×

อนามัยโลกเตือน ประชากรโลกออกกำลังกายน้อยไป เสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพ

05.09.2018
  • LOADING...

ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้คนออกกำลังกายมากขึ้น หลังพบว่าประชากรโลกออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่กระฉับกระเฉงน้อยลง โดยเฉพาะในประเทศที่ประชาชนมีรายได้สูงอย่างสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร

 

รายงานของ WHO ประมาณการว่าประชากร 1.4 พันล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 25% ของโลกไม่ได้ออกกำลังกายอย่างเพียงพอ ซึ่งเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคมะเร็งบางชนิด

 

ผลการศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Public Health อาศัยข้อมูลจากรายงานการออกกำลังกายใน 168 ประเทศ ครอบคลุมกลุ่มประชากร 1.9 ล้านคน

 

นักวิจัยจาก WHO พบว่าประเทศที่มีรายได้สูงมีสัดส่วนประชากรที่ไม่ค่อยออกกำลังกายเพิ่มขึ้นจาก 32% ในปี 2001 เป็น 37% ในปี 2016 ขณะที่ประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่ำมีสัดส่วนคนไม่ออกกำลังกายคงที่ที่ระดับ 16%

 

รายงานระบุด้วยว่าประชากรที่ไม่ค่อยออกกำลังกายมีการทำกายบริหารไม่ถึง 150 นาทีของค่าเฉลี่ยการออกกำลังกายระดับปานกลางที่ควรจะเป็น หรือออกกำลังกายเต็มที่ไม่ถึง 75 นาทีต่อสัปดาห์

 

เมื่อพิจารณาแยกตามเพศ พบว่าประชากรเพศหญิงมีการออกกำลังกายน้อยกว่าเพศชายในเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนภูมิภาคที่มีความแตกต่างของอัตราการออกกำลังกายระหว่างเพศชายและหญิงมากที่สุดคือเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ และประเทศรายได้สูงในยุโรปตะวันตก

 

ส่วนสาเหตุที่ทำให้คนออกกำลังกายไม่เพียงพอนั้น นักวิจัยระบุว่ามาจากหลายปัจจัยรวมกัน ซึ่งรวมถึงภาระหน้าที่ในการเลี้ยงดูบุตร ตลอดจนทัศนคติที่มีรากฐานมาจากวัฒนธรรม ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้ประชากรบางกลุ่มออกมาออกกำลังกาย

 

คณะผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการที่ประชากรในประเทศที่ร่ำรวยมีแนวโน้มเลือกงานหรือทำงานอดิเรกที่อยู่กับที่มากขึ้น รวมถึงการนิยมขับรถไปไหนมาไหนเองเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัวเลขคนไม่ออกกำลังกายเพิ่มสูงขึ้น

 

ส่วนประเทศที่มีรายได้ต่ำ คนมีแนวโน้มทำกิจกรรมที่กระฉับกระเฉงจากงานของพวกเขา รวมถึงออกกำลังกายจากการเดินหรือใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ

 

สำหรับข้อแนะนำจาก WHO นั้น ผู้ที่มีอายุ 19-64 ปีควรทำกิจกรรมกายบริหารระดับปานกลาง (Moderate Aerobic Activity) อย่างน้อย 150 นาที หรือออกกำลังกายเต็มที่ (Vigorous Exercise) 75 นาทีต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ยังควรฝึกกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์

 

ส่วนการทำกายบริหารหรือกิจกรรมแอโรบิกระดับปานกลาง ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ 50-70% ของอัตราการเต้นสูงสุดนั้นสามารถเลือกได้ตามความชอบหรือความถนัด เช่น การเดินเร็ว เดินเขา ขี่จักรยานทางเรียบหรือเนินไม่มาก แอโรบิกในน้ำ เล่นสเกตบอร์ดหรือโรลเลอร์เบลด รวมถึงตีเทนนิสประเภทคู่ บาสเกตบอล และวอลเลย์บอล

 

ส่วนการออกกำลังกายเต็มที่หรือมีความเข้มข้นสูงสุด ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ 70-85% ของอัตราการเต้นสูงสุดนั้น ประกอบด้วย การวิ่งเร็วหรือวิ่งจ๊อกกิ้ง ว่ายน้ำเร็ว ขี่จักรยานขึ้นเขาหรือปั่นด้วยความเร็วสูง เต้นแอโรบิก ยิมนาสติก ตีเทนนิสประเภทเดี่ยว เล่นฟุตบอลหรือรักบี้ และศิลปะการต่อสู้

 

สำหรับการออกกำลังกายที่เน้นการฝึกกล้ามเนื้อนั้น ประกอบด้วย การยกน้ำหนักหรือเล่นเวต วิดพื้น ซิตอัพ และโยคะ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising