วันนี้ (24 กุมภาพันธ์) บริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ให้บริการเทคโนโลยีเพื่อความเชื่อมั่นชั้นนำ (TrustTech) และผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน Whoscall เปิดรายงานประจำปี 2567 วิเคราะห์สถานการณ์กลโกงของมิจฉาชีพในประเทศไทยตลอดปีที่ผ่านมา ผ่านการรายงานมิจฉาชีพจากสายโทรศัพท์, ข้อความ SMS, ลิงก์ต่างๆ และฟีเจอร์ตรวจสอบข้อมูลรั่วไหล พร้อมสำรวจกลลวงมิจฉาชีพที่ใช้หลอกลวงประชาชน เพื่อกระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงภัยกลโกงและลดความเสี่ยงจากการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพในรูปแบบต่างๆ
แมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย) กล่าวว่า นับตั้งแต่ที่บริษัทเริ่มเผยแพร่รายงานประจำปีตั้งแต่ปี 2563 ได้ติดตามสถานการณ์การหลอกลวงของมิจฉาชีพที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในเกือบทุกๆ ตลาดหลักที่ Whoscall ให้บริการอย่างใกล้ชิด สำหรับประเทศไทย ในปี 2567 เราสามารถระบุสายโทรศัพท์และข้อความหลอกลวงได้สูงสุดในรอบ 5 ปี ถึง 168 ล้านครั้ง เพราะปัจจุบันมิจฉาชีพนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการหลอกลวงอย่างแพร่หลาย ทำให้กลโกงซับซ้อนมากขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแนวโน้มการหลอกลวงที่ต้องจับตามอง ได้แก่ การแอบอ้างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน, การฉ้อโกงทางการเงินในหลากหลายรูปแบบ ทั้งผ่านการโทรศัพท์, ข้อความ SMS, ลิงก์อันตราย รวมถึงการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล
สรุปข้อมูลสำคัญจากรายงาน
- ในปี 2567 ประเทศไทยมีจำนวนการตรวจพบสายโทรศัพท์และข้อความ SMS หลอกลวงเพิ่มขึ้นประมาณ 168 ล้านครั้ง สูงสุดในรอบ 5 ปี
- Whoscall สามารถปกป้องผู้ใช้จากการถูกหลอกลวงผ่านการโทรและข้อความ SMS ได้ถึง 460,000 ครั้งใน 1 วัน
- กลวิธีหลอกลวงใน SMS ที่พบอย่างแพร่หลาย ได้แก่ การชักชวนเล่นพนัน, การปลอมเป็นบริษัทขนส่งพัสดุ, การแอบอ้างเป็นธนาคาร สถาบันการเงิน องค์กร และหน่วยงานรัฐ
- ระวังลิงก์อันตรายที่อาจนำไปสู่เว็บไซต์ปลอม เว็บพนันผิดกฎหมาย และเว็บที่แอบติดตั้งมัลแวร์เพื่อดักจับข้อมูลส่วนตัว
- ฟีเจอร์ ID Security ของ Whoscall เตือนภัยข้อมูลส่วนตัวคนไทย 41% รั่วไหลไปบนดาร์กเว็บ
ตรวจพบสายโทรศัพท์และข้อความหลอกลวงเพิ่มขึ้นในประเทศไทย
ในปี 2567 Whoscall ตรวจพบสายโทรศัพท์และข้อความ SMS หลอกลวงสูงถึง 168 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นกว่า 112% จาก 79.2 ล้านครั้งในปี 2566 และถือเป็นยอดที่สูงสุดในรอบ 5 ปีของประเทศไทย ในส่วนของจำนวนการโทรหลอกลวงเพิ่มขึ้นเป็น 38 ล้านครั้ง จาก 20.8 ล้านครั้งในปี 2566 ขณะที่จำนวนข้อความ SMS หลอกลวงพุ่งสูงถึงเกือบ 130 ล้านครั้ง จาก 58.3 ล้านครั้งในปี 2566 กลโกงที่พบมากที่สุด ได้แก่ การหลอกขายบริการและสินค้าปลอม, การแอบอ้างตัวเป็นหน่วยงานและหลอกว่ามีเงินกู้อนุมัติง่าย, การหลอกทวงเงิน และการหลอกว่าเป็นหนี้
มิจฉาชีพใช้กลลวงเกี่ยวกับการเงิน และแอบอ้างองค์กรเพิ่มสูงขึ้น
ในปีที่ผ่านมา บริการ Smart SMS Assistant หรือผู้ช่วย SMS อัจฉริยะ ที่ช่วยตรวจสอบข้อความจากหมายเลขที่ไม่รู้จัก พบว่ามีข้อความ SMS ที่เข้าข่ายการหลอกลวงมากถึง 130 ล้านครั้ง ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้สำคัญว่ากลุ่มมิจฉาชีพยังคงใช้การส่งข้อความเป็นช่องทางหลักในการหลอกลวง
ข้อความ SMS หลอกลวงที่แนบลิงก์ฟิชชิง เช่น ข้อความ SMS ที่หลอกให้กู้เงินและโฆษณาการพนันยังคงพบมากที่สุด นอกจากนี้ กลุ่มมิจฉาชีพยังเปลี่ยนกลยุทธ์มาแอบอ้างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมากขึ้น เช่น แอบอ้างเป็นบริการจัดส่งสินค้า รวมไปถึงการปลอมเป็นหน่วยงานสาธารณูปโภค เพื่อส่งข้อความชวนเชื่อที่สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐเกี่ยวกับมาตรการลดค่าไฟฟ้า, คืนค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า, มาตรการคนละครึ่ง และดิจิทัลวอลเล็ต
การแพร่กระจายของลิงก์อันตรายแปลกปลอม
Whoscall พัฒนาฟีเจอร์อย่าง Web Checker ที่ผู้ใช้สามารถตรวจสอบลิงก์ที่น่าสงสัยและอันตรายบนเว็บเบราว์เซอร์ระหว่างการใช้งานโทรศัพท์มือถือ ในปีที่ผ่านมาฟีเจอร์นี้ช่วยปกป้องผู้ใช้งานจากการคลิกลิงก์อันตรายและแปลกปลอมหลากหลายประเภท โดยประเภทลิงก์อันตรายที่พบมากที่สุดเป็นลิงก์ฟิชชิงที่มีวัตถุประสงค์เพื่อดูดเงินหรือล้วงข้อมูลส่วนบุคคล 40% ส่วนลิงก์อันตรายที่เหลือเป็นลิงก์ที่เชื่อมโยงกับการพนันออนไลน์ผิดกฎหมาย 30% และลิงก์อันตรายที่หลอกให้เหยื่อดาวน์โหลดแอปที่มีมัลแวร์เพื่อขโมยข้อมูลสำคัญจากอุปกรณ์อีก 30%