ดูเหมือนว่าแรงกระเพื่อมจากการเข้าซื้อกิจการ Home Credit ของธนาคารใหญ่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ตลาดเริ่มหันมาจับตาว่าหรือนี่จะเป็นยุทธศาสตร์ที่สถาบันการเงินไทยกำลังเตรียมสยายปีกธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียน ทั้งการขยายสาขาก็ดี หรือการเข้าร่วมลงทุนกับธนาคารยักษ์ใหญ่ของประเทศนั้นๆ และแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือการเข้าซื้อ ‘Home Credit’
พูดถึง Home Credit ไม่แต่เฉพาะเมืองไทยที่สนใจ ธนาคารใหญ่จากเกาหลีและประเทศอื่นๆ เองก็เคยเข้าร่วมการแย่งชิงดีลใหญ่เพื่อเข้าซื้อกิจการ Home Credit เช่นกัน
การเคลื่อนไหวของธนาคารใหญ่ในไทยและต่างชาติในสงครามนี้ ยิ่งทำให้หลายคนสงสัยว่าทำไม Home Credit ถึงเป็นธุรกิจเนื้อหอม ทำให้ธนาคารยอมทุ่มเงินมหาศาลเพื่อเป็นเจ้าของ
‘Home Credit’ เป็นผู้นำสินเชื่อจากสาธารณรัฐเช็ก และดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 1997 ในหลายประเทศ ทั้งในเอเชียและยุโรป เช่น สโลวาเกีย, จีน, เวียดนาม, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
พันธกิจตั้งต้นของธุรกิจนี้คือ ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน และเสริมศักยภาพผ่านนวัตกรรม เทคโนโลยีอันทันสมัย และผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความรับผิดชอบ แม้จะมีข่าวว่าเบื้องหลังการขายกิจการในเอเชียเนื่องจากต้องการกลับไปโฟกัสการลงทุนในยุโรปมากขึ้น ก็ไม่ได้ทำให้มูลค่าของธุรกิจนี้ลดลงตามไปด้วย
ยิ่งในวันที่ธนาคารไทยต่างมองหาโอกาสที่จะเติบโตในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะการเติบโตในตลาดสินเชื่อรายย่อย Home Credit จึงเป็นเครื่องมือที่ทำให้ลงฐานรากตลาดสินเชื่อรายย่อยของประเทศนั้นๆ แข็งแกร่งขึ้น
กรุงศรี เป็นหนึ่งผู้เล่นรายใหญ่ที่เห็นโอกาสนี้ แม้จะขึ้นแท่นธนาคารแห่งภูมิภาค (Regional Bank) ที่มีธุรกิจในอาเซียนมากมายอยู่แล้ว เป็นธนาคารแรกๆ ที่มองการณ์ไกลและขยายธุรกิจตัวเองออกไปในอาเซียน แต่การเข้าซื้อ Home Credit จะทำให้เห็นหมุดหมายของกรุงศรีชัดเจนว่าจะหันหัวเรือไปทิศทางไหน และจะใช้วิธีใดในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจในตลาดอาเซียนที่ครอบคลุม 5 ประเทศ หากต้องการรักษาตำแหน่งธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคเพื่อความยั่งยืนต่อไป
คำถามคือ ทำไมกรุงศรีถึงเลือกเข้าซื้อ Home Credit ที่ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย? นอกจากการมีฐานลูกค้าเดิมอยู่แล้ว ศักยภาพของสองประเทศนี้มีผลต่อการตัดสินใจมากน้อยแค่ไหน THE STANDARD สรุปให้
ฟิลิปปินส์ขึ้นแท่นประเทศที่มี GDP แข็งแกร่งที่สุด!
หากเทียบจำนวนประชากร ฟิลิปปินส์มีประชากร 113 ล้านคน แม้จะไม่ได้สูงสุดในอาเซียน แต่เกินครึ่งอยู่ในวัยทำงานที่มีทักษะภาษาอังกฤษดี พอได้ปัจจัยบวกเรื่องของศักยภาพอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะกลางอยู่ที่ 6.0-6.5% ต่อปี และการสนับสนุนจากภาครัฐบาลทั้งในแง่นโยบายสิทธิประโยชน์ทางภาษี และการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังจะเกิดขึ้นกว่า 100 โครงการ ฟิลิปปินส์จึงกลายเป็นตลาดที่น่าจับตามอง และมีโอกาสทางธุรกิจมากมาย
ล่าสุดธนาคารโลกยังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในปี 2567 จะสูงกว่าในปี 2566 และจะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เหตุผลข้างต้นเพียงพอที่จะทำให้กรุงศรีเลือกปักหมุดที่ฟิลิปปินส์ โดยกรุงศรีแรกเริ่มบุกเข้าไปในตลาดฟิลิปปินส์ด้วยการส่งต่อความเชี่ยวชาญด้านสินเชื่อรายย่อยผ่าน SB Finance หนึ่งในธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในฟิลิปปินส์ นำผลิตภัณฑ์เรือธงอย่าง สินเชื่อคาร์ ฟอร์ แคช (Car4Cash) และสินเชื่อรถมอเตอร์ไซค์เข้าไปเปิดตัวในตลาด ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี
และยังเอาจริงเอาจังด้วยการขยายช่องทางการเข้าถึงลูกค้า เปิดบริการโมบายล์แอปพลิเคชัน ‘Zuki’ ช่วยให้ลูกค้าฟิลิปปินส์เข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างง่าย สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งต่อมายังออกผลิตภัณฑ์สินเชื่ออื่นๆ เพิ่มขึ้นอีกหลายตัว รวมทั้งขยายช่องทางการให้บริการผ่านพันธมิตรตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ และร้านค้าที่ให้บริการสินเชื่อเพื่อการผ่อนชำระสินค้า ความเชี่ยวชาญของกรุงศรีส่งผลให้บริษัท SB Finance มีอัตราการเติบโตของยอดสินเชื่อกว่า 40% และมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า นับตั้งแต่กรุงศรีเข้าถือหุ้นในช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นมา
กรุงศรี มองหาผลิตภัณฑ์และบริการที่จะตอบสนองความต้องการทางการเงินที่หลากหลายให้กับลูกค้าฟิลิปปินส์มากขึ้น ดังนั้นการตัดสินใจเข้าซื้อและถือหุ้นในสัดส่วน 75% ของ HC Consumer Finance Philippines, Inc. (Home Credit Philippines) ยิ่งทำให้กรุงศรีมีนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการด้านสินเชื่อเต็มรูปแบบอยู่ในมือ และอาศัยจุดแข็งจากการเป็นผู้นำตลาดสินเชื่อ ณ จุดขาย (Point-of-Sale Loan) ที่มีเครือข่ายมากกว่า 15,400 จุด มาหนุนอีกแรง
และด้วยความที่ Home Credit Philippines เป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดสินเชื่อผู้บริโภคฟิลิปปินส์ มีบริการสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคลดิจิทัล และบัตรเครดิต ให้กับผู้บริโภคในกลุ่มลูกค้าทั่วไป (Mass Market) และลูกค้าทั่วไประดับบน (Upper Mass Market) โดยมียอดสินเชื่อรวมอยู่ที่ 46.5 พันล้านเปโซฟิลิปปินส์ หรือคิดเป็น 29 พันล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566) และมีฐานลูกค้ากว่า 2.5 ล้านคน จึงครองตำแหน่งแบรนด์ที่เป็นที่จดจำสูงสุดในกลุ่มตลาดสินเชื่อ ณ จุดขายในประเทศฟิลิปปินส์ (จากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคในประเทศฟิลิปปินส์ของ IPSOS ในเดือนตุลาคม 2565) จะมาช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ และเพิ่มพลังความแข็งแกร่งให้กับกรุงศรีได้อย่างมิต้องสงสัย
มาถึงจุดนี้จะเห็นได้ว่าโมเดลการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศของกรุงศรีจะต่างจากธนาคารอื่นๆ เพราะไม่ใช่การบุกไปเปิดสาขาของธนาคาร แต่เลือกที่จะมองหากิจการที่มีศักยภาพและความแข็งแกร่งในตลาดนั้นๆ และเข้าซื้อกิจการหรือร่วมลงทุน โมเดลนี้ทำให้กรุงศรีเติบโตในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกรุงศรีเชื่อมั่นว่าคนท้องถิ่นหรือคนที่อยู่ในพื้นที่ย่อมรู้และเข้าใจตลาด อินไซต์พฤติกรรมผู้บริโภคได้ดีที่สุด สิ่งที่กรุงศรีเข้าไปต่อยอดคือการส่งต่อความเชี่ยวชาญที่มีให้ธุรกิจนั้นๆ แข็งแกร่งขึ้น ที่สำคัญคือใช้เครือข่ายของ MUFG ซึ่งเป็นบริษัทแม่ยักษ์ใหญ่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ทำให้กรุงศรีแตกต่างและยูนีกจากสถาบันการเงินรายอื่นๆ
อินโดนีเซีย เจ้าแห่งขุมทรัพย์อาเซียน
นอกจากข้อได้เปรียบเรื่องจำนวนประชากรมากที่สุดในอาเซียน และมากเป็นอันดับ 4 ของโลก อีกทั้งยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง หรือการเป็นศูนย์กลางธุรกิจสตาร์ทอัพในอาเซียน โครงการเมกะโปรเจกต์กว่า 200 โครงการ อินโดนีเซียมีปัจจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติที่มีศักยภาพมากพอที่จะทำให้กลายเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
การที่กรุงศรีขยายพอร์ตสินเชื่อและฐานลูกค้ารายย่อยในอินโดนีเซียผ่านการเข้าซื้อกิจการและถือหุ้นในสัดส่วน 75% ของ PT. Home Credit Indonesia (Home Credit Indonesia) ซึ่งเป็นผู้เล่นรายสำคัญในธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภคในอินโดนีเซีย จะทำให้การเข้าถึงบริการทางการเงินของชาวอินโดนีเซียผ่านผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากยิ่งขึ้น
ในอินโดนีเซียเอง Home Credit Indonesia ก็ถูกยกให้เป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดสินเชื่อผู้บริโภค แถมยังประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจในอินโดนีเซียอย่างมาก นับตั้งแต่ปี 2556 มีผู้ใช้งานแอปกว่า 17 ล้านคน และฐานลูกค้ากว่า 6.1 ล้านคน โดย ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566 บริษัทมียอดสินเชื่อคงค้างกว่า 3,015 พันล้านรูเปียห์อินโดนีเซีย หรือคิดเป็นมูลค่า 7.2 พันล้านบาท และมียอดสินเชื่อใหม่เติบโตขึ้น 12% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภครู้จักและจดจำได้ด้วยอัตราการรับรู้ในแบรนด์สูงถึง 95% (จากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคในประเทศอินโดนีเซียปี 2566)
ปัจจุบันนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค ได้แก่ สินเชื่อ ณ จุดขาย (POS Loan) สินเชื่อเงินสด (Cash Loan) บัตรเครดิต (Credit Card) เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) และผลิตภัณฑ์ประกัน ฯลฯ โดยมีส่วนแบ่งพอร์ตสินเชื่อ ณ จุดขาย สูงถึง 55% ด้วยเครือข่ายการให้บริการกระจายอยู่ทั่วประเทศอินโดนีเซียกว่า 21,000 จุด รวมถึงการมีเครือข่ายพันธมิตรร้านค้าปลีกและแบรนด์สินค้าต่างๆ ที่ได้รับความนิยมกว่า 11,400 แบรนด์ จึงเป็นจุดแข็งที่สามารถต่อยอดการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อขยายฐานลูกค้าอย่างง่ายดาย
อีกประเด็นที่น่าจับตาคือ ปัจจุบันแนวโน้มการขยายตัวของการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของอินโดนีเซียเติบโตอย่างต่อเนื่อง Home Credit Indonesia เองก็แข็งแกร่งด้านเครือข่ายอยู่แล้ว เป็นโอกาสให้กรุงศรีจับมือกับอีคอมเมิร์ซชั้นนำอย่าง Tokopedia, Bukalapak และ Blibli นำเอาความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสินเชื่อผู้บริโภคของกรุงศรีมาช่วยเสริมแกร่งเรื่องการตลาด ช่องทางการขาย และการบริหารความเสี่ยง ทำให้ผลิตภัณฑ์และบริการมีความหลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของชาวอินโดนีเซียได้ดียิ่งขึ้น
อาจกล่าวได้ว่า การเข้าซื้อกิจการและถือหุ้นใน Home Credit ของทั้งสองประเทศ เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนตามแผนธุรกิจของกรุงศรีที่ต้องการขยายและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจในอาเซียน และยังสอดคล้องไปกับกลยุทธ์ตามแผนธุรกิจระยะกลางฉบับใหม่ (Medium-Term Business Plan: MTBP) ครอบคลุมปี 2567-2569 ของกรุงศรีที่ต้องการขยายและสร้างความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจเพื่อเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าทั่วทั้งอาเซียน
จากตัวเลขเครือข่ายของกรุงศรี และ MUFG ตอนนี้ก็ถือว่าครอบคลุมมากถึง 9 ประเทศเศรษฐกิจหลักใน 10 ประเทศอาเซียน โดยมีธุรกิจและสาขารวมถึงสำนักงานของกรุงศรีใน 6 ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, กัมพูชา, เมียนมา และ สปป.ลาว ให้บริการลูกค้าแล้วกว่า 17 ล้านคน มีพนักงานกว่า 22,000 คนในอาเซียน
ด้วยการมีเครื่องมือทรงพลังทั้งหมดนี้ เล็งได้ว่าเป้าของกรุงศรีที่จะยืนหนึ่งและเป็นเบอร์หนึ่งธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคเพื่อความยั่งยืนอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
เกี่ยวกับ GO ASEAN with krungsri https://www.krungsri.com/th/asean