เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน (Edward Snowden) มีอายุครบ 34 ปี เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน เชลซี แมนนิง (Chelsea Manning) ปรากฏตัวที่งานไพรด์ในนิวยอร์กเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน หลังได้รับการปล่อยตัว ขณะที่จูเลียน อัสซานจ์ (Julian Assange) หลบซ่อนตัวอยู่ในสถานทูตเอกวาดอร์มาครบ 5 ปี เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา
ความรู้เรามีไหม มี เรามีคนมีความรู้เยอะไหม มี แต่สภาพสังคมการเมืองของเมืองไทยมันไม่เอื้อ เพราะมีเรื่องการแบ่งค่าย แบ่งสี ทำให้ความเข้มแข็งภาคประชาชนของเราอ่อนด้อยลงไป เราเองกลับถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง
หากชัยชนะของเหล่าฮีโร่ whistleblower คือการเป่านกหวีดเพื่อเปิดโปงความจริงด้านมืดของรัฐบาลมหาอำนาจให้สาธารณชนได้รับรู้ในวงกว้าง รางวัลที่ทั้งสามคนควรจะได้รับคืออะไร
วันนี้เอ็ดเวิร์ดยังคงซ่อนตัวอยู่ที่ไหนสักแห่งในรัสเซีย เชลซีใช้ชีวิตหลังลูกกรงนาน 7 ปีจากข้อหาจารกรรมข้อมูลลับของรัฐบาล ส่วนจูเลียนนั้นยังคงหวาดหวั่น เมื่อทางรัฐบาลอังกฤษยืนยันว่าจะจับตัวผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์ทันทีที่ก้าวเท้าออกจากที่ซ่อน
การต่อสู้เพื่อให้สาธารณชนรับรู้กลายเป็นศึกที่พลิกชะตาชีวิตของ ‘นักแฉความจริง’ ทั้งสามคน
THE STANDARD คุยกับ ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา ในฐานะบุคลากรข่าว ‘ผู้กะเทาะเปลือก’ ความจริงไม่น้อยกว่าใครในเมืองไทย ซึ่งมองว่าบทบาทของ ‘whistleblower’ ทั้งหลายมีความสำคัญมากขึ้นในยุคนี้
“ผมคิดว่าตอนนี้โลกเสรีและโลกทุนนิยมเปลี่ยนแนวคิดไปสู่การใช้อำนาจมากขึ้น ด้วยสถานการณ์โลก ด้วยการก่อการร้าย รัฐเองมองเรื่องความปลอดภัยและความมั่นคงเป็นหลัก โอกาสที่จะใช้อำนาจเกินขอบเขตก็มี ฉะนั้นจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ทนไม่ได้ เช่น เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน เลยเอาเรื่องมาเปิดโปง หรือแม้แต่กรณีปานามา เปเปอร์ส เป็นความลับของธุรกิจขนาดใหญ่ที่ไปจดทะเบียนนอกประเทศ แล้วมีกลุ่มนักข่าวสืบสวนกลุ่มหนึ่งออกมาแฉ ผมว่าพวกเขาก็จำเป็นต้องมีบทบาทที่จะทำให้สังคมเห็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในโลก” ประสงค์วิเคราะห์
ในฐานะสื่อมวลชน ผู้อำนวยการสถาบันอิศรามองว่า “ผู้สื่อข่าวต้องนำข้อเท็จจริงมาเปิดเผย ถ้าสังคมตื่นตัวมากก็จะเป็นแรงกดดันกับคนที่รับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่างประเทศใช้หลักเดียวกัน อินโดนีเซีย มีภาคประชาสังคมที่กดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องการป้องกันและปราบปรามทุจริต ทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียจึงดีขึ้น ซึ่งก็เป็นผลจากภาคประชาชนที่ตื่นตัวเข้มแข็งกว่าเมืองไทย”
ประสงค์ชี้ว่าการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในสังคมไทยกลายเป็นจุดด้อยที่ทำให้รวมตัวกันยาก “ความรู้เรามีไหม มี เรามีคนมีความรู้เยอะไหม มี แต่สภาพสังคมการเมืองของเมืองไทยมันไม่เอื้อ เพราะมีเรื่องการแบ่งค่าย แบ่งสี ทำให้ความเข้มแข็งภาคประชาชนของเราอ่อนด้อยลงไป เราเองกลับถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง”
ประสงค์มองว่ารัฐเองควรจะสร้างระบบข้อมูลแบบ ‘big data’ หรือ ‘open data’ ให้โปร่งใสมากที่สุด บางองค์กรที่ควรจะเปิดเผยข้อมูลก็ยังไม่ได้ดำเนินการ ขณะที่โครงการของภาครัฐไม่มีข้อมูลพื้นฐานที่สังคมจะใช้วิเคราะห์เพื่อตัดสินใจว่าควรสนับสนุนไหม
ด้วยระบบที่ยวบยาบทุกภาคส่วน การที่ภาคประชาชนจะลุกขึ้นมาเป็นคนเป่านกหวีดเพื่อเปิดโปงความจริงเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่ประสงค์และทีมอิศราพยายามทำอยู่ด้วยเหตุผลว่า “เรื่องมันสนุกด้วยไง พอทำข่าวพวกนี้แล้วมีความตื่นเต้น อย่างเรื่องซุกหุ้นของคุณทักษิณ จริงๆ ข้อมูลมันมีอยู่ในระบบอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ถูกเปิดเผยออกมา มันอยู่ในข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพียงแต่ว่ามันซ่อนอยู่ พอเราจับจุดถูกว่าคนนี้เป็นคนรับใช้ เราก็เชื่อมโยงข้อมูล แล้วดึงออกมากางให้เห็นบนโต๊ะ แล้วอาศัยความรู้ทางด้านกฎหมายบ้าง ระเบียบของตลาดหุ้นบ้าง ให้เห็นว่าเขาทำเรื่องนี้ด้วยเหตุผลอะไร พอไขออกปุ๊บก็เหมือนเปิดอะไรออกจากกล่อง ข้อมูลที่กระจาย เราเอามาเรียบเรียงได้ ”
ประสบการณ์ในฐานะผู้สื่อข่าวที่ขุดคุ้ยคดีซุกหุ้นขบวนการ สปก. และการผลาญเงินบีบีซี ทำให้ประสงค์ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘whistleblower’ ในสายงานสื่อมวลชนกลายๆ จาก Far Eastern Economic Review และ Business Week
อย่างไรก็ตาม ข่าวซุกหุ้นที่สื่อต่างประเทศสนใจเป็นพิเศษกลับไม่ได้รับการขยายความในแวดวงสื่อมวลชนไทยมากนักในมุมมองของประสงค์
“ถ้าหากเรามีคดีวอเตอร์เกตเป็นต้นแบบของ Washington Post คดีซุกหุ้นก็เป็นต้นแบบของการใช้ข้อมูลต่างๆ อย่างครบวงจรจนคนที่ตกเป็นข่าวปฏิเสธไม่ได้ ความลับของเขาที่ซ่อนอยู่ในธุรกิจเป็นสิบๆ ปีผมเปิดมันออกมาหมดจนเขาไม่สามารถจะปฏิเสธข้อเท็จจริงได้ มัดแน่นหมดทุกอย่าง
“แต่คดีนี้เหมือนจะถูกทำให้ลบออกไป แวดวงวิชาการทางสื่อสารมวลชนแทบจะไม่ได้เอาเรื่องนี้มาเป็นกรณีศึกษาเลย ทั้งที่มันเป็นกรณีที่ควรจะนำไปใช้” ผู้อำนวยการสถาบันอิศราเผย
นอกจากมองว่าสังคมไทยไม่ยกย่องนักข่าวเหมือนในต่างประเทศ ประสงค์ยังเสริมว่า “สังคมไทยไม่อยากมีเรื่องกับผู้มีอำนาจ สภาพสังคมมันต่างกัน การทำข่าวสืบสวนพวกนี้จึงเกิดยาก”
ถ้าบังเอิญต้องตกไปอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน หัวเรือใหญ่ของสำนักข่าวอิศราจะเปิดเผยข้อมูลภาครัฐหรือไม่
“ผมไม่กล้าหาญชาญชัยขนาดนั้น (หัวเราะ) ผมไม่ได้ปรารถนาจะเป็นเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ผมแค่ทำหน้าที่ ไม่เคยคิดที่จะต้องล้วงลึกเสี่ยงตายขนาดนั้นกรณีของเอ็ดเวิร์ด มีนักข่าวคนหนึ่งที่ไปด้วยกันก็โดนอำนาจเล่นงาน แต่ในประเทศเขามีกลไกบางอย่างที่คุ้มครองอยู่พอสมควร แต่ประเทศไทยมีกลไกคุ้มครองอะไรบ้าง ผมไม่คิดจะไปเปรียบเทียบกับคนกลุ่มนี้ เพราะผมไม่คิดจะเสี่ยงตาย ใครเอาปืนมาขู่ ผมก็เผ่นเหมือนกัน (หัวเราะ)” ประสงค์กล่าวติดตลก
“ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองจะต้องเป็น whistleblower เราทำตามหน้าที่ ตามอาชีพของเรา แล้วก็เข้าขากับน้องๆ ในทีมได้ดี เลยตั้งสำนักข่าวอิศราขึ้นมา ไม่เคยคิดว่าเราจะลุกขึ้นมาเป็นคนนั้นคนนี้ ส่วนใครจะคิดว่าเราเป็น whistleblower ก็แล้วแต่เขา” ผู้อำนวยการสถาบันอิศรากล่าวทิ้งท้าย