คณะกรรมาธิการยุโรป เสนอแผนคว่ำบาตรที่รุนแรงที่สุดต่อรัสเซีย ซึ่งรวมถึงการทยอยยกเลิกการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการตอบโต้รอบที่ 6 ภายหลังรัสเซียเปิดฉากทำสงครามบุกยูเครนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน (Ursula von der Leyen) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เปิดเผยว่า แผนคว่ำบาตรดังกล่าว ‘จะเป็นการห้ามนำเข้าน้ำมันรัสเซียอย่างสมบูรณ์ ทั้งทางทะเล และท่อส่งน้ำมันของรัสเซีย น้ำมันดิบ และน้ำมันที่ผ่านการกลั่น’ ซึ่งจะมีขึ้นเป็นขั้นตอนเพื่อให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปหรือ EU มีเวลาในการค้นหาแหล่งพลังงานทางเลือก
อย่างไรก็ตาม การที่ข้อเสนอคว่ำบาตรนำเข้าน้ำมันรัสเซียจะได้รับการอนุมัตินั้น จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากชาติสมาชิก EU ทั้งหมด 27 ประเทศ แต่มีบางประเทศที่ยังแสดงท่าทีคัดค้านการแบนนำเข้าน้ำมันรัสเซียทั้งหมด
ซึ่ง ฟอน แดร์ ไลเอิน กล่าวอย่างชัดเจนว่า การยกเลิกพึ่งพาน้ำมันของรัสเซียนั้นไม่ง่าย และบางประเทศสมาชิกยังคงพึ่งพาน้ำมันรัสเซียในปริมาณมาก แต่เป็นความจำเป็นของ EU ที่ต้องดำเนินการ
คำถามสำคัญที่หลายฝ่ายกังวล คือมีความเป็นไปได้จริงมากแค่ไหนที่ EU จะปลดพันธนาการจากการพึ่งพิงน้ำมันรัสเซียได้อย่างสมบูรณ์ และผลกระทบที่ตามมา โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจของแต่ละประเทศสมาชิกนั้นจะรุนแรงมากแค่ไหน?
รายละเอียดแผนของ EU
- คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังหาทางที่จะทยอยยุติการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียภายใน 6 เดือน และผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ผ่านการกลั่นภายในสิ้นปี 2022
- ภายใต้ข้อเสนอของ EU ฮังการีและสโลวาเกีย อาจได้รับความยินยอมให้ใช้เวลานานขึ้นเพื่อปรับตัวต่อแผนทยอยยกเลิกนำเข้ามันรัสเซีย โดยมีเวลาไปจนถึงสิ้นปี 2023
- Reuters รายงานว่ามาตรการของ EU นั้น รวมถึงการแบนเรือขนส่งน้ำมันรัสเซียทั้งหมดภายใน 1 เดือน ตลอดจนแบนนายหน้า ประกันภัย และการให้บริการทางการเงินต่างๆ ที่เสนอโดยบริษัทใน EU สำหรับการขนส่งน้ำมันของรัสเซียไปยังทั่วโลก
- มาตรการคว่ำบาตรของ EU จะมีผลต่อการส่งออกน้ำมันของรัสเซียไปยังทั่วโลก และจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อศักยภาพของมอสโกในการหาลูกค้าจากประเทศอื่น หลังจากที่ EU หยุดการซื้อน้ำมันจากรัสเซีย
- นอกจากนี้ ฟอน แดร์ ไลเอิน ยังเสนอให้เพิ่มธนาคารชั้นนำของรัสเซียอย่าง Sberbank พร้อมด้วยสถาบันการเงินของรัสเซียอีก 2 แห่ง ลงไปในรายชื่อธนาคารที่ถูกตัดออกจากระบบ SWIFT ซึ่งเป็นระบบโอนเงินระหว่างประเทศที่ใช้ในสถาบันการเงินทั่วโลก
- หากชาติสมาชิก EU ตอบรับข้อเสนอคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย จะส่งผลให้ EU เดินตามรอยสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ซึ่งได้ดำเนินมาตรการแบนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียแล้ว เพื่อตัดแหล่งรายได้ใหญ่ที่สุดที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของรัสเซีย
- ขณะที่เอกอัครราชทูตจาก 27 ชาติสมาชิก EU คาดว่าจะรับรองข้อเสนอคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียอย่างเร็วที่สุดในช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่งจะเปิดทางให้บังคับใช้เป็นกฎหมายได้หลังจากนั้นในอีกไม่นาน
- ก่อนหน้านี้ในเดือนเมษายน EU ยังได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าถ่านหินของรัสเซีย ในลักษณะที่คล้ายกับการคว่ำบาตรนำเข้าน้ำมัน แต่มีผลบังคับใช้ทันทีในตลาดซื้อขาย แม้จะมีระยะเวลาผ่อนผันในช่วง 4 เดือนที่สัญญาซื้อขายเดิมยังคงอยู่
- อย่างไรก็ตาม ทางด้าน ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลเครมลิน กล่าวเมื่อวานนี้ (4 พฤษภาคม) ว่ารัสเซียกำลังพิจารณาตัวเลือกต่างๆ ในขณะที่เตรียมพร้อมรับมือการคว่ำบาตรน้ำมันจาก EU
การแบนน้ำมันรัสเซียกระทบเศรษฐกิจ EU อย่างไร?
- รัสเซียถือเป็นประเทศผู้จัดส่งน้ำมันแก่ยุโรปรายใหญ่ที่สุด โดย 26% ของน้ำมันที่ EU นำเข้านั้นมาจากรัสเซีย ขณะที่เยอรมนี โปแลนด์ และเนเธอร์แลนด์ ต่างเป็นผู้ซื้อน้ำมันรัสเซียรายใหญ่ที่สุดในยุโรป
- จากข้อมูลของศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศบริสุทธิ์ (Centre for Research on Energy and Clean Air) พบว่า นับตั้งแต่เริ่มสงครามบุกยูเครน หรือที่รัสเซียเรียกว่าเป็น ‘ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร’ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยุโรปได้จ่ายเงินซื้อน้ำมันจากรัสเซียแล้วเป็นจำนวนกว่า 1.4 หมื่นล้านยูโร หรือกว่า 5 แสนล้านบาท
- ขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังดำเนินการเพื่อเร่งเตรียมความพร้อมของแหล่งพลังงานทางเลือก เพื่อพยายามลดผลกระทบและต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นจากการยกเลิกนำเข้าน้ำมันของรัสเซีย
- อย่างไรก็ตาม หากไม่มีแหล่งพลังงานทางเลือกที่เพียงพอและมีราคาที่เหมาะสม EU อาจต้องเผชิญกับปัญหาราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นหรือการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
- อังเดรย์ ออนติคอฟ นักวิเคราะห์การเมืองชาวรัสเซีย ให้ความเห็นกับสำนักข่าว Al Jazeera ว่ามอสโกมีแนวโน้มที่จะมองหาผู้ซื้อรายอื่นนอกยุโรป ซึ่งรวมทั้งจีนและอินเดีย ในขณะที่ EU จะต้องเผชิญกับการจ่ายค่านำเข้าน้ำมันในราคาที่สูงขึ้นสำหรับการนำเข้าน้ำมันจากแหล่งทางเลือกอื่นๆ
- “ประเทศต่างๆ ในยุโรปกำลังยิงขาของตัวเอง ผมนึกไม่ออกว่าประเทศเหล่านั้นจะได้น้ำมัน (จากที่อื่น) ในราคาเท่าไร บางทีสหรัฐฯ อาจจะจัดหาน้ำมันดิบให้ได้ แต่ก็เหมือนเดิมคือ ที่ราคาเท่าไร?” ออนติคอฟกล่าว
- ด้านสำนักข่าว RIA Novosti ของรัสเซีย อ้างอิงคำกล่าวของ วลาดิมีร์ ชาบารอฟ รองหัวหน้าคณะกรรมการกิจการระหว่างประเทศของวุฒิสภารัสเซีย ซึ่งระบุว่ายุโรปจะยังคงซื้อน้ำมันของรัสเซียผ่านประเทศที่สามต่อไป แม้จะมีการคว่ำบาตร
ทำไมแผนคว่ำบาตร ไม่รวมก๊าซธรรมชาติด้วย?
- สำหรับก๊าซธรรมชาตินั้นยังไม่ใช่เป้าหมายสำหรับการคว่ำบาตรของ EU โดยยังไม่มีการพูดคุยเรื่องการยกเลิกนำเข้าก๊าซจากรัสเซียกันในระดับ EU เนื่องจากประเทศสมาชิก EU ต่างยังคงพึ่งพิงการนำเข้าก๊าซจากรัสเซีย ซึ่งในปี 2021 EU นำเข้าก๊าซจากรัสเซีย คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ของปริมาณการใช้ก๊าซทั้งหมด
- นับตั้งแต่เกิดการหยุดชะงักของการจัดส่งก๊าซ ที่ส่งผลกระทบต่อบางประเทศทางตะวันออกของ EU ในช่วงฤดูหนาวปี 2006 และ 2009 ทาง EU ได้ดำเนินการตามนโยบายพลังงานที่มีร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานและตลาดพลังงานภายใน
- ขณะที่ EU ลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียลงอย่างต่อเนื่อง จากสัดส่วน 77% ในปี 2011 เหลือ 62% ในปี 2021 แต่ยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะยกเลิกการพึ่งพิงพลังงานจากรัสเซีย
- เรื่องก๊าซนั้นกลายเป็นประเด็นใหญ่ในการประชุมสภาของเยอรมนีเมื่อวานนี้ (4 พฤษภาคม) โดย โดมินิก เคน ผู้สื่อข่าวของ Al Jazeera รายงานว่า “ผู้นำยุโรปต้องการดำเนินการต่อต้านรัสเซียอย่างรวดเร็ว แต่พวกเขาต่างติดอยู่กับความจริงของการตัดสินใจที่รัฐบาลทั่วยุโรปทำมาในช่วงตลอดหลายทศวรรษ ซึ่งพวกเขาคิดว่าการทำข้อตกลงกับประธานาธิบดีปูตินนั้นจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อพวกเขา”
- อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมาธิการยุโรปได้ดำเนินการบางอย่าง เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายการหยุดพึ่งพิงก๊าซจากรัสเซีย โดยในวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอแผน ‘REPowerEU’ ที่สรุปมาตรการเพื่อลดการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียก่อนสิ้นปีนี้ และบรรลุการหยุดนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากรัสเซียอย่างสมบูรณ์ ก่อนสิ้นทศวรรษนี้
ประเทศไหนบ้างที่กังวลต่อแผนคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย?
- ฮังการี สโลวาเกีย สาธารณรัฐเช็ก และบัลแกเรีย ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับแผนการคว่ำบาตรด้วยการแบนนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย
- น้ำมันดิบเกือบทั้งหมดที่สโลวาเกียนำเข้านั้นมาจากรัสเซีย หลักๆ ผ่านทางท่อส่งน้ำมัน Druzhba ที่สร้างมาตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต
- ขณะที่สโลวาเกียจับมือกับฮังการีที่มีการพึ่งพิงน้ำมันจากรัสเซียในระดับสูงเช่นกัน โดยกำลังพยายามหาทางเพื่อได้รับการยกเว้นจากมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย
- “เราเห็นด้วยกับการคว่ำบาตรนี้ แต่กำลังบอกว่าเราต้องการช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจนกว่าเราจะปรับให้เข้ากับสถานการณ์ได้ สิ่งที่กำลังพูดคุยกันวันนี้ คือระยะเวลาของช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน” ริชาร์ด ซูลิก รัฐมนตรีเศรษฐกิจของสโลวาเกียกล่าว พร้อมอธิบายว่า ระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่านที่นานขึ้นจะทำให้สโลวาเกียมีเวลาในการจัดหาแหล่งน้ำมันทางเลือก
- ด้านฮังการีประกาศว่า ไม่สามารถสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียที่คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอได้ เนื่องจากจะทำลายความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
- “มาตรการคว่ำบาตรของบรัสเซลส์จะแบนการขนส่งน้ำมันจากรัสเซียไปยังยุโรป โดยเป็นการแจ้งล่วงหน้าในระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้น ในกรณีของฮังการีคือภายในสิ้นปีหน้า” ปีเตอร์ ซิจจาร์โต รัฐมนตรีต่างประเทศฮังการีกล่าว พร้อมทั้งยืนยันว่าฮังการีไม่สามารถสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรตามข้อเสนอ ณ ปัจจุบันได้
- อย่างไรก็ตาม ซิจจาร์โตชี้ว่า ฮังการีอาจสามารถยอมรับมาตรการเหล่านี้ได้ ต่อเมื่อการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียผ่านท่อส่งก๊าซนั้นได้รับการยกเว้นจากการคว่ำบาตรของ EU
ภาพ: Photo by Hannibal Hanschke / Getty Images
อ้างอิง: