เวลาเห็นใครสักคนนั่งอยู่ แล้วจู่ๆ เขาแสดงอาการขนลุกขนพองขึ้นมา เขาอาจจะไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าเผลอนึกถึง ‘เรื่องน่าอายในอดีต’ ของตัวเองก็ได้นะ
แม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนาน แต่ความทรงจำบางอย่างก็ไม่เคยเลือนหาย นอกจากเราจะจำเรื่องที่ดีมาก สนุกมาก แย่มาก หรือเศร้ามากได้ขึ้นใจ ก็มีเรื่องน่าอายนี่แหละที่ยังฝังอยู่ในหัวเราจนถึงทุกวันนี้ และมักจะโผล่ขึ้นมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ทำเอาเราอยากร้องไห้และตะโกนออกมาว่า “นี่ฉันทำอะไรลงไป!” “ฉันไม่น่าทำแบบนั้นเลย!” และจากวันที่สดใสก็กลายเป็นวันที่หดหู่ไปในชั่วพริบตา
เราเรียกอาการนี้ว่า Shame Shudder อาการสั่นหรือขนลุกจากเรื่องน่าอายในอดีต บ้างก็เรียกว่า Shame Attacks ความรู้สึกที่เหมือนถูกจู่โจมด้วยเรื่องน่าอายในอดีต
เชื่อว่าทุกคนต้องเคยมีโมเมนต์ที่น่าอายในชีวิตกันบ้างแหละ เช่น สะดุดล้มกลางห้างสรรพสินค้า ทำน้ำหกตอนไปเดต ทักคนผิด พบว่าลืมรูดซิปกางเกงหลังจากออกไปข้างนอกทั้งวัน หรือเหตุการณ์อะไรก็ตามที่เราอยากจะลืมๆ ไปเสีย แต่ทว่าไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะต่อให้เราไม่ได้พยายามนึกถึง หรือไม่มีตัวกระตุ้นใดๆ ให้นึกถึงเลยก็ตาม ความทรงจำที่น่าอายดังกล่าวก็เล่นงานเราเอาจนได้
แม้ Shame Shudder หรือ Shame Attacks จะไม่ใช่ศัพท์ที่ใช้ในทางการแพทย์ แต่ผู้ที่เข้ารับจิตบำบัดหลายคนก็เผยว่า พวกเขารู้สึกเจ็บปวดและเสียดายกับเรื่องน่าอายในอดีตที่โผล่ขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุ ซึ่งในที่นี้จะแตกต่างไปจากความคิดแทรกซ้อนหรือที่ทางจิตวิทยาเรียกว่า Intrusive Thoughts เพราะความคิดแทรกซ้อนจะเป็นความคิดไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการจินตนาการหรือความกลัว แต่ Shame Shudder เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่เคย ‘เกิดขึ้นจริง’ ในชีวิตของเรา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่น่าละอายใจ น่าเสียดาย และน่าเศร้า แต่ถึงอย่างนั้น ความคิดทั้งสองแบบก็สามารถสร้างความทุกข์ให้เราได้เหมือนๆ กัน นั่นก็คือ ความรู้สึกรังเกียจและไม่สบายใจ
ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องใหญ่หรือเป็นอาการที่ร้ายแรงอะไร แต่การติดอยู่ในความรู้สึกที่เหมือนถูกอดีตหลอกหลอนตลอดเวลา สามารถทำให้การใช้ชีวิตของเราติดขัด ไม่ราบรื่น และอาจถูกรบกวนทางจิตใจจนส่งผลให้การทำงานประสิทธิภาพแย่ลง แต่หากเราอยากหลุดออกจากความไม่สบายใจดังกล่าว ก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เพราะอะไรอดีตที่น่าอายเหล่านั้นถึงไม่เลือนหายไปจากความทรงจำเราสักที
ฌอน โกรเวอร์ (Sean Grover) นักจิตบำบัด ได้เขียนอธิบายลงในบทความของเขาบนเว็บไซต์ Psychologytoday ว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เราเกิดอาการขนลุกจากเรื่องน่าอายในอดีต เกิดขึ้นจาก 3 สาเหตุ ได้แก่
ความผิดที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข มนุษย์เราทำเรื่องที่ผิดพลาดหรือเรื่องที่กลับมาเสียใจในภายหลังอยู่แทบจะทุกวัน อาจเป็นการพูดหรือทำอะไรทำร้ายคนที่ห่วงใย หรือทำอะไรที่ปิดกั้นตัวเองจากโอกาสบางอย่าง ซึ่งเราไม่เคยได้ชดใช้ความผิด หรือยกโทษให้กับการตัดสินใจของตัวเอง ทำให้ความรู้สึกละอายยังคงฝังอยู่ลึกๆ ไม่ไปไหน
บาดแผลทางความรู้สึก เมื่อเราทำเรื่องน่าอายหรือน่าละอายใจต่อคนอื่น หรือเรื่องน่าอายที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากคนอื่น เป็นเรื่องยากที่เราจะแก้ไขหรือชดใช้ หากเราไม่ได้พบปะติดต่อกับคนคนนั้นอีกต่อไป ทำให้บาดแผลทางความรู้สึกที่ไม่สามารถเยียวยาได้ด้วยตัวเอง ยังคงถูกสะกิดให้รู้สึกถึงความเจ็บปวดมาจนถึงทุกวันนี้
ความบอบช้ำในวัยเด็ก ความบอบช้ำในวัยเด็กที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ยังคงหล่อหลอมและหลอกหลอนเราผ่านความรู้สึกละอายใจ หลายครั้งผู้ใหญ่อย่างเราๆ จะนึกถึงเหตุการณ์แย่ๆ ในวัยเด็ก แล้วอยากกลับไปแก้ไขหรือตอบสนองในอีกแบบเพื่อไม่ให้เกิดเรื่องนั้นขึ้น แม้จะรู้ดีว่า เราในขณะนั้นยังคงเด็กเกินกว่าที่จะตอบสนองในแบบอื่นๆ ก็ตาม
แม้จะผ่านไปนาน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่รู้สึกอะไร บางคนก็แทบจะมีอดีตเป็นเพื่อนที่เมื่อหันไปกี่ครั้งก็เจอ แต่การที่เราปล่อยให้อดีตที่ไม่น่านึกถึงคอยกัดกินจิตใจเราอยู่เรื่อยๆ ในอนาคตเราอาจเผชิญปัญหาด้านสุขภาพจิตที่ยากจะเยียวยาได้ หากเราอยากจะก้าวไปข้างหน้าและทิ้งความน่าละอายใจเหล่านั้นไว้ในอดีต เราจะต้องรู้จักกับ ‘การให้อภัยตัวเอง’ หรือ Self-forgiveness ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้เราผ่านพ้นอดีตที่เลวร้ายไปได้ แต่ยังทำให้อนาคตข้างหน้า หากเราทำเรื่องผิดพลาดในชีวิตอีกครั้ง เราก็จะไม่ใจร้ายกับตัวเองมากเกินไปด้วย
โกรเวอร์ได้แนะนำวิธีการให้อภัยตัวเอง และวิธีรับมือเมื่อเรานึกถึงเรื่องน่าอายในอดีตไว้ ดังนี้
ฝึกให้อภัยตัวเองเยอะๆ เริ่มต้นเราต้องยอมรับเหตุการณ์ที่น่าอายเหล่านั้นก่อนว่ามันเกิดขึ้นจริง และทำความเข้าใจว่าทำไมเราถึงทำสิ่งนั้นลงไป เราอาจจะเด็กอยู่ เราอาจจะยังรู้น้อยเกินไป หรือเราไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ตรงนั้นได้ จากนั้นลองให้อภัยตัวเองด้วยความคิดที่ว่า เราในตอนนี้ไม่ใช่คนเดียวกับเราในตอนนั้นอีกแล้ว เราในตอนนั้นทำดีที่สุดแล้วด้วยปัจจัย เงื่อนไข หรือบริบทต่างๆ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็เติบโตขึ้นมาก เพราะเหตุการณ์นั้นได้สอนให้เรารู้จักระมัดระวังกว่าเดิม
ชดใช้หรือแก้ไขเท่าที่พอทำได้ หากเผลอทำเรื่องที่น่าละอายใจกับใครและยังรู้สึกติดค้างอยู่ การขอโทษหรืออธิบายเหตุผลที่ทำสิ่งนั้นลงไป สามารถช่วยบรรเทาเราจากความเสียใจในอดีตได้ แต่หากเราไม่สามารถติดต่อคนคนนั้นได้อีก เราอาจจะแค่เขียนจดหมายขอโทษถึงเขาและเก็บไว้ แม้จะไม่มีโอกาสได้ส่งไป แต่มันย้ำให้เราเห็นว่าเรารู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์นั้นจริงๆ และอาจช่วยปลดล็อกเราจากความรู้สึกผิดที่สะสมไว้มายาวนานได้
ลองต่อสู้กับความอับอาย การลงโทษตัวเองด้วยการจมอยู่กับความอับอายในอดีต ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นไปกว่าเดิมนัก คิดเสียว่าความอับอายนั้นเป็นแมลงสักตัวที่เรารำคาญ แล้วลองหาคำอะไรมาไล่มันให้ออกไปไกลๆ เช่น ประโยคที่ว่า “โอ๊ย รำคาญ!” หรือ “พอได้แล้ว!” เพื่อขจัดความคิดนั้นออกไป ไม่ให้รบกวนการใช้ชีวิตในปัจจุบัน
หรือหากเป็นเรื่องอับอายเล็กๆ เช่น เข้าห้องเรียนผิด หรือทำขวดแก้วในซูเปอร์มาร์เก็ตตกแตก เราอาจจะหัวเราะให้กับเรื่องน่าอายนั้นแทนก็ได้นะ เคยสังเกตหรือเปล่าล่ะว่าเวลาที่เราเปลี่ยนเรื่องอะไรให้กลายเป็นเรื่องตลก ความเจ็บปวดจะลดลงไปได้เยอะเลย ให้รู้สึกว่ามันเป็นเพียงแค่เรื่องขำขันเรื่องหนึ่งในชีวิตที่แค่ผ่านมา แล้วเดี๋ยวก็ผ่านไป และหากเราลองแชร์เรื่องน่าอายนี้กับเพื่อนดู ก็จะพบว่าทุกคนเคยมีช่วงเวลาแบบนี้ด้วยกันทั้งนั้นแหละ
เพราะมนุษย์ไม่ใช่ AI เราจึงทำเรื่องผิดพลาดกันได้ตลอดเวลา แต่ไม่ว่าจะทำอะไร พูดอะไร หรือตัดสินใจอะไรที่นำไปสู่ความเสียใจในภายหลัง อย่าลืมที่จะให้อภัยตัวเองกันบ้างนะ แม้อดีตจะหล่อหลอมให้เราเป็นเราในปัจจุบัน แต่เราไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตด้วยการแบกอดีตไว้บนหลังตลอดเวลาก็ได้
อ้างอิง: