เศรษฐกิจไทยปีนี้และระยะต่อไป ‘ไม่ง่าย’ โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกกันว่า เป็นปีแห่ง ‘Perfect Storm’ หลังเจอความท้าทายทั้งภายนอกและภายใน ‘รุมเร้า’ ไม่ว่าจะเป็น ความเสี่ยงจากนโยบายการค้าจากสหรัฐฯ เศรษฐกิจไทยและโลกที่เติบโตชะลอลง อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำต่อเนื่องตามแนวโน้มอุปสงค์ในประเทศที่แผ่วลง ปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง ความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ทรุดลง ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังแก้ไม่จบ และความไม่แน่นอนของการเมืองภายในประเทศ เป็นต้น
ความท้าทายเหล่านี้นับเป็นโจทย์หินของ ‘ว่าที่’ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนต่อไปต้องเผชิญ
โดยแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดกับ THE STANDARD WEALTH ว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติเลือกเพียง 2 รายชื่อ เสนอต่อรมว.คลัง ได้แก่
- ดร. รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
- วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน
สำหรับขณะนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำลังอยู่ระหว่างการตรวจคุณสมบัติชื่อบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป
THE STANDARD WEALTH ได้รวบรวมความเห็นจากผู้คนในหลายวงการเกี่ยวกับความคาดหวังต่อว่าที่ผู้ว่าฯ ธปท. คนต่อไป ดังนี้
ดร. ธาริษา เตือนบั่นทอนความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ เสี่ยงกระทบความเชื่อมั่นต่างชาติ
ดร. ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม เตือนให้พิจารณาเลือกผู้ว่าการแบงก์ชาติคนใหม่อย่างรอบคอบ โดยย้ำว่า “ความเป็นอิสระจากการเมือง” คือคุณสมบัติสำคัญสูงสุดของตำแหน่งนี้
ดร. ธาริษา ระบุอีกว่า ความอิสระในการทำนโยบายของธนาคารกลางมีผลต่อความน่าเชื่อถือของประเทศในสายตานักลงทุน และเตือนว่าหากเลือกบุคคลที่คุ้นชินกับการสนองนโยบายรัฐ อาจทำให้เกิดภาพลักษณ์ว่าแบงก์ชาติขาดความเป็นกลาง ส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นทันที
ดร. ธาริษา ได้ยกกรณีตุรกีเป็นตัวอย่างของผลเสียจากการแทรกแซงนโยบายการเงิน พร้อมเตือนถึงความเสี่ยงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ทั้งจากหนี้ครัวเรือนสูง และความเสี่ยงด้านการค้าในอนาคต โดยขอให้รัฐมนตรีตระหนักว่า ความเชื่อมั่นต่อสถาบันเศรษฐกิจสำคัญของประเทศต้องไม่ถูกบั่นทอนลงอีก
จดหมายยังระบุว่า พนักงาน ธปท. เข้าใจหลักการอิสระนี้เป็นอย่างดี ในทางกลับกัน ผู้บริหารธนาคารเฉพาะกิจมักคุ้นเคยกับการสนองนโยบายรัฐบาล ซึ่งหากเกิดความเสียหาย รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ แต่สำหรับ ธปท. หากเกิดความเสียหาย นั่นหมายถึงความเสียหายของประเทศชาติโดยรวม
ธีระชัยห่วงแคนดิเดตผู้ว่าแบงก์ชาติ อาจไม่ตอบโจทย์เศรษฐกิจยุคใหม่
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย และรองหัวหน้าพรรคฝ่ายเศรษฐกิจ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ผ่านแพลตฟอร์ม Facebook เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม เกี่ยวกับผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 2 คนสุดท้าย คือ ดร. รุ่ง มัลลิกะมาส และ นายวิทัย รัตนากร โดยแม้จะชื่นชมผลงานของทั้งคู่ แต่แสดงความกังวลว่าทั้งสองยังไม่เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจโลกที่ท้าทาย
ธีระชัยระบุว่า นายวิทัย รัตนากร มีประสบการณ์บริหารสถาบันการเงินภาครัฐสูง แต่ขาดประสบการณ์ด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและอาจถูกมองว่าขาดความเป็นอิสระทางการเมืองจากนักวิเคราะห์สากล ส่วน ดร. รุ่ง มัลลิกะมาส แม้มีความโดดเด่นด้านความรู้และประสบการณ์ใน ธปท. แต่เกรงว่าจะดำเนินนโยบายตามแนวทางเดิม ซึ่งอาจไม่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศในสถานการณ์ปัจจุบัน
ธีระชัยยังเสนอให้ ธปท. เพิ่มอัตราการเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเงินเฟ้อให้เคลื่อนเข้าสู่ระดับกึ่งกลางของกรอบเป้าหมาย 1-3% ต่อปี รวมถึงแนะนำให้ ธปท. พิจารณาการบริหารค่าเงินบาทร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อประโยชน์สูงสุดของเศรษฐกิจโดยรวม
อดีตกนง. แนะ รมว. คลัง เรียงลำดับคุณสมบัติผู้ว่าฯ ธปท. ใหม่ให้ยึดประโยชน์ชาติ
ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และอดีตกรรมการ กนง. กล่าวผ่านแพลตฟอร์ม Facebook เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนว่า ในความเห็นผม ผู้ว่าการ ธปท. ควรมีคุณสมบัติ เรียงลำดับตามความสำคัญ ดังนี้
- มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ทำงานตอบสนองนโยบายของฝ่ายการเมือง
- มีความรู้ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติของการเป็น ‘นายธนาคารกลาง’ ที่ต้องมองภาพใหญ่ได้ ให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพการเงินและเสถียรภาพสถาบันการเงิน โดยไม่ละทิ้งการส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ให้ต่ำกว่าระดับศักยภาพ
- รู้ความเป็นไปในภาคเศรษฐกิจจริง ที่ไม่ใช่เพียงการดูตัวเลข
- ประสานงานกับนโยบายการคลังอย่างเหมาะสม
- บริหารงานใน ธปท. ได้อย่างราบรื่น รับฟังความเห็นของ staffs แล้วสามารถตัดสินใจบนหลักการด้วยตัวเอง
“หวังว่า ท่าน รมต. จะเรียงลำดับความสำคัญของคุณสมบัติผู้ว่าท่านต่อไปของ ธปท. ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติที่มากไปกว่าเพียง ‘ต้องทำงานกับกระทรวงการคลังได้อย่างราบรื่น (หรือกระทั่งเลือกเพราะฟังความเห็น ‘ท่าน’)” ดร. สมชัยกล่าว
เข้าใจนโยบายการเงิน-เปิดกว้าง-อิสระ
ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตรชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ให้สัมภาษณ์ในรายการ Morning WEALTH ของ THE STANDARD WEALTH ว่า แคนดิเดตทั้ง 2 ท่านเป็นผู้มีคุณสมบัติเพียบพร้อมด้วยกันทั้งคู่ และสิ่งที่คาดหวังจากผู้ว่าฯ ธปท. คนต่อไปก็คือ การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงิน ซึ่งจำเป็นอย่างมาก ท่ามกลางความท้าทายที่ถาโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาระยะสั้น หรือระยะยาวก็ตาม
ดังนั้น ผู้ว่าฯ ธปท. คนต่อไปจึงจำเป็นต้องเข้าใจนโยบายการเงินเป็นอย่างดี และมีความเปิดกว้างต่อทางเลือกในการใช้นโยบาย มีความเป็นอิสระ และบูรณาการการปรับใช้นโยบายการเงินได้อย่างเหมาะสม ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ว่าฯ ธปท. คนต่อไปยังต้องเข้ามากำกับสถานการณ์การเงิน และระบบการชำระเงินอีกด้วย
ทั้งนี้ การบริหารนโยบายให้มีความเหมาะสม นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก เพราะไทยยังมีปัญหาทั้งในระยะสั้น และระยะยาวให้รีบแก้ ไม่ว่าจะเป็นขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงการปฏิรูปในหลายๆ ด้านให้ต้องปรับปรุง
ฉะนั้น การที่ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาระยะสั้น และขณะเดียวกัน ก็ยังต้องพิจารณาการปฏิรูปภาพรวมของเศรษฐกิจในระยะยาวไปด้วย ถือเป็นความท้าทายที่ผู้ว่าฯ ธปท. คนต่อไปต้องแบกรับ
เปิด 5 ความคาดหวังของ SME ถึงผู้ว่าฯ ธปท. คนต่อไป
แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานยุทธศาสตร์ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผย 5 ความคาดหวังต่อผู้ว่าการ ธปท. คนต่อไป ได้แก่
- ปรับนิยามคำว่า ‘SMEs’ ใหม่ เนื่องจากนิยามของคำว่า SME ที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่สอดคล้องกัน และมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป ดังนั้น เพื่อการออกแบบนโยบายที่สะดวกมากขึ้น ทางสมาพันธ์จึงอยากให้ผู้ว่าฯ ธปท. คนต่อไปจัดการนิยามเป็นอันดับแรก
- แก้หนี้อย่างมีระบบและมีเจ้าภาพ โดยหวังว่า จะช่วยให้ลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายรายสามารถเข้ามาไกล่เกลี่ยหนี้ในระบบได้ ผ่านการให้ศาลมาเป็นเจ้าภาพ พร้อมมีกลไกฟื้นฟูลูกหนี้ควบคู่กันไปด้วย
- สถาบันการเงินต้องเป็นธรรม โดยชี้ว่า ส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ และส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ต้องเป็นธรรม และไม่ขัดกับกฎหมาย ป. พ. พ. มาตรา 224/1 ซึ่ง ธปท. จำเป็นต้องตรวจสอบอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งต้องการให้สถาบันการเงินผ่อนปรนเกณฑ์การออกสินเชื่อให้เข้าถึงผู้ประกอบการรายย่อยได้มากขึ้นด้วย
- เพิ่มกลไกตรวจสอบธรรมาภิบาลสถาบันการเงิน โดยเสนอให้ธปท. ตั้งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง. ) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ มีอำนาจในการตรวจสอบธรรมาภิบาลของผู้ประกอบการสถาบันการเงินให้มีความรัดกุมขึ้น
- ต้องการผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ที่รับฟัง แสงชัยกล่าวว่า อยากให้ผู้ว่าฯ ธปท. คนต่อไป เป็นคนที่พร้อมรับฟังเสียงของภาคประชาชนทุกคน ไม่ใช่แค่บางกลุ่ม รวมถึงพร้อมทำงานเชิงรุก เพื่อทำความเข้าใจความต้องการของผู้ประกอบการ SME อย่างรอบด้าน
“สมาพันธ์เอสเอ็มอีไม่ได้ต้องการอัตราดอกเบี้ยที่มากขึ้นหรือน้อยลง แต่ต้องการอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมให้สถาบันการเงินพอประคับประคองธุรกิจได้ รวมถึงให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีภาระหนี้ที่เหมาะสม” แสงชัยกล่าว
โรงแรมไทยย้ำธปท. รักษาเสถียรภาพ ‘ค่าเงิน’ ทำงานด้วยความเป็นกลาง
ด้าน เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย แสดงความเห็นกับ THE STANDARD WEALTH ว่า อยากให้คนที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าฯ ธปท. รักษาเสถียรภาพค่าเงินต่างๆ เอาไว้ และทำงานด้วยความเป็นกลาง ก่อนจะตัดสินใจอะไรอยากให้ดูรอบด้าน โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลก ยกตัวอย่าง กรณีของการปรับดอกเบี้ย ต้องดูในความเหมาะสม
“จริงๆ แล้วเราไม่สามารถก้าวก่ายได้ แต่ถ้า (ธปท.) ยึดมั่นในหลักการของค่าเงินมากเกินไปก็มีผลเหมือนกัน อยากให้ฟังภาคของธุรกิจด้วย ถ้าเป็นไปได้ในแง่ของนโยบาย ต้องยอมรับว่าตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงปัจจุบัน ทุกๆ ธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก รวมถึงธุรกิจโรงแรม เมื่อนักท่องเที่ยวหายไปรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เริ่มขาดสภาพคล่องทางการเงิน”
“โดยหากสังเกตจะเห็นว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โรงแรมของผู้ประกอบการรายเล็กๆ มีการปิดตัวไปจำนวนมาก แม้บางรายอยากจะสู้ต่อแต่ด้วยเงื่อนไขบางอย่างก็กระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
ดังนั้น “จึงอยากให้ผู้ว่าฯ ธปท. คนใหม่พิจารณานโยบายความยืดหยุ่นในการผ่อนส่งชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึงความยืดหยุ่นในการผ่อนชำระภาษีที่ดิน อย่างน้อยจะช่วยเยียวยาให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้” เทียนประสิทธิ์กล่าว
เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการถึงว่าที่ผู้ว่าฯ ธปท. คนใหม่ วอนเห็นใจปัญหาดอกเบี้ย-สภาพคล่อง
สง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบการถนนข้าวสาร กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า หลังจากอ่านประวัติว่าที่ผู้ว่าฯ ธปท. แล้วมองว่า ทั้ง 2 ก็เป็นคนเก่ง มีความสามารถ โดยหากถามว่า ผู้ประกอบการต้องการผู้ว่าแบบไหน คงเป็นเรื่องของความประนีประนอม (Compromise) เป็นหลัก สุดโต่ง หรือหย่อนไปถือว่า ไม่ดี
นอกจากนี้ สง่า ยังมองว่า ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจชะงัก และความท้าทายต่างๆ มีผลให้สภาพการเงินไม่คล่องตัว จึงอยากให้ดูเรื่องของนโยบายอัตราดอกเบี้ย จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงได้และสามารถขับเคลื่อนธุรกิจให้อยู่รอดต่อไป
“เราเชื่อว่าปมปัญหาหลายๆ อย่าง ทุกภาคส่วนทราบกันดีอยู่แล้ว แต่อยากให้ว่าที่ผู้ว่าฯ ธปท. ลงพื้นที่จริง เพื่อมาดูว่าผู้ประกอบการเจอปัญหาอย่างไรบ้าง จะได้หาแนวทางช่วยเหลือ อาจจะมีการลดดอกเบี้ยบ้างในบางสถานการณ์ ถ้าเริ่มดีขึ้นค่อยปรับขึ้นก็ได้ ถ้าปล่อยไปแบบนี้มีปัญหาแน่นอน” สง่า ย้ำ