กีฬาอาจมีความหมายที่แตกต่างออกไปสำหรับหลายๆ คน แต่สำหรับทีมนักกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอลตัวแทนประเทศอัฟกานิสถานที่เดินทางมาเข้าร่วมแข่งขันวีลแชร์บาสเกตบอลชิงแชมป์เอเชีย-โอเชียเนีย รายการไอดับเบิลยู เอเชีย โอเชียเนีย แชมเปี้ยนชิพ 2019 ที่ศูนย์กีฬาภาคตะวันออก เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี
กีฬาสำหรับพวกเขามีความหมายที่มากกว่าผลการแข่งขันในสนาม THE STANDARD ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นิโลฟา บายัต กัปตันทีมหญิง วีลแชร์บาสเกตบอล อัฟกานิสถาน ซึ่งเธอได้รับบาดเจ็บจนเป็นอัมพาตจากระเบิดตั้งแต่อายุ 2 ขวบ และสูญเสียพี่ชายไปจากเหตุการณ์เดียวกัน
แต่วันนี้เธอได้ค้นพบเป้าหมายในชีวิตใหม่จากการเริ่มต้นเล่นกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอลในฐานะตัวแทนประเทศอัฟกานิสถาน
เช่นเดียวกับ ชาพัวร์ เซอคาบี อีกหนึ่งตัวแทนของอัฟกานิสถานที่ลงแข่งขันในปีนี้ ที่มองว่ากีฬาคือสิ่งสำคัญในชีวิตของเขา
รวมถึง เจส มาร์ก เจ้าหน้าที่ของ ICRC ด้าน Disabilities, Sport and Inclusion ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นนักกีฬากระโดดสูงในทีม Track & Field ในระดับมหาวิทยาลัย ก่อนจะประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ส่งผลให้เขาหลังหักและกลายเป็นผู้พิการ
มาถึงวันนี้เขาได้พบกับเส้นทางใหม่ในวงการกีฬาในฐานะโค้ชวีลแชร์บาสเกตบอล และเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ซึ่งเป็นผู้เดินทางไปสอนวีลแชร์บาสเกตบอลภายในอัฟกานิสถาน
ซึ่งเขาได้ค้นพบว่าสำหรับผู้คนที่ผ่านสถานการณ์ความรุนแรงมาจนได้รับผลกระทบทางร่างกายและจิตใจ กีฬาคือก้าวแรกที่สามารถนำพาพวกเขากลับคืนสู่สังคมได้ด้วยการสร้างความมั่นใจและทำในสิ่งที่คนอื่นเชื่อว่าพวกเขาทำไม่ได้