ปัญหาการถูกหลอกลวงทั้งจากทางสายโทรศัพท์และข้อความ SMS ยังคงเป็นสิ่งที่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนไทยทั่วประเทศ โดยเฉพาะในปี 2567
บริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการเทคโนโลยีและแอปพลิเคชัน Whoscall เปิดรายงานประจำปี 2567 พบว่าการหลอกลวงทางสายโทรศัพท์และข้อความ SMS พุ่งสูงถึง 168 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นกว่า 112% จาก 79.2 ล้านครั้งในปี 2566 และถือเป็นยอดสูงสุดในรอบ 5 ปี
ในหมวดแรกคือการโทรหลอกลวงที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 38 ล้านครั้ง จาก 20.8 ล้านครั้งในปี 2566 ขณะที่จำนวนข้อความ SMS หลอกลวงพุ่งสูงถึงเกือบ 130 ล้านครั้ง จาก 58.3 ล้านครั้งในปี 2566 แสดงให้เห็นว่ากลุ่มมิจฉาชีพยังคงใช้การส่งข้อความเป็นช่องทางหลักในการหลอกลวง
ข้อความ SMS หลอกลวงที่แนบลิงก์ฟิชชิง ตัวอย่างเช่น ข้อความหลอกให้กู้เงินและโฆษณาการพนัน ซึ่งยังคงเป็นประเภทการหลอกลวงที่พบมากสุด
โดยประเภทลิงก์อันตรายที่พบมากที่สุดคือลิงก์ฟิชชิง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ดังนี้
- 40% คือลิงก์ดูดเงินหรือล้วงข้อมูลส่วนบุคคล
- 30% คือลิงก์ที่เชื่อมโยงกับการพนันออนไลน์ผิดกฎหมาย
- 30% คือลิงก์ที่หลอกให้เหยื่อดาวน์โหลดแอปที่มีมัลแวร์ เพื่อขโมยข้อมูลสำคัญจากอุปกรณ์
นอกจากนี้ กลุ่มมิจฉาชีพยังเปลี่ยนกลยุทธ์มาแอบอ้างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมากขึ้น เช่น แอบอ้างเป็นบริการจัดส่งสินค้า รวมไปถึงการปลอมเป็นหน่วยงานสาธารณูปโภค เพื่อส่งข้อความชวนเชื่อที่สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐเกี่ยวกับมาตรการลดค่าไฟฟ้า, คืนค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า, มาตรการคนละครึ่ง และดิจิทัลวอลเล็ต
สำหรับการโทรมาหลอก วิธีโกงที่พบมากที่สุด ได้แก่ การหลอกขายบริการและสินค้าปลอม, การแอบอ้างเป็นหน่วยงานและหลอกว่ามีเงินกู้อนุมัติง่าย, การหลอกทวงเงิน และการหลอกว่าเป็นหนี้
แมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย) กล่าวว่า “สำหรับประเทศไทย ในปี 2567 เราสามารถระบุสายโทรศัพท์และข้อความหลอกลวงได้สูงสุดในรอบ 5 ปี ถึง 168 ล้านครั้ง เพราะปัจจุบันมิจฉาชีพนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการหลอกลวงอย่างแพร่หลาย ทำให้กลโกงซับซ้อนมากขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวยังเผยถึงปัญหาการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลของคนไทย โดยตรวจสอบผ่านฟีเจอร์ ID Security ซึ่งผลการวิเคราะห์พบว่าข้อมูลส่วนตัวของคน 41% รั่วไหลไปยังที่ต่างๆ เช่น Dark Web และ Deep Web โดยในบรรดาข้อมูลส่วนตัวที่รั่วไหล พบว่า 97% เป็นอีเมล และ 88% เป็นเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งอาจมีวัน เดือน ปีเกิด, ชื่อ นามสกุล, พาสเวิร์ด รวมถึงข้อมูลอื่นๆ หลุดไปด้วย
สำหรับแนวทางป้องกันเบื้องต้น Whoscall แนะนำว่า ประชาชนควรตรวจสอบและระวังเมื่อแชร์ข้อมูลส่วนตัวทางออนไลน์ และระวังลิงก์หรือคำขอที่น่าสงสัยก่อนแชร์ข้อมูล