THE STANDARD WEALTH มีโอกาสพูดคุยแบบเอ็กซ์คลูซีฟกับ ‘อดิทัต วะสีนนท์’ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ถึงศักยภาพพื้นที่ที่พบแร่ลิเธียมในไทย ขั้นตอน และความเป็นไปได้ที่จะมีเหมืองลิเธียมในไทย ต้องใช้เวลานานแค่ไหน มีแล้วใครได้ประโยชน์บ้าง
เพราะกว่าจะผ่านกระบวนการทำเหมืองจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ กับการมาถึงของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อะไรจะมาก่อนกัน?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน’ เปรียบเสมือนหัวใจของรถยนต์ไฟฟ้า พิมพ์ภัทราเร่งสำรวจและจัดหาแหล่งลิเธียมที่มีศักยภาพในไทย 2 แห่ง รับคลื่นอุตสาหกรรม EV
- ราคาลิเธียมดิ่งลงกว่า 80% ในรอบปี หลังดีมานด์รถยนต์ไฟฟ้าในจีนชะลอตัว คาดในปีนี้จะมีลิเธียมส่วนเกิน 17
- เปิดชื่อแบรนด์รถยนต์ EV จีน ที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทย เริ่มเดินสายพานปี 2567-2568 กำลังผลิตเท่าไร ตั้งอยู่ที่ไหนบ้าง
“ผมอยากให้มองว่าวันนี้เป็นเรื่องน่ายินดีที่ไทยมีวัตถุดิบต้นน้ำ ด้วยนโยบาย EV 3.5 ของรัฐบาลสร้างแรงจูงใจให้บริษัทยานยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ๆ เข้ามาตั้งฐานการผลิตภายในประเทศ ดังนั้นวันนี้เรามีความพร้อม มีของดี” อดิทัตเกริ่นก่อนเข้าสู่การสนทนา
อดิทัต วะสีนนท์
อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ชวนวิเคราะห์ที่ไปที่มาของประเด็นร้อน
“เราพบแหล่งแร่ลิเธียมที่มีศักยภาพจริง” โดยพื้นที่ที่มีศักยภาพ 2 แหล่งคือ
- แหล่งบางอีตุ้ม
- แหล่งแร่จากหินแข็งในพื้นที่แหล่งเรืองเกียรติ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา โดยแหล่งลิเธียมเรืองเกียรติมีปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ (Mineral Resource) ประมาณ 14.8 ล้านตัน ที่เกรดลิเธียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% หรือมีปริมาณลิเธียมคาร์บอเนตเทียบเท่า (LCE) ประมาณ 164,500 ตัน
หากออกแบบแผนผังการทำเหมืองอย่างเหมาะสมและสามารถนำแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ 25% คาดว่าจะสามารถนำลิเธียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน
กรณีของชนิดของแร่ที่พบในประเทศไทยในขณะนี้ แม้จะใช้คำว่า “แหล่งแร่ลิเธียม” ขออธิบายให้ชัดเจนว่าแหล่งแร่ดังกล่าวที่พบนั้นยังคงเป็นแร่ดิบ หรือ Mineral Resource
ภาพ: poo worawit / Getty Image
แร่ดิบส่วนนี้มีลักษณะเป็นเพียงก้อนหินเพกมาไทต์ (Pegmatite) ซึ่งจะมีแร่ประเภทอื่นปะปนอยู่ นั่นคือแร่เลพิโดไลต์ (Lepidolite) ที่มีความสมบูรณ์ของแร่ลิเธียมอยู่ในนั้น หรือเกรดลิเธียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45%
แม้จะมีความสมบูรณ์ไม่สูงมาก แต่ก็ถือว่ามีความสมบูรณ์กว่าแหล่งลิเธียมหลายแห่งทั่วโลก และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการแต่งแร่ที่ความสมบูรณ์ได้คุ้มค่าในอนาคต
กว่าจะมีเหมืองแร่ว่ายากแล้ว ต้องได้รับสิทธิ์สำรวจก่อน
ปัจจุบันแหล่งแร่ดังกล่าวมีผู้ได้รับสิทธิ์ในการสำรวจคือ ‘บริษัท สยามโลหะ อุตสาหกรรม จำกัด’ ซึ่งต้องผ่านการยื่นเอกสารเยอะมาก เช่น คุณสมบัติทางธรณีวิทยา ไม่ใช่ว่าจะสำรวจที่ไหนได้เลย
โดยในขั้นตอนสำรวจตรงส่วนนี้บริษัทได้ยื่นอาชญาบัตรมาตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งจะมีระยะเวลาสำรวจด้วยการลงทุนเองตลอด 5 ปี ทั้งยังต้องจ่ายค่าภาคหลวงเองทั้งหมด
แต่การสำรวจจะสิ้นสุดในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 แล้ว และยังไม่มีการหารือถึงแนวทางสำรวจต่อหรือไม่อย่างไร เพราะเอกชนก็ต้องลงทุน โดยการสำรวจจะเจอหรือไม่เจอแร่ก็ล้วนมีค่าใช้จ่าย
เล่าถึงขั้นตอนการขอสำรวจต้องใช้เวลาและไม่ง่ายเพราะ
- ภายใต้ พ.ร.บ. แร่ (ฉบับใหม่) พ.ศ. 2560 ได้กำหนดกรอบการดำเนินงานไว้ให้เข้มงวดขึ้นและชัดเจนกว่าเดิมคือ 2 หน่วยงานหลัก ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะต้องประกาศเขตแหล่งแร่ก่อน เมื่อประกาศแล้วเอกชนที่สนใจจะต้องยื่นอาชญาบัตรเพื่อสำรวจแร่
- เมื่อพบว่าแหล่งดังกล่าวมีปริมาณแร่ที่คุ้มค่าในการทำเหมือง เอกชนผู้ได้รับสิทธิ์จะเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนในพื้นที่ เพื่อทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งน้ำ ดิน และชีวิตความเป็นอยู่
- ต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลครบถ้วนทุกมิติจนกว่าจะยื่นขอประทานบัตรเพื่อขุดเจาะทำเหมือง กระบวนการนี้ตามกฎหมายอาจใช้ระยะเวลาพอสมควร เนื่องจากมีหลายฝ่ายที่ต้องร่วมกันในการพิจารณา รวมไปถึงการหารือถึงค่าภาคหลวง โดยองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จัดเก็บค่าภาคหลวง 60%
ภาพ: Sutthichai Supapornpasupad / Getty Image
เมื่อเหมืองได้รับการอนุญาตแล้วจะต้องมีการตั้ง 2 กองทุน ได้แก่
- กองทุนเยียวยาและชดเชยผลกระทบชุมชนรอบเหมือง
- กองทุนพัฒนาชุมชน
ขณะเดียวกันระหว่างการดำเนินงานเจ้าหน้าที่ก็จะศึกษาผลกระทบอย่างต่อเนื่อง
“ทุกอย่างมีกระบวนการขั้นตอน ใช้เวลาพอสมควร แต่เราต้องยอมรับว่าการที่ไทยพบแหล่งแร่ลิเธียมจะทำให้ไทยมีวัตถุดิบที่เป็นต้นน้ำพร้อมในการผลิตแบตเตอรี่แร่ลิเธียม นี่คือสิ่งที่ผมอยากสื่อสารออกไป”
หลังจากนั้นเมื่อเอกชนสำรวจแร่ก็ยื่นขอประทานบัตรขุดเจาะ จากนั้นจะต้องเข้าสู่ขั้นตอนของการถลุงหรือสกัดแร่
มีทรัพยากรแล้วก็ต้องมีโรงสกัดแร่อีก “ไทยยังไม่มี”
“กรณีนี้อีกก็เช่นกัน ในส่วนกลางน้ำไทยยังไม่มีโรงแต่งแร่เพื่อสกัดแร่ออกมา ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีแต่งแร่ลิเธียมที่ดีและใกล้ที่สุดคือจีน”
ส่วนแนวทางที่เปิดให้เอกชนลงทุนตั้งโรงแต่งแร่เองหรือไม่ หรือจะดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาร่วมทุนนั้น “รัฐบาลเปิดกว้าง”
แต่ต้องไม่ลืมว่ากระบวนการเหล่านี้ล้วนต้องอาศัยทั้งเวลาและเทคโนโลยี
ภาพ: Khun Thum Si / Getty Image
ถามว่าทำไม…
เนื่องจากหลายประเทศพบแร่ ไม่ว่าจะเป็นแร่ใดๆ ก็แล้วแต่ ล้วนพึ่งพาการพัฒนาจากเทคโนโลยีเพื่อศึกษาถึงความคุ้มค่าก่อน เพราะการจะสกัดแร่ลิเธียมออกมาใช้ได้เลยเพื่อให้ได้ลิเธียมคาร์บอเนต (ลักษณะเป็นผงสีขาว) จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีและสารเคมี ซึ่งสารเคมีต้องได้รับการรับรองและการยืนยันว่าไม่ใช่สารเคมีอันตราย จะเป็นลักษณะเช่นเดียวกับแร่ทองคำขาว (White gold)
คำถามคือ “วันนี้ไทยยังไม่มีโรงถลุงแร่ แล้ววิธีการใดจึงจะคุ้มค่า ซึ่งมีการเสนอแนวคิดว่าหากส่งออกไปสกัดที่จีน นำกลับมาจะคุ้มค่าหรือไม่ ข้อมูลดังกล่าวยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่จากการประเมิน ไม่คุ้ม เนื่องจากจะมีต้นทุนแฝงหลายมิติ ค่าขนส่ง และปริมาณแร่ที่ขุดได้แล้วอาจมีปริมาณน้อยเกินไปที่จะส่งออกไปสกัดที่ต่างประเทศหรือไม่”
มองภาพชัดเร็วสุด 2 ปี แต่ 5 ปีจะเริ่มเห็นผล
“จริงๆ แล้วผมอยากให้มองว่าวันนี้เป็นเรื่องน่ายินดีที่ไทยมีวัตถุดิบต้นน้ำ เรามีของดี ขาดเพียงกลางน้ำนั่นคือโรงแต่งหรือถลุงแร่ ซึ่งการมีโรงผลิตเซลล์และประกอบแบตเตอรี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วง ในส่วนนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พร้อมที่จะผลักดัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าขณะนี้มีหลายบริษัทประกาศและเริ่มยื่นคำขอรับการส่งเสริมเข้ามาต่อเนื่อง
“เราอาจต้องใช้เวลาขุดแร่ 1 ปี ตั้งโรงแต่งแร่ กว่าจะผ่านกระบวนการสกัดแร่ใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปี ไปสู่กระบวนการผลิตและประกอบแบตเตอรี่อีก 2 ปี รวมแล้วเป็น 5 ปี เมื่อถึงเวลานั้นตลาดรถ EV ก็พร้อม เป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่ไทยพร้อมผลิตแบตเตอรี่จากลิเธียม หากอุตสาหกรรมนี้ผ่านทั้งกระบวนการต้นน้ำถึงปลายน้ำจะได้ประโยชน์กับคนไทยในแง่ของการจ้างงานจำนวนมาก สามารถควบคุมต้นทุนห่วงโซ่อุตสาหกรรมได้ ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้า” อดิทัตกล่าวทิ้งท้าย
ภาพ: VISUAL CAPITALIST / SCIENCE PHOTO LIBRARY / Getty Image
ส่องมูลค่าและประโยชน์ของแร่ลิเธียม
สำหรับแร่ลิเธียมนอกจากจะสำคัญกับการผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า ยังใช้ในสินค้าอุปโภครอบตัวเราทั้งสิ้น ทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แล็ปท็อป โทรศัพท์มือถือ เครื่องบิน รถจักรยานยนต์ และรถไฟ ฉะนั้นความต้องการแร่ลิเธียมมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น
โดยรายงานข่าวระบุว่ามีการคาดการณ์ว่าลิเธียมจะขาดแคลนในอนาคต โดยทั่วไปลิเธียมมีราคาราว 5,000-8,000 ดอลลาร์ต่อตันในการผลิต แต่สามารถนำไปขายได้ถึง 10 เท่าในบางตลาด โดยในปี 2022 ราคาเฉลี่ยของลิเธียมคาร์บอเนตเกรดแบตเตอรี่อยู่ที่ประมาณ 37,000 ดอลลาร์ต่อตัน ปัจจุบันราคาลิเธียมค่อนข้างสวิงและลดลงเนื่องจากหลายปัจจัย
นักวิเคราะห์มองว่าสาเหตุที่ราคาลิเธียมลดลงนั้นน่าจะเป็นปัญหาระยะสั้น เช่น การเติบโตของยอดขายที่ชะลอตัวในจีนและยุโรป ด้วยเหมืองและโรงงานแปรรูปแห่งใหม่ที่ผลิตอุปทานได้มากขึ้น จึงทำให้เกิดความสมดุลมากขึ้นกับความต้องการด้านอุปสงค์และอุปทาน เมื่อราคาลดลง นักลงทุนต่างมองหาลิเธียมที่จะดีดตัวขึ้นเมื่อปัจจัยด้านต้นทุนมีการเปลี่ยนแปลง
80% ของแร่ลิเธียมที่ผลิตทั่วโลกใช้ในอุตสาหกรรม EV ขณะเดียวกันแน่นอนว่าแร่ลิเธียมเป็นที่ต้องการอย่างมากในอุตสาหกรรม EV ที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน โดยมากกว่า 80% ของแร่ลิเธียมที่ผลิตทั่วโลกวันนี้ถูกนำไปใช้ในการแบตเตอรี่ EV ข้อมูลลิเธียมจึงเป็นที่สนใจ ส่วนหนึ่งอาจเป็นโอกาสทองในการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาตั้งโรงงาน EV ในประเทศไทย โดยมีการคาดการณ์ว่าความต้องการแร่ลิเธียมจะพุ่งขึ้นเป็น 2 ล้านตันภายในปี 2030
BOI เปิดทางนักลงทุนปักหมุดโรงงานแบตเตอรี่
สำหรับนโยบายของไทย นอกจากจะมุ่งเปิดรับการลงทุนพลังงานสะอาดด้วยการผลักดันยานยนต์สมัยใหม่แล้ว หากย้อนดูมาตรการกระตุ้นการลงทุนจาก BOI จะเน้นส่งเสริมโรงงานแบตเตอรี่ระดับเซลล์
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการส่งเสริมการลงทุนการผลิตแบตเตอรี่หลายโครงการ แต่ปัจจุบันการเข้ามาลงทุนในไทยยังเป็นเทคโนโลยีที่เป็นการ ‘ประกอบแบตเตอรี่’ ที่ใช้ในรถยนต์ EV ในลักษณะที่เป็น Cell to Pack และ Cell to Modul มากกว่า ดังนั้นเป้าหมายระยะต่อไปคือการต่อยอด ส่งเสริมให้มีการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่เป็นเทคโนโลยีจากต้นน้ำ ด้วยการส่งเสริมให้มีการลงทุนในโรงงานที่ผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์แบตเตอรี่ควบคู่กันไป
ทั้งหมดนี้จะสอดคล้องกับเป้าหมายการเป็นฐานการผลิต EV ในประเทศ หรือเป้าหมาย ‘30@30’ หรือการผลิตรถไฟฟ้าให้ได้ 30% ของยอดการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศ หรือต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ได้ประมาณ 7.25 แสนคัน
หมายความว่าอนาคตไทยจะต้องมีกำลังการผลิตแบตเตอรี่มากขึ้นในประเทศ เพื่อรองรับการผลิตรถ EV ประมาณ 40 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ภายในปี 2030
7 บริษัทที่ผลิตแบตเตอรี่ EV ปักหมุดลงทุนในไทย
รายงานข่าวระบุว่า ปัจจุบันมีบริษัทผู้ลงทุนผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า EV ในไทย 7 ราย ได้แก่
- โรงงาน HASCO-CP BATTERY SHOP บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เอ็มจี
- บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA
- บริษัท บีวายดี ออโต้ (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยเทคโนโลยีเบลด แบตเตอรี
- บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด และบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (SVOLT)
- บริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด และบริษัท นูออโว พลัส จำกัด (เครือ ปตท.)
- บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด
- Contemporary Amperex Technology Co., Ltd หรือ CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำของโลกจากจีน และบริษัท อรุณ พลัส จำกัด (เครือ ปตท.)
หลังจากนี้คงต้องติดตามว่าก้าวแรกของการค้นพบลิเธียมในไทยที่ว่านี้จะเป็นต้นน้ำแห่งโอกาสของการผลิตแบตเตอรี่ สู่การเป็นฮับภูมิภาคยานยนต์ไฟฟ้า EV ในอนาคตอย่างไรต่อไป
อ้างอิง: