×

‘นักข่าวไม่ได้มีอภิสิทธิ์’ เมื่อการจับสื่อกลายเป็นข้อถกเถียงในสังคม

23.02.2024
  • LOADING...

คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการเรื่อง ‘SLAPP: เชื่อมโยง ตีความ ปกปิด เสรีภาพ​ท่ามกลาง​การ​ทำงานสื่อ’ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา วิทยากรประกอบด้วย

 

  • ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ธนกร วงษ์ปัญญา บรรณาธิการข่าวในประเทศ THE STANDARD 
  • ดร.คันธิรา ฉายาวงศ์ อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

 

ดำเนินรายการโดย รศ.รุจน์ โกมลบุตร อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

 

รศ.รุจน์ โกมลบุตร อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ชื่องานวันนี้มีศัพท์คำว่า SLAPP ย่อมาจาก Strategic Lawsuit Against Public Participation เป็นการฟ้องเพื่อปิดปาก ฟ้องคนที่พยายามจะทำงานสื่อสาร โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่มาเปิดโปงเรื่องต่างๆ แล้วผู้ที่ถูกเปิดโปงพยายามจัดการโดยการฟ้อง SLAPP การพูดคุยวันนี้เพื่อให้มีการสื่อสารความเห็นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีความสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างไร ส่งผลต่อการทำงานของสื่ออย่างไร 

 

 

ท่าทีของรัฐสร้างความหวาดกลัว 

 

ธนกร วงษ์ปัญญา บรรณาธิการข่าวในประเทศ THE STANDARD กล่าวว่า ปรากฏการณ์ในการทำข่าวภาคสนาม การจับนักข่าวประชาไท และช่างภาพ SPACEBAR ซึ่ง SPACEBAR ต้นสังกัดออกแถลงการณ์ ‘อย่าเอาสื่อไปรับใช้จุดยืนทางการเมืองส่วนตัว’ เมื่อต้นสังกัดออกแถลงการณ์แบบนี้จะมีผลต่อการทำงานภาคสนามอย่างไร 

 

การที่สื่อถูกแทรกแซงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะทุกครั้งเมื่อมีความขัดแย้งทางการเมือง มีฝ่ายรัฐ มีฝ่ายที่เคลื่อนไหวทางการเมือง สื่อก็ตกเป็นเป้าอยู่หลายสำนัก บางคนถูกจับกุมในพื้นที่ชุมนุม โดยอ้างว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิดหรืออ้างว่าสถานการณ์ชุลมุนก็มี ซึ่งในความเป็นจริงก็มีสัญลักษณ์บางอย่างที่บ่งบอกว่า คนถูกจับกุมเป็นสื่อมวลชนที่เข้าไปปฏิบัติงานภาคสนาม ทำให้ในการปฏิบัติงานก็ได้รับผลกระทบหลายคน บางครั้งก็มีการใช้กระสุนยางในพื้นที่ที่ชุมนุมด้วย 

 

สำหรับ THE STANDARD มีประสบการณ์เคยได้รับผลกระทบเป็น 1 ใน 4 สื่อที่ถูกสั่งปิด ซึ่ง 4 สำนักข่าว ประกอบด้วย THE STANDARD, The Reporters, Voice TV และประชาไท เราก็ต่อสู้ตามกระบวนการในศาล อ้างถึงหลักการในรัฐธรรมนูญที่ไม่สามารถปิดสื่อได้ 

 

“เคยมีเหตุการณ์ที่รัฐมีข้อกำหนดห้ามนำเสนอข่าวที่สร้างความหวาดกลัว สุดท้ายพวกผมที่เป็นกลุ่มสื่อใหม่ยื่นฟ้อง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น สื่อเป็นโจทก์ฟ้องนายกฯ สุดท้ายศาลคุ้มครองโดยไม่ให้ใช้ข้อกำหนดฉบับดังกล่าว ในขั้นตอนการพิจารณา พบว่า ผู้พิพากษาที่มีอายุน้อยจะคอยแปลศัพท์เทคนิคและวิธีการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปแล้วว่าเป็นแบบไหนกันแน่ให้กับผู้พิพากษาที่อายุมากกว่า ทำให้มีความคลี่คลายมากขึ้น”

 

ขณะที่สื่อรุ่นเก่าแบบเดิมก็จะมองแบบสื่อรุ่นเก่าว่า นี่ไม่ใช่วิธีการทำงานของสื่อ หรือการที่มาบอกว่าคนทำอาชีพสื่อ มีคนที่ไม่ใช่มืออาชีพอีก สรุปสื่อมืออาชีพ วิชาชีพสื่อต้องเป็นแบบไหนกันแน่ แล้วเราจะโอบรับหรือตั้งหลักกับการทำงานพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างไร

 

ทั้งนี้ มักจะมีการพูดถึงแล้วแบ่งแยกกันเสมอว่า สื่อพลเมืองหรือสื่อที่ไม่ใช่ Traditional Media เป็นสื่อในสายตาของรัฐหรือไม่ เป็นสื่อในสายตาของสมาคมนักข่าวฯ หรือเปล่า เป็นสื่อในสายตาผู้อาวุโสในวงการข่าวที่ยังอยู่ในความคิดเรื่องสื่อแบบเดิมๆ หรือเปล่า 

 

เวลาพูดถึงสื่อมักจะมีการแบ่งแยกว่า แบบนี้เป็นสื่อสังคม เป็นสื่ออิสระที่ไม่ได้อยู่ในนิยามของคำว่าสื่อ ซึ่งในวงการวารสารศาสตร์มีการคุยกันเสมอว่า “คนทุกคนเป็นสื่อได้” ต่อให้ปิดสื่อเก่าก็ไม่สามารถปิดทุกคนได้อยู่ดีในเชิงข้อมูลข่าวสารที่มีการเผยแพร่ไปแล้ว 

 

ฉะนั้นเหตุการณ์ที่ตำรวจควบคุมตัวเป้ นักข่าวประชาไท และ ยา ช่างภาพ SPACEBAR หลายคนพยายามจะบอกว่าเป็นเรื่องการสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นในหมู่สื่อมวลชนเองหรือเปล่า ให้คิดว่าการนำเสนอข่าวลักษณะแบบนี้ที่เกี่ยวโยงกับเรื่องอ่อนไหวอาจต้องถูกปรามบ้าง 

 

ประเด็นต่อมาผมก็ไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ออกหมายจับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 แล้วค่อยมาจับในเดือนที่มีเรื่องความขัดแย้ง เกิดประเด็นข้อถกเถียงขึ้นคือน้องตะวันและเรื่องขบวนเสด็จฯ รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกัน 

 

ประเด็นที่ 3 การแสดงความเห็นของเพื่อนร่วมวิชาชีพ การแสดงออกของสมาคมสื่อเอง หรือต้นสังกัดเอง ซึ่งเป็นผู้ร่วมวิชาชีพก็ออกมาค่อนข้างมีระยะห่าง และมีช่วงเวลาทิ้งห่าง แตกต่างจากประชาไทที่บรรณาธิการติดตามไปที่สถานีตำรวจเองทันที

 

สำหรับนักข่าวการเมืองก็มีหลายสาย มีนักข่าวทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา แล้วก็มีนักข่าวม็อบซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมก็มี ทั้งนี้ นักข่าวแต่ละสายอาจถูกมองว่าเอนเอียงกับแหล่งข่าวในสนามข่าวที่ตัวเองไปทำงานบ่อยๆ รวมถึงนักข่าวม็อบก็ถูกมองว่าเอนเอียงไปทางม็อบและก็จะถูกคุกคาม ขณะที่สื่อมวลชนสายอื่นอาจสนิทกับแหล่งข่าวยิ่งกว่านี้ก็มี

 

ส่วนตัวมองว่าการจับกุมเป็นการสร้างบรรยากาศความกลัว ความหวาดหวั่น เพราะการไปทำข่าวหรือไปอยู่ในพื้นที่เหตุการณ์เป็นต้นทุนการทำงานในวิชาชีพนี้อยู่แล้ว เพื่อจะเห็นเหตุการณ์ต้องอยู่ตรงนั้น แต่จะมีสื่อมวลชนจำนวนไม่มากที่เกาะติดประเด็นเหล่านี้ แล้วเกาะติดจนกระทั่งคุ้นเคยรู้จักแหล่งข่าว ซึ่งไม่ใช่แค่สื่อมวลชนสายการเมือง แต่มีสื่อมวลชนจำนวนมากที่สนิทกับแหล่งข่าวยิ่งกว่านี้ แต่สุดท้ายแล้วกลับมีการอธิบายว่า แบ่งงานกันทำหรือสนับสนุนกัน วางแผนกัน ขณะที่ปกติการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมจะมีการแจ้งหมายข่าวล่วงหน้า แต่ขึ้นอยู่กับกองบรรณาธิการสื่อมวลชนตัดสินใจว่าจะไปทำข่าวหรือไม่ 

 

การที่รัฐมีท่าทีแบบนี้ บอกว่าสื่อเป็นผู้สนับสนุนผู้ร่วมขบวนการ เรื่องนี้เป็นการสร้างความหวาดกลัวให้สื่อออนไลน์หรือสื่อภาคพลเมืองที่ตามไปทำข่าวภาคประชาชนอย่างเกาะติดเสมอ

 

“ผมว่าต้องแยกกันระหว่างการทำหน้าที่กับการที่ส่วนตัวจะมีอุดมการณ์แบบไหนก็ตาม ซึ่งการที่ SPACEBAR ต้นสังกัดช่างภาพออกแถลงการณ์ “อย่าเอาสื่อไปรับใช้จุดยืนทางการเมืองส่วนตัว” ก็น่าสนใจในแง่องค์กรสื่อ องค์กรวิชาชีพสื่อ ที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด และต้องติดตามดูว่าเจ้าตัวสื่อมวลชนภาคสนามจะสู้อย่างไร 

 

สำหรับองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่ออกแถลงการณ์ ผมเข้าใจว่าการทำงานองค์กรวิชาชีพก็เป็นงานอาสา กว่าจะสามารถรวมกันออกแถลงการณ์ก็ใช้เวลา 

 

อย่างไรก็ตาม มีช่องทางที่โอบรับสื่อที่หลากหลายขึ้น คือกลุ่มสื่อมวลชนที่ก่อรูปตัวเองเพื่อปกป้องการทำงานตัวเอง เช่น สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย หรือ Thai Media for Democracy Alliance (DemAll) หรือกลุ่มที่มีการแสดงจุดยืน”

 

ธนกรกล่าวว่า ในวงการสื่อมวลชนมักมีข้อถกเถียงเรื่องความเป็นกลาง แต่ส่วนตัวมองเรื่องความเป็นธรรม คือมาตรฐานที่สื่อจะปฏิบัติต่อแหล่งข่าวอย่างไร มีมาตรฐานต่อการรายงานข่าวแบบไหน เราควรจะทำงานด้วยมาตรฐานนั้นแบบเดียวกัน คือให้คุณค่ากับข้อมูลข้อเท็จจริง ไม่ว่าเราจะมีจุดยืนทางการเมืองแบบไหน ทุกคนมีจุดยืนของตัวเองอยู่แล้ว แต่เวลาทำงานต้องมีมาตรฐานที่ปฏิบัติต่อทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม มีพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้พูดเรื่องนี้

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะมีปัญหาอีกแบบหนึ่ง บางครั้งคนเชื่อว่าการที่สื่อประกาศว่าตัวเองอยู่ข้างไหน คือการสร้างความชัดเจนเพื่อให้ผู้บริโภคเลือกเองว่าตัวเองเป็นแบบนี้ ขณะที่ก็จะเผชิญอีกวิธีคิดคือเจอปรากฏการณ์อย่าง SPACEBAR ออกแถลงการณ์บอก “อย่าเอาสื่อไปรับใช้จุดยืนทางการเมืองส่วนตัว” แสดงให้เห็นว่าองค์กรมองว่าเขามีจุดยืนแบบไหน ทั้งที่หลายครั้งตัวนักข่าวทำข่าวในสิ่งที่ออฟฟิศไม่ได้สั่ง แล้วทำให้สังคมรับรู้คลี่คลายบางอย่างได้ 

 

สำหรับข้อเสนอองค์กรวิชาชีพยังไม่ค่อยเห็นระบบที่ชัดเจนสักเท่าไร สมาคมอาจต้องคุยกันเรื่องนี้ให้ชัดเจนมากขึ้นว่าสมาคมจะช่วยตรงไหนได้บ้าง หรือมีท่าทีแบบไหนต่อกรณีไหนได้บ้าง ซึ่งก็จะถูกจับตาอยู่ดี 

 

ธนกรกล่าวว่า สื่อมวลชนไม่ได้มีอภิสิทธิ์ ส่วนตัวมองว่าสื่อต้องตัวเล็กที่สุดในเชิงของการทำงาน แต่ต้องทำให้เสียงของคนตัวเล็กตัวน้อยตะโกนผ่านเราแล้วดังที่สุด เหมือนเราเป็นลำโพงและเครื่องขยายเสียงช่วยเขา น่าจะทำให้สังคมได้อะไรเพิ่มขึ้น หากการทำงานของสื่อกลายเป็นอาชญากรในสายตารัฐแล้ว ก็เป็นเรื่องใหญ่ในแวดวงวิชาชีพสื่อ 

 

ก่อนหน้านี้ในการชุมนุมทางการเมือง ฝ่ายเจ้าหน้าที่มีการพูดผ่านเครื่องขยายเสียงต่อหน้าผู้ชุมนุมว่า “ขอบคุณพี่น้องสื่อมวลชนที่ถ่ายบันทึกเหตุการณ์ข้อเท็จจริงไว้ทั้งหมด เมื่อถึงเวลาตำรวจจะได้ใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม” ซึ่งส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง เพราะในแง่ฝั่งผู้ชุมนุมก็อาจมองว่าสื่อมวลชนมีส่วนทำให้เขามีปัญหาได้ ในขณะที่ฝั่งเจ้าหน้าที่เอง บางครั้งก็คิดว่าสื่อไปขัดขวางการทำงานของเขา แล้วกลายเป็นเรื่องทั้งสองด้านที่ต้องการการคลี่คลาย 

 

 

สื่อและประชาชนมีหน้าที่ยับยั้งเฉพาะการกระทำผิดร้ายแรงที่กฎหมายกำหนด

 

ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ข้อมูลพื้นฐานในการออกหมายจับโดยไม่ออกหมายเรียก เกิดขึ้นได้ในคดีที่มีโทษเกิน 3 ปีขึ้นไป กรณีศาลเห็นพยานหลักฐานแล้วเชื่อว่าผู้ต้องหามีโอกาสเป็นไปได้ที่จะกระทำความผิด แต่ถ้าตำรวจไม่สามารถหาพยานหลักฐานที่ทำให้ศาลเชื่อได้ตามที่ตำรวจกล่าวอ้าง ศาลก็จะไม่ออกหมายจับ 

 

ส่วนหมายจับ หากศาลออกหมายจับแล้วก็จะไม่มีวันหมดอายุ เจอตัวตอนไหนก็จับได้ตลอด เป็นเรื่องความผิดที่มีโทษเกิน 3 ปี ดังนั้นจึงเกิดปรากฏการณ์ที่เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วแต่มาจับกุมปีนี้ 

 

สำหรับกรณีสื่อมวลชนไปถ่ายรูปทำข่าวคนกำลังพ่นสี สื่อไม่มีหน้าที่ต้องเข้าไปยับยั้ง ไปแจ้งความ ไปหยุด หรือไปจับการกระทำความผิด กฎหมายไม่ได้บังคับ กฎหมายไม่ได้กำหนด 

 

สมมติเห็นคนกำลังพ่นสี มีอำนาจจับไหม กฎหมายกำหนดให้ประชาชนจับประชาชนด้วยกันเองเฉพาะความผิดซึ่งหน้าที่ระบุไว้ในกฎหมายเท่านั้น ไม่ใช่ทุกฐานความผิด ประชาชนสามารถเข้าไปจับได้เฉพาะฐานความผิดบางฐาน เช่น เห็นคนฆ่าคน เห็นคนทำร้ายร่างกาย

 

ส่วนฐานที่กฎหมายไม่ได้ระบุ ประชาชนและสื่อมวลชนก็ไม่มีหน้าที่ต้องจับ ไม่มีหน้าที่ต้องระงับยับยั้ง ไม่มีหน้าที่ต้องไปแจ้งความ เพราะฉะนั้นฟันธงได้เลยว่ากรณีนี้ไม่ผิด ฟันธงได้เลยว่าไม่ผิด แต่สิ่งที่ห้ามทำเลย ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน อินฟลูเอ็นเซอร์ หรือประชาชนคนธรรมดา สิ่งที่ห้ามทำคือห้ามไปยุยงส่งเสริมสนับสนุน จะไปเชียร์ว่า “น้องเยี่ยมมาก สุดยอด ทำเลย” แบบนี้ทำไม่ได้ แม้ไม่ถึงขนาดยื่นสิ่งของให้ผู้กระทำผิด แต่เป็นการช่วยเหลือทางจิตใจให้เขาฮึกเหิมก็ผิด ฉะนั้นสื่อมีหน้าที่ถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีหน้าที่ไปยุยง ถ้าไปยุยงส่งเสริมก็ต้องบอกว่าผิด 

 

อยากให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าใจข้อกฎหมายนี้ก่อน เพราะทันทีที่สื่อบอกว่า “การนำเสนอข่าวไม่ใช่อาชญากรรม” Journalism is not a crime แล้วประชาชนก็ตั้งคำถามว่า แล้วสื่อมวลชนวิเศษมาจากไหน ทำอะไรไม่ผิดหรือ มีสิทธิอะไรมากกว่าคนธรรมดา ฉะนั้นเราต้องเข้าใจหลักการก่อนว่าไม่ได้มีสิทธิอะไรเป็นพิเศษ 

 

แน่นอนรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิประชาชนในการสื่อสารแสดงความคิดเห็นในสังคมประชาธิปไตย เราคิดว่าต้องให้สมดุลสื่อในการสื่อสารมาก แต่ถามว่าผิดอาญาไหม นี่คือเกณฑ์ที่มีอยู่ ถ้านี่คือสังคมปกติเป็นไปได้ว่าตำรวจอาจมีหลักฐานอะไรบางอย่างมากกว่ากล้องวงจรปิดแล้วส่งให้ศาล เพื่อให้ศาลเชื่อและออกหมายจับ 

 

อย่างไรก็ตาม จะจับก็ได้แต่ทำไมไม่ให้ประกันตัวตั้งแต่วันแรก เป็นเรื่องการจัดการวิกฤต รัฐบาลควรต้องทำอะไรมากกว่านี้ ถ้าจะนำเสนอตัวเองต่อต่างชาติ ประเทศเรามีหลักนิติธรรมเชื่อมั่นในกระบวนการได้หรือไม่ สื่อมีเสรีภาพหรือไม่ 

 

ผศ.ดร.รณกรณ์ กล่าวว่า ผู้มีอำนาจและผู้ท้าทายอำนาจทั้งสองฝ่ายจะทำอะไรก็ตาม สุดท้ายมีราคาที่ต้องจ่าย แล้วบางครั้งอาจไม่ใช่ราคาของเราเองอย่างเดียว แต่อาจเป็นเรื่องความรุนแรง เรื่องชีวิต แน่นอนว่าคนที่ใช้ความรุนแรงคือคนผิด แต่เราต้องพึงระวังว่าการชี้หน้าใครว่าผิดอาจไม่ได้แก้ปัญหา สังคมไทยมีการปะทะกันเยอะมากโดยไม่มีการเรียนรู้อะไรเลย ราคาที่จ่ายไปไม่ได้อะไรมาเลย ทั้งที่เราควรจะเรียนรู้และผู้มีอำนาจควรเปิดใจรับฟัง ส่วนผู้ที่ท้าทายก็ควรใช้วิธีการพูดที่สามารถจะสื่อสารไปถึงฝั่งคนฟังได้ เพราะ ‘ความคิดต่าง’ โลกจึงเปลี่ยนแปลง 

 

แต่ข่าวที่จะก่อให้เกิดความเกลียดชังทางชนชาติ เชื้อชาติ สีผิว ชนชั้น วัย อายุ ข่าวแบบนี้จะต้องระมัดระวัง เพราะอาจทำให้เกิดความรุนแรง การนำเสนอทำได้แต่ต้องระมัดระวัง เช่นมีคนพูดว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ก็เป็นการด้อยค่า เป็นการสร้างความเกลียดชังกลุ่มบุคคล ก็เป็นปัญหาที่ต้องคอยระวัง การนำเสนอข่าวว่ามีคนพูดแบบนี้ เกิดปรากฏการณ์แบบนี้ สื่อนำเสนอได้ แต่การนำเสนอข้อเท็จจริงแบบนี้ต้องระมัดระวัง 

 

 

ประชาธิปไตยต้องมีความหลากหลาย การเลือกตั้งจึงไม่ได้มีเพียงพรรคเดียว

 

ดร.คันธิรา ฉายาวงศ์ อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กรณีนักข่าวช่างภาพออกมาทำหน้าที่ แต่ถูกตั้งคำถามว่าใช้จุดยืนทางการเมืองเข้ามานำเสนอข่าวหรือเปล่า จริยธรรมเน้นความเป็นกลาง แต่สื่อแต่ละคนก็มีความคิดความเห็นซึ่งมีความพยายามชั่งใจ พยายามรักษาความเป็นกลาง และมีเรื่องผลประโยชน์สาธารณะ กรณีพ่นสีไม่ใช่เรื่องการฆ่าคน ไม่ใช่กรณีคนจะตายแล้วไม่มีใครไปช่วย สื่อมวลชนจึงไม่มีหน้าที่ห้ามและขัดขวาง ส่วนการรายงานข่าว การใช้ถ้อยคำเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะแสดงให้เห็นว่าสื่อมวลชนมีอคติหรือไม่ 

 

ส่วนการจับ การฝากขังแล้วไม่ได้รับการประกันตัว เป็นสิ่งที่ต้องตั้งข้อสงสัยว่าจะเกิดขึ้นกับงานสื่อมวลชนทุกกรณีหรือไม่ จะมีมาตรฐานอย่างไร สื่อควรโดนจับหรือไม่ ถ้าเจอกรณีรายงานข่าวตามปกติแต่เป็นเนื้อหาประเด็นเรื่องอ่อนไหว ก็จะมีสื่อมวลชนหรือคนทั่วไปที่หวาดกลัวไม่กล้านำเสนอเรื่องอ่อนไหว ขณะที่เรื่องอ่อนไหวบางครั้งเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ สิ่งเหล่านี้จะหายไปจากประเทศ ทำให้คนไม่กล้าพูด กลายเป็นเรื่องโดนปิดปาก 

 

ถ้ามีสื่อกลุ่มหนึ่งที่เปิดปาก ถูกหมายหัว แล้วจะโดนคุกคาม กลุ่มนั้นใช้ชีวิตด้วยความเสี่ยง จะมีหลักประกันอย่างไรกับสื่อมวลชนกลุ่มนี้ได้บ้าง 

 

ดร.คันธิรา กล่าวว่า เรื่องสิทธิการประกันตัวต้องตั้งคำถามว่าสื่อมวลชนทั้งสองท่านจะมีการหลบหนีหรือไม่ ซึ่งไม่น่าจะมีการหลบหนี แต่ทำไมถึงไม่ให้ประกันตัว ปกติการไม่ให้ประกันตัวเกิดขึ้นกับผู้ต้องหาที่จะหลบหนีหรือมีคดีร้ายแรง แต่คดีนี้โทษไม่ได้ร้ายแรงหากเป็นผู้สนับสนุนรับโทษ 2 ใน 3 ทำไมจึงไม่ให้ประกันตัว ก็เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถาม

 

สำหรับการรายงานข่าว เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสื่อรายงานข่าวนี้แล้วไปสร้างความเกลียดชัง ความรุนแรง แล้วผลักดันไปในทางไม่ดี อย่างแรกต้องเข้าใจว่าในสังคมประชาธิปไตย อย่างไรก็ต้องมีการดีเบต ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย หากไม่มีไม่ใครโต้แย้งชวนคิดก็ไม่มีความแตกต่าง ซึ่งความแตกต่างจะต้องมีในสังคมประชาธิปไตย เช่น การเลือกตั้ง ทำไมจึงมีหลายพรรคการเมือง หากรับความแตกต่างไม่ได้เราควรจะมีแค่พรรคเดียว จะได้ไม่ทะเลาะกันเวลาเลือกตั้ง แต่จะเห็นได้ว่าในความเป็นจริง การเลือกตั้งแต่ละครั้งต้องมีหลายพรรคเพื่อที่จะรองรับความหลากหลาย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X