ควันหลงจากเกมบิ๊กแมตช์พรีเมียร์ลีกเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมานอกจากความพยายามจนได้รับชัยชนะของอาร์เซนอลแล้ว อีกคำถามที่น่าสนใจคือเรื่องทางฝั่งแมนเชสเตอร์ ซิตี้
เปล่า เราไม่ได้จะคุยกันในช็อตปัญหาระหว่าง ไคล์ วอล์กเกอร์ กับสตาฟฟ์ทีมอาร์เซนอลหลังเกมจบลง หรือการถอดรหัสในคำพูดระหว่าง เป๊ป กวาร์ดิโอลา กับ มิเกล อาร์เตตา
สิ่งที่อยากชวนมาล้อมวงคุยกันมากกว่าคือเรื่องสถิติที่เกิดขึ้นในเกมที่เอมิเรตส์สเตเดียม
ตลอดทั้งเกมแมนฯ ซิตี้ ทีมที่ว่ากันว่าดีที่สุดของยุคสมัย มีโอกาสในการยิง (Shot) ทั้งเกมเพียงแค่ 4 ครั้งเท่านั้น
และในจำนวนนั้นไม่มีโอกาสในการสับไกยิงของ เออร์ลิง เบราต์ ฮาลันด์ แม้แต่ครั้งเดียว
เกิดอะไรขึ้นกับความ Creativity ของแมนฯ ซิตี้?
ย้อนกลับไปในเกมดังกล่าว ซึ่งต้องบอกว่าเป็นเกมที่สูสีดู๋ดี๋อย่างยิ่ง เพราะทั้งสองทีมวางกลศึกในการเล่นอย่างแยบยลและมีการชิงไหวชิงพริบกันตลอดทั้งเกม ชนิดที่หากใครเผลอพลาดชะตาก็อาจจะขาดได้เลย
เพียงแต่การแก้เกมของ มิเกล อาร์เตตา ด้วยการเดิมพันส่ง กาเบรียล มาร์ติเนลลี ลงสนามตั้งแต่ต้นครึ่งหลังเพื่อแทนที่ เลอันโดร ทรอสซาร์ด ที่ไม่มีส่วนร่วมอะไรกับเกมเลย นำไปสู่จุดเปลี่ยนแปลงในช่วงท้ายของเกม เมื่อกองหน้าบราซิลได้โอกาสสับไกยิงไปแฉลบ นาธาน อาเก เข้าไป
ตรงนี้เป็นเครดิตของมาร์ติเนลลี อาร์เซนอล และอาร์เตตา
แต่ฟากฝั่งที่หลายคนสนใจไม่แพ้กันคือแมนฯ ซิตี้ ที่ตลอดทั้งเกมนั้นก็ไม่ได้ถึงกับเป็นรองอะไรมากมาย มีหลายช่วงของเกมที่เป็นฝ่ายครองบอลได้เหนือกว่า ต่อบอลกันสวยงาม ถ่ายเทบอลกันไปมาอย่างแม่นยำและเยือกเย็น
ปัญหาคือนอกจากโอกาสลุ้นประตูที่ใกล้เคียงในช่วงต้นเกมจาก นาธาน อาเก ที่ได้โอกาสซัดจ่อๆ แต่ยิงข้ามคานออกไป เราก็แทบไม่เห็นว่าแมนฯ ซิตี้จะสร้างแรงกดดันให้กับอาร์เซนอลได้มากสักเท่าไร และดูเหมือนพวกเขาก็ไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจอะไรมากมายนักด้วย
สุดท้ายจบเกมด้วยการแพ้ มีโอกาสยิงแค่ 4 ครั้ง และเป็นการยิงเข้ากรอบแค่ครั้งเดียว ซึ่งน้อยที่สุดตั้งแต่เป๊ปเข้ามาคุมทีม 274 นัด และโคตรกองหน้าอย่างฮาลันด์ไม่มีโอกาสในการง้างเท้าแม้แต่ครั้งเดียว
ภาษาฟุตบอลคือเขาโดน วิลเลียม ซาลิบา เก็บใส่กระเป๋าเรียบร้อย
เรื่องนี้ทำให้เมื่อหลังเกมจบลง เป๊ป กวาร์ดิโอลา จึงถูกผู้สื่อข่าวถามถึงการที่แมนฯ ซิตี้มีโอกาสยิงแค่ 4 ครั้ง
“ก็พวกเขา (อาร์เซนอล) ตั้งรับกันได้ดีน่ะสิ” เป๊ปตอบคำถาม ก่อนจะถามกลับบ้าง “แล้วพวกเขาได้ยิงกี่ทีนะ”
ความจริงในช่วงก่อนเกมจะเริ่มสิ่งที่นักวิเคราะห์มองคืออาร์เซนอลน่าจะเป็นทีมที่ประสบปัญหาในการสร้างสรรค์โอกาสมากกว่า เพราะสตาร์เบอร์หนึ่งที่เป็น ‘เดอะแบก’ ของทีมมาตลอดอย่าง บูกาโย ซากา เกิดบาดเจ็บและไม่สามารถลงสนามช่วยทีมได้เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีครึ่ง (อนุญาตให้ตกใจได้!)
แต่ปรากฏว่าทั้งเกมอาร์เซนอลมีโอกาสง้างเท้าถึง 12 ครั้ง มากกว่าแมนฯ ซิตี้ถึง 3 เท่า
แบบนี้เรียกว่ามีปัญหาได้หรือยัง?
การปกป้องพิเศษ = การทำลายความสร้างสรรค์
ปัญหาของแมนฯ ซิตี้ไม่ได้มีเฉพาะแค่ในเกมกับอาร์เซนอลเท่านั้น
เพราะใน 3 เกมหลังสุดที่ลงสนามภายในประเทศ (ไม่นับเกมยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก) พวกเขาแพ้รวด (พ่ายนิวคาสเซิล เกมลีกคัพ และเกมพรีเมียร์ลีกที่แพ้ 2 นัดต่อวูล์ฟส์และอาร์เซนอล)
จุดที่ทุกคนสังเกตเห็นคือคนที่หายไปใน 3 เกมดังกล่าวก็คือ โรดรี มิดฟิลด์เสาหลักของทีมที่ถูกโทษแบน 3 นัดหลังจากโดนใบแดงในเกมที่พบกับน็อตติงแฮม ฟอเรสต์
เรื่องนี้เป๊ปเองก็ยอมรับว่ามีส่วนต่อทีม
ในเกมกับอาร์เซนอล เป๊ปมีการปรับตำแหน่งภายในทีมใหม่ โดยเลือกใช้บริการของ ฟิล โฟเดน ไปยืนปีกซ้ายแทน แจ็ค กรีลิช อีกคนที่ทำหน้าที่สนับสนุนฮาลันด์ในแนวรุกคือ ฮูเลียน อัลวาเรซ ส่วนในแดนกลางนั้นเมื่อไม่มีโรดรีแล้วมาเจออาร์เซนอลเลยต้องแพ็กแน่นเป็นพิเศษด้วยการใช้ แบร์นาโด ซิลวา, มาเตโอ โควาซิช และไอ้หนูดาวรุ่ง ริโก ลูอิส
ตามหน้ากระดาษผู้เล่นชุดนี้ก็ใช้ได้ ในหลายเกมที่ผ่านมาทุกคนต่างก็อยู่ในช่วงฟอร์มที่ดี แต่เมื่อถึงคราวลงสนามจริงๆ ปรากฏว่าทั้งหมดนี้ทำหน้าที่ได้แค่การ ‘คอนโทรล’ เกมให้อยู่ในจังหวะการเล่นของแมนฯ ซิตี้
“จากความจริงที่เราไม่มีโรดรี ผมเลยต้องการปกป้องการครองบอลของเรามากขึ้นด้วยนักเตะอย่างริโก, แบร์นาโด และมาเตโอ และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ทำไมเราถึงไม่ใช้กรีลิชลงเล่นในเกมนี้”
เพียงแต่คนที่ถูกมองว่าเสียประโยชน์มากที่สุดคือ แบร์นาโด ซิลวา ที่ต้องถอยลงต่ำมาเป็นคนคุมเกมแทนโรดรี โดยที่ลูกหาบอย่างโควาซิชและลูอิสไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนักในการสร้างสรรค์เกมรุกแทน
นั่นเท่ากับเป๊ปเลือกจะเก็บความสร้างสรรค์อย่างกรีลิชเอาไว้ข้างสนาม รวมถึงจำกัดความ Creativity ของทีมด้วยการให้แบร์นาโดเป็นคนเชื่อมและคุมจังหวะเกมมากกว่าจะไปสร้างปัญหาให้กองหลังคู่แข่ง
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อปกป้องทีมให้เหนียวแน่นที่สุด ซึ่งว่ากันตามตรงก็ทำได้ดีจนเกือบหมดเวลา
ถ้าไม่โดนลูกยิงแฉลบหน้าอาเกเข้าไป บางทีเรื่องหลังเกมที่คุยกันอาจเป็นความเหนียวแน่นของซิตี้แทนก็ได้?
แค่ขาดเธอไป ไม่ตาย ไม่ตายหรอกเธอ?
อีกจุดที่นึกถึงคือการที่เป๊ปไม่ได้ขาดแค่โรดรีเท่านั้น แต่ขาดจอมทัพตัวจริงอย่าง เควิน เดอ บรอยน์ ด้วย
ในการพบกันเมื่อฤดูกาลที่แล้ว เพลย์เมกเกอร์ชาวเบลเยียมคือคนที่สร้างความแตกต่างระหว่างทั้งสองทีมด้วยชั้นเชิงและทีเด็ดทีขาดที่ตัดสินเกมได้ด้วยตัวเอง
การบาดเจ็บหนักของ ‘KDB’ มีผลแน่นอน
แต่ไม่เพียงเท่านั้น เป๊ปยังเสียผู้เล่นระดับโลกที่ทั้งสร้างสรรค์และสังหารคู่แข่งได้อย่างเลือดเย็นไปอีก 2 คน คือ อิลคาย กุนโดกัน และ ริยาด มาห์เรซ
โดยเฉพาะในรายของ ‘กุนโด’ ที่เป็นคนปิดทองหลังพระของแมนฯ ซิตี้อยู่เงียบๆ มาหลายปี ในยามที่ทีมตีบตันหรือคับขันหากมีกองกลางรายนี้อยู่ก็จะมีทีเด็ดจากเขาให้เราได้เห็นอยู่เสมอ ขณะที่มาห์เรซแม้จะเป็นปีกจอมเลื้อยที่ดูขัดใจบ้างในบางจังหวะ แต่ความเร็ว การลากเลื้อยของเขาจะทำให้อาร์เซนอลพะวงมากกว่าการวิ่งขึ้นลงของวอล์กเกอร์แน่นอน
เมื่อไม่มีโรดรี, เดอ บรอยน์ รวมถึงกุนโดกันและมาห์เรซ และต้องเปลี่ยนมาใช้โควาซิช, โฟเดน, อัลวาเรซ, นูเนส หรือโดกู มันมองเห็นความแตกต่างกันได้อย่างชัดเจนอยู่พอสมควร
ไม่ได้แปลว่านักเตะเลือดใหม่ไม่เก่งหรือไม่ดี แต่พวกเขาดีไม่พอที่จะจัดการทีมที่แข็งแกร่งทั้งแผ่นอย่างอาร์เซนอลที่มี ดีแคลน ไรซ์ เป็นกำแพงเหล็กได้
ถึงเวลาเป๊ปต้อง ‘อีโว’ ทีมอีกครั้ง?
ความจริงตั้งแต่ได้ เออร์ลิง ฮาลันด์ มาร่วมทีมเมื่อฤดูกาลที่แล้ว แมนฯ ซิตี้มีการปรับเปลี่ยนระบบการเล่นและสไตล์ไปจากเดิมมาก เรียกได้ว่าแทบจะเป็นคนละทีมกับสมัยก่อน
เหตุผลสำคัญเป็นเพราะการจะใช้ประโยชน์จากกองหน้าอย่างฮาลันด์ให้คุ้มที่สุดคือการปล่อยให้จอมมารน้อยทำในสิ่งที่เขาถนัดที่สุดคือการรอคอยจังหวะที่จะเล่นงานกองหลัง ไม่ต้องมาพะวงกับเรื่องของการทำหน้าที่ในเกมรับหรือการเป็นตัวทำเกมด้วยตัวเองในแบบเดียวกับที่ แฮร์รี เคน ทำ
ดังนั้นแทนที่จะโหมบุกโดยอาศัยเกมริมเส้น การเล่น Inverted Fullback ต่อบอลกันอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ฤดูกาลก่อนแล้วที่แมนฯ ซิตี้มีการปรับเปลี่ยนสไตล์ของตัวเองใหม่ เล่นกันช้าลง แน่นอนมากขึ้น ไม่ยอมเสียบอลง่ายๆ เพื่อป้องกันเกมสวนกลับของคู่แข่ง
ฟูลแบ็กอย่างวอล์กเกอร์ถูกดันขึ้นไป ‘ปัก’ ทางฝั่งขวาของสนามเพื่อกดตัวริมเส้นคู่แข่งไว้ไม่ให้ไปไหน ส่วนทางซ้ายนั้นก็เลิกใช้แบ็กอาชีพ แต่หันมาใช้เซ็นเตอร์ฮาล์ฟที่พอเล่นเกมริมเส้นได้นิดหน่อย จากอาเกในฤดูกาลที่แล้วมาถึงคิวของ ยอสโก กวาร์ดิโอล ในฤดูกาลนี้
การใช้กวาร์ดิโอลในตำแหน่งนี้ถูกมองว่าเป็นการ ‘เสียของ’ อย่างมาก แต่เป๊ปก็พอใจกับสิ่งที่ทีมได้รับจากการใช้หนึ่งในเซ็นเตอร์ที่เก่งที่สุดในโลกในตำแหน่งนี้
แล้วผลลัพธ์ที่ได้ในฤดูกาลที่แล้วจากการปรับทีมเพื่อฮาลันด์? แมนฯ ซิตี้ก็ได้ ‘Treble Champ’ ไง และดาวยิงนอร์เวย์ก็ทุบสถิติต่างๆ มากมาย
ส่วนในฤดูกาลนี้ก่อนหน้าที่โรดรีจะโดนใบแดง พวกเขาชนะรวดมา 6 เกมในลีกแบบสบายๆ ค่าเฉลี่ยในการครองเกมตั้งแต่ฤดูกาลที่แล้วอยู่ที่ 65 เปอร์เซ็นต์ มีการสัมผัสบอลเฉลี่ยของทีมในฤดูกาลนี้ที่ 814 ครั้ง (เยอะมาก! ส่วนฤดูกาลก่อนอยู่ที่ 817 ครั้ง เรียกว่าใกล้เคียงกัน ไม่ได้มาตรฐานตก)
เรื่องของการหาโอกาสจบสกอร์? ตรงนี้น่าสนใจ เพราะมีเกมที่ได้โอกาสลุ้นยิงเยอะมาก เช่น ในเกมกับเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด (30 ครั้ง) และเวสต์แฮม (29 ครั้ง)
ถึงจะมีเกมที่ได้โอกาสยิงน้อยอย่างเกมกับอาร์เซนอล (4 ครั้ง) ฟูแลมและน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ (เกมละ 7 ครั้ง) แต่ก็อาจจะไม่ใช่จุดที่น่ากังวลมากนักว่าซิตี้จะมีปัญหาอะไรมากมาย เพราะด้วยคุณภาพของผู้เล่นต่อให้ไม่ดีเท่าฤดูกาลก่อน แต่นักเตะใหม่ๆ ก็จะค่อยๆ ปรับตัวได้ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งเป็นสิ่งที่เชื่อใจเป๊ปได้อยู่แล้ว
ความ Creativity ที่หายไปในเกมกับอาร์เซนอลจึงเป็นสิ่งที่พอจะมองเห็นได้ว่ามี ‘เหตุผล’ รองรับอยู่ และไม่น่าจะเป็นปัญหาระยะยาวอะไร
เดี๋ยวเอาไว้ถ้าแพ้อีกนัด ฮาลันด์ยิงไม่ได้เป็นเกมที่ 10 ติดต่อกัน เราค่อยมาคุยกันใหม่แล้วกัน
อ้างอิง: