×

เมื่อไวรัส ‘ฟีเจอริง’ กัน โควิดสายพันธุ์ลูกผสม XE หรือ XJ น่ากังวลหรือไม่

06.04.2022
  • LOADING...
เมื่อไวรัส ‘ฟีเจอริง’ กัน โควิดสายพันธุ์ลูกผสม XE หรือ XJ น่ากังวลหรือไม่

เมื่อเดือนมกราคม 2565 เราได้ยินชื่อ ‘เดลตาครอน’ (Deltacron) ครั้งแรกจากประเทศไซปรัส ขณะนั้นนักวิทยาศาสตร์ยังไม่มั่นใจว่าไวรัสโควิด 2 สายพันธุ์จะสามารถแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนสารพันธุกรรมจนเกิดสายพันธุ์ลูกผสม (Recombinant) ได้หรือไม่ หรือเป็นเพียงการติดเชื้อมากกว่า 1 สายพันธุ์ในคนเดียวกัน (Mixed Infection) และในครั้งนั้นก็มีแนวโน้มว่าเป็นการปนเปื้อน (Contamination) ของไวรัส 2 สายพันธุ์ระหว่างการตรวจรหัสพันธุกรรมมากกว่า 

 

จนมาถึงเดือนมีนาคม 2565 มีรายงานว่าพบสายพันธุ์ลูกผสมจริงระหว่างสายพันธุ์ย่อยของเดลตา (AY.4) และโอมิครอน (BA.1) ที่ประเทศฝรั่งเศสและเดนมาร์ก กระทั่งเดือนเมษายนนี้ที่เราได้ยินข่าวสายพันธุ์ลูกผสมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ XE หรือ XJ ที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานว่าพบในประเทศไทยแล้ว โควิดสายพันธุ์ลูกผสมเหล่านี้น่ากังวลหรือไม่

 

สายพันธุ์ลูกผสมเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

สายพันธุ์ลูกผสม (Recombinant) คือไวรัสที่ตรวจพบชิ้นส่วนสารพันธุกรรมมากกว่า 1 สายพันธุ์ ถึงแม้ปกติไวรัสกลายพันธุ์ตลอดเวลา จึงอาจมีบางตำแหน่งที่บังเอิญเหมือนกับสายพันธุ์อื่น หรือกลายพันธุ์ต่อเนื่องจนกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ แต่สายพันธุ์ลูกผสมเกิดจากการติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ในคนเดียวกัน หลังจากที่แต่ละสายพันธุ์จำลองตัวเองขึ้นมา ในขั้นตอนของการประกอบชิ้นส่วนได้มีการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมขึ้น ซึ่งถ้าเป็นวงการเพลงก็อาจเรียกว่า ‘ฟีเจอริง’ (Featuring) 

 

ส่วนในวงการวิทยาศาสตร์ได้ตั้งชื่อสายพันธุ์เหล่านี้ขึ้นต้นด้วยตัวเอ็กซ์ (X) แล้วตามด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษเริ่มจาก XA, XB, … จนขณะนี้ถึง XS แล้ว (ไม่มี XI และ XO) ทั้งนี้ การผสมระหว่างสายพันธุ์ไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว เพราะเคยมีรายงานในฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมระดับโลกมาตั้งแต่ปี 2563 กล่าวคือ

  • สายพันธุ์ XA ผสมระหว่างอัลฟา (B.1.1.7) และ B.1.177 รายงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 พบตัวอย่างยืนยันทั้งหมด 88 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่พบในสหราชอาณาจักร 
  • สายพันธุ์ XB ผสมระหว่าง B.1.631 และ B.1.634 รายงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 พบตัวอย่างยืนยันทั้งหมด 3,142 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่พบในสหรัฐอเมริกา

 

ซึ่งไม่ได้กลายมาเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศนั้นๆ ส่วนสายพันธุ์เดลตาครอนที่พบในประเทศฝรั่งเศสและเดนมาร์กเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ถูกจัดเป็นสายพันธุ์ XD และเป็นสายพันธุ์ภายใต้การติดตาม (Variants Under Monitoring: VUM) ขององค์การอนามัยโลก แต่ข้อมูล ณ ปัจจุบันพบว่าสายพันธุ์นี้ไม่น่ากังวลแต่อย่างใด เพราะไม่ได้มีความสามารถในการแพร่กระจายเพิ่มขึ้น

 

สายพันธุ์ลูกผสมของโอมิครอน

 

สายพันธุ์ลูกผสมส่วนใหญ่ผสมระหว่างสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.1 และ BA.2 ซึ่งน่าจะเป็นเพราะทั้ง 2 สายพันธุ์นี้แพร่กระจายได้เร็ว ทำให้มีโอกาสติดเชื้อพร้อมกันภายในคนเดียวกัน โดยสายพันธุ์ที่ถูกจับตาอยู่ในขณะนี้คือ XE มีสารพันธุกรรมส่วนใหญ่รวมถึงยีน S (โปรตีนหนาม) เป็นของสายพันธุ์ BA.2 รายงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 ที่สหราชอาณาจักร ปัจจุบันกระจายอยู่ทั่วประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ทางตะวันออกของอังกฤษ ลอนดอน และทางตะวันออกเฉียงใต้

 

องค์การอนามัยโลกยังคงติดตามสายพันธุ์นี้ในฐานะสายพันธุ์โอมิครอนอยู่ แต่ข้อมูลจากสำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร (UKHSA) พบว่าผู้ป่วยสายพันธุ์ XE มีอัตราการเพิ่มจำนวนเร็วกว่าสายพันธุ์ BA.2 เท่ากับ 9.8% ต่อสัปดาห์ แต่ด้วยจำนวนตัวอย่างที่น้อยจึงยังต้องติดตามการระบาดไปอีกระยะหนึ่ง ส่วนความรุนแรงยังไม่มีข้อมูล (ในขณะที่สายพันธุ์ BA.2 มีอัตราการเพิ่มจำนวนเร็วกว่า BA.1 หรือโอมิครอนเดิม 75.3% ต่อสัปดาห์ ส่วนความรุนแรงไม่แตกต่างกัน)

 

นอกจากนี้ UKHSA ยังมีการติดตามสายพันธุ์ลูกผสมอีก 2 สายพันธุ์คือ XD ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ปัจจุบันยังไม่พบในสหราชอาณาจักร ทั่วโลกพบล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2565 และ XF พบเฉพาะในสหราชอาณาจักร รายงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 แต่พบเพียงคลัสเตอร์เล็ก ไม่มีหลักฐานว่าสามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น และตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมาก็ยังไม่พบสายพันธุ์ XF อีก

 

สายพันธุ์ลูกผสมที่พบในประเทศไทย

 

ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าสายพันธุ์โอมิครอนแทบจะผูกขาดตลาดในประเทศไทยแต่เพียงรายเดียว ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่ระบาดระหว่างวันที่ 26 มีนาคม – 1 เมษายน 2565 จำนวน 1,933 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์โอมิครอน 99.8% และเดลตา 0.2% เมื่อแยกโอมิครอนออกเป็นสายพันธุ์ย่อยพบว่า BA.1 กำลังถูกแทนที่ด้วย BA.2 (แต่ด้วยอัตราที่ช้ากว่าตอนโอมิครอนแทนที่เดลตา) โดยพบ BA.1 เท่ากับ 7.0% และ BA.2 เท่ากับ 93.0% ส่วน BA.3 ยังไม่พบในประเทศไทย

 

สำหรับสายพันธุ์ลูกผสมในประเทศไทยมีรายงาน 2 รายคือ

  • สายพันธุ์ XE ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงทางเพจเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2565 ว่าตรวจพบสายพันธุ์ XE เป็นผู้ติดเชื้อชาวไทย 1 ราย มีอาการเล็กน้อยจัดเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ปัจจุบันหายจากอาการโควิดแล้ว และยังไม่พบคนรอบข้างติดเชื้อ
  • สายพันธุ์ XJ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2565 ว่าตรวจพบสายพันธุ์ลูกผสมใกล้เคียง XJ ซึ่งตรวจสอบแล้วว่าไม่เหมือนสายพันธุ์ XE เป็นผู้ติดเชื้อชาวไทย 1 ราย อายุ 34 ปี อาชีพพนักงานบริษัทขนส่ง ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 จากโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และมีประวัติฉีดวัคซีน Sinopharm จำนวน 2 เข็ม

 

“สำหรับสายพันธุ์ XJ ยังไม่มีข้อมูลเรื่องการแพร่เร็วหรือรุนแรง ดังนั้นประชาชนยังไม่ต้องกังวลเรื่องสายพันธุ์ลูกผสม ส่วนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ มีการแพร่เชื้อเร็ว ทำให้มีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น จึงขอให้หลีกเลี่ยงพฤติกรรม เสี่ยงและป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน รวมถึงต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน” นพ.ศุภกิจกล่าว

 

ในเมื่อการระบาดทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูง จึงมีโอกาสที่ไวรัสจะกลายพันธุ์ต่อเนื่อง รวมถึงผสมข้ามสายพันธุ์ สายพันธุ์ลูกผสมที่ถูกจับตามองในขณะนี้คือ XE ผสมระหว่างโอมิครอน 2 สายพันธุ์ (BA.1 + BA.2) พบครั้งแรกที่สหราชอาณาจักร เมื่อเดือนมกราคม 2565 ปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยอัตราเร็วกว่าสายพันธุ์ BA.2 ประมาณ 10% ต่อสัปดาห์ แต่ข้อมูลยังไม่พอที่จะบอกว่าความรุนแรงเป็นอย่างไร ส่วนในประเทศไทยพบแล้ว 1 ราย

 

อย่างไรก็ตามสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศไทยขณะนี้ยังเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังคงจำเป็น โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เพื่อป้องกันอาการรุนแรง ประกอบกับใกล้จะถึงเทศกาลสงกรานต์ ผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน 2 เข็มแรกหรือฉีดครบเกิน 3 เดือนแล้วควรติดต่อฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปียังไม่มีวัคซีนก็ต้องหลีกเลี่ยงการพบปะกับคนต่างครอบครัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X