กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว วิลเลียม ‘บิลล์’ แชงคลีย์ ปรมาจารย์ลูกหนังชาวเมืองเกล็นบัคค์ ในแคว้นแอร์เชียร์ ประเทศสกอตแลนด์ ผู้กลายเป็นตำนานที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลแห่งเมอร์ซีย์ไซด์ ในการนำลิเวอร์พูลไปสู่การเป็นสโมสรที่ครองความยิ่งใหญ่ของวงการฟุตบอลอังกฤษได้ถึง 2 ทศวรรษได้เคยกล่าวว่า
“ฟุตบอลนั้นไม่ได้มีความหมายถึงแค่เพียงความเป็นและความตาย มันมีความหมายมากกว่านั้นมากมายนัก”
ประโยคนี้ได้กลายเป็นประโยคอมตะของโลกฟุตบอล โดยเฉพาะในหมู่เหล่าค็อปชนที่ท่องจำไว้ได้อย่างขึ้นใจตลอดมา
อย่างไรก็ดีดูเหมือนถ้อยคำดังกล่าวจะได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ณ เข็มนาฬิกาเดินไป สิ่งที่เขาคิดนั้นผิด
หรือหากไม่ผิดก็อาจจะถูกสำหรับเขาคนเดียว
โมงยามแห่งความสับสนวุ่นวายตลอดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เราได้ประจักษ์แล้วครับว่า ท้ายที่สุดแล้วไม่มีอะไรที่สำคัญไปกว่าชีวิต
ไม่ใช่เฉพาะชีวิตของแฟนบอล หรือเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานในสนาม
นักฟุตบอลเองก็มีชีวิตของเขา มีคนที่รักและห่วงใยไม่ต่างอะไรจากเรา
ตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เห็นกระแสข่าวเรื่องผลกระทบจากไวรัสโคโรนาในวงการกีฬาอย่างมากมายครับ และแน่นอนว่าหนึ่งในกีฬาที่ถูกจับตามองมากคือกีฬามหาชนอย่างฟุตบอล ว่าจะเอาตัวรอดจากเรื่องนี้ได้ไหม
พอจะบอกได้อยู่ครับว่าทุกฝ่ายได้พยายามที่จะทำให้ทุกอย่างเดินหน้า ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนแมตช์การแข่งขันหรือแข่งในสนามปิด
แต่ท้ายที่สุดแล้วเราต่างพบกับความจริงว่า สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เรียกว่าไวรัสโคโรนานั้นรับมือได้ยากจนเกินไป
ลูกฟุตบอลที่ถูกเตะไปมาตลอดเวลาแทบไม่เคยมีโอกาสได้หยุดพัก ถูกทิ้งไว้ที่กลางสนามตรงนั้นเอง เพราะไม่เหลือใครที่จะคอยเตะมันแล้ว
มันเป็นสถานการณ์ที่เราไม่เคยพบเจอมาก่อนในชีวิต
และสถานการณ์นั้นนำไปสู่คำถามใหม่ที่ไม่เคยมีใครต้องตอบมาก่อน ว่าหากโลกฟุตบอลจำต้องหยุดนิ่งแบบนี้ แล้วพวกเราจะทำอย่างไรต่อไป?
จะพักอีกนานแค่ไหน จะกลับมาแข่งต่อได้หรือไม่ แล้วมันจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อไปในการแข่งขันวันข้างหน้า
คำถามพรั่งพรูแต่ไม่มีใครที่รู้คำตอบ
ไม่ได้ต่างอะไรจากชีวิตคน ที่บางครั้งเราตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก บ้างเข้าขั้นวิกฤต จิตใจที่เคยสงบก็ว้าวุ่น ความเยือกเย็นที่เคยมีก็หายไป สิ่งต่างๆ ที่เป็นพันธะกลายเป็นภาระที่ทำให้ทุกอย่างดูหนักหนา จนบางครั้งรู้สึกว่าแบกต่อไปไม่ไหว
ในสถานการณ์แบบนี้ บางครั้งสิ่งที่ดีที่สุดคือการที่ทำให้เราได้กลับมาทบทวนตัวเองครับ
ว่าสุดท้ายแล้วอะไรที่ ‘สำคัญ’ กับเราจริงๆ
เหมือนอย่างกรณีของพรีเมียร์ลีก ที่เป็นหนึ่งในลีกที่วุ่นวายที่สุด เพราะนอกจากจะเป็นลีกที่ได้รับความนิยมสูงสุดแล้ว พวกเขายังเป็นลีกที่มีเม็ดเงินสะพัดมากที่สุดด้วย
การตัดสินใจไม่ว่าจะทางใดก็จะนำไปสู่ผลกระทบอย่างรุนแรงมากมาย และปัญหาหลักคือเรื่องของ ‘เงิน’ ที่ทำให้ทุกอย่างยากไปหมด
ไหนจะรายได้ที่หายไป ไหนจะรายจ่ายที่ต้องชำระ ไหนจะค่าปรับหากไม่สามารถแข่งขันกันต่อได้
สิ่งเหล่านี้ทำให้เราได้เห็นความพยายามที่จะหาทางออกโดยเอาเรื่องนี้เป็นที่ตั้ง และนั่นนำไปสู่การสั่งพักการแข่งขัน 3 สัปดาห์ และมีการพูดคุยถึงเรื่องของการแข่งขันกันต่อให้จบ แม้ว่าอาจจำเป็นที่จะต้องแข่งขันกันภายในสนามปิดที่ไม่มีแฟนบอลเข้ามาชมเลยแม้แต่คนเดียวก็ตาม
เรื่องนี้ผมเคยเขียนเอาไว้เมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่แล้วนะครับว่า มันไม่น่าใช่ทางออกที่ถูก
กีฬาที่ไม่มีผู้ชม-ที่เปรียบเหมือนดัง ‘ลมหายใจ’ ของการแข่งขัน-แล้วมันจะมี ‘ชีวิต’ ได้อย่างไร
จะมีความหมายอะไร หากสุดท้ายแล้ว นอริช ซิตี้ สามารถหนีตกชั้นได้ราวปาฏิหาริย์ แต่ไม่มีแฟนบอลที่จะร่วมยินดีกับพวกเขาเลยแม้แต่คนเดียวในแคร์โรวโรด
จะมีประโยชน์อะไรหากวูล์ฟสคว้าตั๋วไปแชมเปียนส์ลีกได้ และพวกเขาต้องฉลองกันเองเพียงลำพังในหมู่ผู้เล่น
และมันจะมีอะไรให้จดจำหากการคว้าแชมป์ครั้งแรกในรอบ 30 ปีของลิเวอร์พูล ไม่มีใครอยู่ในสนามแอนฟิลด์เพื่อร่วมเป็นสักขีพยานเลย
เหนืออื่นใดคือมันเป็นการตัดสินใจโดยที่ไม่ได้คิดถึงคนที่เป็น ‘ศูนย์กลาง’ ของทุกสิ่งอย่างนักกีฬาเลยแม้แต่น้อย
ข่าวการติดเชื้อโควิด-19 ของ มิเกล อาร์เตตา (ซึ่งเวลานี้มีข่าวจากอาร์เซนอลว่าดีขึ้นมาก แต่ยังไม่มีรายงานยืนยันนะครับว่าหายแล้ว) และ คัลลัม ฮัดสัน-โอดอย มองในแง่หนึ่งอาจเป็นข่าวร้ายที่ทำให้พรีเมียร์ลีกต้องหยุดชะงัก
แต่ในเวลาเดียวกันมันอาจเป็นข่าวดีที่ทำให้สุดท้ายแล้วทุกฝ่ายได้ตระหนักร่วมกันครับว่า นักกีฬาก็เป็นคน และพวกเขาก็ควรได้รับการดูแลไม่ต่างจากคนอื่น
การตัดสินใจพักการแข่งพรีเมียร์ลีกเป็นหนึ่งในการตัดสินใจที่ดีที่สุด และเป็นหนึ่งในแรงกระตุ้นสำคัญที่นำไปสู่การตัดสินใจที่ดีที่สุดต่อมาของยูฟ่าในการเลื่อนการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 ออกไป 1 ปี
มันเปลี่ยน ‘ทางตัน’ ให้กลายเป็น ‘ทางแยก’ ทำให้ความตึงเครียดถูกคลายลงอย่างมาก และนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีที่สุดอีกครั้งในการประชุมครั้งล่าสุดของพรีเมียร์ลีก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
ถึงแม้สิ่งที่พรีเมียร์ลีกจะพยายามสื่อสารเป็นหลักคือการขยายเวลาพักการแข่งขันต่อไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน
แต่สิ่งที่เป็น ‘หัวใจ’ ของเรื่องจริงๆ คือคำที่บอกว่าพร้อมจะพักการแข่งขันต่อไปอย่างไม่มีกำหนด
พรีเมียร์ลีกจะกลับมาต่อเมื่อทุกคนพร้อมแล้วจริงๆ เท่านั้น ซึ่งการตัดสินใจเช่นนี้ยังเป็นการรักษา ‘คุณค่า’ ของเกมกีฬาเอาไว้ด้วย
มันทำให้ทุกคนสามารถ ‘ตอบ’ ตัวเองได้ว่าเราแข่งขันกันไปเพื่ออะไร เพราะหากจะตัดจบแค่นี้แล้วยกแชมป์ให้ไปเลย หรือเสี่ยงทายหาทีมตกชั้นด้วยวิธีการคำนวณคะแนน มันจะกลายเป็นสิ่งที่ค้างคาใจไปอีกนานแสนนาน
ท่าทีของพวกเขาผมเชื่อครับว่าจะนำไปสู่การตัดสินใจในแบบเดียวกันของลีกฟุตบอลอาชีพที่เหลือ ที่ว้าวุ่นใจอยู่ไม่ต่างกันตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา และน่าจะเป็น ‘สาส์น’ ที่ถูกส่งถึงทุกคนในวงการกีฬาที่ควรจะคิดเหมือนๆ กัน
ส่วนเรื่องต่อไปที่ควรจะใส่ใจคือ ‘คุณภาพชีวิต’ ของทุกคน โดยเฉพาะเหล่าคนตัวเล็กๆ
เพราะวงการฟุตบอลไม่ได้มีแค่พรีเมียร์ลีก ยังมีสโมสรในฟุตบอลลีก (EFL), เนชันส์ ลีก (นอกลีก) และฟุตบอลในระดับรากหญ้า
เกมฟุตบอลไม่ได้มีแค่ซูเปอร์สตาร์เงินล้าน แต่ยังมีสจวร์ตที่คอยกำกับดูแลความเรียบร้อยในสนาม ยังมีคุณป้าที่คอยตักซุปใส่ถ้วย มีคุณพี่ที่ดูแลรักษาความปลอดภัยอยู่ที่หน้าสนามซ้อมอย่างแข็งขัน
ไหนจะ Food Bank ธนาคารอาหารที่เกิดขึ้นโดยคนในชุมชนที่ยื่นมือเพื่อช่วยเหลือคนที่ไม่มีในสังคมเดียวกัน ซึ่งแต่ละคนก็จะอาศัยวันแข่งขัน (Matchday) ในการที่จะออกมาบริจาคข้าวสารอาหารแห้ง และสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
น่ายินดีนะครับที่ค่อยๆ เริ่มมีข่าวทุกสโมสรที่ยื่นมือช่วยเหลือคนเหล่านี้
จากเมอร์ซีย์ไซด์ที่ลิเวอร์พูลและเอฟเวอร์ตันร่วมมือกันในการสนับสนุน Food Bank, แอสตัน วิลลา ที่แพ็กอาหารเพื่อไปมอบให้แก่ผู้ยากไร้ มาถึงแมนเชสเตอร์ ทั้งแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่จับมือกันในแบบที่ยากจะได้เห็นในยามปกติ
และหลังจากนี้ผมเชื่อว่าเราน่าจะพอได้เห็นความช่วยเหลือจากสโมสรในพรีเมียร์ลีกต่อสโมสรในระดับรองลงมา ซึ่งต้องการความช่วยเหลืออย่างมาก เพราะการไม่มีฟุตบอลแข่งขันในเวลานี้ และไม่รู้จะกลับมาแข่งขันได้อีกเมื่อไรในฤดูกาลหน้า ทำให้พวกเขาขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง
ส่วนเรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นเรื่องรองที่เอาไว้พ้นช่วงนี้แล้วค่อยคิดอ่านกัน
เวลานี้ไม่มีคำว่าคู่แข่ง เพราะเราคือ ‘ทีมเดียวกัน’
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์