เวลาพูดถึงชื่อ บอล-ต่อพงศ์ จันทบุบผา เราจะนึกถึงผู้ชายใส่แว่นหน้าตานิ่งๆ แต่ดูใจดี ขึ้นไปยืนเล่นกีตาร์อยู่บนเวทีร่วมกับ เมื่อย-ธวัชพนธ์ วงศ์บุญศิริ เพื่อนสนิทที่ร่วมกันทำให้วง Scrubb กลายเป็นวงดนตรีที่อยู่คู่กับวงการเพลงนอกกระแสมาตลอด 18 ปี
น้อยคนที่จะรู้ว่านอกจากภาพศิลปินเบื้องหน้าที่หลายคนรู้จัก เขามีอีกบทบาทหนึ่งในฐานะคนที่คอยคัดสรรและพัฒนาศิลปินหลายร้อยชีวิตทั้งค่ายเล็กและค่ายใหญ่ให้มีผลงานเพลงออกมาประดับวงการดนตรีมาแล้ว 20 ปีเต็ม
เขาคือคนที่เคยปฏิเสธเดโมของวง Cocktail ก่อนที่วงดังกล่าวจะกลายเป็นหนึ่งในวงร็อกที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด และยังเกือบจะตัดท่อนแรปในเพลง ก่อนฤดูฝน ที่ส่งให้ The Toys กลายเป็นศิลปินหน้าใหม่ที่โด่งดังได้ในชั่วข้ามคืน พร้อมกับบทบาทล่าสุดในฐานะหนึ่งในผู้บริหารค่ายเพลงน้องใหม่ What The Duck ที่กำลังครบรอบ 5 ขวบในปีนี้
ในวันที่ทุกคนกำลังตั้งคำถามถึงคุณภาพของวงการเพลงที่ปล่อยออกมาในช่วงหลังๆ นอกจากแสงไฟที่สาดส่องไปยังศิลปินที่อยู่เบื้องหน้า THE STANDARD เชื่อว่าประสบการณ์ที่เคี่ยวกรำมาทุกรูปแบบของเขาน่าจะเป็นตัวแทนที่ช่วยยืนยันถึงความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินทุกคนได้เป็นอย่างดี
จุดเริ่มต้นของการทำงานเป็นคนดูแลศิลปินของคุณเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อไร
คนส่วนใหญ่จะรู้จักผมในฐานะสมาชิกวง Scrubb แต่ในความเป็นจริงตลอด 20 ปี ผมมีอาชีพหลักในแผนกคัดสรรและพัฒนาศิลปิน ทำทุกอย่างที่เกี่ยวข้องในชีวิตของศิลปินที่เราร่วมงานด้วย ตั้งแต่ฟังเพลงเขา ไปดูเขาเล่น เดินไปหาเขา พูดคุย เซ็นสัญญา ออกอัลบั้ม ช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ค่าย Grammy, Blacksheep, SpicyDisc, RS, Believe Records จนล่าสุดมาอยู่ที่ What The Duck ที่ปีนี้กำลังจะเข้าสู่ปีที่ 5 ของค่ายแล้ว
ซึ่งจุดเปลี่ยนหลักๆ คือการได้ไปอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารครั้งแรกที่ค่าย Believe Records เป็นครั้งแรกที่ไม่ใช่แค่การดูแลศิลปิน แต่ต้องดูแลทั้งลูกน้องด้วยในงบประมาณที่จำกัด จากเมื่อก่อนสมมติมีเงิน 10 บาท เราอาจจะแบ่งใช้ครั้งละ 2 บาทได้ 5 ครั้ง แต่กับ Believe Records เราอาจต้องลดเหลือครั้งละ 1 บาท 50 สตางค์ ไปจนถึงสลึงเดียว เพื่อทำอย่างไรก็ได้ให้ศิลปินที่ดูแลอยู่สามารถอยู่กับเราไปได้นานที่สุดในวงการที่เราไม่สามารถเดาอะไรได้เลย
ประสบการณ์ 20 ปีในการดูแลศิลปินก็ยังไม่สามารถนำมาใช้คาดเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวงการเพลงได้อีกเหรอ
ถ้าเดาได้ ทุกคนที่ทำธุรกิจเพลงตอนนี้คงเป็นเศรษฐีไปกันหมดแล้ว (หัวเราะ) แต่ในความยากลำบาก ในความคาดเดาไม่ได้ ผมว่ามันมีเสน่ห์บางอย่างที่ทำให้คนทำงานทุกคนยังยอมที่จะทำงานตรงนี้ต่อไป ไม่ใช่แค่กับตัวศิลปิน แต่หมายถึงทีมงานทุกคนที่ยังเชื่อมั่นในสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ตรงนี้ มองข้ามเรื่องรายได้ไปก่อน แล้วมาทำงานด้วยแพสชัน ด้วยความฝัน ด้วยความคิดว่าอยากทำอะไรบางอย่างทิ้งไว้ ผมเคยพูดหลายครั้งว่า อายุเท่านี้จะรีไทร์แล้วนะ แต่ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ เพราะมันยังมีอะไรให้ตื่นเต้นอยู่เรื่อยๆ ไม่ใช่วงการเพลงหรอก ไม่ว่าจะเป็นหนังใหม่ หนังสือใหม่ๆ หรืออะไรใหม่ๆ ก็ตาม
อีกอย่างคือถ้าทุกอย่างคาดเดาได้หมด เราคงได้ผลงานซ้ำๆ ที่เป็นบล็อกตายตัวมากกว่านี้ เช่น รู้อยู่แล้วว่าถ้าทำแบบ 1 2 6 8 10 แล้วจะได้เงิน เพราะฉะนั้นอย่าไปทำ 3 4 5 7 9 เด็ดขาดเลยนะ ซึ่งบางครั้งมันอาจจะเกิดมูลค่า เกิดช่องทาง หรือสิ่งใหม่ๆ ซ่อนอยู่ในวิธีการเหล่านั้น หลายครั้งที่ปรากฏการณ์เกิดขึ้นจากกลุ่มเล็กๆ ที่ลองทำอะไรใหม่ๆ อย่างที่วง Moderndog, Polycat, Lomosonic, Room39, The Toys และอีกหลายๆ วงที่เขามีวิธีการนับเลขไม่เหมือนแบบที่เคยทำมาก่อน นี่ล่ะคือเสน่ห์ของความคาดไม่ได้ เพราะมันทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ
ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้คุณรู้สึกว่าอยากดูแลศิลปินกลุ่มนั้นขึ้นมาได้
ผมมีความเชื่อเรื่องหนึ่งจากตำราเรียนว่าด้วยจริยธรรมของการเป็นผู้จัดการศิลปินที่บอกว่า ไม่ใช่แค่รัก แต่คุณต้องเชื่อมั่นอย่างสุดหัวใจในศิลปินที่คุณกำลังทำงานด้วย อันนี้คือข้อหนึ่งเลยนะ มาก่อนเรื่องธุรกิจใดๆ เลย เวลาผมเลือกใครสักคนผมเลยเลือกจากการที่ผมต้องเป็นแฟนเพลงของเขาก่อน ไม่ได้คิดว่าต้องขายได้ ดัง หรือเพลงฮิตแน่ๆ ผมจะอินกับความรู้สึกทำนอง เชี่ย ทำไมเล่นกลองแบบนี้ ทำไมร้องแบบนี้ เนื้อเพลงแบบนี้ แล้วมาวิเคราะห์ว่าอะไรทำให้เราชอบเขา แล้วตามไปดูเขาแสดงสดจนลุ่มหลงว่าเราจะสามารถทำอะไรเพื่อซัพพอร์ตและต่อยอดให้เขาได้บ้าง ซึ่งความลุ่มหลงนี่มันเสี่ยงมากเลย เพราะเราอาจจะหลงผิดก็ได้ แต่ก็เป็นความหลงที่จำเป็นมากๆ
เคสไหนที่รู้สึกว่าเป็นการคาดเดาที่ผิดพลาดมากที่สุดในการทำงานของคุณ
ไม่รู้เรียกว่าเดาผิดพลาดได้หรือเปล่า แต่ผมขอยกตัวเคสที่เคยปฏิเสธเดโมของวง Cocktail เพลงของเขาดีเลยนะ แต่มันมีความรู้สึกส่วนตัวบางอย่างที่รู้สึกไม่คุ้นหู อาจจะเพราะความเป็นโอเปราบวกกับเมโลดี้ที่เป็นไทยๆ บวกกับความเป็นร็อกที่ผมคิดไม่ออกว่าจะทำให้พวกเขาออกมาในรูปแบบไหน เขามาอยู่กับเราแล้วจะได้ประโยชน์อะไรจากเราจริงๆ หรือเปล่า มันมีความไม่คลิกกันบางอย่าง ทั้งที่งานของเขาแทบไม่มีข้อผิดพลาด แล้วสุดท้าย Cocktail ก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงจนมีคนชอบมาแซวบ่อยๆ ว่า เพราะมึงไม่เอาเขาไง ก็ใช่สิ นี่ล่ะความผิดพลาดของกูเอง (หัวเราะ)
หรือเคสล่าสุดคือเพลง ก่อนฤดูฝน ของ The Toys ที่เรียกว่าเกือบเป็นความผิดพลาด แต่ผ่านมาได้ด้วยดี เล่าให้ฟังก่อนว่าทอยเป็นคนทำงานเก่ง เร็ว แต่มีความไร้รูปไร้ร่างประมาณหนึ่ง ตอนผมได้เดโมเพลงนี้ ตอนแรกผมชอบแล้วนะ ติดต่อผู้กำกับ เตรียมสคริปต์ทำ MV ซึ่งเวอร์ชันนั้นไม่มีท่อนที่แรปเร็วเป็นจรวด แล้วพออีก 2 วันก่อนถ่าย ทอยก็ส่งมาสเตอร์เพลงนี้มาให้ แล้วมีท่อนแรปมาด้วย ตอนฟังครั้งแรก ยอมรับเลยว่าผมไม่เห็นด้วยเลยนะ เพราะคิดว่าแบบเดิมก็เพราะ แล้วเราเตรียมการทุกอย่างไว้หมดแล้ว เลยหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาโทรเพื่อให้ทอยเอาท่อนนี้ออกไป
แต่พอหยุดคิดแป๊บนึง อยู่ดีๆ จากประโยคที่คิดไว้ก็กลายเป็นถามว่า มึงใส่ท่อนแรปมาเหรอ คิดยังไงถึงใส่มาวะ ทอยตอบกลับมา “ผมรู้ว่าพี่ไม่ชอบ มันไม่ใช่ แล้วผมก็รู้ว่าจะมีคนด่าผมเต็มไปหมดเพราะฟังไม่รู้เรื่อง แต่เชื่อผมสิว่าคนจะพูดถึงมัน”
พอฟังศิลปินพูดจบ ผมกลับมาคิดได้ว่าเราแม่งใจไว หัวไวเกินไปว่ะ เรามัวแต่ไปคิดเรื่องการจัดการ ข้อห้าม กฎระเบียบ แผนการ สถิติเต็มไปหมด แล้วจะบอกเด็กว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ นี่เราลืมไปหรือเปล่าว่าเพลงพวกนี้คือเพลงที่อยู่กับพวกเขามาตลอด เขาเป็นคนคิดมันขึ้นมา
ผมเลยถามไปประโยคสุดท้ายว่า มึงเลือกแบบนี้แน่ๆ ใช่ไหม ทอยตอบกลับมาสั้นๆ ว่า “ใช่พี่ ผมอยากทำแบบนี้” ถ้าอย่างนั้นกูเชื่อมึง ไปก็ไปด้วยกัน ตกนรกก็ตกด้วยกัน ถ้ามึงเลือกแล้วจะเกิดอะไรขึ้น กูจะรับผิดชอบไปกับมึงด้วย
ในฐานะผู้บริหาร คุณแบ่งสัดส่วนการให้น้ำหนักระหว่างเหตุผลทางธุรกิจ ความรู้สึก และสัญชาตญาณอย่างไรบ้าง เมื่อต้องตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการทำเพลง
เป็นคำถามที่โคตรถูกต้องสำหรับอาชีพนี้เลยนะ อย่างที่ผมบอกว่าหน้าที่ของผู้จัดการศิลปินคือคนตรงกลางระหว่างศิลปินผู้ผลิตผลงานกับแผนกการตลาดที่ต้องทำเพื่อความอยู่รอดของบริษัท ถ้าสองฝั่งนี้ปะทะกันเมื่อไรก็มักจะลงด้วยสงครามและความเสียหาย (หัวเราะ) หน้าที่ของเราไม่ใช่ตัดสินว่าแบบไหนถูกหรือผิด แต่ต้องตัดสินว่าในสถานการณ์หนึ่ง เราควรจะให้น้ำหนักกับอะไรมากกว่ากัน
ช่วงที่ศิลปินทำเพลง ผมจะให้พื้นที่กับเขาให้มีความสุขในการคิดสร้างสรรค์เต็มที่ สมมติฝ่ายการตลาดมาสะกิดว่า พี่บอล บอกให้มันทำเพลงช้าให้ฮิต ร้องง่ายๆ สักเพลงสิ ผมจะบอกว่าไม่เป็นไร รอให้เขาทำก่อน ออกมาเป็นแบบไหนแล้วค่อยมาว่ากัน หรือเมื่อทำเพลงเสร็จแล้วมีสินค้าตัวหนึ่งเข้ามา เราเห็นว่ามันเหมาะกับศิลปินคนนี้มาก แต่เขาเป็นคนโลกส่วนตัวสูง เกลียดการขาย ถือสินค้า หรือไปทำอะไรกับใครที่สุด ผมก็ต้องมีวิธีบอกให้เขาเข้าใจว่าสินค้าเหล่านั้นไม่ได้ทำร้ายเรานะ เชื่อกูสิ ในฐานะที่กูเป็นพี่ เป็นพ่อมึงเนี่ย กูไม่ปล่อยให้ลูกออกไปตายหรอก
หลายครั้งที่เราต้องทำให้คนในบ้านเห็นว่าเราเลือกปกป้องคนในบ้านของเราก่อน หลายครั้งเราก็ตำหนิลูกของเราให้พาร์ตเนอร์เห็นเมื่อคนของเราทำไม่ถูกต้อง แต่ทุกอย่างต้องไปด้วยกัน เพราะศิลปินก็ต้องหาเงิน ต้องมีรายได้ ต้องบอกคนทางบ้านว่าเราไม่ได้มาทำเพลงเล่นๆ คุณสามารถอยู่ได้ด้วยอาชีพนี้จริงๆ นะ
ที่ผมอาจจะโชคดีกว่าคนอื่นคือผมไม่ใช่คนกลางที่นั่งโต๊ะอยู่ออฟฟิศอย่างเดียว ผมมีหมวกอีกใบที่ต้องไปยืนอยู่บนเวทีเหมือนน้องๆ บางเรื่องผมอาจจะเข้าใจความรู้สึกของศิลปินมากกว่าคนอื่นว่าเวลายืนอยู่ตรงนั้นรู้สึกอย่างไร ในขณะเดียวกันผมก็เข้าใจคนที่นั่งโต๊ะ คนที่ลงทุนกับศิลปิน เพราะผมรู้ว่าทุกอย่างมีต้นทุนของมันเสมอ เพราะฉะนั้นผมจะไม่เข้าข้างหรืออินกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากจนเกินไป ผมต้องรับผิดชอบทั้งสองอย่าง เพราะทุกคนสำคัญหมด อยู่ที่ว่าสถานการณ์ไหนควรจะให้ความสำคัญก่อนเท่านั้นเอง
การดูแลจัดการศิลปินในวันนี้เมื่อเทียบ 20 ปีที่แล้วเป็นอย่างไรบ้าง มีอะไรที่ยังเหมือนเดิมและเปลี่ยนแปลงไปแล้วบ้าง
ที่เปลี่ยนไป แต่ทุกคนคงพูดกันไปเยอะแล้วคือเรื่องเทคโนโลยี ที่ทุกวันนี้สามารถพูดได้ว่าทุกอย่างมันถูกอันล็อกไปหมดแล้วเกือบ 100% ไม่มีอะไรผูกขาดอยู่กับแชนแนลเดียว เรามีช่องทางในการนำเสนอและเข้าถึงเพลงเพิ่มขึ้นเยอะมาก เราในฐานะคนดูแลศิลปินก็ต้องหาวิธีในการนำเสนอผลงานของศิลปินให้เหมาะสมกับเขาและคนฟังของเขาให้ได้มากที่สุด
ส่วนที่เหมือนเดิมคือตัวศิลปินที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลย ทุกคนมีเรื่องในใจ มีความฝันที่เขาจะต้องพุ่งไปตรงนั้นให้ได้ กับคำพูดที่ว่าเป็นศิลปินแล้วชอบงอแง แต่สำหรับผม อย่าว่าแต่ศิลปิน กับคนอื่นๆ ผมก็ยังไม่เคยเห็นใครไม่งอแงเลยนะ การที่เขางอแงหมายความว่าเขามีความฝันและต้องการที่จะปกป้องความฝันอันนั้นเอาไว้ ผมมองการงอแงเป็นเรื่องธรรมดา ศิลปินคนนี้งอแงน้อยก็เข้าไปดูแลมันหน่อย คนนี้งอแงมากก็ตีมันสักทีหนึ่ง ซึ่งสิ่งที่ผมซีเรียสมากกว่าคือการที่เขาไม่ซื่อสัตย์กับตัวเองและคนอื่น นั่นเป็นเรื่องใหญ่ เพราะแปลว่าทัศนคติของเราไม่เหมือนกันแล้ว เพราะฉะนั้นศิลปินก็ยังเป็นศิลปินจนถึงทุกวันนี้ เพียงแต่ว่าเขาโตมาแบบไหน เขาอยากได้อะไร มันต้องเปลี่ยนไปตามบริบท ตามกาลเวลาที่เขาเติบโตมา มันเลยกลายเป็นสีสันใหม่ๆ ของการทำงาน
คุณเป็นผู้จัดการที่ดุกับศิลปินมากขนาดไหน
เวลาเล่น ผมเล่นเต็มที่เลยนะ ผมชอบพูดบ่อยๆ ว่าพวกมึงจะตบหัวกูก็ได้นะ แต่ถ้าถึงเวลาต้องดุ ผมก็จะดุเลย เพราะฉะนั้นถ้าลูกๆ ในบ้านงอแง ผมจะไม่ใช่คนแรกที่เขาจะมางอแงด้วย เพราะรู้ว่าโดนดุแน่ๆ (หัวเราะ) แต่ถ้าเขาอยากแก้ปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ถ้าอยากหาทางออกและยอมโดนดุ ผมว่าผมช่วยคุณได้ สมมติเกิดปัญหาขึ้นจากฝั่งซ้ายสุด ผมจะมองหาฝั่งขวาสุดให้เจอ เพราะไม่อยากตัดสินอะไรจากข้างเดียวแล้วประมวลหาตรงกลางมาให้ ฉะนั้นผมอาจเป็นคนแก้ปัญหาให้คุณไม่ได้นะ แต่พอจะมีทางเลือกมาให้ได้ว่าถ้าทำอย่างนี้ๆๆ แล้วผลที่จะเกิดขึ้นตามมาคืออะไร คุณไปตัดสินใจเอาเอง แล้วประมวลผลออกมาว่าถ้าทำอย่างนี้แล้วจะได้ผลอย่างไร
ตั้งเป้าหมายอะไรไว้เป็นพิเศษบ้างหรือเปล่า ในฐานะที่ค่าย What The Duck ก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 แบบเต็มตัวแล้ว
เป็นเป้าหมายพื้นฐานที่เราตั้งใจว่าจะทำให้ได้ทุกปี คืออยากให้น้องๆ ในสังกัดที่ดูแลอยู่ได้เติบโต ได้เข้าสู่ธุรกิจเพลงในรูปแบบที่มีรายได้อย่างจริงจังมากขึ้น ผมอาจจะพูดเรื่องรายได้เยอะ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเน้นเรื่องนั้นเรื่องเดียวนะ แต่อย่างน้อยรายได้มันเป็นการวัดผลให้รู้ถึงสถานะของเราในวันนี้ ถ้าคุณทำงานแล้วเก่งมากขึ้นและคุณต้องเก่งขึ้นไปเรื่อยๆ มีรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อที่จะสามารถยืนระยะทำในสิ่งที่รักของคุณได้ต่อไป และการจะทำอย่างนั้นได้ เขาต้องการทีมที่คอยซัพพอร์ตอยู่ข้างหลังเพื่อผลักดันให้เขาเติบโตไปตามสเตป ปีนี้เราก็จะมีอัลบั้มของ Chanudom, ชาติ สุชาติ, De Flamingo, 10to12, Brown Flying, The Toys ก็น่าจะมีอีพีอัลบั้ม เป้าหมายแรกก็คือต้องทำให้พวกเขาอยู่รอดให้ได้ เพราะปีหนึ่งเรารับศิลปินได้ไม่เยอะ เมื่อเข้ามาแล้วก็อยากให้เขาได้โตไปตามความฝันที่เขาต้องการ
อะไรคือดีเอ็นเอสำคัญของคนที่จะเข้ามาอยู่ในค่าย What The Duck ได้
ไม่ใช่แค่ศิลปินนะ แต่รวมถึงทีมงานทุกคน ผมคิดว่าพวกเรามีจุดร่วมเหมือนกันคือพวกเราซน ซนที่จะสร้างอะไรใหม่ๆ กับคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะเรียนรู้และเติบโตไปด้วยกันในพื้นฐานของความเป็นจริง ผมเชื่อในศักยภาพของคนรุ่นใหม่ และเชื่อว่าเราพร้อมที่จะเรียนรู้และสนุกไปด้วยกันเสมอ ถามว่ายากไหม ก็ยาก เพราะการทำอะไรใหม่ๆ มันต้องใช้เวลา ต้องใช้แรงในการผลักดันสูง ผมไม่เคยบอกศิลปินในค่ายว่าปีหน้าจะเป็นของคุณ คุณจะรวยนะ ผมพูดเพียงอย่างเดียวว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมจะทำทุกอย่างให้เต็มที่ที่สุดในฐานะค่ายเพลง เพื่อซัพพอร์ตให้พวกคุณได้ทำในสิ่งที่คุณรักต่อไปเท่านั้นเอง
ถ้าเลือกได้ คุณอยากดูแลศิลปินคนไหนมากที่สุด
ผมอยากทำงานกับพี่ๆ วง Moderndog เพราะผมรู้สึกว่าเวลาเราโตมากับใคร เราจะฝังใจอยู่กับสิ่งนั้น ผมเคยได้วิธีเล่นกีตาร์จากพี่เมธี ได้วิธีคิดในการใช้ชีวิตจากพี่ป๊อด ได้ดูพี่โป้งขี่จักรยาน และทุกๆ อย่างที่พี่เขาทำ เมื่อรู้สึกตัวอีกทีมันจะเข้ามาอยู่ในตัวของผมเสมอ กับเมื่อย (ธวัชพนธ์ วงศ์บุญศิริ สมาชิกอีกคนหนึ่งของวง Scrubb) ก็เหมือนกันนะ เห็นเซลฟ์ๆ แบบนั้น แต่เวลาเจอพี่ๆ Moderndog นี่สั่นจนพี่ป๊อดต้องมาเขย่าให้รู้สึกตัว (หัวเราะ) พลังของเขารุนแรงกับเรามาก ถ้าเลือกได้ ผมก็อยากเอาวิชาความรู้ที่มีอยู่ไปดูแล ไปสร้างผลงานร่วมกับพี่ๆ เขาเหมือนกัน
- ศิลปินที่บอลเคยเป็นผู้ดูแลตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้นทำงาน ได้แก่ Potato, Clash, ปาล์มมี่, Street Funk Rollers, The Peachband, ใหญ่ Monotone, ก้อ-ณฐพล ศรีจอมขวัญ, โต้ง Save Da Last Piece, ละอองฟอง, Flure , Ewery, Sleeping Sheep, 25hours, Plastic Plastic ฯลฯ