องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยต่อการใช้ ‘วัคซีนพาสปอร์ต’ ในการเดินทาง จากความกังวลเกี่ยวกับความเป็นธรรมและคำถามที่ยังคงมีอยู่ว่า วัคซีนจะช่วยระงับการแพร่เชื้อไวรัสได้หรือไม่
“ณ ขณะนี้ เราไม่ต้องการให้วัคซีนพาสปอร์ตเป็นข้อกำหนดในการเข้าหรือออก (ประเทศ) เพราะเรายังไม่แน่ใจในขณะนี้ว่าวัคซีนจะป้องกันการแพร่เชื้อได้” ดร.มาร์การ์เรต แฮร์ริส โฆษกของ WHO กล่าวก่อนจะถึงวันสุขภาพโลก (World Health Day) ในวันที่ 7 กันยายน เธอยังระบุด้วยว่า วัคซีนพาสปอร์ตอาจไม่ใช่กลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้
“ยังมีคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมที่ถูกกีดกัน… เรายังคงรอคอยวัคซีนที่เพียงพอเพื่อจัดหาวัคซีนให้กับทุกประเทศที่ต้องการ” แฮร์ริสระบุ
ขณะที่ ดร.ไมค์ ไรอัน หัวหน้าโครงการฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของ WHO ระบุว่า การบันทึกว่าผู้ใดได้รับวัคซีนแล้วนั้นถือเป็นเรื่องจำเป็น แต่การใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่ออนุญาตหรือห้ามไม่ให้บุคคลมีส่วนร่วมในกิจกรรมในชีวิตประจำวัน จะทำให้เกิดปัญหาทางจริยธรรมที่ซับซ้อนเกี่ยวกับความเสมอภาคเพิ่มขึ้นไปอีกจากประเด็นความเสมอภาคทางวัคซีน ซึ่งก็เป็นปัญหาใหญ่ในโลกอยู่แล้วในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม ดร.ไรอัน ระบุว่า การที่เจ้าหน้าที่ WHO ไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนพาสปอร์ตสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศนั้นเป็นเพียงคำแนะนำชั่วคราวเท่านั้น และ WHO จะมีการพิจารณาประเด็นนี้อีกครั้งในการประชุมวันที่ 15 เมษายนนี้ โดยจะมีเจ้าหน้าที่อีกกลุ่มที่จะตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นทางจริยธรรม ทางสังคม และทางวิทยาศาสตร์ ที่เกี่ยวกับวัคซีนพาสปอร์ตด้วย
The Sydney Morning Herald รายงานว่า ออสเตรเลียเริ่มเตรียมการเกี่ยวกับวัคซีนพาสปอร์ตไว้แล้ว แต่ยังไม่ถือเป็นข้อกำหนดในการเดินทางระหว่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่จะกลับมาเดินทางได้อีกครั้งแบบไม่ต้องมีการกักตัวตั้งแต่วันที่ 19 เมษายนนี้ เนื่องจากสถานการณ์ของทั้งสองประเทศนั้นค่อนข้างดี อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสายการบิน Qantas ของออสเตรเลีย แสดงท่าทีว่าต้องการบังคับให้ผู้โดยสารเครื่องบินของสายการบินนี้ต้องผ่านการรับวัคซีนแล้วเท่านั้น ขณะเดียวกันสิงคโปร์เองก็กำลังจะเปิดให้นักเดินทางสามารถแสดงประวัติการตรวจโควิด-19 หรือการรับวัคซีนผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เพื่อเดินทางเข้าประเทศด้วย
ส่วนที่สหราชอาณาจักร รัฐบาลก็มีแผนจะนำเอกสารรับรองเพื่อใช้ยืนยันว่าบุคคลนั้นมีภูมิต้านทานต่อโควิด-19 มาใช้ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพาสปอร์ตวัคซีน แต่เป็นการใช้ทั้งภายในและต่างประเทศ และถือเป็นมาตรการชั่วคราว อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวอาจต้องเผชิญกับความไม่เห็นด้วยจาก ส.ส. ในสภาจำนวนหนึ่ง เช่น เซอร์เคียร์ สตาร์เมอร์ ผู้นำพรรคเลเบอร์ ที่บอกว่า หากทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสอยู่ภายใต้การควบคุมได้ อัตราการเสียชีวิตใกล้เป็นศูนย์ และอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่ำมากแล้ว เขาเชื่อว่าสัญชาตญาณของชาวอังกฤษในสถานการณ์เหล่านี้จะต่อต้านการใช้พาสปอร์ตวัคซีน
ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่มีความเห็นต่างกันในวงกว้าง โดยรัฐนิวยอร์กถือเป็นรัฐแรกที่มีการเปิดตัวแอปพลิเคชันวัคซีนพาสปอร์ต ขณะที่รัฐเท็กซัสและฟลอริดาสั่งแบนการใช้งานวัคซีนพาสปอร์ต ขณะที่ท่าทีระดับรัฐบาลกลางเพิ่งมีการแสดงท่าทีว่าจะไม่มีการจัดทำวัคซีนพาสปอร์ต
ภาพ: Dominika Zarzycka / NurPhoto via Getty Images
อ้างอิง:
- https://news.un.org/en/story/2021/04/1089082
- https://www.smh.com.au/world/europe/who-urges-against-vaccine-passports-even-for-international-travel-20210407-p57h0d.html
- https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-who-vaccines-idUSKBN2BT158
- https://www.hindustantimes.com/lifestyle/travel/vaccine-passport-singapore-to-accept-covid-digital-travel-pass-from-next-month-101617633991975.html
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-04-06/white-house-says-u-s-won-t-issue-vaccine-passports