×

WHO เผย ยัง ‘ไม่แนะนำ’ ให้ฉีด ‘วัคซีนเข็มกระตุ้น’ เหตุไม่มีหลักฐานข้อมูลเพียงพอ ถ้าจำเป็นให้ฉีดกลุ่มเสี่ยงก่อน

29.07.2021
  • LOADING...
องค์การอนามัยโลก

องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า ทางองค์การฯ ยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในปัจจุบัน เนื่องจากหลักฐานข้อมูลมีไม่เพียงพอ โดยทาง WHO กำลังเร่งศึกษาวิจัยถึงประสิทธิภาพของวัคซีนในแง่ของระยะเวลาในการสร้างภูมิคุ้มกัน พร้อมย้ำว่า หากจำเป็นต้องมีการสนับสนุนให้ฉีดเข็มกระตุ้นก็จะเน้นที่กลุ่มเสี่ยง อาทิ กลุ่มผู้สูงอายุก่อน

 

ดร.เคท โอ’ไบรอัน ผู้อำนวยการด้านภูมิคุ้มกัน วัคซีน และผลผลิตทางชีวภาพแห่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ขณะนี้ทางองค์การยังคงศึกษาวิจัยถึงความจำเป็นของการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 เพื่อป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์จากสายพันธุ์เดิมและกำลังระบาดอย่างหนักอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วโลกในเวลานี้ โดย ดร.โอ’ไบรอัน ย้ำชัดว่า ข้อมูลที่ไม่เพียงพอทำให้ขณะนี้ทางองค์การอนามัยโลกยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนกระตุ้น

 

ความเห็นของ WHO ครั้งนี้มีขึ้นเพียงไม่นานหลังจากที่บรรดาผู้บริหารของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดชั้นนำอย่าง Pfizer, Moderna และ Johnson & Johnson ต่างออกมาแสดงความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ในที่สุดแล้วชาวอเมริกันจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหลังจากที่ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดจนครบโดสเรียบร้อยแล้ว โดยทาง Pfizer มีแผนที่จะยื่นขออนุญาตกับทางการสหรัฐฯ ให้พิจารณาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในเดือนสิงหาคมนี้

 

ทั้งนี้ ดร.โอ’ไบรอัน ตอบคำถามระหว่างให้สัมภาษณ์กับทางสื่อผ่านระบบออนไลน์ว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะให้คำแนะนำใดๆ โดยประเด็นเรื่องเข็มกระตุ้นเป็นประเด็นร้อนแรงเร่งด่วนที่ WHO กำลังเดินหน้าวิจัยอย่างเต็มที่ เพื่อให้มีหลักฐานมายืนยันรับรองก่อนที่จะมีคำแนะนำใดๆ ออกไป

 

ขณะเดียวกัน หากว่ามีเหตุจำเป็นให้ต้องแนะนำเรื่องการฉีดเข็มกระตุ้น ดร.โอ’ไบรอัน กล่าวว่า ก็จะแนะนำให้ฉีดสำหรับกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้น อย่างกลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีความเสี่ยงว่าจะมีอาการรุนแรงหากติดเชื้อไวรัสโควิดก่อน

 

นอกจากนี้ ดร.โอ’ไบรอัน ยังเสริมว่า ทาง WHO จำเป็นต้องศึกษาถึงความทนทานของวัคซีน ซึ่งหมายถึงระยะเวลาที่วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์ต่างๆ ให้แน่ชัดเสียก่อน ก่อนที่จะมีการแนะนำใดๆ ออกไป และการประเมินวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 นี้ ทาง WHO จะดำเนินการพิจารณาแยกเป็นรายผลิตภัณฑ์ เนื่องจากวัคซีนแต่ละยี่ห้อมีความแตกต่างกัน  

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X