×

หน้ากากชนิดไหนป้องกันโควิดได้มากที่สุด เราจะเลือกใช้หน้ากากอย่างไร

08.02.2022
  • LOADING...
หน้ากากชนิดไหนป้องกันโควิดได้มากที่สุด เราจะเลือกใช้หน้ากากอย่างไร

หน้ากากป้องกันการติดเชื้อโควิดได้ แต่หน้ากากแต่ละชนิดป้องกันได้ไม่เท่ากัน ผลการศึกษาของสถาบันสาธารณสุข มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ MMWR เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า 

  • การสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่อเข้าไปในสถานที่สาธารณะ ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ 56% 
  • หน้ากากชนิด N95 ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากที่สุด 83%

 

ไทยไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการสวมหน้ากากเพื่อป้องกันโควิดมากนัก ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าต้องสวมหน้ากากในสถานที่สาธารณะ กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์การสวมหน้ากากมาตั้งแต่แรกและยืนยันว่าหน้ากากผ้าป้องกันโควิดได้ แต่ในสหรัฐอเมริกา เริ่มแรกมีการตั้งข้อสงสัยว่าหน้ากากป้องกันโควิดได้หรือไม่ ผู้ไม่มีอาการป่วยจำเป็นต้องสวมหน้ากากหรือไม่ (ถ้าใครสวมหน้ากากจะถูกมองว่าเป็นผู้ป่วย)

 

ต่อมามีข้อค้นพบว่าผู้ติดเชื้อแพร่เชื้อขณะไม่แสดงอาการ และประเทศฝั่งเอเชียที่มีมาตรการสวมหน้ากากสามารถควบคุมการระบาดได้ดี ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐฯ (CDC) จึงแนะนำให้ประชาชนทุกคนสวมหน้ากาก โดยสามารถใช้หน้ากากผ้าได้ ถัดมามีข้อค้นพบว่าโควิดแพร่เชื้อทางอากาศ นักวิชาการบางกลุ่มจึงเรียกร้องให้ CDC เปลี่ยนคำแนะนำเป็นหน้ากาก N95 หรืออย่างน้อยหน้ากากอนามัยแทน 

 

ตรงกันข้าม ฝั่งที่ไม่เห็นด้วยก็เดินขบวนต่อต้านการสวมหน้ากาก และประท้วงมาตรการบังคับสวมหน้ากากของรัฐ อย่างไรก็ตาม เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีน และไวรัสสายพันธุ์ใหม่มีความรุนแรงลดลง การสวมหน้ากากในสถานที่สาธารณะอาจเป็นทางเลือกมากกว่าเป็นการบังคับตามกฎหมายเหมือนบางประเทศในยุโรป แล้วหน้ากากชนิดใดจะสามารถป้องกันโควิดได้มากที่สุด

 

หน้ากากป้องกันโควิดได้หรือไม่

 

โควิดแพร่เชื้อผ่านทางละอองขนาดใหญ่ (Droplets) เช่น การพูดคุยในระยะ 1-2 เมตร การไอจามรด และละอองขนาดเล็ก (Aerosol Particles) เช่น การหายใจ ตะโกน ร้องเพลง ซึ่งในสถานที่ปิดละอองขนาดเล็กจะลอยอยู่ในอากาศได้นานและไกลกว่า 1-2 เมตร ดังนั้นโดยหลักการแล้ว หน้ากากจะป้องกันได้ทั้งการฟุ้งกระจายของสารคัดหลั่งออกไป และการสูดหายใจเอาละอองเหล่านี้เข้ามาในร่างกาย

 

ส่วนในทางปฏิบัติมีหลายการศึกษาที่ยืนยันว่าการสวมหน้ากากลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ เช่น การศึกษาของกรมควบคุมโรคในคลัสเตอร์สถานบันเทิง สนามมวย และรัฐวิสาหกิจของการระบาดระลอกแรกที่ตีพิมพ์ในวารสาร Emerging Infectious Diseases เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 พบว่าการสวมหน้ากากตลอดเวลาที่สัมผัสผู้ป่วย ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ 77% (ช่วงความเชื่อมั่น 40-91%)

 

และมีการศึกษาที่มีความน่าเชื่อถือสูงมากในทางวิชาการคือ การทบทวนอย่างเป็นระบบและการวิเคราะห์อภิมาน (Systematic review and meta-analysis) จาก 6 งานวิจัยทั่วโลกของสถาบันสาธารณสุขและเวชศาสตร์ป้องกัน มหาวิทยาลัยโมนาช ออสเตรเลีย ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 พบว่าการสวมหน้ากาก ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ 53% (ช่วงความเชื่อมั่น 25-71%)

 

ดังนั้นหน้ากากจึงมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อโควิด และเมื่อใช้ร่วมกับมาตรการอื่น เช่น การเว้นระยะห่าง การล้างมือเป็นประจำ และการฉีดวัคซีน ก็จะสามารถป้องกันได้เพิ่มขึ้น สาเหตุที่หน้ากากไม่ได้ป้องกัน 100% เพราะในความเป็นจริงแต่ละคนไม่ได้สวมหน้ากากตลอดเวลา อาจไม่ได้สวมหน้ากากให้กระชับกับใบหน้า รวมถึงเลือกใช้ชนิดของหน้ากากต่างกันด้วย

 

หน้ากาก N95 ป้องกันได้มากที่สุด

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สถาบันสาธารณสุข มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ตีพิมพ์งานวิจัยเรื่อง ประสิทธิผลของการสวมหน้ากากในสถานที่สาธารณะเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิดระหว่างกุมภาพันธ์-ธันวาคม 2021 ในวารสาร MMWR พบว่า การสวมหน้ากาก ‘ตลอดเวลา’ ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ 56% (ช่วงความเชื่อมั่น 18-76%) ในขณะที่การสวมเป็น ‘ส่วนใหญ่’ ลดความเสี่ยง 45% (แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ)

 

นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์แยกตามชนิดของหน้ากาก เทียบกับการ ‘ไม่สวมหน้ากาก’ พบว่า

  • หน้ากากผ้า ลดความเสี่ยง 56% (แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ)
  • หน้ากากอนามัยหรือ Surgical mask ลดความเสี่ยง 66% (ช่วงความเชื่อมั่น 10-87%)
  • หน้ากาก N95/KN95 หรือ Respirator ลดความเสี่ยง 83% (ช่วงความเชื่อมั่น 36-95%)

 

เรียงลำดับหน้ากากตามประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อจะได้ หน้ากาก N95/KN95 > หน้ากากอนามัย > หน้ากากผ้า แปลว่าการสวมหน้ากากตลอดเวลาในสถานที่สาธารณะ ลดความเสี่ยงลงได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง แต่จะป้องกันการติดเชื้อได้เพิ่มขึ้นหากเลือกใช้หน้ากากที่กรองละอองขนาดเล็กได้ดี เพราะ N95/KN95 เป็นมาตรฐานหน้ากากที่สามารถกรองอนุภาคขนาด 0.3 ไมครอนได้มากกว่า 95% 

 

หน้ากาก N95 เป็นหน้ากากที่บุคลากรทางการแพทย์สวมในกรณีที่ต้องเก็บตัวอย่าง (Swab) พ่นยา หรือใส่ท่อช่วยหายใจผู้ป่วย เพราะเป็นหัตถการที่สร้างละอองขนาดเล็ก บุคลากรทางการแพทย์จะต้องสวมให้กระชับกับใบหน้าและต้องทดสอบว่าไม่มีอากาศรั่วออกขณะหายใจ ทำให้หายใจลำบากและมักสวมได้ไม่นาน ส่วนหน้ากากอนามัยถึงแม้จะกรองอนุภาคขนาดเล็กได้ดี แต่มักมีช่องว่างระหว่างหน้ากากกับใบหน้า

 

ภาพเปรียบเทียบการป้องกันการติดเชื้อของหน้ากากแต่ละชนิด

 

เราจะเลือกใช้หน้ากากอย่างไร

 

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐฯ (CDC) ปรับปรุงคำแนะนำล่าสุดเมื่อปลายเดือนมกราคม 2022 (หลังจากที่การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนและมีข้อเรียกร้องจากนักวิชาการกลุ่มหนึ่งให้เปลี่ยนคำแนะนำเป็นหน้ากาก N95/KN95) ว่าหน้ากากเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการป้องกันการระบาดของโควิด ‘หน้ากากที่สามารถป้องกันได้ดี’ คือ หน้ากากที่กระชับกับใบหน้าและสามารถสวมใส่ได้สม่ำเสมอ 

 

ผู้มีอายุ 2 ปีขึ้นไปและยังไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ควรสวมหน้ากากในสถานที่สาธารณะบริเวณ ‘ภายในอาคาร’ ส่วนบริเวณ ‘ภายนอกอาคาร’ ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากาก ยกเว้นต้องสัมผัสใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หรือยังไม่ได้รับวัคซีน ในขณะที่การเลือกชนิดของหน้ากาก CDC อธิบายหลักการดังนี้

 

  • หน้ากากสามารถลดการแพร่กระจายของเชื้อ เมื่อสวมอย่างสม่ำเสมอและสวมอย่างถูกต้อง
  • หน้ากากบางชนิดมีระดับการป้องกันที่สูงกว่าชนิดอื่น แต่อาจไม่สามารถสวมได้อย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นจึงควรเลือกหน้ากากที่สวมได้กระชับหรือหน้ากาก N95/KN95 ที่สวมสบาย
  • หน้ากากที่มีระดับการป้องกันที่สูงอาจสำคัญที่สุดสำหรับสถานการณ์ที่เสี่ยงกว่า หรือผู้ที่มีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรง

 

ดังนั้น CDC จึงยังแนะนำทั้งหน้ากากผ้าที่มีความหนาตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป หน้ากากอนามัย และหน้ากาก N95/KN95 ที่ผ่านมาตรฐานหน้ากากชนิดนั้นๆ (CDC น่าจะมองว่าประชาชนสามารถสวมหน้ากากผ้าสะดวกกว่าหน้ากากชนิดอื่น) แต่จากงานวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียข้างต้น ก็เป็นหลักฐานสำคัญว่าหน้ากากแต่ละชนิดมีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อต่างกัน

 

หากสามารถหาซื้อหน้ากาก N95/KF95 ได้ สามารถสวมได้ถูกต้องและตลอดเวลา ก็จะสามารถป้องกันได้สูงสุด แต่ถ้าหาซื้อไม่ได้หรือสวมได้ไม่นาน ก็อาจลดลงมาเป็นหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้าตามลำดับ โดยอาจผูกปลายสายคล้องหน้ากากอนามัยเป็นปม หรือสวมหน้ากาก 2 ชั้น (หน้ากากอนามัยแล้วทับด้วยหน้ากากผ้า) ก็จะทำให้กระชับใบหน้ามากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ในอนาคต เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีน และไวรัสสายพันธุ์ใหม่มีความรุนแรงลดลง การสวมหน้ากากในสถานที่สาธารณะอาจเป็น ‘ทางเลือก’ มากกว่าเป็น ‘การบังคับ’ ตามกฎหมายเหมือนกับที่บางประเทศในยุโรป เช่น สหราชอาณาจักร (เริ่ม 27 มกราคม 2022) เดนมาร์ก (เริ่ม 1 กุมภาพันธ์ 2022) สวีเดน (เริ่ม 9 กุมภาพันธ์ 2022) กำลังผ่อนคลายมาตรการในขณะนี้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X