×

ควรใช้กลยุทธ์อย่างไรเมื่อจะคลายล็อกดาวน์ แต่ก็กลัว ‘Fed’ จะลด QE

25.08.2021
  • LOADING...

ตลาดหุ้นปรับขึ้นอย่างโดดเด่นและรวดเร็ว โดยใช้เวลาไม่กี่วันขึ้นมาเคลื่อนไหวใกล้บริเวณ 1,600 จุดแล้ว มีปัจจัยหนุนจากจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่เริ่มชะลอตัวลง ต่ำกว่าระดับ 2 หมื่นคนต่อวันต่อเนื่องมาหลายวัน รวมถึงภาครัฐเตรียมประเมินการผ่อนคลายมาตรการในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมามีแนวโน้มดีขึ้น จากจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มชะลอลง และยังเตรียมออกมาตรการคุมโควิดเพื่อเตรียมพร้อมเปิดประเทศแบบปลอดภัยภายใต้มาตรการควบคุมโรคแนวใหม่ รวมถึงมาตรการ Bubble and Seal สำหรับสถานประกอบกิจการที่พบการระบาด

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนหุ้นกลุ่มแบงก์ จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม ได้แก่ ขยายเวลาลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เหลือ 0.23% ถึงสิ้นปี 2565 รวมถึงผ่อนผันการจัดชั้นหนี้และการกันเงินสำรองสำหรับลูกหนี้สินเชื่อที่ร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว ซึ่งช่วยลดการตั้งสำรองของธนาคาร และทำให้ Credit Cost ลดลง ซึ่งเป็นบวกต่อส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) และผลการดำเนินงานในปีหน้า

ทั้งนี้ปัจจัยบวกที่กล่าวมาส่งผลให้มีแรงซื้อเข้ามาในกลุ่มเปิดเมือง (Reopen) และหุ้นขนาดใหญ่ และต้องยอมรับครับว่าการขึ้นของตลาดในครั้งนี้มากกว่าที่ผมคาดไว้ ซึ่งตลาดดูเหมือนไม่กังวลต่อการประชุมประจำปีของ Fed ในวันที่ 26-28 สิงหาคม ที่ Jackson Hole ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้รายงานประชุม Fed ในเดือนกรกฎาคม กรรมการ Fed ส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่าควรจะเริ่มลด QE ภายในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าดัชนีหุ้นไทย (SET) ที่เข้าใกล้ 1,600 จุด จะเริ่มมีแรงขายทำกำไร และยิ่งใกล้วันประชุม Fed ความกังวลจะเริ่มกลับมาอีกครั้ง ดังนั้นก่อนจะถึงกลยุทธ์การลงทุนที่แนะนำ ผมขอนำบทวิเคราะห์ของ SCBS ซึ่งประเมินแนวโน้มตลาดหุ้นไทยต่อประเด็นการลด QE มาสรุปให้ฟังดังนี้ครับ โดยเป็นการเปรียบเทียบสถานการณ์ในปี 2013 ที่ Fed มีการลด QE กับปัจจุบันในปี 2021 ซึ่งพบว่า 6 เดือนก่อน Fed ลด QE แนวโน้ม SET ปรับตัวลงเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ในปี 2021 ปรับลงน้อยกว่าในปี 2013 ที่ SET ปรับลงกว่า 22% เนื่องจากมองว่ามีตัวช่วยจากสภาพคล่องและความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั้งการเงินและการคลัง และปัจจัยสำคัญคือภาวะเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน โดยในปี 2013 ส่วนใหญ่กำไรของบริษัทจดทะเบียนถูกปรับประมาณการลง เนื่องจากการถอนสภาพคล่องและความกังวลเรื่องหนี้สิน ซึ่งอาจจะแตกต่างจากปี 2021 ที่อยู่ในภาพของการฟื้นตัว แต่มีเพียงโควิดที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในระยะสั้น ทำให้ตลาดไม่กังวลต่อภาพการปรับประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนมากนัก

ดังนั้นมองว่าแม้ความกังวลเรื่องการลด QE ของ Fed ยังมีอยู่ แต่เชื่อว่าจะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ไม่ได้ประเมินถึงความผันผวนและ Downside จาก Sentiment ที่แย่ลงจากการถอนสภาพคล่องของธนาคารกลางมากนัก กลยุทธ์การลงทุน จึงแนะนำให้ใช้โอกาสของ SET ที่ปรับตัวลง โดยเฉพาะหาก Fed ประกาศแผนลด QE ในการประชุมวันที่ 26-28 สิงหาคมนี้ เป็นโอกาสในการเข้าซื้อในหุ้นกลุ่มขนาดใหญ่ที่มีพื้นฐานดี

โดยแนะนำ OSP, BEM, AOT, CPALL และ BGRIM รวมถึงกลุ่มหุ้นที่มีแนวโน้มกำไรดี แนะนำ SCGP, GPSC และ GULF เพื่อรอขายทำกำไร โดยเฉพาะ SET บริเวณแถวจุดสูงเดิมที่ 1,640 จุด เนื่องจากหากขึ้นมาถึงบริเวณนี้ ผมมอง SET จะเริ่มมี Upside ที่จำกัด เนื่องจากปัจจัยบวกเรื่องการเติบโตของกำไรถูกรับรู้ไปมากแล้ว และคาดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะชะลอตัวลง รวมถึงปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการการเงินและการคลังก็มีแนวโน้มที่จะตึงตัวมากขึ้น ทำให้ SET มีความเสี่ยงต่อแรงขายทำกำไรจากมูลค่าที่ตึงตัว ในขณะที่การเติบโตของกำไรชะลอตัวลง

สุดท้ายนี้ ในมุมมองของผม อาจต้องระวังสถานการณ์ในครั้งนี้ของการลด QE อาจไม่เหมือนในปี 2013 กล่าวคือในปี 2013 เมื่อ Fed ลด QE ตลาดปรับลง และฟื้นตัวได้หลัง QE แต่ในครั้งนี้ ปี 2021 เมื่อ Fed ลด QE อาจกระทบในเชิงการปรับลงของดัชนีไม่มาก อย่างไรก็ตาม หลังจากลด QE แล้ว ตลาดอาจมีความเสี่ยงของแรงขายทำกำไรจากมูลค่าที่ตึงตัว ขณะที่อัตราการเติบโตของกำไรมีความน่าสนใจน้อยลง…แล้วพบกันใหม่ในคอลัมน์ฉบับหน้าครับ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising