×

เมื่อกองทุนพยุงหุ้นกู้ (BSF) 4 แสนล้านบาทของแบงก์ชาติ ครอบคลุม 96% ของตลาด แล้วหุ้นกู้ที่เหลือจะทำอย่างไร​

07.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • กองทุน BSF หรือกองทุนที่จะมาช่วยสร้างความเชื่อมั่นในตลาดเงิน จากก่อนหน้านี้ราคาตราสารหนี้ปรับลดลงจากนักลงทุนกังวลต่อโควิด-19 และสร้างความผันผวนต่อสภาวะตลาด
  • แบงก์ชาติมองว่า กองทุน BSF มีครอบคลุมหุ้นกู้เอกชนกว่า 96% ของตลาดแล้ว ส่วนหุ้นกู้กลุ่มอื่นๆ เชื่อว่าสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้านอื่นๆ และไม่สร้างผลกระทบต่อตลาด 
  • TMB Analytics ชี้หุ้นกู้เอกชนกลุ่มไม่สามารถเข้าใช้ BSF และครบกำหนดในครึ่งปีหลัง 2563 นี้มีสัดส่วนไม่ถึง 10% ของตลาด และมองว่าจะสามารถใช้สินเชื่อธนาคารพาณิชย์หาก Roll over ไม่ได้ แต่ยังต้องจับตาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีการออกหุ้นกู้มาก และมีความท้าทายเรื่องหนี้เสียที่สูงขึ้น

เมื่อความผันผวนในตลาดการเงินเพิ่มสูงขึ้นจากโควิด-19 ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกโรงช่วยตลาดหุ้นกู้ที่ราคาร่วงลง ผ่านการตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) หรือกองทุนพยุงหุ้นกู้ซึ่งตั้งวงเงินไว้สูงถึง 400,000 ล้านบาท 

 

กองทุนพยุงหุ้นกู้นี้เป็นมาตรการระยะสั้นเพื่อช่วยในสภาวะตลาดไม่ปกติ และมีเงื่อนไขในการใช้กองทุน เช่น ต้องเป็นหุ้นกู้ที่คุณภาพดี คือเป็น Investment Grade (อันดับความน่าเชื่อถือในระดับลงทุนได้) ขึ้นไป ฯลฯ 

 

แต่ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนของไทยหรือหุ้นกู้มีขนาดถึง 3.6 ล้านล้านบาท เฉพาะปีนี้มีหุ้นกู้เอกชนที่ครบกำหนดเท่าไร และหุ้นกู้ที่เข้าใช้กองทุนนี้ไม่ได้มีจำนวนเท่าไร 

 

ครึ่งปีหลัง 2563 หุ้นกู้เอกชนของไทยครบกำหนด 370,000 ล้านบาท

 

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร TMB Analytics เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า ช่วงครึ่งปีหลัง 2563 นี้มีหุ้นกู้เอกชนที่จะครบกำหนดรวม 370,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ระดับ Investment Grade 342,411 ล้านบาท และกลุ่มอื่นๆ อีก 28,781 ล้านบาท

 

 

ทั้งนี้ หากมองในเชิงสัดส่วนต่อตลาดถือว่า หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดและมีระดับความน่าเชื่อถือที่ต่ำกว่า Investment Grade มีจำนวนไม่สูง ขณะเดียวกันหาก Roll over (ออกหุ้นกู้ใหม่มาทดแทนของเดิม) ไม่ได้ ยังสามารถพึ่งพาวงเงินสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีสภาพคล่องเพียงพอ ดังนั้น ทำให้ภาพรวมไม่น่ากังวลมากนัก แต่ยังเห็นความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะหุ้นกู้ Non-rated ยังมีความเสี่ยงสุงสุด 

 

“ขณะเดียวก็มีโอกาสที่หุ้นกู้จะ Roll over ไม่ได้ รวมถึงอาจจะขอสินเชื่อไม่ได้ด้วย แต่ถ้าดูเงื่อนไขในการเข้าใช้ BSF ก็ไม่สามารถช่วยเหลือหุ้นกู้เอกชนได้ทั้งหมด เพราะมีเงื่อนไข เช่น ไม่สามารถใช้ Roll over ได้ทั้ง 100% แต่ต้องมีแหล่งเงินทุนจากข้างนอกมา 50% แล้ว”

 

อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งในหุ้นกู้ที่ครบกำหนดครึ่งปีหลังนี้อยู่ในส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ที่หลายบริษัทหันมาเก็บเงินสด เพื่อเพิ่มสภาพคล่องของธุรกิจ ทั้งการลดราคาห้อง ซึ่งต้องยอมรับว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ปีนี้ยังน่าเป็นห่วง เพราะเรื่องสภาพคล่องมียอดออกหุ้นกู้ที่ครบกำหนดค่อนข้างเยอะ 

 

ทั้งนี้ ด้านหนี้เสียในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น สิ้นปี 2562 NPL ทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ของภาคอสังหาริมทรัพย์​ (ก่อสร้างและอสังหาฯ) อยู่ที่ 4.7% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2561 ที่อยู่ระดับ 3.82% ซึ่งไตรมาส 1/63 และปีนี้ยังเป็นทิศทางขาขึ้น 

 

“เมื่อเทียบกับวิกฤตปี 1997 ถือว่าครั้งนี้ดีกว่ารอบนั้น ส่วนหนึ่งเพราะช่วงวิกฤตครั้งก่อน NPL ฝั่งอสังหาฯ อยู่ที่ 45% ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ 4.7% ถือว่าต่างกันมาก และสถานการณ์ตอนนี้แข็งแรงกว่าเยอะ ในมุมการฟื้นตัววิกฤตรอบก่อน เศรษฐกิจใช้เวลาราว 2 ปี หรือราว 8 ไตรมาสถึงฟื้นตัว ขณะที่ช่วงซับไพรม์ ไทยไม่กระทบมาก (2008-2009) ทำให้ภาคอสังหาฯ ไม่ดรอปลงมากนัก โดยออกสินเชื่อบ้านใหม่ติดลบ 3 ไตรมาส แล้วกลับมาฟื้นตัว”

 

 

ธปท. ย้ำ BSF เป็นโรงพยาบาลสนาม ช่วยคนที่จำเป็น-มั่นใจเกณฑ์นี้ครอบคลุมผลกระทบใหญ่แล้ว 

 

วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า มาตรการ BSF มีจุดมุ่งหมายหลัก คือการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินผ่านการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยตราสารหนี้ส่วนใหญ่กว่า 96% อยู่ในกลุ่ม Investment Grade ซึ่งมีผู้ลงทุนหลักเป็นประชาชนทั่วไป ผ่านการลงทุนในกองทุนรวม สหกรณ์ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่างๆ ซึ่งหากเกิดปัญหาด้านสภาพคล่องจะส่งผลถึงประชาชนทั่วไปในวงกว้าง จึงเป็นส่วนสำคัญในการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน 

 

ขณะที่กลุ่ม Non-investment grade มีสัดส่วนประมาณ 4% ของตลาด และเป็นการเสนอขายแบบวงจำกัดเกือบทั้งหมด ผู้ถือครองส่วนใหญ่จึงเป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์กับกิจการหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ขณะที่ยังมี ก.ล.ต. ติดตามความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด  

 

ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้ประสานงานกับผู้ออก บล. และ ธพ. ที่เป็นคนขาย และผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อติดตามแผนการชำระหนี้ของผู้ออก โดยเฉพาะกรณีที่คาดว่าจะไม่สามารถ Roll over ได้ รวมถึงพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาเป็นรายกรณี เช่น ให้ผู้ออกจัดหาเงินมาชำระหนี้บางส่วน หรือวางหลักประกันเพิ่มเติม การขอมติผู้ถือหุ้นกู้เพื่อเลื่อนวันครบกำหนดอายุหุ้นกู้ ซึ่งเป็นแนวทางที่ใช้ในต่างประเทศภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ฯลฯ

 

อย่างไรก็ตาม กองทุน BSF เป็นโรงพยาบาลสนามที่จะช่วยเหลือในส่วนที่จำเป็น ดังนั้น อาจไม่สามารถช่วยผู้ที่ขอเข้ามาใช้กองทุน BSF ได้ทั้งหมด

 

ภาพประกอบ: อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X