×

‘ถ้าการไปจากที่นี่นับว่าเป็นความฝันได้ไหมคะ’ ความในใจจาก ซู ที่ต้องการ ‘หลีกหนี’ จากสถานที่ที่ไม่ได้เป็นของตัวเอง

04.05.2021
  • LOADING...
‘ถ้าการไปจากที่นี่นับว่าเป็นความฝันได้ไหมคะ’ ความในใจจาก ซู ที่ต้องการ ‘หลีกหนี’ จากสถานที่ที่ไม่ได้เป็นของตัวเอง

ซู (เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ) หนึ่งในตัวละครหลักจากภาพยนตร์ Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า (2562) ผลงานการกำกับของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี นับว่าเป็นหนึ่งในตัวละครจากโลกภาพยนตร์ที่อธิบายถึงช่วงชีวิต ‘วัยรุ่น’ ในบริบทสังคมไทยออกมาได้ครบถ้วนทุกมิติ 

 

ทั้งการต้องสำรวจตัวเองเพื่อค้นหาคำตอบของคำถามที่ว่าความฝันของฉันคืออะไร การต้องรับมือกับความชุลมุนวุ่นวายในความสัมพันธ์ที่เรียกว่าเพื่อน ไปจนถึงการเผชิญหน้ากับความคับข้องใจจากครอบครัวที่ค่อยๆ สร้างช่องว่างระหว่างใจให้ห่างออกไปเรื่อยๆ  

 

อีกนัยหนึ่ง เราอาจตีความได้ว่าซูกำลังทำหน้าที่ ‘บอกความในใจ’ แทนเหล่าวัยรุ่น เพื่อให้ผู้ใหญ่ที่อาจมองข้ามความคับข้องใจของพวกเขาและเธอได้ตระหนักถึงมากยิ่งขึ้น  

 

ภาพยนตร์ Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า (2562)

 

หนึ่งฉากสำคัญที่กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวได้ชัดเจนที่สุด (และดูเหมือนว่ามันกำลังเกิดขึ้นแล้วในเวลานี้) คือฉากที่ซูเดินทางไปสอบสัมภาษณ์เพื่อชิงทุนเรียนต่อที่ประเทศฟินแลนด์ โดยผู้สัมภาษณ์ถามซูว่า เธอมีเป้าหมายหรือความฝันอะไรในการไปเรียนต่อในครั้งนี้

 

“หนูยังไม่มีความฝันอะไรเลยค่ะ ถ้าการไปจากที่นี่นับว่าเป็นความฝันได้ไหมคะ หนูหมายถึงถ้าหนูไม่ได้ไปที่นั่น หนูก็คงไม่มีทางรู้ว่าความฝันจริงๆ ของหนูคืออะไร”

 

ตลอด 2 ชั่วโมงกว่าของภาพยนตร์ ได้บอกเล่าหลากหลายประเด็นที่บีบให้ซูเริ่มอยากจะ ‘หลีกหนี’ ไปที่ไหนสักแห่ง ทั้งการต้องสูญเสียผู้เป็นแม่ไปอย่างไม่มีวันกลับ หรือการที่เธอไม่สามารถกลับไปคืนดีกับเพื่อนสนิทได้อีกครั้ง 

 

แต่ดูเหมือนว่าประเด็นที่ส่งผลรุนแรงต่อการตัดสินใจของซูมากที่สุด คือการที่พ่อของเธอ (ขจรศักดิ์ รัตนนิสสัย) พยายามฉุดรั้งไม่ให้เธอไปเรียนต่อ โดยไม่คิดที่จะลอง ‘ทำความเข้าใจ’ ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับซูคืออะไร ถึงขนาดยอมโกหก พาเธอไปหาร่างทรง (ตัวปลอม) เพื่อให้วิญญาณของแม่ผู้ล่วงลับช่วยกล่อมให้เธอเปลี่ยนใจ

 

แม้ว่าเหตุผลที่พ่อไม่ยอมให้ซูไปต่างประเทศจะเป็นเพราะว่าตัวเขาไม่อยากสูญเสียคนในครอบครัวไปอีก แต่ขณะเดียวกัน การที่พ่อไม่ยอมหันหน้าเข้าหาซูแล้วถามเธอตรงๆ ว่า ‘เกิดอะไรขึ้น’ ก็ส่งผลให้ ‘พื้นที่ของซู’ ถูกบีบให้แคบลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน 

 

ความต้องการ ‘หลีกหนี’ ไปจากสถานที่ที่ซูเกิดและเติบโตมา จึงไม่ได้เริ่มต้นจากแรงปรารถนาที่อยากจะเดินตาม ‘ความฝัน’ (เพราะเธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่าฝันของตัวเองคืออะไร) หรือการออกเดินทางไปต่างแดนเพื่อเรียนรู้และคว้าโอกาสใหม่ๆ ให้แก่ชีวิต แต่มันกลับกลายเป็นความรู้สึกที่ว่า ‘ที่นี่ไม่ใช่ที่ของฉัน’ ที่เป็นแรงผลักดันให้เธออยาก ‘หลีกหนี’ ไปจากบ้าน จากครอบครัว จากเพื่อน เพื่อหวังว่าจะพบ ‘ที่ที่มีเธออยู่ตรงนั้น’ ได้จริงๆ 

 

ภาพยนตร์ Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า (2562)

 

แม้ในท้ายที่สุด ซูจะตัดสินใจไม่ไปเรียนต่ออย่างที่พ่อต้องการและดำเนินชีวิตต่อไปในพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้ และดูเหมือนว่าเธอเองก็ไม่ได้มีความสุขกับมันเท่าไรนัก แต่เรื่องราวของซูก็ได้ทิ้งประเด็นสำคัญข้อหนึ่งเอาไว้ให้ผู้ใหญ่หลายๆ คนได้ร่วมกันขบคิดว่า เรากำลังบีบคั้นให้เหล่าวัยรุ่นต้อง ‘หลีกหนี’ ไปอยู่ที่อื่นหรือเปล่า

 

หากพ่อของซูพยายามเข้าหาเธอให้มากกว่านี้ เปิดใจคุยกับเธอให้มากกว่านี้ พยายามทำความเข้าใจเธอให้มากกว่านี้ สร้างพื้นที่ที่ทำให้เธอรู้สึก ‘ปลอดภัย’ มากกว่านี้ มันอาจจะทำให้การเดินทางไปเรียนต่อที่ฟินแลนด์กลายเป็นเพียง ‘ทางเลือกหนึ่ง’ มากกว่าจะเป็น ‘ทางเลือกเดียว’ หรือหากเธอตัดสินใจจะไปเรียนต่อจริงๆ อย่างน้อยที่สุดเธอก็ยังมี ‘สถานที่ที่เป็นของเธอจริงๆ’ ให้เดินทางกลับมาพักผ่อน

  

“ถ้าการไปจากที่นี่นับว่าเป็นความฝันได้ไหมคะ”  

 

บางทีความฝันของซู (และใครอีกหลายคน) อาจไม่ใช่การ ‘หลีกหนี’ ไปจากบ้านเกิดของตัวเอง แต่อาจเป็นเพราะพ่อของเธอ (และผู้ใหญ่หลายคน) กำลังทำลายสถานที่ของเธอลงด้วยมือของตัวเองอยู่ก็ได้ 

 

และอีกหนึ่งคำถามสำคัญที่ผู้ใหญ่หลายคนมองข้ามอาจไม่ใช่คำถามที่ว่า ทำไมพวกเขาและเธอถึงอยากไปจากที่นี่ แต่มันอาจจะเป็นคำถามที่ใกล้ตัวกว่าคือ เราได้สร้างที่นี่ให้เป็นสถานที่ของพวกเขาและเธอสามารถกลับมา ‘พักผ่อน’ ได้ดีแล้วหรือยัง 

 

รับชมภาพยนตร์ Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า ได้ที่ 

Netflix

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising