วานนี้ (26 พฤษภาคม) องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า พบผู้ติดโควิด-19 กลายพันธ์ุ สายพันธ์ุอินเดีย (B.1.617) แล้วอย่างน้อย 53 ประเทศ ทั้งยังได้รับรายงานการพบผู้ติดเชื้ออย่างไม่เป็นทางการในอีก 7 ประเทศ พบประเทศที่มีผู้ติดเชื้อรวมแล้วอย่างน้อย 60 แห่ง รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยเชื้อกลายพันธ์ุนี้แบ่งออกเป็นอีก 3 สายพันธ์ุย่อย สายพันธุ์ที่ตรวจพบมากที่สุดคือ B.1.617.2 พบแล้ว 54 ประเทศ
จากการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กลายพันธ์ุโดย Gisaid ชี้ พบผู้ติดโควิด-19 กลายพันธ์ุ สายพันธ์ุอินเดีย มากที่สุดที่สหราชอาณาจักร 7,331 ราย ตามมาด้วยอินเดีย 3,203 ราย และสหรัฐอเมริกา 1,274 ราย โดยผลการศึกษาเบื้องต้นระบุว่า สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายยิ่งขึ้น แอนติบอดีตรวจจับและต้านเชื้อไวรัสได้ยากยิ่งขึ้นกว่าเชื้อไวรัสสายพันธ์ุดั้งเดิม อีกทั้ง WHO ยังได้จำแนกให้ สายพันธ์ุอินเดียอยู่ในประเภทไวรัสกลายพันธุ์ที่น่ากังวลระดับโลก (A Variant of Global Concern)
นอกจากนี้รายงานยังคาดการณ์อีกว่า ไวรัสจะยังคงวิวัฒนาการและกลายพันธ์ุต่อไป การลดโอกาสแพร่กระจายเชื้อผ่านมาตรการป้องกันและควบคุมโรคต่างๆ ยังเป็นวิธีการสำคัญเพื่อลดโอกาสในการกลายพันธ์ุที่อาจสร้างช่องโหว่ให้กับระบบสาธารณสุขโลกได้ ขณะนี้ผู้ผลิตและพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ต่างพยายามศึกษาและทดสอบวัคซีนให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยเพียงพอในการต้านโควิด-19 กลายพันธ์ุเหล่านี้
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- ชมคลิป ‘อินเดีย ‘เชื้อราดำ’ ระบาด ความท้าทายใหม่ ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19’
- ‘สำรวจราคาวัคซีนต้านโควิด-19 ในประชาคมโลก โดสละเท่าไร’
- อ่าน ‘ผลข้างเคียงวัคซีนต้านโควิด-19 ในประชาคมโลก อาการเป็นอย่างไรบ้าง’
- ‘เช็กประสิทธิภาพวัคซีนต้านโควิด-19 ล่าสุด’
ภาพ: Arun Sankar / AFP
อ้างอิง: