×

ต้องทำอย่างไร ถ้าในแอปฯ มีจุดสีแดงของผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ใกล้บ้าน

17.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ตั้งสติ เป็นอย่างแรกที่ต้องทำ เพราะโรคนี้ติดต่อกันในระยะ 1-2 เมตรผ่านการสูดหายใจ หรือสัมผัสกับละอองน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วย ดังนั้นการอยู่ในละแวกเดียวกับผู้ป่วยจึง ‘ไม่ได้’ หมายความว่าเราจะมีความเสี่ยงสูง 
  • สิ่งที่อยากให้รู้อีกอย่างเวลาเห็นแผนที่ คือประเภทของสถานที่ว่าตรงนั้นเป็นบ้าน ที่ทำงาน ร้านอาหาร หรือห้างสรรพสินค้าที่ผู้ป่วยเคยไป เพราะในการทำความสะอาด สิงคโปร์จะแบ่งสถานที่เป็น 3 ระดับคือ 1. พื้นที่ที่สัมผัสผู้ป่วย (Exposed) 2. สถานที่ที่สัมผัสกับผู้ป่วยชั่วคราว (Transient exposure) และ 3. สถานที่ที่อาจจะสัมผัสกับไวรัส (May Be Exposed) ดังนั้นแต่ละสถานที่จึงมีความเสี่ยงแตกต่างกัน
  • ข้อมูลสรุปจากคณะทำงานขององค์การอนามัยโลกที่ประเทศจีนพบว่า ยิ่งอายุเยอะ ยิ่งอาการรุนแรง โดยอายุ 80 ปีขึ้นไปมีอัตราเสียชีวิตมากที่สุด 14.8% ดังนั้นผู้สูงอายุจึงไม่ควรออกจากบ้าน

จุดสีแดงกะพริบสีแดงเหมือนผิวน้ำที่กระเพื่อมออกมาเป็นวง เป็นสิ่งแรกที่ผมเห็นเมื่อเปิดเว็บไซต์ Thailand Covid-19 News Tracker คำอธิบายสัญลักษณ์บอกว่าจุดนี้คือ ‘ข่าวล่าสุด’ (Latest News) ของโควิด-19 ภายใน 7 วันที่ผ่านมา 

 

ผมรีบซูมลงไปยังตำแหน่งบ้านของผมในเขตปริมณฑล ไม่พบว่ามีจุดที่ว่านี้อยู่ในละแวกเดียวกัน แต่ทว่าห่างไปอีกไม่ไกล (ประมาณ 20 กิโลเมตร) มีจุดสีแดงกำลังกระเพื่อมอยู่ 1 จุด เมื่อคลิกดูถึงรู้ว่ามีผู้ป่วยรายที่ 58 เดินทางกลับมาจากญี่ปุ่นอาศัยอยู่ตรงนั้น แล้ว “ถ้าบ้านเราอยู่ใกล้จุดนี้ จะต้องทำอย่างไรบ้าง?”

 

คำอธิบายสัญลักษณ์ใน Thailand Covid-19 News Tracker

 

  1. ตั้งสติ เป็นอย่างแรกที่ต้องทำ เพราะโรคนี้ติดต่อกันในระยะ 1-2 เมตรผ่านการสูดหายใจ หรือสัมผัสกับละอองน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วย ดังนั้นการอยู่ในละแวกเดียวกับผู้ป่วยจึง ‘ไม่ได้’ หมายความว่าเราจะมีความเสี่ยงสูง 

 

ตรงกันข้ามผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเป็นผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ได้แก่ อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน พูดคุยกับผู้ป่วยในระยะใกล้มากกว่า 5 นาที โดยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย หรือนั่งอยู่ในพื้นที่ปิดกับผู้ป่วยเป็นเวลานานกว่า 15 นาที เช่น ทำงานในห้องปรับอากาศเดียวกัน โดยสารรถประจำทางคันเดียวกัน

 

  1. ตรวจสอบข่าวให้แน่ชัด อย่างต่อมาคือการตรวจสอบข่าวนั้นว่าเป็นข่าวจริงหรือไม่ โดยอาจสอบถามจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือศูนย์อนามัย โรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ว่าตรงกับข้อมูลในเว็บไซต์หรือไม่ 

 

หรืออาจประเมินความน่าเชื่อถือของสำนักข่าวแทน เพราะในเว็บไซต์จะมีแหล่งข่าว (Source) ให้สามารถคลิกเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ ถึงแม้ผู้พัฒนาเว็บไซต์จะให้สัมภาษณ์ไว้ว่าจะมีทีมงานคอยตรวจสอบเฟกนิวส์ก่อนจะวางจุดลงไปในแผนที่อยู่แล้ว แต่ก็ควรฉุกคิดข้อนี้ไว้เสมอ

 

สิ่งที่ผมอยากให้รู้อีกอย่างเวลาเห็นแผนที่ คือประเภทของสถานที่ว่าตรงนั้นเป็นบ้าน ที่ทำงาน ร้านอาหาร หรือห้างสรรพสินค้าที่ผู้ป่วยเคยไป เพราะในการทำความสะอาด สิงคโปร์จะแบ่งสถานที่เป็น 3 ระดับคือ 

  1. พื้นที่ที่สัมผัสผู้ป่วย (Exposed) 
  2. สถานที่ที่สัมผัสกับผู้ป่วยชั่วคราว (Transient exposure) และ 
  3. สถานที่ที่อาจจะสัมผัสกับไวรัส (May Be Exposed) 

 

ดังนั้นแต่ละสถานที่จึงมีความเสี่ยงแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามถ้ามีการทำความสะอาดสถานที่นั้นแล้ว เราก็สามารถเข้าไปได้ตามปกติ โดยกรมควบคุมโรคแนะนำให้งดการใช้พื้นที่นั้น 1 วัน

 

  1. ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อเดินทางกลับมาถึงบ้านหรือที่พัก ก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ ด้วยการฟอกสบู่นาน 20 วินาทีให้ครบทุกซอกทุกมุม แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด แต่ถ้าหากมือไม่เปื้อนเศษสิ่งสกปรกสามารถใช้เจลล้างมือแอลกอฮอล์ความเข้มข้นอย่างน้อย 70% แทน (เตรียมไว้ตรงประตูหน้าบ้านเลยดีไหมครับ) 

 

และควรทำความสะอาดตรงบริเวณหรืออุปกรณ์ที่สมาชิกคนอื่นภายในบ้านสัมผัสร่วมกันเป็นประจำ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได โต๊ะ เก้าอี้ โดยใช้ผ้าชุบแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 70% หรือน้ำยาอื่นที่เหมาะสมเช็ด

 

  1. หลีกเลี่ยงการไปสถานที่แออัดในละแวกบ้าน หมายถึงสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน หรืออากาศไม่ถ่ายเท เพราะเป็นพื้นที่ที่ทำให้แต่ละคนอยู่ใกล้ชิดกันน้อยกว่า 1-2 เมตร หากมีผู้ป่วยไอจามจะไม่สามารถหลบเลี่ยงได้ 

 

ส่วนสถานที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท จะทำให้เชื้อค้างอยู่ในบริเวณนั้นนานกว่าปกติ ทำให้เรามีโอกาสได้รับเชื้อมากขึ้น หากจำเป็นต้องไปควรสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี ส่วนเจ้าของสถานที่ควรมีมาตรการลดความแออัด เช่น ขีดเส้นในการต่อคิวซื้อของเพื่อให้แต่ละคนเว้นระยะห่างกัน

 

  1. ผู้สูงอายุไม่ควรออกจากบ้าน การออกจากบ้านในที่นี้คือการออกไปในที่ชุมชนหรือพบปะกับผู้อื่น เพราะข้อมูลสรุปจากคณะทำงานขององค์การอนามัยโลกที่ประเทศจีนพบว่า ยิ่งอายุเยอะ ยิ่งอาการรุนแรง โดยอายุ 80 ปีขึ้นไปมีอัตราเสียชีวิตมากที่สุด 14.8% 

 

 

ดังนั้นจึงไม่ควรพาผู้สูงอายุออกไปนอกบ้าน หรือในอีกทางหนึ่งผู้ที่เพิ่งกลับมาจากนอกบ้านไม่ควรคลุกคลีกับผู้สูงอายุจนกว่าจะล้างมือหรืออาบน้ำแล้ว ในขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า 9 ขวบ นอกจากจะเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับผู้ป่วยทั้งหมดแล้ว ยังไม่พบว่าเด็กเสียชีวิตแม้แต่รายเดียว

 

  1. สังเกตอาการตัวเองและคนในครอบครัว โดยอาการของโควิด-19 ในระยะแรกจะคล้ายกับไข้หวัด คือไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อหรือปวดข้อ อ่อนเพลีย บางคนอาจมีไข้สูง หากมีอาการเพียงเล็กน้อย อาจแยกตัวจากคนในบ้าน (แน่นอนว่าต้องหยุดงานก่อน) กินยารักษาตามอาการ และสังเกตอาการอยู่ที่บ้าน 1-2 วันก่อน 

 

หากไม่ดีขึ้นหรืออาการรุนแรงถึงไปพบแพทย์ แต่ถ้าเคยสัมผัสกับผู้ป่วยโควิด-19 หรือทำงานใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวต้องไปพบแพทย์ทันที โดยจะต้องสวมหน้ากากอนามัย และหลีกเลี่ยงรถโดยสารประจำทางขณะไปโรงพยาบาล 

 

“ถ้าบ้านเราอยู่ใกล้จุดนี้ จะต้องทำอย่างไรบ้าง?” จะเห็นว่าทั้ง 6 ข้อ ส่วนใหญ่เป็นคำแนะนำที่เราเคยได้ยินมาทั้งหมดแล้ว เพียงแต่เราจะตระหนักถึงความสำคัญในการล้างมือ หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่คนแออัดมากขึ้น 

 

คนวัยทำงานต้องให้ความสำคัญกับพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เพราะผู้สูงอายุมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าคนวัยอื่น ในขณะที่วัยลูกหลานมักไม่มีอาการรุนแรง สุดท้ายคือการสังเกตอาการตัวเอง ถ้ามีอาการป่วยต้องหยุดงาน สวมหน้ากากอนามัย หากอาการไม่ดีขึ้นต้องไปพบแพทย์ครับ

 

อ่านเพิ่มเติม

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising