เช่น กฎหมายปฏิรูปตำรวจ ซึ่งผมอยู่อย่างนี้ ผมก็มีการแก้ไขร่วมกันได้เยอะมากพอสมควรนะ ก็ทำหน้าที่ ลองถาม ส.ส. ที่ทำหน้าที่ในกรรมาธิการหลายคณะด้วยกัน กรรมาธิการร่วมก็จะเห็นว่า พอกฎหมายปฏิรูปที่ทำร่วมกัน ส.ว. ก็ไม่ได้น้อยหน้าในการทำหน้าที่ช่วยให้ความรู้ หรือ ส.ส. ท่านก็มีความรู้ในเรื่องของการเป็นตัวแทนประชาชนได้ดีในฐานะบางคนก็มีประสบการณ์ในสภามาก แต่บางคน ส.ว. ที่เป็นนักกฎหมายผู้ใหญ่ เคยเป็นกฤษฎีกา หลายๆ คนทำหน้าที่ในทางกฎหมายมา ก็ให้ความรู้ซึ่งกันและกันได้ดีพอสมควร อันนี้ผมคิดว่าการทำกฎหมายร่วมดีมาก อันนี้เรื่องกลั่นกรองกฎหมายถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี”
นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงการทำหน้าที่ของกรรมาธิการสามัญและวิสามัญคณะต่างๆ ทั้งในการดูแลประชาชนและตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร ซึ่งเขาระบุว่าเท่าที่เขาติดตามก็ทำหน้าที่อย่างละเอียด เพียงแต่คนเหล่านี้มัก ‘ทำงานเงียบๆ’ เช่นเดียวกับการติดตามเรื่องการปฏิรูปประเทศ ที่แม้หลายเรื่องในข้อเสนอแนะด้านการปฏิรูปดังกล่าวอาจจะ ‘ดูเหมือนเรือใหญ่ที่เคลื่อนตัวช้า’ แต่ก็มีการเร่งรัดติดตามอย่างมาก และเขาบอกว่าเห็นการตอบรับจากหน่วยที่ต้องไปปฏิบัติในการขับเคลื่อนการปฏิรูป
“กรรมาธิการของวุฒิสภาที่ตั้งขึ้น 26-27 คณะ เท่าที่ผมติดตามก็ทำหน้าที่ละเอียดมาก เพียงแต่เขาไม่ใช่เป็นนักประชาสัมพันธ์ ไม่ได้โฆษณาชวนเชื่อ หรือไม่ได้มีภาพข่าวลงทีวีทุกวัน หรือต้องสร้างประเด็นให้มันหิวแสง หรือให้มันเกิดเรื่องเกิดราว หรือต้องไปทำท่าโน้นทำท่านี้ สมาชิกวุฒิสภาเขาไม่ค่อยแถลงนะ เขาทำงานเงียบๆ ในกรรมาธิการ ผมก็เห็นข้อเสนอแนะที่รายงานผ่านสภาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฉพาะรัฐบาล กระทรวง ทบวง กรม และองค์กรอิสระ ผมอ่านรายงานของกรรมาธิการหลายคณะมาก และฟังเขาชี้แจงในสภา เขาได้ส่งรายงานที่ดีมาก เป็นข้อเสนอแนะ แล้วก็เอาไปปรับปรุงแก้ไขการทำงานเยอะมาก” เขายังกล่าวถึงโครงการ ส.ว. พบประชาชน ที่แม้แต่ละพื้นที่ของประเทศจะมี ส.ส. อยู่แล้ว แต่ ส.ว. ก็แบ่งกันลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาของประชาชน และผลักดันการแก้ปัญหาไปสู่การปฏิบัติ เช่นตัวเขาเองที่เล่าว่าลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปทำงานเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองพยาน และเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนการอุ้มหายหรือการซ้อมทรมาน
“อันนี้เป็นหน้าที่ที่ ส.ว. ทำเงียบๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เล่าให้ฟัง” เขาระบุ
ชี้ ส.ว. ก็ตรวจสอบฝ่ายบริหาร แต่บทบาท ‘ต่างจากฝ่ายค้าน’
และว่าด้วยการตรวจสอบฝ่ายบริหารที่ ผศ.ดร.พรสันต์ตั้งคำถามเอาไว้ว่า ส.ว. มีการทำงานเรื่องนี้หรือไม่ อย่างไร ทั้งวันชัยและสมชายตอบคล้ายกันว่า ส.ว. ก็ตรวจสอบฝ่ายบริหารในแบบของตน แต่บทบาทส่วนนี้ต่างกับ ส.ส. โดยเฉพาะฝ่ายค้าน
“เราเป็นสภาถ่วงดุลกลั่นกรอง ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล อย่างผมเองตั้งทั้งกระทู้ ตั้งทั้งข้อปรึกษาหารือตลอดจนการพิจารณากฎหมาย ผมทำอย่างเต็มที่เต็มกำลัง ส่วนคนอื่นเขาจะตั้งกระทู้หรือไม่ แต่ผมเห็นว่ามีทั้งการปรึกษาหารือ มีการถกแถลงในประเด็นสำคัญๆ แต่จะให้ทำบทบาทเหมือนฝ่ายค้าน ที่เขาเห็นแล้วเขาจำ น่าจะจำผิด เพราะบทบาทของคนที่เป็น ส.ว. นั้นต่างกับคนที่เป็นฝ่ายค้าน ทั้งการพูดการอภิปราย และลีลาก็ไม่น่าจะเหมือนกัน เอามาใช้เป็นอันเดียวกันไม่ได้ แต่ถามว่าทำไมเราไม่เห็นความเข้มข้นเหมือนฝ่ายค้าน ก็เขาไม่ได้เป็น ส.ส. ที่มีบุคลิกภาพเหมือนฝ่ายค้าน เราจึงเห็นลีลาแบบเรียบๆ เงียบๆ ไม่ค่อยเป็นข่าว ไม่ค่อยเป็นประเด็น” วันชัยกล่าว
ส่วนสมชายก็บอกว่า “ส.ว. ก็ทำหน้าที่ในบทบาทของ ส.ว. บางระดับ ซึ่งผมคิดว่าบางคนบอก โอ๊ย อยากจะให้ตรวจสอบแบบ ส.ส. ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องมี ส.ส. ครับ ส.ว. ก็ทำหน้าที่แทน เพราะ ส.ว. เขาก็ทำหน้าที่ของเขาในนามกรรมาธิการ ผมเป็นคนส่งข้อเสนอไปยัง พล.อ. ประยุทธ์หลายเรื่องมากนะ ไปตรวจสอบได้เลย” เขายังกล่าวถึงการทำข้อเสนอของกรรมาธิการของวุฒิสภาในประเด็น อาทิ ประเด็นการจัดหาและเข้าถึงวัคซีน ประเด็นสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
สมชายยืนยัน อำนาจให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการสรรหาในองค์กรอิสระ ‘ถูกต้องแล้ว’ แต่วันชัยระบุ ข้อครหายังมีอยู่
ส่วนการตรวจสอบคุณสมบัติขององค์กรอิสระของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมชายยืนยันว่าเห็นการทำงานอย่างละเอียดรอบคอบของกรรมาธิการทุกชุดในการตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม เมื่อเราถามถึงอำนาจในการให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่สามารถไปตรวจสอบฝ่ายการเมืองได้อีกทีหนึ่ง เขาย้ำว่า ส.ว. ทำหน้าที่เพียง ‘ตรวจสอบพฤติกรรมทางจริยธรรม’ เท่านั้น ซึ่งเป็นการทำหน้าที่หลังจากที่กรรมการสรรหาได้สรรหาผู้ที่ผ่านคุณสมบัติมาแล้ว เขาตั้งคำถามว่าหากตัดอำนาจหน้าที่นี้ของ ส.ว. ออกไป และให้ผู้ที่กรรมการสรรหาได้สรรหามาแล้วเป็นผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระได้เลย แล้วจะยึดโยงกับประชาชนอย่างไร
“คุณสมบัติเขา (กรรมการสรรหา) ตรวจมาแล้ว แต่เรามาพบว่า เฮ้ย จริยธรรมเขาไม่ได้นะ มีคดีทุจริต ชู้สาว ถ้าสมมติเราทำหน้าที่ตรวจสอบทุจริต เอ้า ปรากฏว่าคุณเองเกิดมีคดีทุจริตเสียเองอะไรอย่างนี้ เรามาเจอ หรือมีพฤติกรรมบางอันที่ขัดจริยธรรม แล้วเราก็รายงานต่อสภา สภาก็มีหน้าที่จะให้โหวตรับหรือไม่รับ เห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งหรือไม่ อันนั้นสภาก็ใช้สิทธิ์ ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ว่า ส.ว. ไม่ได้เป็นคนเลือก…ส.ว. ให้ความเห็นชอบ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็ให้ความเห็นชอบตามที่กรรมการสรรหาเขาเลือกมาแล้ว ก็มีส่วนน้อยที่เราไม่ได้ให้ความเห็นชอบ เพราะเราพบว่ามีปัญหา บางคนท่านก็เลยบอกไม่ให้” เขาระบุ “ผมคิดว่าทำหน้าที่ถูกแล้วนะครับ ไม่ใช่ทำหน้าที่เลือก เป็นหน้าที่เพียงแค่ให้ความเห็นชอบโดยตรวจสอบมาก่อนหลังจากกรรมการสรรหาเลือกมาแล้ว
“เพราะฉะนั้น ถามว่าถ้ากรรมการสรรหาจะตัดหน้าที่อันนี้ของ ส.ว. แล้วให้ท่านไปเป็นกรรมการองค์กรอิสระเลย แล้วมันยึดโยงประชาชนตรงไหนล่ะกรรมการสรรหา ยิ่งไปกันใหญ่เลย ส.ว. ก็ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลกรรมการสรรหานั่นแหละ”
แต่สำหรับวันชัยผู้เห็นด้วยกับระบบ ส.ว. เลือกตั้ง (ซึ่งเขาย้ำว่าต้องไม่ให้ ส.ว. เป็นคนที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง) เขาเห็นด้วยว่าข้อครหานั้นมีอยู่
“ถ้าระบบเลือกตั้งจริงๆ เขาก็ควรมีอำนาจแต่งตั้งคนในองค์กรอิสระ เพราะเขามีความเป็นกลางทางการเมือง ปลอดจากการเมือง ผมเห็นด้วย ซึ่งอำนาจเดิมตามรัฐธรรมนูญปี 2540 เขาให้ แล้วก็คิดว่าคนพวกนี้ยึดโยงกับประชาชนด้วย และมีความเป็นกลางด้วย แต่พอใช้ไปแล้วมันเพี้ยนไง แต่ถ้าทำอย่างนี้ได้ผมเห็นด้วย แต่ถามว่าถ้ามาจากการแต่งตั้งแล้วให้มีอำนาจดังกล่าว ก็ผมเองก็ค่อนข้างจะเห็นด้วยกับข้อวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวว่า ยังไงเสีย หนึ่ง มาจากการแต่งตั้ง แล้วไปมีอำนาจในการแต่งตั้งองค์กรอิสระ มันก็พ้นข้อครหาที่จะวนไปวนมากันไม่ได้ แล้วก็ไม่พ้นข้อครหาที่ว่ามีความเชื่อมโยงกับผู้มีอำนาจไม่ได้ ขนาดมาจากการเลือกตั้งแท้ๆ ให้มีอำนาจแต่งตั้งคนในองค์กรอิสระยังถูกซื้อยังถูกเสียบกันได้ในอดีต เพราะฉะนั้น ผมเห็นด้วยว่าข้อครหาดังกล่าวนั้นมันมีอยู่ เพราะถ้ามาจากการแต่งตั้งอย่างที่ผมว่า ใช้ไปใช้มาแล้วผมค่อนข้างจะเห็นด้วยว่าเมื่อมาจากการแต่งตั้ง อำนาจบางประการที่มันเหมาะกับการเลือกตั้งแล้วยึดโยงกับประชาชน ควรคืนให้เขาไป แต่ผมเชื่อเหลือเกินว่า พอพ้นห้าปีแล้ว อำนาจนั้นก็ไปอยู่กับ ส.ว. ที่มาจากการเลือกกันเองอยู่แล้ว”
วันชัย สอนศิริ
(แฟ้มภาพโดย: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม)
โต้ข้อครหา ‘ทำงานสนองคนตั้ง’
‘ส.ว. วันชัย’ ลั่นหากรัฐบาลทำผิด แต่ ส.ว. ยังหนุน ก็เหมือน ‘ฆ่าตัวเอง’
เมื่อถามว่ามีความสงสัยถึงความเป็นอิสระในการปฏิบัติของ ส.ว. ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง ว่าจำเป็นจะต้องสนองตอบแก่ผู้ที่ตั้ง ส.ว. เหล่านี้เข้ามาหรือไม่ สมชายระบุว่า “วาทกรรมนี้ประดิษฐ์ง่ายมาก แต่ข้อเท็จจริงไม่ใช่” โดยเปรียบเทียบว่าเขาเองเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และในช่วง 5 ปีของการดำรงตำแหน่งก็มีการ ‘ตีตก’ ผู้ที่เคยได้รับการคัดเลือกโดยกรรมการสรรหาไป ‘หลายสิบคน’ เขายังบอกด้วยว่าถ้า สนช. ทำตามใบสั่ง ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกโดยกรรมการสรรหาก็คงผ่านความเห็นชอบทั้งหมด
“ส.ว. ชุดปัจจุบันก็ทำหน้าที่เหมือนกัน ถ้าเราคิดว่ากรรมการสรรหานี่ท่านสามารถสั่งได้ ให้เอาผู้มีบารมีทั้งหลายสั่งให้กรรมการสรรหาเลือกนาย ก. นาย ข. มา จะไม่เห็นเลยนะว่า ส.ว. โหวตตกไปตั้งกี่คน ไปตรวจสอบดูได้เลยว่ามี ส.ว. โหวตตกแม้กระทั่ง…ผมไม่เอ่ยหน่วยดีกว่าเนอะ เพราะเดี๋ยวมันจะไปกระทบ มันก็จะเห็นชัดว่า ส.ว. ไม่ได้ฟังคำสั่งหรอก
“แล้วถ้าโหวต สั่งอย่างไรล่ะ การลงคะแนนในคูหาลับอาจจะมีคนสั่งก็ได้ สั่งใครก็ได้ สั่งนาย ก. คนเดียวก็ได้ แต่นาย ก. พอถึงคูหาโหวตให้ตามนั้นหรือเปล่าไม่รู้ อันนี้ผมพูดจริงๆ นะไม่ได้ว่าเข้าข้างนะ แล้วเข้าไปในคูหาก็เหมือนกับการเลือกตั้ง ตรวจไม่ได้ เพราะฉะนั้น ส.ว. ยืนยันว่ากาบัตรในคูหาตรวจไม่ได้เลย
“เพราะฉะนั้นคำว่าสั่งได้ มันก็เป็นวาทกรรมที่พูดได้ แต่ในข้อเท็จจริงมีคนที่ไม่ผ่าน ส.ว. เมื่อตรวจแล้ว ผมว่าไม่สามารถอธิบายรายละเอียดในที่สาธารณะได้ว่ากรรมาธิการเขารายงานว่าอย่างไร ว่าเขามีพฤติกรรม มีปัญหาอย่างไรเราถึงโหวตไม่ผ่าน แล้วมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะว่าผมเองเป็นคนซักในกรรมาธิการในห้องประชุมบ่อยมาก ในการประชุมลับ ผมอ่านเอกสารเยอะมากของกรรมาธิการและผมถามว่า เอ๊ะ 1 2 3 เกิดอะไรขึ้น แล้วผมก็ตัดสินใจเลยว่าคนนี้ผ่าน คนนี้ไม่ผ่านเพราะอะไร ไม่มีใครสั่งผมเลย สั่งผมก็ไม่ฟัง”
ส่วนวันชัยกล่าวว่า ด้วยบริบทของสังคมไทยอาจจะมีความเกรงอกเกรงใจกัน แต่หากสิ่งใดที่รัฐบาลทำแล้วไม่ถูกต้อง แล้ว ส.ว. ยังให้การสนับสนุน ก็เปรียบเสมือนการ ‘ฆ่าตัวเอง’ ของ ส.ว.
“ผมเชื่อเหลือเกินว่ามาจากการแต่งตั้งของ คสช. หลายคนอาจจะเกรงอกเกรงใจ หลายคนอาจจะมองหน้ามองหลังนะครับ มันเป็นระบบของสังคมไทยนะครับ” วันชัยระบุ “ที่มาของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แต่ผมยืนยันได้ว่าสิ่งใดที่รัฐบาลทำไม่ถูกต้อง สิ่งใดที่รัฐบาลนั้นทำแล้วไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ถ้า ส.ว. ยังตะบี้ตะบันหลับหูหลับตาเชียร์ไป ผมว่ามันเป็นการฆ่าตัวเองของ ส.ว. เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะสนับสนุน แม้แต่ ส.ส. ที่เป็นพรรครัฐบาลเขาจะสนับสนุน เขาคงจะสนับสนุนในสิ่งที่รัฐบาลทำดี
“แน่นอน โดยบริบทของสังคมไทยอาจจะเกรงอกเกรงใจกัน แต่ผมยืนยันกับคุณมั่นคง ถ้ารัฐบาลทำไม่ดี ทุจริตโกงกินคอร์รัปชัน ผมเชื่อว่าใครจะเป็นคนแต่งตั้งเรามาอย่างไรก็เถอะ จิตวิญญาณของทุกคนต้องนึกถึงตัวเอง นึกถึงประเทศชาติ นึกถึงประชาชน เอ๊ะ เราจะพลอยชั่วไปด้วยเหรอ ไปสนับสนุนคนชั่วๆ ผมว่าอย่างนั้นมันก็เกินกว่าจิตวิญญาณของความเป็น ส.ว. แล้ว”
‘วันชัย’ ไม่ติดใจถ้าตัดอำนาจ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ ทั้งที่เคยริเริ่มไว้เอง ส่วน ‘สมชาย’ บอกอำนาจมาด้วยประชามติ จะเลิกก็ควรทำประชามติก่อน
และเรื่องเกี่ยวกับอำนาจของ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี สมชายกล่าวว่า อำนาจเลือกนายกฯ เป็นเรื่องที่ ‘คนไม่ชอบ’ และยังต้องว่ากันต่อไป
“อันนี้เป็นอำนาจงอกที่เกิดขึ้นจากมาตรา 272 ตามบทเฉพาะกาล ซึ่งมันก็มองได้สองมุม ถ้ามองเข้าข้างตัวเองก็บอกเหลืออีก 2 ปีก็หมดแล้ว สองก็คือไปทำประชามติเสีย บางฝ่ายก็…ส.ว. บางท่านก็บอกว่าเลิกๆ เพลาๆ กันก็ได้ อันนั้นท่านก็จะลงมติอีกทีถ้ามันมีเรื่องกฎหมายนี้เข้ามา เท่านั้นเองครับ”
อย่างไรก็ตาม เขายังกล่าวถึงข้อกล่าวหาที่ว่าการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และคำถามพ่วงนั้นเป็นการทำประชามติที่ ‘ไม่แฟร์’ ว่า ก็สามารถพูดได้ และหากมีผู้ต้องการให้ ส.ว. ชุดนี้พ้นจากตำแหน่ง หรือให้ยกเลิกมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยอำนาจร่วมโหวตเลือกนายกฯ ของ ส.ว. ก็ควรไปทำประชามติมาก่อน
“มันก็เหมือนที่ผมบอกว่าการเลือกตั้งสกปรก ผมพูดอย่างนั้นมันก็ใช่นะ ถูกไหม ก็ไม่แปลกที่ใครจะบอกว่าการประชามตินั้นมันสกปรกก็ได้ คือเวลามันพูด มันพูดของเหตุผลแต่ละคนแต่ละข้าง แต่เมื่อการเลือกตั้งมันยอมรับออกมาแล้ว ประชาชนก็เห็นมานั่งในสภากันหมดนะครับ ส.ส. พรรคไหนก็ตาม
“ก็เห็นบอกว่ารัฐธรรมนูญนี่มันเลวมากเลยนะ ผมก็เห็นว่าท่านใช้รัฐธรรมนูญเข้าสู่สภากัน เหมือนกัน ถ้าประชามติมันเลวร้ายมากคุณก็ต้องไม่รับรัฐธรรมนูญเลย คุณก็ต้องไม่เข้าสู่สภา เพราะฉะนั้นถามว่ามันจริงไหม ผมไม่เชื่อว่าประชามติครั้งนั้นมันจะเลวขนาดนั้นหรอก มันมีคนที่ผมเห็นเขาไปลงประชามติ ด้วยความที่เขาลงประชามติแบบตรงไปตรงมา เยอะนะ ผมก็เชื่อว่า 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ถูกบังคับหรอก แต่มีคนส่วนหนึ่ง กลุ่มหนึ่งที่ออกไปต่อต้าน
“ความจริงการต่อต้านเป็นเรื่องสันติตามปกติอยู่แล้ว คุณต่อต้านด้วยการไม่เห็นด้วยทำได้อยู่แล้ว แต่ว่าพอคนบางคนโดนจับเพราะว่าคุณไปทำในสิ่งที่กฎหมายห้าม บางเรื่อง ถูกไหม สิทธิส่วนตัวคุณทำไปเลย คุณอยากจะให้ครอบครัวคุณลงมติไม่เห็นด้วย อะไรก็ทำไป แต่ว่าพอกฎหมายเขาห้ามคุณเดินรณรงค์ หรือออกไปในทางบิดเบือน คุณโดนจับ คุณก็บอกว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่ชอบธรรม การประชามติไม่ชอบธรรม มันก็กล่าวหาในที่สุดนะครับ แต่ผมคิดว่าข้อกล่าวหานั้นก็กล่าวหาได้ แต่ว่าข้อเท็จจริงคือมันผ่านประชามติจริงๆ เพราะฉะนั้น เมื่อคุณเห็นว่ามันไม่ถูกคุณก็ทำประชามติใหม่ และถ้าสังคมบอกว่ามันหมดเวลาที่ ส.ว. ชุดนี้จะอยู่ หมดเวลาที่มาตรา 272 จะอยู่แล้วก็ประชามติก็บอกให้เลิก เราก็เลิกนะครับ ไม่มีปัญหาหรอกครับ แต่ไม่ใช่ไปเลิกก่อนแล้วไปบอกว่า เฮ้ย ผมเลิกก่อนแล้วผมไปทำประชามติ อันนี้ผมคิดว่าไม่ใช่ เพราะวิธีการประดิษฐ์วาทกรรมแบบนี้มันเป็นการเอาวาทกรรมมาใช้เพื่อสร้างข้ออ้าง เราไม่ได้เดินไปตามเหตุและผลอย่างแท้จริง
“ความเห็นผมนะ ทำประชามติก่อนเลย คุณอยากทำอะไรคุณไปทำประชามติมาก่อน แล้วจากประชามตินั้น กำหนดประเด็นได้ใน พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งเราก็ออกให้เรียบร้อยแล้ว กำหนดประเด็นว่าคุณอยากได้อะไร แล้วประชามตินั้นกลับมาแก้กฎหมาย ไม่ใช่แก้กฎหมายก่อนแล้วไปถามประชามติ ซึ่งอันนี้จะต่างกันเยอะนะ คนละเรื่องนะ”
แต่สำหรับวันชัย มุมมองของ ส.ว. รายนี้เชื่อว่าหากเสียง ส.ส. รวมกันได้มากพอ ส.ว. ก็คงไม่กล้าโหวตสวนกระแส
“ผมว่าตอนนี้แค่จะโหวตนายกฯ ประยุทธ์ครั้งแรกไปแล้ว ตอนนี้มีหรือไม่มีผมว่าเท่ากัน แล้วจริงๆ ถึงไม่มี ก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลยในสถานการณ์นี้ ผมถึงบอกอย่างที่อธิบายกับคุณแล้วว่า ถ้า ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งมาจากเสียงประชาชนแข็งจริงๆ ยิ่งใหญ่จริงๆ รักประชาธิปไตยจริงๆ ไม่ต้องไปแคร์กับเสียงสองร้อยห้าสิบที่จะมาโหวตนี่เลย วันนี้ ถ้าอยากจะล้ม คุณรวมกันได้สองร้อยห้าสิบคุณก็ล้มได้ แต่ไปโยนบาปให้กับ ส.ว. เกินไป
“แต่ถามว่าอำนาจนี้ควรจะมีต่อไปไหม หนึ่ง อำนาจ (ส.ว. ร่วมโหวตเลือกนายกฯ) นี้มันก็คงมีได้ครั้งแรกครั้งนี้ครั้งเดียวนะ แล้วครั้งต่อไปผมยืนยันได้เลยว่าใครรวมเสียงกันได้เกินกว่าสองร้อยห้าสิบ สองร้อยแปดสิบ เอ้า คุณดูสิว่า ส.ว. จะกล้าโหวตสวนกระแสไหม เพราะฉะนั้น ผมถึงบอกว่ามีหรือไม่มีอำนาจ หรือจะแก้ให้อำนาจอันนี้ออกไป ตัวผมไม่ได้ติดใจใดๆ ทั้งสิ้น มันเป็นภาพลวงตาที่ ส.ส. เองเขาลวงตาตัวเอง แล้วก็ลวงอารมณ์ตัวเองมากกว่า แท้ที่จริงแล้วอำนาจที่ยิ่งใหญ่คืออำนาจของ ส.ส. แต่ ส.ส. ไม่ยอมยิ่งใหญ่จากอำนาจที่เขาให้ คุณเข้าใจใช่ไหมที่ผมพูด
“เพราะฉะนั้น อำนาจตรงนี้ผมเห็นว่าจะมีหรือไม่มี หรือจะเลือกตั้งคราวหน้า ผมยืนยันได้ว่าเลยว่า ใครจะอย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าใครรวมกันได้สองร้อยแปดสิบคนนั้นก็ได้เป็นรัฐบาล แล้วคุณคอยดู ผมก็เชื่อว่าคงไม่มี ส.ว. คนไหนสวนกระแสนี้ได้ เพราะเขารู้อยู่ว่าโหวตไปให้อีกพรรคหนึ่งซึ่งมีอยู่ประมาณสักร้อยกว่าเสียงอย่างนี้มันก็ล้ม เพราะฉะนั้น ผมจึงมีความเห็นว่า อันนี้เขาเอาไว้ในระยะเปลี่ยนผ่านเท่านั้นเอง และการเปลี่ยนผ่านนั้นมันกำลังจะสิ้นสุดลงแล้ว และถามว่าวันนี้ท่านแก้ได้ผมก็สนับสนุนมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว และแม้จะไม่ได้แก้ ถึงปีที่ 5 จะมี ก็อยู่ที่ ส.ส. อีกแหละ เป็นใหญ่ ไม่ได้อยู่ที่ ส.ว. เลย”
(แฟ้มภาพ)
ถึงจุดนี้คงต้องย้อนความหลังกันสักนิดว่า วันชัยเคยเป็นผู้ริเริ่มเสนอให้มีคำถามพ่วงว่าด้วยการให้ ส.ว. ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในระหว่างที่เขาเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) มาก่อน เขาบอกที่มากับเราว่า เห็นว่ารัฐบาลที่มาจากอำนาจเดิมและจากการเลือกตั้ง น่าจะช่วย ‘ประคับประคอง’ บ้านเมืองในระยะเปลี่ยนผ่านไปสักระยะ แต่ย้ำว่าตนไม่ได้ติดใจแล้วที่จะยกเลิกอำนาจนี้
“ไม่ได้ติดใจแล้ว คิดว่ามันเลยบริบทนั้นมาแล้ว” เขาระบุ “เขาเป็นกันมาแล้วจนจะหมดวาระแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ เลย จะแก้ได้ก็แก้ไปเลย ถ้าแก้ได้ก็รีบแก้”
แล้วถ้าไม่ได้เกิดปรากฏการณ์ ‘แลนด์สไลด์’ ในครั้งหน้าล่ะ? ถ้าสถานการณ์สูสีกันมาก แล้วเสียง ส.ว. ยังจะเป็นตัวตัดสินในการเลือกนายกรัฐมนตรีอยู่หรือไม่ นี่คือคำถามที่เราถามเขาต่อไป และคำตอบของวันชัยคือ
“คำว่าสูสี ปัญหาว่าฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งได้เกินกว่าสองร้อยห้าสิบหรือเปล่า ถ้าคุณได้เกินกว่าสองร้อยห้าสิบ แน่นอนผมถึงบอกว่าใครอาจจะตั้งรัฐบาลก็ได้ เพราะฉะนั้น ตัวเกินกว่าสองร้อยห้าสิบจะเป็นตัวชี้ขาดทั้งการโหวตนายกฯ และเป็นตัวที่จะดำรงอยู่ของรัฐบาล แม้ว่า ส.ว. จะโหวตสวนกระแสให้คนอื่นได้ แต่ผมยืนยันว่ารัฐบาลนั้นไปได้ไม่เกินหนึ่งเดือน แล้ว ส.ว. จะรับตราบาปอันนั้นมาเพื่อประโยชน์อันใด เพียงแต่ฝ่ายเลือกตั้งที่อ้างว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยต้องแข็งต้องกล้า ทนทานกับอำนาจอื่นที่มันนอกเหนือกว่าเสียงของประชาชน แล้วผมก็เชื่อว่า ส.ว. ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของประชาชนตามรัฐธรรมนูญก็ต้องฟังเสียงของประชาชนเป็นสำคัญ มันคงไม่มีใครหลับหูหลับตาว่า เฮ้ย เขาเคยตั้งเรามา อย่างไรเราก็ต้องโหวตให้ตะบี้ตะบัน คือคนก็ต้องนึกถึงชีวิตของตัวเองเหมือนกันนะ คำว่าชีวิต ก็คือชื่อเสียงเกียรติยศ และที่ยืนในสังคมต่อไป”
สอง ส.ว. ยัน ‘สภาสูง’ ยังจำเป็นกับประเทศตอนนี้
ในทรรศนะของ ส.ว. อย่างวันชัยและสมชาย ทั้งสองคนยังเห็นว่าวุฒิสภามีความจำเป็นกับประเทศไทย เริ่มต้นจากวันชัยที่เชื่อว่าการมี ส.ว. จะช่วย ‘ถ่วงดุลตรวจสอบ’ การทำงานของฝ่ายบริหาร
“ก็ทั่วโลกมันมี เอาอันนี้ก่อนนะ ในระบอบประชาธิปไตยนี่…เราไม่ได้อ้างทั่วโลกแบบส่งเดชนะ แต่ทั่วโลกส่วนใหญ่มี แล้วก็เขาอภิปรายในสภาว่าบางประเทศก็ไม่มี ก็แล้วแต่บริบททางการเมือง แต่บริบททางการเมืองในประเทศไทยเท่าที่ผมเห็นอยู่และเป็นอยู่ ดำรงอยู่ ผมว่าควรมีอย่างยิ่ง เพราะทางการเมืองจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมาย ไม่ว่าจะการดำเนินการใดๆ เป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางการเมือง หรือพรรคการเมืองที่มีบทบาทอย่างสำคัญทั้งสิ้น พรรคไหนมีเสียงข้างมาก พรรคไหนมีอิทธิพลทางการเมืองสูง
“เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายต่างๆ ทั้งหมดหรือว่าการดำเนินการใดๆ ทั้งฝ่ายบริหาร รัฐบาล บางทีก็ร่วมไม้ร่วมมือกับกลุ่มผลประโยชน์ แค่ ส.ส. ในสภามันจะไปถ่วงดุลอะไรได้ ก็เป็นพรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้านถ้ามีเสียงข้างน้อยอยู่ก็ไม่มีทาง เพราะฉะนั้น ส.ว. มีอำนาจในการกลั่นกรอง มีอำนาจในการตรวจสอบ มันก็จะช่วยเป็นการเบรกได้ในระดับหนึ่ง ประกอบกับถ้ามีองค์กรอิสระที่มาจากการสรรหาและกระบวนการผ่าน ส.ว. ก็จะทำให้องค์กรอิสระเหล่านั้นทำงานในลักษณะช่วยกันจัดการดำเนินการกับสิ่งที่ไม่ถูกต้องนั้นได้อย่างดี มีพลังในการถ่วงดุลตรวจสอบ”
ส่วนสมชายเชื่อว่า วันนี้วุฒิสภายังจำเป็น แต่หากสภาผู้แทนราษฎร “ทำหน้าที่ตัวเองให้เรียบร้อย” วันหน้าก็หมดความจำเป็นได้
“ผมคิดว่ามีความจำเป็น ส่วนจะมีที่มาแบบไหน คุณก็กำหนดหน้าที่บทบาทของเขา แล้วค่อยไปกำหนดวิธีการ เป็นคำตอบที่สั้นและตรงเลย เพราะมันมีอยู่แค่นั้นแหละ คือถ้าตราบใดที่เรายังมีสภาผู้แทนราษฎรที่อาจจะยังคุณภาพ เอ่อ…ไม่อยากไปกระทบนะ ว่ามันยังไม่มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ได้นะครับ ระบบทุนนิยม ทุนการเมือง ระบบอะไรต่างๆ มันยังไม่เรียบร้อย ก็จำเป็นจะต้องใช้ 2 สภา แต่วันใดข้างหน้าอาจจะอีก 10 ปี 20 ปี 30 ปี อะไรที่มันเข้าที่เรียบร้อยแล้ว มันก็หมดความจำเป็นได้ครับ ผมไม่เคยปฏิเสธ แล้วก็เคยถกเถียงกับนักวิชาการที่เป็นเพื่อนหลายคนว่า ถึงเวลาถ้าจะไม่จำเป็นมีก็ได้ นั่นหมายความว่าสภาที่ 1 ก็ทำหน้าที่ตัวเองให้เรียบร้อยสิ วันนี้ทุกคนยอมรับไหมว่าระบบระบบเลือกตั้งเรา กับระบบสภาผู้แทนเรายังไม่โอเค”
การอธิบาย อภิปราย และถกเถียงในบทความ 2 ตอนที่ผ่านมาจบลงแล้ว แต่องค์กรที่ชื่อ ‘วุฒิสภา’ นั้นยังคงอยู่ บทบาท อำนาจของสภาแห่งนี้ในสายตา และความทรงจำของคุณเป็นอย่างไร สภาแห่งนี้ยังควรมีอยู่ในระบบการเมืองไทยต่อไปหรือไม่ ในแบบไหน อยากชวนให้ลองพิจารณากันดู
- แถมเรื่องค่าตอบแทนต่อเดือนของ ส.ว. กันเล็กน้อย ประธานวุฒิสภามีเงินประจำตำแหน่ง 74,420 บาท บวกเงินเพิ่ม 45,500 บาท รวมเป็น 119,920 บาทต่อเดือน, รองประธานวุฒิสภามีเงินประจำตำแหน่ง 73,240 บาท บวกเงินเพิ่ม 42,500 บาท รวมเป็น 115,740 บาทต่อเดือน และสมาชิกวุฒิสภามีเงินประจำตำแหน่ง 71,230 บาท บวกเงินเพิ่ม 42,330 บาท รวมเป็น 113,560 บาทต่อเดือน รวมถึงมีสวัสดิการและค่าตอบแทนอื่น เช่น ค่ารักษาพยาบาล เบี้ยประชุม นอกจากนี้ ส.ว. ยังมีผู้เชี่ยวชาญประจําตัว 1 อัตรา, ผู้ชำนาญการประจำตัว 2 อัตรา และผู้ช่วยดำเนินงานของ ส.ว. อีก 5 อัตรา
- บทความในชุดนี้สัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไว้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564