×

ระเบียบโลกใหม่ที่ไทยจะ ‘ร่วมสร้าง’ ใน BRICS คืออะไร

06.06.2024
  • LOADING...

ไทยเพิ่งยืนยันเจตจำนงสมัครสมาชิกกลุ่ม BRICS ตามข้อเสนอของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งในแง่ภูมิเศรษฐศาสตร์ ถือเป็นมูฟที่สำคัญของไทย ปัจจุบัน BRICS มีสมาชิกอยู่ 10 ประเทศ และกำลังมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ บนเวทีโลก ทั้งในมิติการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศในฐานะระบบพหุภาคีนิยมที่จะสร้างระเบียบโลกใหม่ ท้าทายระเบียบโลกเดิมที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้กำหนดกฎกติกา

 

BRICS เป็นการรวมกลุ่มกันของประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ ก่อตั้งขึ้นโดยสมาชิกผู้ก่อตั้ง 4 ประเทศ คือ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย และจีน ในปี 2009 ซึ่งเริ่มแรกใช้ชื่อกลุ่มว่า BRIC โดยเป็นการนำอักษรตัวแรกของแต่ละประเทศมาเรียงต่อกัน ต่อมาได้รับแอฟริกาใต้เพิ่มเข้ามาในปี 2010 ทำให้เปลี่ยนไปเป็น BRICS และใช้มาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าต้นปี 2024 จะรับสมาชิกเพิ่มมาอีก 5 ประเทศก็ตาม

 

ส่วนในอนาคตชื่อกลุ่มอาจเปลี่ยนไปเป็น BRICS+ หรือชื่ออื่น ซึ่งยังไม่มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ

 

สำหรับ 5 ประเทศที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ประกอบด้วย อียิปต์, เอธิโอเปีย, อิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

 

BRICS เกิดมาเพื่อคานอำนาจกับขั้วเศรษฐกิจของบรรดาชาติพัฒนาแล้วหรือมั่งคั่งกว่าในอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก ซึ่งก็อาจเทียบคู่แข่งขันกับ G7 แต่ก็มีคนนำไปเทียบกับ G20 ในอนาคต โดยกลุ่มนี้ต้องการสร้างระเบียบโลกใหม่ด้านเศรษฐกิจและการค้า โดยรัฐสมาชิกจะยึดถือหลักการความเสมอภาค มีผลประโยชน์ร่วมกัน และไม่แทรกแซงกิจการภายใน

 

 

ในแง่ความสำคัญของ BRICS นั้น เมื่อพิจารณาจากรายสมาชิกจะเห็นว่าหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้งคือจีน มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และกำลังผงาดขึ้นมาท้าทายเบอร์ 1 อย่างสหรัฐฯ ทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และการทหาร

 

ส่วนอินเดียมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เร็วที่สุดในโลก มีตลาดขนาดใหญ่ด้วยจำนวนประชากรที่แซงหน้าจีนไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีโนว์ฮาว ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แหล่งแรงงานทักษะขนาดใหญ่ และกำลังมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ บนเวทีโลก

 

ขณะที่รัสเซียเป็นประเทศที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก อุดมด้วยทรัพยากรมหาศาล และปฏิเสธไม่ได้ว่ารัสเซียยังคงเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลต่อโลก แม้บอบช้ำจากสงครามและถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติก็ตาม

 

สำหรับบราซิลและแอฟริกาใต้เป็นประเทศทรงอิทธิพลในทวีปอเมริกาใต้และแอฟริกาตามลำดับ และเป็นชาติที่มีบทบาทโดดเด่นในภูมิภาคทั้งคู่

 

เมื่อรวมกันแล้ว BRICS มีประชากรคิดเป็น 37% ของประชากรโลก ถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ด้วยขนาดเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วน 28.4% ของ GDP โลก

 

ขณะที่สมาชิกในตะวันออกกลางอย่าง อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ล้วนเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ โดยผลิตน้ำมันดิบประมาณ 44% ของกำลังการผลิตทั่วโลก

 

ไทยเริ่มผลักดันกระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS อย่างจริงจังในปี 2023 โดยระหว่างนี้ยังอยู่ในขั้นรอพิจารณา ซึ่งหากทำได้สำเร็จก็จะกลายเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เข้าไปอยู่ในกลุ่ม BRICS

 

ระเบียบโลกใหม่ที่ไทยจะร่วมสร้างคืออะไร

 

ภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของไทยในการสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม มีแถลงการณ์เกี่ยวกับเหตุผลที่เข้าร่วมตามมา ระบุว่า การเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะทำให้ไทยได้ประโยชน์ในหลายมิติ เช่น ยกระดับบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ เพิ่มบทบาทไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเพิ่มโอกาสให้ไทยได้ร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่

 

รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นด้วยว่าไทยจำเป็นต้องเข้าร่วม BRICS ด้วยเหตุผล 3 ข้อใหญ่ๆ ข้อแรกคือโอกาสทางการค้าและการลงทุนที่จะตามมามากมาย ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรทางการเงิน การเป็นตลาดขนาดใหญ่ และองค์ความรู้ในทุกแขนง ซึ่งรวมกันอยู่ใน BRICS

 

ข้อที่ 2 เป็นมิติภูมิเศรษฐศาสตร์ ดร.ปิติมองว่าไทยต้องสร้างสมดุลใน 3 เรื่องบนเวทีโลก เรื่องแรกคือการเล่นบทบาทนำในอาเซียน เรื่องที่ 2 คือการเข้าเป็นสมาชิก OECD ให้ได้ (ซึ่งไทยได้ยื่นสมัครไปแล้วอย่างเป็นทางการ) เพื่อยกระดับมาตรฐานที่สูงขึ้นของไทยตามแบบโลกตะวันตก และเรื่องที่ 3 คือการสมัครเป็นสมาชิก BRICS เพื่อถ่วงดุลและเตรียมพร้อมสำหรับมาตรฐานใหม่ๆ ของโลก

 

ข้อสุดท้ายคือมิติภูมิรัฐศาสตร์ ดร.ปิติกล่าวว่า จีนและอินเดียคือมหาอำนาจใกล้บ้านของไทย ถ้าสองประเทศนี้มีความแอ็กทีฟในเวทีนี้ ไทยก็ต้องเข้าไปเรียนรู้ด้วย อย่างไรก็ตามมหาอำนาจคือไฟกองใหญ่ หากเข้าใกล้เกินก็ถูกแผดเผา แต่หากอยู่ห่างเกินก็เหน็บหนาว BRICS จึงเป็นเวทีที่ดีที่จะถ่วงดุลมหาอำนาจใกล้บ้าน

 

สำหรับการสร้างระเบียบโลกใหม่ (ในด้านเศรษฐกิจ) นั้น ดร.ปิติอธิบายว่า ระเบียบชุดเดิมคือโลกาภิวัตน์ ซึ่งความคิดหลักคือการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน การให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีสถาบันหลักคือธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่คอยดูแลและสนับสนุนการทำงานของระบบการเงินโลกที่สหรัฐฯ เป็นผู้วางกฎระเบียบมาตั้งแต่ต้น นอกจากนี้ยังมีองค์การการค้าโลก (WTO) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อกำกับดูแลการค้าระหว่างประเทศสมาชิกในสหประชาชาติให้เป็นไปตามกติกาด้วย

 

แต่ในมุมมองของหลายประเทศมองว่า ระเบียบเดิมไม่เป็นธรรม และหลายครั้งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้กำหนดกฎกติกา กลับเป็นคนล้มกระดานเสียเองจนทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง ยกตัวอย่างเช่นการที่สหรัฐฯ ยกเลิกการผูกสกุลเงินดอลลาร์กับทองคำภายใต้ข้อตกลงที่เบรตตันวูดส์ ที่สร้างขึ้นเพื่อลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

 

ส่วนในเรื่องการค้าระหว่างประเทศภายใต้ร่ม WTO ที่ส่งเสริมการค้าเสรีและเป็นธรรมนั้น ปรากฏว่าสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสมาชิกกลับทำสงครามการค้าโดยตั้งกำแพงภาษีหรือมาตรการกีดกันต่างๆ กับคู่กรณีเสียเอง โดยให้เหตุผลว่าคู่ค้ามีข้อปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม

 

ระเบียบโลกเก่าจึงถูกมองว่าไม่แฟร์ เพราะสหรัฐฯ วางกติกา แต่เป็นผู้เล่นเองด้วย และมหาอำนาจเบอร์ 1 ก็ผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น BRICS จึงมีแนวคิดสร้างระบบการเงินของตนเองขึ้นมา ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งสถาบันการเงินใหม่อย่างธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank / NDB) มีเงินกองทุนกู้ยืมเป็นของตนเองอย่างกองทุนสำรองฉุกเฉิน (CRA) มีระบบชำระและโอนย้ายเงินข้ามประเทศเป็นของตนเอง เพื่อเป็นทางเลือกนอกเหนือจาก SWIFT ของตะวันตก และท้ายที่สุดจะนำไปสู่การใช้เงินสกุลใหม่ ซึ่งปัจจุบันยังไม่พร้อม ตอนนี้จึงให้ใช้เงินสกุลของตัวเองในการซื้อขายไปก่อนแทนที่ดอลลาร์สหรัฐ

 

ระบบการเงินใหม่ของ BRICS จึงเป็นแนวคิดสนับสนุนพหุภาคีนิยมที่ทุกประเทศมีส่วนร่วมกำหนดระเบียบโลกให้มีความยุติธรรมมากขึ้น โดยมีเป้าหมายยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ครอบคลุมสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า ทุนสำรอง การสื่อสารข้อมูล คุ้มครองการลงทุน ส่งเสริมการลงทุน ไม่มีกำแพงการค้า (Trade Barrier) ค้าขายด้วยสกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งถือว่าเปิดโอกาสการค้ามากขึ้น 

 

นอกจากนี้ ดร.ปิติยังมองว่า การสมัครสมาชิกกลุ่ม BRICS จะช่วยสร้างอำนาจต่อรองให้ไทย โดยจะกดดันกลุ่ม OECD กลายๆ ในการพิจารณารับไทยเป็นสมาชิก ซึ่งไทยจำเป็นต้องเข้าร่วมทั้งกลุ่ม OECD และ BRICS เพื่อถ่วงดุล

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนมองว่า แม้ BRICS จะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรและเงินทุน รวมถึงเป็นทางเลือกใหม่ในระบบการเงินโลก แต่ก็เกิดคำถามว่า ท้ายที่สุดแล้วธนาคาร BRICS จะเดินตามรอยธนาคารโลกและ IMF แบบเดียวกับที่ BRICS พยายามจะตั้งขึ้นมาแทนที่หรือไม่

 

ในอดีตมีเสียงโอดครวญและกระแสกดดันทางการเมืองต่อโครงการที่อนุมัติเงินทุนโดยธนาคารโลก ซึ่งหลายโครงการทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมเป็นวงกว้าง ส่งผลให้ธนาคารโลกต้องปรับนโยบายให้เข้มงวดขึ้น เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อระบบนิเวศและสังคม รวมถึงการเปิดทางให้ชุมชนและภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการใหม่ๆ ซึ่งดูเหมือน BRICS ก็กำลังเดินซ้ำรอยแนวทางนั้น

 

อนา การ์เซีย ผู้ประสานงานศูนย์นโยบาย BRICS ในรีโอเดจาเนโร ให้ความเห็นเมื่อปีที่แล้วว่า ในด้านหนึ่ง NDB เป็นสถาบันการเงินใหม่ที่มีแนวปฏิบัติที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เริ่มแรก แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีฉันทมติในระดับโลกที่เห็นความจำเป็นในการปล่อยเงินกู้สำหรับโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกที่ยั่งยืน ซึ่งเรื่องนี้ NDB ก็ไม่ต่างจากธนาคารโลกและ IMF อย่างไรก็ตามเธอคาดหวังว่า ธนาคารของ BRICS จะเรียนรู้บทเรียนจากความผิดพลาดในการปล่อยสินเชื่อของสองสถาบันการเงินดังกล่าวในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ยังเกิดความกังวลว่า ความพยายามหนีระบบการเงินหนึ่งไปหาอีกระบบการเงินหนึ่ง ท้ายที่สุดจะเป็นการ ‘หนีเสือปะจระเข้’ หรือไม่ โดยเฉพาะการติดกับดักหนี้จากโครงการระบบโครงสร้างพื้นฐานที่หลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ รวมถึงการตกอยู่ใต้อิทธิพลของจีนมากเกินไป

 

สำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำ BRICS ปีนี้จะจัดขึ้นที่เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย ระหว่างวันที่ 22-24 ตุลาคมนี้ ซึ่งจะเชิญประเทศที่ยังไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่ง ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า นี่จะเป็นโอกาสของไทยในการเร่งเดินหน้ากระบวนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม เพื่อเพิ่มบทบาทการเป็นผู้นำกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

 

ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนสงครามการค้าที่เป็นตัวเร่งการแบ่งขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ อาจเป็นปัจจัยให้ไทยต้องสร้างอำนาจต่อรองกับขั้วเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว แต่ท้ายที่สุดเราจะคว้าโอกาสได้มากแค่ไหน ต้องจับตาดูกันต่อไป

 

ภาพ: Katyam19, Chrisman11 via ShutterStock

ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising