จากประกาศของกรุงเทพมหานครที่สั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในวงกว้าง โดยกำหนดให้ปิดสถานที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งห้างสรรพสินค้าเป็นการชั่วคราว ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา สินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ร้านอาหาร (ให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารเพื่อนำกลับไปบริโภค)
เดิมมีผล 22 มีนาคม จนถึง 12 เมษายน แต่ล่าสุดได้ขยายไปถึง 30 เมษายน 2563 สรุปแล้วปิดไปทั้งสิ้น 40 วันด้วยกัน แน่นอนว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบย่อมต้องเป็นบรรดาสาขาของแบรนด์ต่างๆ ที่เปิดอยู่ในศูนย์การค้า ซึ่งไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ
หนึ่งในคำถามที่ตามมาคือ ‘แบรนด์’ ต่างๆ มีนโยบายเกี่ยวกับ ‘พนักงาน’ อย่างไร ให้หยุดโดยที่รับเงินอยู่ไหม หรือหยุดโดยที่ไม่รับเงิน หรือที่เรียกว่า Leave Without Pay
THE STANDARD สอบถามเรื่องนี้ไปยังแบรนด์ต่างๆ ที่มีร้านอยู่ในศูนย์การค้า ทั้งกลุ่มแฟชั่น เครื่องสำอาง เทคโนโลยี และร้านอาหาร ที่แม้จะได้เป็นกลุ่มที่ยังสามารถเปิดได้ แต่ด้วยคำสั่งที่เปิดให้ขายเฉพาะซื้อกลับบ้านและเดลิเวอรี จึงไม่มีความจำเป็นที่ร้านต่างๆ จะต้องมีพนักงานในร้านจำนวนมากเหมือนกับปกติที่เปิดให้ลูกค้านั่งรับประทานในร้านได้เลย
กลุ่มธุรกิจแฟชั่น
Asava
Photo: @asavagroup
เริ่มด้วย หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์แบรนด์ Asava กล่าวว่า จริงๆ คงไม่มีคำตอบที่แน่นอนตายตัวในสถานการณ์ที่ดูเป็นภาวะ Emergency เช่นนี้
นโยบาย ณ ตอนนี้เชื่อว่าตอนนี้ทุกบริษัทก็คงใช้ความรู้ที่เรามีอยู่ตัดสินใจสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรมากที่สุด สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คืออยากจะกระทบกับเศรษฐกิจส่วนตัว หรือเรื่องกระเป๋าสตางค์ของพนักงานให้น้อยที่สุด
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดูภาพรวมของบริษัทเป็นเรื่องใหญ่ อย่างที่เคยพูดไปว่า ไม่ว่าห้างจะปิดหรือห้างจะเปิด ณ เวลานี้ธุรกิจออนไลน์ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ถึงแม้อาจจะไม่สามารถทดแทนได้ 100% แต่ก็เป็นการหารายได้เข้าบริษัทอีกหนึ่งทาง
“เราก็ต้องไม่หยุดที่จะหาช่องทางในการทำธุรกิจใหม่ๆ หารายได้เข้าบริษัท นอกจากนั้นเราก็อาจจะต้องพูดถึงเรื่องค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เราอาจจะต้องประหยัดและรัดเข็มขัดให้ได้มากที่สุด โดยที่ยังไม่ไปกระทบเงินเดือนพนักงาน แต่สุดท้ายหากจะต้องกระทบ ก็จะต้องมีวิธีคิดว่าจะทำอย่างไรให้ Productivity และ Efficiency ของบริษัทตกน้อยที่สุด และยังสามารถรักษา Level of Productivity ที่เราเป็นอยู่ได้ เพื่อจะหารายได้เข้าบริษัท สุดท้ายหากมันไม่ไหวจริงๆ ก็อาจจะมีการขอลดชั่วโมงการทำงาน และอาจจะต้องมีการขอลดเงินเดือนกันจริงๆ แต่มันก็เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาสักนิดหนึ่งว่าจะจัดการมันอย่างไร และนั่นก็เป็นสิ่งสุดท้ายที่เราอยากจะทำ”
Poem
Photo: poem_official / Instagram
ต่อด้วยอีกหนึ่งแบรนด์แฟชั่นไทยที่หลายคนต้องรู้จัก ‘Poem’ เพล ไคสิริ Managing Director ของ Poem กล่าวว่า ตอนนี้นโยบายที่ชัดเจนจะเป็นพนักงานขายหน้าร้านจำนวนประมาณ 20 คนจากทุกสาขาที่เรามี จะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเป็นกลุ่มแรกจากการที่รัฐขอความร่วมมือ และทำให้เราต้องปิดร้านในสาขาต่างๆ เป็นการชั่วคราว
แบรนด์เราจะแบ่งเป็น 3 เฟสเพื่อรับมือกับพวกเขาในช่วงนี้ก่อน โดยเฟสแรกเริ่มเมื่อวันที่ 22-12 เมษายน ปกติพนักงานจะได้หยุดทุกวันอาทิตย์อยู่แล้ว ดังนั้นจะรวมเป็น 19 วัน โดยเราจะแบ่งค่าใช่จ่ายจากประกันสังคม 50% จากค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำต่อเดือน แบรนด์ซัพพอร์ต 50% โดยจะยังไม่มีการปลดพนักงานออก
เฟสที่ 2 เริ่ม 13-31 พฤษภาคม เหมือนเดิมคือ 50/50 ตามเดิม
ถ้าสถานการณ์เข้าเฟสที่ 3 ซึ่งน่าจะเป็น Worst Case จริง คือตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นไป หลังจากนี้จะเป็น No Work No Pay และถ้าสถานการณ์ยังยืดเยื้อเกิน 60 วันนี้ เราจะใช้วันหยุดนักขัตฤกษ์ที่เหลืออยู่ทั้งปี รวมกับวันลากิจ ลาป่วย ลาพักร้อน
หลังจากนั้นจะเริ่มกระทบกับฝั่งโปรดักชัน ทั้งช่าง พนักงานออฟฟิศ ซึ่งเราต้องดูกระแสเงินสดก่อนว่าเป็นอย่างไร
ลักชัวรีแบรนด์
สำหรับแบรนด์อื่นๆ ยังไม่สะดวกเปิดเผยเรื่องนี้ เพราะเป็นนโยบายภายในที่แต่ละแบรนด์มีฝ่ายที่จัดการดูแลอยู่แล้ว สำหรับกลุ่มลักชัวรีแบรนด์ หรือแบรนด์หรูส่วนใหญ่ ยังมีนโยบายจ่ายเงินเดือนพนักงานเหมือนเดิม
ปกติแล้วพนักงานที่ทำงานในลักชัวรีแบรนด์จะได้รับฐานเงินเดือนบวกค่าคอมมิชชัน สำหรับแต่ละสินค้าที่พนักงานขายได้ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อร้านปิดแบบนี้ ค่าคอมมิชชันที่ได้ก็น่าจะหายไปด้วย
ที่น่าสนใจคือ เดือนมีนาคมเป็นเดือนที่คอลเล็กชันใหม่เข้าร้านพอดี เมื่อต้องปิดร้านแบบนี้ เชื่อว่าจะกระทบกับยอดขายของแบรนด์อยู่ไม่น้อย แม้หลายแบรนด์จะหันมาขายออนไลน์ แต่ก็มีหลายคนที่อยากจับสินค้าหรือลองใส่จริงๆ ก่อนที่จะซื้อกลับไป
ธุรกิจเครื่องสำอาง
L’Oreal
สำหรับ L’Oreal ยักษ์ใหญ่เครื่องสำอางจากฝรั่งเศส ซึ่งมีแบรนด์คุ้นหูอยู่ในมือ ทั้ง Lancome, Biotherm, La Roche-Posay, Maybelline, Kiehl’s ฯลฯ ให้ข้อมูลว่า เบื้องต้นบริษัทให้พนักงานอยู่แต่ในที่พักของตัวเอง โดยกำลังพิจารณารายละเอียดและวิธีปฏิบัติงานในช่วงปิดศูนย์ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับแผนงานของแต่ละแบรนด์ ทั้งนี้บริษัทจ่ายเงินเดือนพนักงานตามปกติ
Sephora
ด้าน Sephora มีคำสั่งให้พนักงานทั้งหมด Work from Home ในช่วงนี้ไปจนถึงตามประกาศ ส่วนรายละเอียดเรื่องการจ่ายเงินเป็น Confidential
อมอร์แปซิฟิค
ซึ่งมีแบรนด์ส่วนใหญ่เป็นเครื่องสำอางเกาหลี ได้แก่ Sulwhasoo, Laneige, Etude House, Mamonde, Innisfree ระบุว่า แบรนด์มีนโยบายสำหรับ Head Office ให้เริ่ม Work from Home
สำหรับพนักงานที่เป็น BA (Beauty Advisor) หน้าร้าน ให้คอยสแตนด์บายทุกวัน เผื่อมีอะไรเร่งด่วน โดยยังจ่ายเงินปกติ และสำหรับ BA ที่เป็นคนต่างจังหวัด ทางบริษัทไม่อนุญาตให้กลับบ้าน เพราะต้องคอยสแตนด์บายและป้องกันการเป็นพาหะเมื่อกลับไปที่ต่างจังหวัด
ธุรกิจเทคโนโลยี
AIS และ dtac
ทั้งสองโอเปอเรเตอร์มีนโยบายที่เหมือนกันคือ พนักงานทุกคนได้รับเงินเดือนปกติ และให้พนักงาน Work from Home โดยพนักงานหน้าร้านจะต้องมาให้บริการลูกค้าผ่านออนไลน์แทน
True
ส่วน True พนักงานทุกคนได้รับเงินเดือนปกติ แต่มีสลับให้พนักงานหน้าร้านที่ปิดชั่วคราวไปดูแลงาน Call Center และ Shop in Shop ใน 7-Eleven ที่มี 850 สาขาทั่วประเทศแทน
นอกจากนี้ True มีแผนสร้าง Digital Hub หรือ Delivery Service มาเสริมการให้บริการ
Samsung (ประเทศไทย)
Samsung ระบุว่า พนักงานทุกคนได้รับเงินเดือนตามปกติ โดยในระหว่างนี้มีนโยบายให้พนักงานหน้าร้านและพนักงาน Galaxy Consultant ของ Samsung Experience Store ที่ไม่ได้ปฏิบัติงานที่สาขาที่ปิดชั่วคราว ได้ใช้เวลาในการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และการบริการผ่านทาง Online Training ที่บ้าน สำหรับพนักงานของศูนย์บริการ Samsung บางส่วนที่ปิดทำการ จะย้ายไปศูนย์ใกล้เคียงในเครือ หรือสำนักงานใหญ่ของ Service Partner นั้น
สำหรับการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานศูนย์บริการที่ยังเปิดทำการ บริษัทได้ตระหนักถึงความปลอดภัยและมีความห่วงใยพนักงาน นอกเหนือจากมาตรการพื้นฐานคือการให้ใส่หน้ากากตลอดเวลาและทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์แล้ว ได้มีการปรับระยะห่างของที่นั่งทำงานและการรับบริการ
นอกจากนี้บริษัทยังทำประกันคุ้มครองติดเชื้อโควิด-19 ให้แก่พนักงานของ Samsung ที่หน้าร้าน ที่มีหน้าที่ต้องติดต่อกับลูกค้าด้วย
ธุรกิจร้านอาหาร
ZEN
เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN เชนร้านอาหารที่มีแบรนด์ในมือกว่า 15 แบรนด์ เช่น ZEN (ร้านอาหารญี่ปุ่น), AKA (ร้านปิ้งย่าง), On The Table (ร้านอาหารญี่ปุ่น), ตำมั่ว, Din’s (ร้านอาหารจีน), เขียง (ร้านอาหารจานด่วน) ฯลฯ
บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า สำหรับนักศึกษาฝึกงาน ซึ่งเป็นโครงการที่ทำร่วมกับกรมอาชีวศึกษา ปีนี้มีทั้งหมดประมาณ 200-300 คน กลุ่มนี้ให้ยกเลิกไปก่อน
ส่วนพนักงานที่อยู่ในศูนย์การค้าที่ถูกปิด หากเป็นสาขาที่ไม่สามารถปรับเป็นการส่งแบบเดลิเวอรีได้ ก็จะให้พนักงานหยุดและจ่ายเงินตามที่กฎหมายกำหนด โดยยังไม่มีนโยบายปลดคนออก
สำหรับเชนร้านอาหารอื่นๆ ได้แก่ ไมเนอร์ ฟู้ด, ฟู้ด แพชชั่น, โออิชิ และเซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป ต่างมีนโยบายที่คล้ายๆ กันคือ สาขาส่วนใหญ่ไม่ได้ปิดให้บริการ แต่จะปรับรูปแบบการให้บริการเป็นซื้อกลับบ้านและเดลิเวอรีแทน ดังนั้นพนักงานจึงมาทำงานตามปกติ และยังไม่มีนโยบายปลดพนักงานในตอนนี้
อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ภาครัฐได้เพิ่มสิทธิ์กรณีว่างงาน 50% ของค่าจ้าง ได้แก่ กรณีนายจ้างไม่ให้ทำงาน รับเงินไม่เกิน 180 วัน และกรณีรัฐสั่งหยุดรับเงินไม่เกิน 90 วัน โดยสามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ https://www.sso.go.th/wpr/main
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า