×

พรรคสีฟ้า ค่ายพระแม่ธรณีฯ ‘ประชาธิปัตย์’ จะได้หัวหน้าพรรคคนใหม่กี่โมง

30.10.2023
  • LOADING...
พรรคประชาธิปัตย์

HIGHLIGHTS

7 MIN READ
  • จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อรับผิดชอบผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 และทำหน้าที่รักษาการจนกว่าจะได้หัวหน้าพรรคคนใหม่ 
  • พรรคประชาธิปัตย์ผ่านการประชุมเลือกตั้งหัวหน้าพรรคมาแล้ว 2 ครั้ง องค์ประชุมล่มทั้ง 2 ครั้ง
  • ระยะเวลาผ่านเข้าสู่เดือนที่ 6 สภาปิดสมัยประชุมครั้งที่ 1 แล้ว พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่ได้หัวหน้าพรรคคนใหม่

นับตั้งแต่ผลการเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ออกมา ระยะเวลาล่วงเลยกำลังจะเข้าสู่เดือนที่ 6 พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองเดียวที่ยังไม่มีหัวหน้าพรรคคนใหม่ แทน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ลาออกจากตำแหน่งเพื่อรับผิดชอบผลการเลือกตั้ง 

 


บทความที่เกี่ยวข้อง:  


 

‘ประชาธิปัตย์’ ไม่ใช่พรรคการเมืองเดียวที่ตำแหน่ง ‘หัวหน้าพรรค’ ต้องหลุดออกจากเก้าอี้จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย แต่ทั้งสองพรรคนั้นล้วนได้ผู้นำทัพคนใหม่แล้วทั้งสิ้น 

 

พรรคก้าวไกลได้ ชัยธวัช ตุลาธน ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคสีส้ม แทน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขณะที่พรรคเพื่อไทยได้ แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็กของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นเป็นผู้นำทัพพรรคสีแดง แทน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว

 

ลาออกหัวหน้าพรรค รับผิดชอบผลการเลือกตั้ง 

 

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม สร้างความบอบช้ำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่น้อย กับพรรคการเมืองที่มีความเก่าแก่มากที่สุดในประเทศไทย ได้ผู้แทนราษฎรเข้าไปนั่งในสภาอันทรงเกียรติเพียง 25 ที่นั่งเท่านั้น แบ่งเป็น สส. เขต 22 ที่นั่ง สส. บัญชีรายชื่อ 3 ที่นั่ง นับเป็นสถิติที่ไม่น่าพอใจในรอบ 2 ทศวรรษ

 

หลังทราบผลการเลือกตั้ง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคคนที่ 8 ผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ในช่วงค่ำของวันเลือกตั้งทันที พร้อมกล่าวแสดงความยินดีและขอบคุณการเลือกตั้งครั้งนี้ 

 

จุรินทร์กล่าวขอบคุณ เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค (ขณะนั้น) ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคณะทำงานทุกชุดที่ช่วยกันทำหน้าที่สุดความสามารถ

 

“…ผมขอแสดงความรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้งด้วยการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และขอให้ทุกท่านช่วยกันทำหน้าที่เพื่อพรรคต่อไป สำหรับผมไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด ผมพร้อมอยู่เคียงข้างพรรคเสมอ ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาตลอดชีวิตการเมืองของผมครับ” จุรินทร์กล่าว 

 

ทั้งนี้ ตามข้อบังคับพรรคจะต้องมีการแจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค และให้เลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารชุดใหม่ภายใน 60 วัน หรือภายในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 และมีเกณฑ์การเลือกหัวหน้าพรรคคิดเป็น 70-30 โดยให้น้ำหนักกับ สส. 25 คน คิดเป็น 70% และอีก 30% ให้น้ำหนักเป็นอดีตกรรมการบริหารพรรค และสมาชิกพรรคทั่วประเทศ 

 

และอาจเป็นเพราะข้อบังคับพรรคและเกณฑ์ 70-30 ที่ทำให้จนถึงขณะนี้ล่วงเลยเข้าเดือนที่ 6 พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ได้หัวหน้าพรรคคนใหม่ แม้ผ่านการประชุมใหญ่ฯ มาแล้วถึง 2 ครั้ง และการประชุมก็ล่มทั้ง 2 ครั้ง

 

จัดประชุมใหญ่ 2 ครั้ง ล่มทั้ง 2 ครั้ง

 

ครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ เบื้องหลังจากประชุมฯ ครั้งแรก ก่อนที่จะเชิญสื่อมวลชนออก สาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรค ได้เสนอยกเว้นข้อบังคับการประชุมข้อที่ 87 ที่กำหนดให้การโหวตหัวหน้าพรรคจะใช้น้ำหนักในการลงคะแนน 70% สส. ปัจจุบัน 25 คน และมาจาก 30% กรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรคทั่วประเทศ รวมถึงให้ยกเว้นข้อบังคับที่ 37 กรณีเมื่อหัวหน้าพรรคลาออกต้องตั้งกรรมการบริหารพรรคใน 60 วัน แต่ที่ประชุมไม่เห็นด้วยและถูกตีตกไป

 

เมื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกหัวหน้าพรรคในช่วงบ่าย ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้มีการเสนอชื่อผู้ประสงค์สมัครเป็นหัวหน้าพรรค แต่ไม่ครบองค์ประชุม ผู้เข้าร่วมองค์ประชุมบางส่วนหายไป มีเก้าอี้ว่างจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถดำเนินการประชุมต่อไปได้

 

สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นจากการประชุมครั้งแรกคือ พรรคประชาธิปัตย์แตกออกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน ประกอบด้วย สส. เสียงข้างมาก อยู่ในขั้ว เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย เดชอิศม์ ขาวทอง สส. สงขลา ผู้กุมบังเหียนดูแล สส. ภาคใต้ และกุมคะแนนเสียงส่วนใหญ่ สนับสนุน นราพัฒน์ แก้วทอง รองหัวหน้าพรรค ขึ้นมานำทัพพรรค

 

ส่วน สส. เสียงส่วนน้อย อยู่ในขั้ว สส. ปาร์ตี้ลิสต์ทั้ง 3 คน คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน และ สส. เขตภาคใต้บ้านใหญ่ตระกูลดัง เช่น สรรเพชญ บุญญามณี สส. สงขลา, สุพัชรี ธรรมเพชร สส. พัทลุง, ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส. พัทลุง, ยูนัยดี วาบา สส. ปัตตานี, สมบัติ ยะสินธุ์ สส. แม่ฮ่องสอน สนับสนุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรค ให้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง 

 

ชัยชนะ เดชเดโช สส. นครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่ในขั้วเสียงส่วนใหญ่กล่าวภายหลังการประชุมล่มครั้งที่ 1 ว่า “การที่ไม่สามารถเลือกหัวหน้าพรรคภายในวันนี้ได้นั้นไม่ใช่ความล้มเหลว” พร้อมทั้งเชื่อว่าการประชุมครั้งหน้าจะไม่มีปัญหา และมองว่าคนที่เป็นองค์ประชุมควรมีจิตสำนึกในการทำหน้าที่ 

 

ช่วงเวลาที่เว้นว่าง และรอการกำหนดวันประชุมใหญ่เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ครั้งที่ 2 เดชอิศม์เดินทางไปฮ่องกง ท่ามกลางกระแสข่าวไปพบทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อดีลร่วมรัฐบาล โดยในตอนแรกระบุเพียงว่าไปเพื่อแก้บนผลการเลือกตั้งให้ภรรยาเท่านั้น 

 

ทันทีที่ข่าวออก พรรคประชาธิปัตย์ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า พรรคไม่เคยส่งใครไปเจรจากับทักษิณ เพราะตามหลักการของพรรคการร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล ไม่ได้เป็นอำนาจการตัดสินใจของใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง 

 

ก่อนที่เดชอิศม์จะออกมายอมรับว่า ตนเองไปพบทักษิณที่ฮ่องกงจริง ก่อนหน้านี้ที่ตนไม่ได้พูดเพราะกลัวว่าทักษิณจะเสียหาย พร้อมยอมรับว่าสนิทสนมส่วนตัวกัน ตั้งแต่เมื่อครั้งลงสมัครพรรคไทยรักไทยในปี 2548 

 

“ไม่มีความแค้นส่วนตัวกับใครอยู่แล้ว” เดชอิศม์กล่าวอธิบายความสัมพันธ์ของตนเองและทักษิณ อดีตนายกฯ 

 

ส่วนการจะไปร่วมรัฐบาลหรือไม่ เดชอิศม์ก็กล่าวเพียงว่า “ขอให้เป็นมติของพรรค” โดยต้องคำนึงถึงประเทศชาติเป็นหลัก เหตุการณ์เปลี่ยนคนก็เปลี่ยน เหลือแต่ยี่ห้อของพรรค 

 

เมื่อถึงการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ก็มีแกนนำพรรคเข้าร่วมประชุม ไม่ว่าจะเป็น ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค, เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค รวมทั้งแกนนำ สส. อดีต สส. และตัวแทนสาขาพรรค องค์ประชุมผู้มีสิทธิลงคะแนน 

 

แต่เมื่อถึงกำหนดเริ่มประชุม น.ต. สุธรรม ระหงษ์ ผู้อำนวยการพรรค แจ้งว่ามีองค์ประชุมเพียง 210 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม เพราะตามข้อบังคับพรรคจะต้องมีองค์ประชุม 250 คนขึ้นไป แม้จะมีการรอเวลาให้สมาชิกเดินทางมาเพิ่ม แต่สุดท้ายก็ไม่ถึงตามที่ข้อบังคับพรรคกำหนด และไม่สามารถประชุมได้ 

 

สิ้นเสียงแจ้งองค์ประชุมไม่ครบ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้นำ สส. ออกจากห้องประชุม ยืนแถวหน้ากระดานแถลงประณามต่อเหตุการณ์ประชุมล่มครั้งที่ 2 นี้ 

 

“เป็นพฤติกรรมที่เลวร้ายไม่เคยเกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน ผลที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายอย่างมาก องค์ประชุมไม่ครบทั้ง 2 ครั้ง ไม่สามารถดำเนินการได้ และครั้งนี้ไม่ได้เกิดตามธรรมชาติ แต่เกิดจากพฤติกรรมของบางกลุ่มในพรรค 

 

“ให้องค์ประชุมออกจากห้อง ไม่ลงชื่อเข้าประชุม ไปเที่ยวต่างประเทศ พฤติกรรมเหล่านี้เลวทราม ไม่ควรจะเกิดขึ้นในพรรค อยากจะฝากอีกครั้งว่า ช่วยปลุกจิตสำนึกของคนในพรรคประชาธิปัตย์ พวกเขารู้ตัวว่าทำพฤติกรรมอะไรไว้ หากจิตสำนึกกลับคืนมา ถ้ามีจิตสำนึกต้องมาช่วยให้พรรคเดินไปข้างหน้า ไม่ใช่เล่นเกมการเมืองเพื่อตอบสนองความต้องการของใครบางคน” เฉลิมชัยกล่าว

 

ไม่ร่วมรัฐบาล แต่โหวตเศรษฐา

 

หลังผ่านเหตุการณ์ประชุมล่มครั้งที่ 2 ขณะนั้นเข้าสู่เดือนที่ 3 ที่ยังไร้หัวหน้าพรรคอยู่ เป็นช่วงเวลาที่พรรคก้าวไกลส่งไม่ต่อให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยเดินเกมหาเสียงตั้งรัฐบาล แม้พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ได้รับการเทียบเชิญเข้าบ้านเหมือนพรรคขั้วรัฐบาลเดิม เหมือนพรรคภูมิใจไทย, พรรคพลังประชารัฐ, พรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนากล้า

 

แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้หลุดวงโคจรดีลร่วมรัฐบาลไปเสียทีเดียว ยังคงมีข่าวการดีลร่วมรัฐบาลเล็ดลอดออกมาโดยตลอด ขณะเดียวกัน คนในพรรคประชาธิปัตย์เองก็ออกท่าออกทางว่าอยากร่วมรัฐบาลเพื่อไทยด้วยไม่น้อย

 

แต่สุดท้ายแล้ว แม้จะไม่ได้ร่วมรัฐบาลเพื่อไทย แต่ในการโหวตนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 เพื่อเสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ก็มี 16 สส. พรรคประชาธิปัตย์ออกเสียง ‘เห็นชอบ’ แม้พรรคจะมีมติ ‘งดออกเสียง’ ก็ตาม 

 

ชัยชนะชี้แจงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “การโหวตครั้งนี้ไม่ได้ยืนยันว่าจะร่วมรัฐบาล แต่เราพร้อมที่จะทำงานทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ยืนยันว่าไม่มีดีลกับพรรคเพื่อไทย” พร้อมทั้งอนุญาตให้เช็กโทรศัพท์ได้เลย

 

“ไม่ใช่พรรคอะไหล่ของใคร และไม่ใช่งูเห่า งูเห่าต้องจำนวนน้อย แต่เราไปกับเสียงข้างมาก เรียกงูเห่าไม่ได้ ความจริงก็คือความจริง ความจริงอยู่ในตัวผม ไม่เคยหลบสื่อมวลชน พร้อมให้ข้อมูลตลอด ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้ ผมก็พูดได้ และผมไม่เคยให้ร้ายให้พรรคประชาธิปัตย์เสียหาย” ชัยชนะระบุ

 

ขณะที่เดชอิศม์กล่าวอธิบายเรื่องดังกล่าวว่า ประเทศอยู่ในทางตัน ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ประเทศจะเกิดสุญญากาศนานไม่ได้  

 

“ที่ผ่านมาเรามองว่าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลสมานฉันท์ กปปส. เคยขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, เนวิน ชิดชอบ และกลุ่มเพื่อนเนวินก็เคยเป็นงูเห่าออกมาสนับสนุนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี พวกเขายังสมานฉันท์กันได้ เราเป็นประชาธิปัตย์ยุคใหม่ ไม่เคยสวมเสื้อเหลือง-เสื้อแดง เราไม่ควรรับมรดกความขัดแย้งจากรุ่นเก่า สส. เห็นว่าเราควรสนับสนุนให้พรรคเพื่อไทยซึ่งรวมเสียงข้างมากได้เป็นนายกรัฐมนตรี แม้เราจะเป็นฝ่ายค้าน” 

 

หลังจากรัฐบาลภายใต้การนำโดย เศรษฐา ทวีสิน เริ่มต้นการบริหารราชการแผ่นดินอย่างเป็นทางการ พรรคประชาธิปัตย์ก็ออกแถลงการณ์ประกาศตัวเป็น ‘ฝ่ายค้าน’ เต็มรูปแบบ มุ่งทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา ทำหน้าที่แทนประชาชนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศอย่างเต็มที่ 

 

พรรคประชาธิปัตย์จะใช้กลไกของฝ่ายนิติบัญญัติในการผลักดันแก้ปัญหาให้กับประชาชน รวมถึงการยกร่างและการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้การขับเคลื่อนการแก้ปัญหามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

 

เมื่อประกาศตัวเป็นฝ่ายค้านแล้ว ในการแถลงนโยบายครั้งแรกของรัฐบาล ประชาธิปัตย์ ในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ส่ง 15 ขุนพลจัดหนักอภิปรายนโยบายรัฐบาลครบทั้ง 3 ด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ภายใต้เวลา 2 ชั่วโมง 15 นาที

 

จนได้รับเสียงชมว่า พรรคประชาธิปัตย์ทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายค้านได้ดี รวมถึงอภิปรายนโยบายรัฐบาลได้อย่างยอดเยี่ยม

 

ขณะเดียวกัน ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 27 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ซึ่งมี พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา 

 

ในวาระกระทู้ถามด้วยวาจาครั้งแรกของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก่อนปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 1 ชัยชนะโชว์ลีลาหยอดคำหวานระหว่างตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา แซวเศรษฐาว่า “ขอบคุณนายกฯ ที่ให้ความสำคัญกับสภาแห่งนี้ เปรียบเสมือนหนังไทบ้าน สัปเหร่อ” 

 

แต่ก่อนจะเข้าคำถาม “ฝากทีมนายกฯ หายาเบาหวานให้นายกฯ กินด้วย เพราะเพื่อนสมาชิก อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส. จังหวัดราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ผู้ถามกระทู้สดก่อนหน้าชงคำถามหวานเหลือเกิน 

 

“ท่านนายกฯ อย่าลืมกินยาด้วย และเอายาฆ่ามดมาในสภาด้วย เพราะเมื่อสักครู่นี้มดขึ้นเลย” ชัยชนะกล่าวหยอดนายกรัฐมนตรีก่อนปิดประชุมรัฐสภาครั้งที่ 1 

 

ประชาธิปัตย์ได้หัวหน้าพรรคคนใหม่กี่โมง 

 

หากย้อนกลับไป 25 สส. พรรคประชาธิปัตย์ทำหน้าที่เป็นผู้แทนราษฎร 1 สมัยประชุมสภา หรือครบกำหนดเวลา 120 วันแล้ว แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่มีหัวหน้าพรรคคนใหม่ จุรินทร์ยังคงนั่งรักษาการต่อไป 

 

ชัยชนะกล่าวกับ THE STANDARD ถึงกรณีนี้ว่า เพื่อน สส. ประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่งได้ยื่นหนังสือถึง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาแล้ว ขอให้เรียกประชุมกรรมการบริหารพรรค เพื่อกำหนดวัน-เวลาจัดการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 3/2566 ในการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แต่ยังไม่มีหนังสือตอบกลับมา

 

ส่วนจะติดขัดเหมือนการประชุมทั้ง 2 รอบที่ผ่านมาหรือไม่นั้น ชัยชนะบอกว่า “ต้องไปถามฝ่ายที่ไม่เคยเข้าการประชุม” ตนเองไม่สามารถตอบได้เพราะการประชุมทั้ง 2 รอบที่ผ่านมาตนเองเข้าทั้ง 2 รอบ 

 

ชัยชนะกล่าวอีกว่า ตอนนี้ยังไม่ติดอะไรอยู่แล้ว และยืนยันที่จะเสนอชื่อ นราพัฒน์ แก้วทอง ตามเดิม หากยังไม่สามารถเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ได้ คิดว่าการประชุมใหญ่ประจำปีจะต้องได้หัวหน้าพรรคคนใหม่ในวันนั้น 

 

ขณะที่ แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวกับ THE STANDARD ถึงการที่พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีหัวหน้าพรรคคนใหม่ว่า เรื่องระยะเวลาไม่ได้เป็นปัญหา และไม่มีผลกระทบใดๆ เนื่องจากภายหลังลาออกจากตำแหน่งของจุรินทร์ พรรคได้แจ้งต่อ กกต. ตามกฎหมายระบุไว้แล้ว

 

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงก็จะต้องมีคนที่ทำหน้าที่รักษาการ ต้องดำเนินการให้จบตามขั้นตอนกระบวนการให้จนได้ ส่วนระยะเวลานั้นไม่ได้มีการกำหนดตามกฎหมายอย่างชัดเจน โดยสามารถพิจารณาจากข้อบังคับของพรรคประชาธิปัตย์ได้ 

 

คำตอบสุดท้าย พรรคประชาธิปัตย์จะได้หัวหน้าพรรคเมื่อไร เป็นสิ่งที่หลายๆ คนต่างเฝ้ารอ เพราะภารกิจหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่นั้นไม่ง่ายนัก โดยต้องเร่งกอบกู้ประชาธิปัตย์ออกจากยุคที่ถูกเรียกว่า ‘มืดมน’ รวมถึงเรียกวิกฤตศรัทธาจากประชาชนกลับคืนมาให้ได้ ตั้งแต่ปี 2544 ประชาธิปัตย์พรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดยังไม่ได้ลิ้มรสชัยชนะการเลือกตั้งสักครั้ง 

 

โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ที่เดิมเคยเป็นพื้นที่ของประชาธิปัตย์อย่างเหนียวแน่นตลอดกาล แต่การเลือกตั้งรอบนี้ได้ที่นั่งในสภาเพียง 17 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 60 ที่นั่ง รวมถึงได้คะแนนเสียงจากประชาชนทั่วประเทศเพียง 920,000 เสียง ต่ำกว่า 1 ล้านเสียงเป็นครั้งแรกด้วย 

 

และท้ายที่สุด คงเป็นไปตามที่แกนนำของพรรคคนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์เคยบอกไว้ว่า “หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อาจได้ยากกว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30” เพราะขณะนี้ประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 มาแล้ว 2 เดือนกว่า แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่มีหัวหน้าพรรคคนใหม่เสียที

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising