Whoscall แอปพลิเคชันป้องกันการฉ้อโกงเปิดเผยว่า ในปี 2564 มีการใช้โทรศัพท์เพื่อหลอกลวงในประเทศไทยมากกว่า 6.4 ล้านครั้ง ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 270% จากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ในปีเดียวกัน ข้อความ SMS หลอกลวงยังเพิ่มขึ้นถึง 57% โดยวิธีที่พบบ่อยนักต้มตุ๋นจะส่งลิงก์ฟิชชิงหลอกเชิญชวนให้ดาวน์โหลดแอปที่เป็นอันตรายและหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวไป
ขณะเดียวกัน Whoscall ยังได้เผยข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มการโทรและข้อความหลอกลวงทาง SMS ทั่วโลกและประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันในยุคหลังการแพร่ระบาดของโควิดในปี 2564 จำนวนการโทรและข้อความหลอกลวงทั่วโลกมีจำนวนถึง 460 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 58% จากปีที่แล้ว ซึ่งการหลอกลวงลักษณะนี้ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังการแพร่ระบาด
“การหลอกลวงด้วยวิธีการส่งข้อความมีต้นทุนที่ต่ำ ประกอบกับการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหรือเหยื่ออยู่ในอัตราสูง ทำให้จำนวนข้อความหลอกลวงเพิ่มขึ้นทุกๆ เดือน ตั้งแต่ปี 2563 และเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2564 โดยข้อความ SMS หลอกลวงในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นถึง 57% เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งข้อความเหล่านี้อาจนำไปสู่การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล หรือการสูญเสียทรัพย์สิน” ฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ หัวหน้าฝ่ายการตลาด Gogolook ประเทศไทย กล่าว
ในช่วงปี 2564 การโทรหลอกลวงมีความแนบเนียนมากขึ้นและมีความถี่สูงขึ้น สายมิจฉาชีพจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เช่นการโทรที่อ้างว่ามาจากคอลเซ็นเตอร์บริการจัดส่งสินค้า ซึ่งเริ่มรุนแรงมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 นั้นถือเป็นเรื่องปกติมากขึ้น ในช่วงระหว่างเดือนกันยายนถึงธันวาคม และจากการหลอกลวงดังกล่าวส่งผลให้เหยื่อสูญเสียเงินมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท นอกจากนี้การฉ้อโกงอีกแบบหนึ่งที่ได้รับการรายงานจากผู้ใช้ Whoscall คือการโทรศัพท์ที่อ้างว่ามาจากตำรวจ โดยกล่าวหาว่าผู้ใช้มีส่วนร่วมในอาชญากรรม เช่น การฟอกเงิน
อุบัติการณ์การหลอกลวงที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทยสะท้อนถึงสถานการณ์ในกระแสโลกที่มีนักต้มตุ๋นในประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างใช้กลวิธีที่หลากหลาย อาทิเช่น ไต้หวันได้รับผลกระทบจากการหลอกลวงด้านการลงทุนในหุ้น เนื่องมาจากตลาดหุ้นที่เฟื่องฟู ขณะที่ในฮ่องกง มาเลเซีย และเกาหลี มีผู้หลอกลวงโดยการปลอมตัวเป็นอัยการ ในญี่ปุ่น พนักงานบริษัทไฟฟ้าปลอมได้ทำการโทรศัพท์หลอกลวงเพื่อเรียกเก็บค่าบริการบำรุงรักษาสำหรับผู้บริโภค
นอกจากนี้ Whoscall เปิดเผยอีกว่า ในปี 2564 ข้อความหลอกลวงทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า 70% ซึ่งลิงก์ฟิชชิงเป็นรูปแบบการหลอกลวงที่พบบ่อยที่สุด โดยเหยื่อจะถูกล่อให้เพิ่มเพื่อนกับบัญชีปลอมบนโซเชียลมีเดีย หรือหลอกให้เข้าถึงเว็บไซต์ปลอม หรือแม้แต่การดาวน์โหลดแอปที่เป็นอันตราย
เอริก ลี ผู้อำนวยการด้านเทคนิคและการค้นคว้าวิจัยด้านซอฟต์แวร์และเทคโนโลยี AI ของ Gogolook กล่าวว่า “นักต้มตุ๋นมักจะพยายามหลอกล่อให้ผู้ใช้งานดาวน์โหลดไฟล์ APK ผ่านลิงก์ฟิชชิง โดยไฟล์แอปนี้หลีกเลี่ยงการตรวจสอบและไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่บนแอปสโตร์ต่างๆ หลังการติดตั้ง มัลแวร์นี้อาจมีการเรียกเก็บเงินจำนวนเล็กน้อย หรือขโมยข้อมูลที่ละเอียดอ่อน ซึ่งมีแนวโน้มว่ากลอุบายที่ได้รับรายงานในประเทศอื่นๆ อาจจะเกิดขึ้นในประเทศไทยด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราจึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการติดตั้งแอปพลิเคชันจากแหล่งที่ไม่รู้จักเพื่อหลีกเลี่ยงการฉ้อโกงที่อาจเกิดขึ้น”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Whoscall เผยสถิติอันน่าตกใจ 7 ใน 10 ครั้งของข้อความ SMS ที่คนไทยได้รับเป็นข้อความสแปม ด้านโทรศัพท์หลอกลวงพุ่งขึ้น 165%
- AIS เดินหน้าชนมิจฉาชีพ เปิดสายด่วนโทรฟรี 1185 รับแจ้งเบาะแสก่อนจะสืบสวน และส่งต่อตำรวจไซเบอร์ เพื่อดำเนินการทางกฎหมาย
- ‘สมาคมธนาคารไทย’ เผยแอปดูดเงินสร้างความเสียหายแล้ว 500 ล้านบาท ชี้เหยื่อ 100% ใช้ระบบ Android เชื่อ Biometric ลดผลกระทบได้
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP