พล็อตเรื่องล้ำๆ กับฉากแอ็กชันสุดระห่ำ เหมือนเป็นของแสลงสำหรับผู้กำกับหลายคนที่พยายามจะปรุงสองสิ่งนี้เข้าด้วยกัน การเลือกเน้นที่ทางใดทางหนึ่งให้สุดคือทางออกที่น่าจะปลอดภัยที่สุดสำหรับหนังแนวนี้ แต่ไม่ใช่กับ What Happened to Monday ที่ผู้กำกับ ทอมมี่ เวอร์โคล่า (Tommy Wirkola) ตัดสินใจรวมทั้งสองอย่างไว้ด้วยกัน
ถึงแม้ว่าจะมีบางจุดที่เรารู้สึกว่าใช้พล็อตที่น่าสนใจเปลืองไปบ้าง แต่เมื่อรวมกับฉากบู๊ที่แทบไร้ที่ติ ก็พอทำให้ What Happened to Monday กลายเป็นหนังอีกหนึ่งเรื่องที่ไม่ควรพลาดสำหรับสุดสัปดาห์นี้
พล็อตดี แต่น่าเสียดายที่ไม่ดันไปให้สุดทาง
ตั้งแต่รู้เรื่องย่อและเห็นตัวอย่างของ What Happened to Monday ความรู้สึกแรกของเราคือพล็อตฝาแฝด 7 คน แต่ทุกคนอยู่ร่วมกันภายใต้ตัวตนเดียว เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และคาดหวังว่าเราจะได้เห็นความลึกลับซับซ้อนจากการร่วมมือกันของพี่น้องทั้งเจ็ด เพื่อทำภารกิจปฏิภาณไหวพริบที่ลึกลับซับซ้อน
ซึ่งหนังตอบโจทย์นี้ได้ดีตั้งแต่ช่วงแรก การสร้างปมความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในโลกอนาคตช่วงปี 2073 ที่ปัญหาประชากรล้นโลกกลายเป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่ง รัฐบาลต้องออกกฎหมายจำกัดประชากรด้วยการกำหนดให้ 1 ครอบครัวมีลูกได้เพียง 1 คน แต่ดันมีผู้หญิงคนหนึ่งที่คลอดลูกแฝดออกมาพร้อมกัน 7 คน และเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กๆ ถูกนำไปแช่แข็ง (รอฟื้นขึ้นมาในวันที่โลกดีขึ้นกว่านี้) คุณตาจึงตัดสินใจรวมให้ทุกคนกลายเป็นหนึ่งเดียว โดยฝึกให้เด็กๆ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และออกไปนอกบ้านได้เพียงแค่อาทิตย์ละ 1 วัน ตามชื่อของตัวเองเท่านั้น (Monday-Sunday) ช่วงเวลาวัยเด็กที่ต้องเรียนรู้ทุกอย่างไปพร้อมๆ กัน ทำให้เราเอาใจช่วยให้พวกเธอเติบโตอย่างชาญฉลาดและอยู่รอดในโลกที่วุ่นวายแบบนี้ให้ได้
แต่พอเริ่มเข้าสู่ช่วงหลัง หนังเลือกพาตัวเองเข้าสู่การเป็นหนังแอ็กชันเต็มรูปแบบ ภารกิจของพวกเธอกลายเป็นการตามหา Monday พี่น้องคนหนึ่งที่หายตัวไป หลังจากใช้ทักษะการต่อสู้หนีการตามล้างของรัฐบาล เราแทบไม่ได้เห็นไหวพริบการเอาตัวรอดทางสังคมจากพวกเธออีกเลย จนความซับซ้อนที่เราอยากเห็นตั้งแต่แรกลดลงไปอย่างน่าเสียดาย
บู๊สะใจ ไม่มีประนีประนอม
แต่ยังโชคดีที่เมื่อหนังเลือกเดินไปทางแอ็กชันเต็มตัว ก็ยังดึงฉากบู๊ถึงลูกถึงคนมาทดแทนความคาดหวังที่เพิ่งหายไปได้เป็นอย่างดี อย่างแรกที่ชอบมากที่สุดคือ การไม่ประนีประนอมกับตัวละครใดๆ ทั้งสิ้น หนังจัดการกับตัวละครได้ฉับไวแบบไม่ให้คนดูตั้งตัว
อย่างที่สองคือ จังหวะและมุมกล้อง รวมทั้งแอ็กติ้งของนักแสดงในฉากบู๊ ทุกฉากทำได้เนียนตามาก ทำให้เราทึ่งได้แม้แต่ฉากที่เน้นความงามและฉลาดหลักแหลม หรือในฉากที่ฟาดเป็นฟาด ทุบเป็นทุบ ยิงเป็นยิง ก็ทำให้เราสะใจไปถึงขั้นอยากเอามือปิดตาไปได้พร้อมๆ กัน ให้ความรู้สึกคล้ายๆ ตอนดู Sicario (2015) ที่เรายกให้เป็นหนังที่มีคิวบู๊เนียนตาและฉลาดที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา
นี่คือการแสดงที่ดีที่สุดของ นูมิ ราเพซ
สิ่งหนึ่งที่ต้องชม คือ นูมิ ราเพซ ที่เราค่อยๆ เห็นพัฒนาการของเธอมาตั้งแต่ The Girl with the Dragon Tattoo (2011) และ Prometheus (2012) จนมาเฉิดฉายจริงๆ ด้วยการแบกหนังเรื่องนี้ไว้ทั้งเรื่อง กับการรับบทเป็นฝาแฝดที่คาแรกเตอร์ไม่เหมือนกันเลยทั้ง 7 คน นูมิ ราเพซ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เธอมีบุคลิกที่เหมือนตัวละครทั้ง 7 เป็นทุนเดิม แต่สุดท้ายกลายเป็นการทำงานหนักต่างหากที่ทำให้เธอรับบทนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เธอต้องคุยกับผู้กำกับ ทอมมี่ เวอร์โคล่า ล่วงหน้าเพื่อวิเคราะห์ตัวละครอย่างละเอียดจนสามารถแบ่งพาร์ตในหัวเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนที่สุด รวมทั้งเวลาเข้าฉากร่วมกันสตันต์ที่ต้องมาเล่นเป็นพี่น้องคนอื่นๆ แทน เธอก็ต้องอธิบายและแสดงให้ดูอย่างละเอียดว่าควรแสดงออกมาอย่างไร แม้ว่าจะเป็นฉากนั่งอยู่บนโซฟาไกลๆ มองเห็นเป็นแค่แบ็กกราวด์เล็กๆ ก็ตาม
เราอาจพูดได้ว่า นูมิ ราเพซ คือนักแสดงแอ็กชันฝ่ายหญิงที่ดีที่สุด ณ เวลานี้ เพราะไม่ใช่แค่ทุ่มตัวเล่นแอ็กชันให้ถึงใจ แต่นี่เธอต้องเล่นฉากแอ็กชันที่แตกต่างกันไปทั้ง 7 คาแรกเตอร์ โดยเฉพาะบท Wednesday ที่เป็นนักกีฬา วิ่งกระโดดข้ามตึก เธอก็ทำได้อย่างสวยงาม หรือเวลาเล่นบท Friday สาวน้อยสุดเนิร์ดที่ไม่กล้าสู้กับใคร เธอก็ทำออกมาให้เชื่อได้ว่าเวลาคนอ่อนแอต้องลุกขึ้นมาสู้อย่างจริงจัง ก็จะมีภาพที่คล้ายๆ กันแบบนี้นี่ล่ะ
- ในตอนแรกคนเขียนบทอย่าง แม็กซ์ บอทกิ้น (Max Botkin) วางให้ฝาแฝดทั้ง 7 เป็นผู้ชาย แต่เมื่อ ทอมมี่ เวอร์โคล่า เข้ามาเป็นผู้กำกับ เขาตัดสินใจเปลี่ยนตัวละครนำให้เป็นผู้หญิง และยื่นคำขาดว่าต้องเป็น นูมิ ราเพซ เท่านั้นที่มารับบทนี้
- ช่วงอายุ 13-14 ปี นูมิ เคยเป็นฮิปปี้เหมือน Tuesday พอโตขึ้นมาเริ่มชอบเล่นกีฬาและการต่อสู้เหมือน Wednesday เคยเป็นเด็กพังก์ขี้โมโห เกลียดคนทั้งโลกเหมือน Thursday และเคยย้อมผมสีบลอนด์และชมพูเหมือน Saturday
- หนังเรื่องนี้ใช้เวลาถ่ายทำทั้งหมด 94 วัน ซึ่งถือว่าเยอะมากสำหรับหนังขนาดกลางในฮอลลีวูด และเกือบทั้งหมดใช้ไปกับฉากฝาแฝดทั้ง 7 ของ นูมิ ราเพซ