×

สิ่งที่เรารู้จากเหตุดีเจชื่อดังติดโควิด-19 และคลัสเตอร์ปาร์ตี้วันเกิดใน กทม.

26.01.2021
  • LOADING...
สิ่งที่เรารู้จากเหตุดีเจชื่อดังติดโควิด-19 และคลัสเตอร์ปาร์ตี้วันเกิดใน กทม.

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ขณะนี้คลัสเตอร์งานปาร์ตี้วันเกิด 2 งาน ที่โรงแรม 2 แห่งใน กทม. มีผู้ป่วยรวมทั้งหมด 19 ราย โดยมีความเชื่อมโยงกันด้วยผู้ป่วยรายหนึ่งที่ติดเชื้อมาจากสถานบันเทิง จ.เชียงใหม่
  • งานปาร์ตี้เป็นเหตุการณ์การแพร่กระจายเชื้อมากเป็นพิเศษ (Superspreading Event) เพราะเป็นกิจกรรมที่ผู้ป่วยและผู้สัมผัสพูดคุยใกล้ชิดกัน ตะโกนคุย (เพราะมักจะเปิดเพลงเสียงดัง) หรือร้องเพลง ซึ่งทำให้เกิดละอองน้ำลายจำนวนมากและกระเด็นไปได้ไกล แน่นอนว่าไม่มีผู้ร่วมงานคนใดสวมหน้ากากขณะกินเลี้ยงได้ 
  • ในขณะที่คนทั่วไปจะใช้คำนี้เรียกผู้ป่วยที่ได้พบปะกับคนจำนวนมาก ซึ่งก็คือมี ‘โอกาส’ เป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ แต่ ‘ยัง’ ไม่ใช่ เราจึงยังไม่ควรด่วนสรุปตั้งแต่แรก เพราะจะยิ่งซ้ำเติมให้เขารู้สึกผิดกับการติดเชื้อมากขึ้น ทั้งที่โดยทั่วไปคงไม่มีใครอยากติดเชื้อ และการสร้างความผิดให้กับผู้ป่วยอาจส่งผลให้ผู้มีความเสี่ยงหรือผู้สัมผัสฯ ไม่เข้ารับการตรวจหาเชื้อ

ถ้าผลการสอบสวนโรคของดีเจคนหนึ่งตรงกับความจริง เหตุการณ์ทั้งหมดต้องตั้งต้นจากช่วงเทศกาลปีใหม่ที่สถานบันเทิงแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ เพราะตอนนั้นสถานบันเทิงใน กทม. ถูกสั่งปิดมาตั้งแต่ 29 ธันวาคม 2563 แล้ว (หรือเปิดในสถานะร้านอาหาร) ในขณะที่ดีเจท่านนั้นเป็นเพียง 1 ในผู้ป่วย 19 รายของคลัสเตอร์ปาร์ตี้วันเกิดเท่านั้น แต่ว่าเขาเองก็เป็นเจ้าของวันเกิด

 

เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับคลัสเตอร์นี้

 

ไทม์ไลน์ของผู้ป่วยรายที่ 598 ของ กทม. ไปเที่ยวสถานบันเทิงแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ระหว่างวันที่ 1-4 มกราคม 2564 และเดินทางกลับ กทม. ในช่วงเย็นของวันที่ 5 มกราคม แต่ก่อนกลับในช่วงเช้าได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ผลไม่พบเชื้อ โดยช่วงนั้น จ.เชียงใหม่ก็เริ่มตรวจพบการระบาดแล้ว (ว่าแต่เขาถูกระบุเป็นผู้ส้มผัสฯ เสี่ยงสูงหรือไม่?)

 

ถึงแม้ไทม์ไลน์ต่อมาจะบอกว่าเขากักตัวที่บ้าน แต่ก็ออกไปปาร์ตี้กับเพื่อนในวันที่ 9 มกราคม จนคาดว่าเป็นเหตุการณ์การแพร่กระจายเชื้อมากเป็นพิเศษ (Superspreading Event) ในครั้งนี้ ก่อนจะเริ่มมีอาการจมูกไม่ได้กลิ่นในวันที่ 16 มกราคม (ถ้าผู้ป่วยรายนี้เป็นแหล่งโรคจริง เขาจะมีระยะฟักตัวค่อนข้างนานคือ 12-15 วัน และแพร่เชื้อก่อนมีอาการถึง 1 สัปดาห์)

 

ปาร์ตี้ในวันดังกล่าวทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 7 ราย รวมดีเจท่านนั้น แต่สิ่งที่เรายังไม่ทราบคือผู้ร่วมงานในวันนั้นมีใครบ้าง และทีมสอบสวนโรคสามารถติดตามได้ครบทั้งหมดหรือไม่ เพราะขณะนี้ครบระยะฟักตัว 14 วันแล้ว หากติดเชื้อแบบไม่มีอาการ หรือมีอาการแต่ยังไม่ได้รับการตรวจ เขาก็อาจยังแพร่เชื้อต่อไปได้ ซึ่งหวังว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น

 

จากแผนผังที่อธิบดีกรมควบคุมโรคแถลงเมื่อวันที่ 24 มกราคม ดีเจท่านนั้น ‘ยัง’ ไม่ใช่ซูเปอร์สเปรดเดอร์ (Superspreader) เพราะยังไม่พบผู้ติดเชื้อต่อจากเขาเพิ่มเติม ส่วนผู้ป่วยรายที่ 598 ได้แพร่เชื้อต่อให้กับคนใกล้ชิด และคนนั้นก็ไปอีกงานปาร์ตี้หนึ่งในวันที่ 16 มกราคม จนเกิดการระบาดเป็นอีกคลัสเตอร์ ซึ่งรวมผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ช่องหนึ่งด้วย

 

ขณะนี้คลัสเตอร์งานปาร์ตี้วันเกิด 2 งาน ที่โรงแรม 2 แห่งใน กทม. มีผู้ป่วยรวมทั้งหมด 19 ราย โดยมีความเชื่อมโยงกันด้วยผู้ป่วยรายหนึ่งที่ติดเชื้อมาจากสถานบันเทิง จ.เชียงใหม่

 

รูปคลัสเตอร์ปาร์ตี้วันเกิด 2 งานใน กทม. (อ้างอิง: เพจศูนย์ข้อมูลโควิด-19)

 

รูปคลัสเตอร์ปาร์ตี้วันเกิด 2 งานใน กทม. (อ้างอิง: เพจศูนย์ข้อมูลโควิด-19)

 

ไทม์ไลน์ผู้ป่วยรายที่ 598 ของ กทม. ตรงกับผู้ป่วยที่ใช้สัญลักษณ์ผู้ชายสวมเสื้อสีแดงตรงกลางด้านซ้าย แต่สังเกตว่าวงกลมสีส้มด้านบนเป็นผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการก่อนผู้ป่วยรายอื่นในคลัสเตอร์ ซึ่งอาจเป็นแหล่งของการติดเชื้อ แต่ไม่มีรายละเอียดจากการแถลงข่าว 

 

เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากคลัสเตอร์นี้

 

1. การกักตัวเป็นมาตรการควบคุมโรคสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนที่ได้รับการระบุว่าเป็น ‘ผู้สัมผัสฯ เสี่ยงสูง’ เพราะถือว่าเป็นผู้ที่มีโอกาสได้รับเชื้อสูง จากการพูดคุยกันในระยะ 1-2 เมตร หรืออยู่ร่วมกันในสถานที่ปิดนานเกิน 15 นาที หากติดเชื้อก็สามารถแพร่เชื้อได้แม้จะยังไม่มีอาการ เหมือนผู้ป่วยรายที่ 598 ของ กทม. ที่แพร่เชื้อในงานปาร์ตี้ 

 

แต่ทว่าเขาเข้าใจผลการตรวจ ‘ไม่พบเชื้อ’ ในครั้งแรกผิดหรือไม่? เนื่องจากเป็นการตรวจหาเชื้อในวันแรกๆ จึงยังอาจไม่พบเชื้อก็ได้ และจำเป็นต้องกักตัวต่อจนครบ 14 วัน ในขณะที่การสอบสวนโรคที่สถานบันเทิงช่วงปีใหม่ได้ระบุให้เขาเป็นผู้สัมผัสฯ เสี่ยงสูงหรือไม่? ซึ่งถ้าใช่ก็จะต้องมีการส่งต่อข้อมูลข้ามจังหวัดให้ กทม. ติดตามผู้สัมผัสฯ ต่อ

 

2. งานปาร์ตี้เป็นเหตุการณ์การแพร่กระจายเชื้อมากเป็นพิเศษ (Superspreading Event) เพราะเป็นกิจกรรมที่ผู้ป่วยและผู้สัมผัสพูดคุยใกล้ชิดกัน ตะโกนคุย (เพราะมักจะเปิดเพลงเสียงดัง) หรือร้องเพลง ซึ่งทำให้เกิดละอองน้ำลายจำนวนมากและกระเด็นไปได้ไกล แน่นอนว่าไม่มีผู้ร่วมงานคนใดสวมหน้ากากขณะกินเลี้ยงได้ 

 

การชนแก้ว การดื่มเครื่องดื่มแก้วเดียวกัน การดื่มแอลกอฮอล์จนเมา การสูบบุหรี่ (ไฟฟ้า) มวนเดียวกัน และกิจกรรมบันเทิงต่างๆ ก็อาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อระหว่างกัน รวมถึงห้องที่ใช้จัดงานปาร์ตี้เป็นห้องปรับอากาศ ทำให้อากาศถ่ายเทไม่สะดวก และถ้าหากมีผู้ร่วมงานจำนวนมาก ร่วมกับห้องมีขนาดเล็กก็ทำให้เกิดความแออัดขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าทุกคนอยากรับประทานอาหารกับครอบครัว ปาร์ตี้กับเพื่อน หรือจัดงานเลี้ยง เช่น งานแต่งงาน เราจึงควรลดความเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้นให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น จัดงานนอกอาคาร จำกัดจำนวนคนร่วมงาน งดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ หรือจัดงานออนไลน์แทน หากสถานการณ์การระบาดยังรุนแรงอยู่ 

 

3. สถานบันเทิงเป็นกิจการที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่การระบาดระลอกแรกของไทยช่วงมีนาคม 2563 ในย่านทองหล่อ การระบาดในฝั่งท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา (แต่พอข้ามมาฝั่งเชียงราย กลับไม่พบการระบาดต่อ) เรื่อยจนมาถึงการระบาดระลอกใหม่ที่ จ.เชียงใหม่ และย่านบางแค กทม. ล้วนเกี่ยวข้องกับผับ บาร์ คาราโอเกะ

 

ศบค.น่าจะอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิงได้เร็วๆ นี้ แต่จะเปิดอย่างไรให้ลดความเสี่ยงเหลือน้อยที่สุด (เช่นเดียวกับปาร์ตี้) มาตรการผ่อนคลายที่เคยประกาศเมื่อกลางปีน่าจะถูกนำมาใช้ร่วมกับการแบ่งประเภทจังหวัดตามสถานการณ์ เช่น พื้นที่สีแดงอาจมีความเข้มงวดมากกว่า แต่ก็ต้องยอมรับว่าจะเกิดปัญหาแบบเชียงใหม่-กทม. คล้ายกันนี้ขึ้นมาอีกอยู่ดี

 

4. การบอกว่าผู้ป่วยคนใดเป็น ‘ซูเปอร์สเปรดเดอร์’ อาจเป็นการซ้ำเติมความเจ็บป่วย ข้อนี้อาจฟังเหมือนแก้ตัวให้ผู้ป่วย แต่ในทางวิชาการควรรอผลการสอบสวนโรคก่อน ซึ่งต้องติดตามผู้สัมผัสฯ จนครบ 14 วันถึงจะสามารถสรุปได้ว่าเขาเป็นผู้ที่แพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้มากกว่าปกติหรือไม่ โดยปกติผู้ป่วยโควิด-19 แต่ละรายจะแพร่เชื้อต่ออีก 2-3 คน

 

ในขณะที่คนทั่วไปจะใช้คำนี้เรียกผู้ป่วยที่ได้พบปะกับคนจำนวนมาก ซึ่งก็คือมี ‘โอกาส’ เป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ แต่ ‘ยัง’ ไม่ใช่ เราจึงยังไม่ควรด่วนสรุปตั้งแต่แรก เพราะจะยิ่งซ้ำเติมให้เขารู้สึกผิดกับการติดเชื้อมากขึ้น ทั้งที่โดยทั่วไปคงไม่มีใครอยากติดเชื้อ และการสร้างความผิดให้กับผู้ป่วยอาจส่งผลให้ผู้มีความเสี่ยงหรือผู้สัมผัสฯ ไม่เข้ารับการตรวจหาเชื้อ

 

หรืออย่างที่อาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งโพสต์แสดงความเห็นว่าดีเจคนนี้เป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ (ความจริงน่าจะเป็นผู้ป่วยที่กลับมาจากเชียงใหม่) ทำให้เกิดความไม่พอใจต่อดีเจคนนี้ขึ้นมาที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค (บางคนพูดถึง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่ห้ามชุมนุมมั่วสุมกัน ซึ่งน่าจะเป็นกฎหมายการเมือง) และยังทำให้คนอื่นต้องเดือดร้อนตามไปด้วย

 

ผมสังเกตว่าความไม่พอใจในครั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความกังวลว่า ศบค.จะไม่ผ่อนคลายมาตรการ เพราะยังมีการระบาดอยู่ ทำให้ผู้ที่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคเป็นอย่างดีเดือดร้อนตามไปด้วย แต่นโยบายของ ศบค. ในการระบาดระลอกใหม่นี้ค่อนข้างยืดหยุ่นกว่าครั้งก่อน และการ ‘ควบคุมได้’ ก็ไม่จำเป็นต้องมีจำนวนผู้ป่วย 0 รายไปตลอด

 

5. ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน ที่เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีอาการเพียงเล็กน้อย มาตรการส่วนบุคคลอย่างการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ จึงยังมีความจำเป็น ถึงแม้จะเป็นเพื่อนร่วมงานที่สนิท แต่เขาก็อาจได้รับเชื้อมาจากนอกสถานที่ทำงานหรือที่บ้าน แล้วมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการ ในสถานการณ์ที่มีการระบาดเป็นวงกว้าง เราจึงต้องป้องกันตัวเองให้มากที่สุด รวมถึงป้องกันการนำเชื้อกลับไปที่บ้านด้วย

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X