×

ทำไมน้ำท่วมในลิเบียถึงรุนแรง เสียชีวิตแล้วหลายพันคน

14.09.2023
  • LOADING...
น้ำท่วมลิเบีย

สถานการณ์ในลิเบีย ประเทศในแอฟริกาเหนือ เรียกได้ว่ากำลังวิกฤตหนัก หลังเหตุน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 5,300 คน โดยสิ่งที่น่าหวาดหวั่นคือ ‘ตัวเลขดังกล่าวอาจไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้’ เพราะปัจจุบันยังมีผู้สูญหายที่ไม่ทราบชะตากรรมอีกนับหมื่นคน

 

เกิดอะไรขึ้นกับลิเบีย เหตุใดอุทกภัยครั้งนี้จึงรุนแรงคร่าชีวิตผู้คนครึ่งหมื่น THE STANDARD ขอสรุปเรื่องราวทุกมิติแบบเข้าใจง่ายๆ ในบทความชิ้นนี้

ย้อนเหตุการณ์อุทกภัยวินาศ 10 กันยายน

 

เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พายุแดเนียล (Daniel) จากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งมีกำลังแรงสูงได้เคลื่อนตัวเข้ามายังฝั่งตะวันออกของลิเบีย โดยอิทธิพลพายุทำให้เกิดลมกระโชกแรงสูง ฝนตกหนัก และน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่

 

รายงานระบุว่า ในระยะเวลาเพียงแค่ 24 ชั่วโมง พายุแดเนียลได้ปลดปล่อยปริมาณน้ำฝนลงมากว่า 400 มิลลิเมตรในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพราะโดยปกติแล้วปริมาณน้ำฝนตลอดเดือนกันยายนในภูมิภาคนี้จะอยู่ที่เพียงแค่ 1.5 มิลลิเมตรเท่านั้น

 

แม้ตอนนี้อาจจะยังเร็วไปที่จะด่วนสรุปว่าความรุนแรงของพายุที่ผิดปกตินี้จะมาจากปัญหาโลกร้อน-โลกรวนหรือไม่ แต่นักวิทยาศาสตร์ก็มีการคาดการณ์ว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดพายุรุนแรงเช่นนี้ถี่ขึ้นกว่าในอดีต และทำให้ปริมาณน้ำฝนที่ปลดปล่อยออกมาจากพายุเพิ่มขึ้นด้วย

 

แต่สิ่งที่ทำให้สถานการณ์ทุกอย่างเลวร้ายหนักลงไปกว่าเดิม นั่นคือเหตุการณ์ที่เขื่อน 2 แห่งในเมืองเดอร์นา เมืองชายฝั่งติดทะเลที่ได้รับผลกระทบหนักสุดนั้นเกิดพังถล่มลงมา ส่งผลให้มวลน้ำก้อนยักษ์ใหญ่ทะลักลงมาดุจสึนามิ กวาดกลืนทุกสิ่งที่ขวางหน้า ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ สิ่งปลูกสร้าง หรือคน พื้นที่ชุมชนบางส่วนถูกคลื่นน้ำดังกล่าวซัดจนจมหายลงไปในทะเล ขณะที่มีรายงานว่าพื้นที่ของเมืองเดอร์นากว่า 1 ใน 4 นั้นถูกทำลายราบคาบ จนหลายสำนักข่าวใช้คำว่า ‘Ghost Town’ บรรยายสภาพบางส่วนของเมืองในตอนนี้ซึ่งทุกสิ่งพังพินาศ ไร้เงามนุษย์อยู่อาศัย

เขื่อนแตกได้อย่างไร

 

อาเหม็ด มาดราว (Ahmed Madroud) รองนายกเทศมนตรีเมืองเดอร์นา เปิดเผยกับสำนักข่าว Al Jazeera ว่าในเมืองเดอร์นามีเขื่อนหลัก 2 แห่งที่ตั้งอยู่บริเวณต้นน้ำ โดยเขื่อนแห่งหนึ่งนั้นขาดการซ่อมบำรุงดูแลตั้งแต่ปี 2002 หรือ 21 ปีมาแล้ว เขาเล่าต่อไปว่าเขื่อนทั้ง 2 แห่งไม่ได้มีขนาดใหญ่มากนัก โดยเขื่อนแห่งแรกมีความสูงเพียงแค่ 70 เมตรเท่านั้น

 

แต่เมื่อเขื่อนแห่งแรกพังลงมา เขื่อนแห่งที่ 2 จึงต้านทานไม่ไหว เพราะเผชิญแรงกดดันจากทั้งน้ำฝนที่กระหน่ำลงมา รวมถึงกำแพงน้ำที่มาพร้อมกับแรงปะทะมหาศาลจากเขื่อนแห่งแรกที่พังไปแล้วก่อนหน้า ท้ายที่สุดนั้นเขื่อนแห่งที่ 2 จึงพังถล่มลงมาตามกัน มวลน้ำก้อนยักษ์จึงไหลลงสู่เมืองเดอร์นาและกวาดทุกสิ่งที่ขวางหน้าลงสู่ทะเล

 

ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า เขื่อนที่พังทลายนั้นปล่อยน้ำออกมาราว 30 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือลองจินตนาการภาพตามดูก็ได้ว่ามันเหมือนกับสระว่ายน้ำไซส์ที่ใช้แข่งขันโอลิมปิกจำนวน 12,000 สระระเบิดออกมาพร้อมกัน โดยน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร มีน้ำหนักมากถึง 1 ตัน เมื่อมันระเบิดออกมาพร้อมกันและไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำอย่างรวดเร็ว ยิ่งก่อให้เกิดแรงมหาศาลที่สามารถกวาดล้างทุกสิ่งที่ขวางหน้า

เมืองเดอร์นาตอนนี้เป็นอย่างไร

 

จากสถานการณ์ที่เล่ามาทั้งหมดข้างต้น ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นรายวัน โดยตัวเลขล่าสุดที่มีการรายงานออกมาคืออยู่ที่กว่า 5,300 คน

 

ฮิชาม ชคิอูแอต (Hisham Chkiouat) รัฐมนตรีในฝ่ายบริหารทางตะวันออกของลิเบียกล่าวว่า เจ้าหน้าที่เจอศพของผู้คนลอยล่องอยู่ในทะเลเพิ่มต่อเนื่อง พร้อมร้องขอไปยังประชาคมโลกให้ช่วยส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมมายังพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันเต็มไปด้วยภาพที่น่าหดหู่ ทั้งถุงบรรจุร่างไร้วิญญาณของผู้คนที่วางเรียงเต็มโถงทางเดินของโรงพยาบาล ขณะที่บางส่วนก็ถูกนำไปฝังไว้รวมกัน

 

ด้านทีมกู้ภัยยังคงเร่งทำงานอย่างแข็งขัน โดยหวังที่จะพบผู้รอดชีวิตอยู่ภายในซากอาคารที่พังถล่มลงมา แต่ความหวังนั้นค่อยๆ เลือนหายไปตามเข็มนาฬิกาที่หมุนไปข้างหน้า โดยเจ้าหน้าที่รายงานว่า ตัวเลขผู้ที่ยังสูญหายนั้นอยู่ที่อย่างน้อย 10,000 คนด้วยกัน ขณะที่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ในลิเบียประเมินว่า จำนวนผู้คนที่ต้องพลัดถิ่นฐานคาดว่าอยู่ที่ราว 30,000 คน

 

ด้าน อับเดลมีนัม อัล-ไกธ (Abdulmenam al-Ghait) นายกเทศมนตรีเมืองเดอร์นา กล่าวว่า จำนวนผู้เสียชีวิตในเมืองนี้อาจสูงได้ถึง 20,000 คน เพราะพื้นที่ในหลายเขตของเมืองได้รับความเสียหายหนัก ถนนหนทางในเมืองถูกฉาบไปด้วยโคลนสีแดง ผสมกับเศษซากอิฐปูนจากอาคารที่พังพินาศ ขณะที่สิ่งปลูกสร้างบางแห่งถูกมวลน้ำซัดกวาดหายตกทะเลไป

1 ประเทศ 2 รัฐบาล

 

แม้สิ่งที่เสียไปแล้วนั้นยากที่จะเรียกกลับคืนมา แต่การเดินหน้าเยียวยาผู้ที่รอดชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป

 

เจ้าหน้าที่ของลิเบียเรียกร้องให้นานาชาติส่งความช่วยเหลือมายังดินแดนของตน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี หลายประเทศที่ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือด้านการกู้ภัย ตลอดจนอุปกรณ์ที่จำเป็น รวมถึงน้ำและอาหารต่างๆ ด้านลิเบียเองก็ได้มีการส่งเครื่องจักรกลหนักเข้ามาช่วยเหลือในปฏิบัติการกู้ภัย แต่ก็ต้องยอมรับว่านี่คืองานที่โหดหิน เพราะสภาพเมืองถูกทำลายล้างเสียหายรุนแรง ขณะที่การฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานของเมืองขึ้นมาใหม่นั้นก็คาดว่าจะใช้เวลานานด้วยเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีเหตุปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่อาจฉุดรั้งการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก นั่นคือสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ โดยต้องเล่าเช่นนี้ว่า ลิเบียถูกปกครองด้วย 2 รัฐบาลที่เป็นคู่ขัดแย้งกัน ฟากหนึ่งคือรัฐบาลในกรุงทริโอปี ซึ่งเป็นรัฐบาลที่องค์การสหประชาชาติให้การยอมรับ แต่ในฟากตะวันออกของประเทศซึ่งเป็นโซนที่ถูกน้ำท่วมนั้นจะเป็นรัฐบาลที่มาจากกลุ่มติดอาวุธ ซึ่งมีส่วนช่วยในการโค่นอำนาจและสังหารพันเอกมูอัมมาร์ กัดดาฟี ในเดือนตุลาคม 2011 อันเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ลิเบียตกอยู่ในสภาพที่มีการแบ่งแยกสูงมาจนถึงปัจจุบัน

 

โดยนับตั้งแต่ที่รู้ว่าพายุแดเนียลกำลังจะมุ่งหน้ามายังประเทศนี้ รัฐบาลทั้งสองก็ประกาศมาตรการป้องกันล่วงหน้าไปคนละทิศทางแล้ว ยิ่งพอภัยพิบัติเกิดขึ้น ก็กลายเป็นว่าประเทศที่ต้องการส่งความช่วยเหลือมายังลิเบียก็พบอุปสรรคในการเจรจากับรัฐบาล 2 คณะ ซึ่งทำให้เกิดทั้งความซับซ้อนและความล่าช้าในการส่งความช่วยเหลือ

 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลในกรุงทริโอปีได้ส่งเครื่องบินที่บรรทุกอุปกรณ์ทางการแพทย์ ถุงเก็บศพ รวมถึงแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยรวม 80 ชีวิตไปยังฝั่งตะวันออกของประเทศแล้ว ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายเริ่มมีความหวังว่า หรือนี่คือสัญญาณของความร่วมมือที่อาจทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองอาจเดินหน้าไปในทิศทางบวก จนนำไปสู่การตั้งรัฐบาลเดี่ยวได้ในที่สุด ซึ่งจะจริงดังนั้นหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่เราต้องจับตากันต่อไป

 

ภาพ: AP Photo / Jamal Alkomaty

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising