คนเจเนอเรชันต่างกัน มีความสนใจที่ต่างกัน ดังนั้นจึงมีผลกำหนดคุณค่าต่อสิ่งของไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะตลาดของสะสมที่ขับเคลื่อนด้วยความนิยมของคนหมู่มากเป็นหลัก ช่วงวัยที่แตกต่างจึงมีส่วนกำหนดทิศทางมูลค่าของสะสมในอนาคต
การสำรวจของ Morning Consult จากกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ 2,200 คนในสหรัฐอเมริกาเมื่อต้นปีที่แล้ว พบว่ากว่า 1 ใน 3 เป็นนักสะสมของต่างๆ เป็นงานอดิเรกและเพื่อการลงทุน โดยคนในกลุ่มมิลเลนเนียล (เกิดระหว่างปี 1981-1995) เป็นกลุ่มคนที่นิยมสะสมมากที่สุดคือ 42% ตามมาด้วย Gen X (เกิดระหว่างปี 1965-1980) อยู่ที่ 37% Baby Boomers (เกิดระหว่างปี 1946-1964) 29% และ Gen Z (เกิดระหว่างปี 1996-2012) 20% และส่วนใหญ่เป็นผู้ชายอยู่ที่ 45% ผู้หญิง 22%
ส่วนที่เซอร์ไพรส์คือในตลาดการสะสม NFTs ซึ่งเป็นของใหม่ กลับกลายเป็นคนในกลุ่มมิลเลนเนียลที่เข้ามาลงทุนในตลาดนี้ทั้งที่เคยคิดว่าน่าจะเป็น Gen Z โดยร้อยละ 23% บอกว่าพวกเขาสะสม NFTs ตามมาด้วย Gen X ที่ 8% Gen Z 4% และ Baby Boomers 2% ซึ่ง 1 ใน 4 ของนักสะสมสิ่งของที่จับต้องได้สะสม NFTs ด้วย ส่วนอีกครึ่งหนึ่งมีแนวโน้มว่าจะสะสม NFTs ในอนาคต และกว่า 86% นักสะสมที่มี NFTs อยู่แล้วก็สะสมสิ่งของที่เป็นกายภาพด้วย ทำให้ธุรกิจของสะสมที่เป็นที่นิยมของอเมริกาอย่างเช่น การ์ดนักกีฬา เริ่มพิมพ์รหัสดิจิทัลลงบนการ์ดเพื่อเชื่อมโยงทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์เอาไว้ด้วยกัน
เมื่อมาดูในตลาดโลก เคยมีการศึกษาจากงาน Art Basel ในปี 2020 ซึ่งพิจารณาผลกระทบของโควิดต่อธุรกิจแกลเลอรี พบว่ากลุ่มมิลเลนเนียลที่มีรายได้สูงในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และฮ่องกง เป็นกลุ่มนักสะสมกลุ่มใหญ่และใช้เงินในตลาดสูงมาก มีถึง 14% ที่ใช้เงินไปกับของสะสมมากกว่า 34 ล้านบาท ขณะที่เศรษฐี Baby Boomers มีเพียง 5% ที่ใช้เงินไปกับของสะสมมากเท่านี้
ความเปลี่ยนแปลงด้านเจเนอเรชันของนักสะสมยังมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในจีน อย่างเช่น ชาผู่เอ๋อ (Pu’erh) ที่เคยเป็นที่นิยมสำหรับนักสะสมรุ่นใหญ่ก็ถูกแทนที่ด้วยกระเป๋าแบรนด์เนม ของเล่น รองเท้าผ้าใบลิมิเต็ดเอดิชัน และวิสกี้ญี่ปุ่น ในแคตตาล็อกการประมูลในตลาดจีนตามความนิยมของคนรุ่นมิลเลนเนียลและ Gen Z
จากรายงานของ Hurun Report บริษัทด้านรีเสิร์ช และการลงทุนที่เชี่ยวชาญตลาดในจีน อินเดีย และอังกฤษ เปิดเผยว่าในปี 2019 ภาพวาดและลายเส้นตัวอักษรจีนเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการประมูลของจีน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของสินค้าที่ขายได้โดยเฉพาะในโซนภาคเหนือ ในขณะที่จีนทางตอนใต้อัญมณีอย่างหยกและเครื่องลายคราม เป็นของสะสมยอดนิยมในฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน มีส่วนแบ่งที่สูง ในขณะเดียวกันนักสะสมรุ่นใหม่ๆ ก็เริ่มหันมาสะสมสินค้าสมัยใหม่ที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์ อย่างกระเป๋า Louis Vuitton ที่มีภาพวาดของ Ayako Rokkaku ศิลปินนักวาดภาพจากญี่ปุ่นก็ได้รับการประมูลที่กว่างโจวไปด้วยในราคา 685,000 บาท ในปี 2021
ในขณะที่เมื่อปี 2019 วิสกี้ญี่ปุ่นคอลเล็กชัน Karuizawa 36 Views of Mount Fuji จำนวน 28 ขวด เคยมีมูลค่าอยู่ที่ราวๆ 1.8-2 ล้านบาท แต่ปัจจุบันราคาต่อขวดตกอยู่ที่ราวๆ 104,000-145,000 บาทต่อขวด โดยคนรุ่นใหม่ในจีนนิยมสะสมวิสกี้ญี่ปุ่น และบางครั้งก็ดื่มวิสกี้ในราคา 2 แสนบาทเพื่อแสดงถึงความสำเร็จและสถานะทางสังคม ทำให้ราคาวิสกี้ญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นราว 10-15% ต่อปี ยิ่งเป็นวิสกี้ระดับคอลเล็กชันก็อาจจะทำราคาสูงได้ขึ้นเท่าตัวในเวลา 2 ปีเลยทีเดียว ดังนั้นจากที่นักสะสมรุ่นเก่าที่นิยมสะสมชาผู่เอ๋อ (Pu’erh) และเหล้าจีนโบราณอย่างเหล้าเหมาไถ เริ่มหันมาปรับพอร์ตของสะสมให้สอดรับกับความนิยมของตลาดที่เปลี่ยนไป
ภาพประกอบ: กริน วสุรัฐกร
อ้างอิง:
- https://morningconsult.com/2021/04/05/millennials-nfts-collectibles/?fbclid=IwAR35A62kdwaemTPZVFM0XEehSUQkLggDRsNzJnj3J2cK_a9Ir5hUbOWzyo8
- https://www.scmp.com/economy/economic-indicators/article/3129899/chinas-millennials-gen-z-turn-louis-vuitton-handbags?fbclid=IwAR2i_gOI5dtQAHyHoIOlYTtiwiBnffKVMAC3r3LwgQfB0ZrAVWFhXUZHeks