×

ทำความเข้าใจปรากฏการณ์ราคาน้ำมันดิบสหรัฐฯ ติดลบครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ‘สภาวะหงส์ดำในทองคำสีดำ’

โดย SCB WEALTH
21.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของน้ำมันดิบ WTI ของเดือนพฤษภาคมที่มีการซื้อขายวันสุดท้ายในวันจันทร์ที่ 20 เมษายน และหมดอายุในวันที่ 21 เมษายน ปรับตัวลดลงจนมาติดลบในระดับที่มากกว่า 30 ดอลลาร์ หมายความว่าผู้ที่ถือสัญญาตัวนี้ไปซื้อน้ำมันดิบจะได้ทั้งน้ำมันและเงินทอนด้วย
  • SCBS เชื่อว่าราคาน้ำมันดิบ WTI ของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในเดือนมิถุนายนจะไม่ผันผวนเท่ากับที่เกิดขึ้นกับสัญญาซื้อขายเดือนพฤษภาคม เนื่องจากภาวะต่างๆ ที่ผิดปกติมากในช่วงราว 2 เดือนที่ผ่านมา
  • นอกจากนี้ OPEC+ รวมถึงสหรัฐฯ จะเริ่มลดกำลังการผลิตในอีกไม่กี่วันนี้แล้ว ซึ่งน่าจะทำให้อุปสงค์และอุปทานอยู่ในสภาวะสมดุลมากขึ้น รวมไปถึงการบริหารน้ำมันดิบสำรองจะทำได้ดีขึ้น ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบ WTI ก็น่าจะลดลงเช่นกัน

สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลดลงมาในระดับติดลบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ หรือที่เรียกกันว่า Black Swan (เหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นและมีความน่าจะเป็นต่ำมากที่จะเกิดขึ้น แต่ก็เกิดขึ้นแล้ว) 

 

โดยราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของน้ำมันดิบ WTI เดือนพฤษภาคมที่มีการซื้อขายวันสุดท้ายในวันจันทร์ที่ 20 เมษายน และหมดอายุในวันที่ 21 เมษายน ปรับตัวลดลงจนมาติดลบในระดับที่มากกว่า 30 ดอลลาร์ หมายความว่าผู้ที่ถือสัญญาตัวนี้ไปซื้อน้ำมันดิบจะได้ทั้งน้ำมันและเงินทอนด้วย แม้จะได้ทั้งเนื้อน้ำมันและได้เงินทอนกลับมา ดูคุ้มค่าขนาดนี้ แต่ทำไมราคาน้ำมันจึงยังปรับลดลงมาอีก ลองมาทำความเข้าใจสัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าให้มากขึ้นกันก่อน

 

  1. ราคาน้ำมันดิบที่เราเห็นกันตามเว็บไซต์ทางการเงินชั้นนำ รวมถึงแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือต่างๆ จะเป็นราคาน้ำมันดิบ WTI และ Brent เป็นส่วนใหญ่ จะเห็นได้ว่าราคามันจะแตกต่างกัน โดย Brent มักจะแพงกว่าและมีความผันผวนที่ต่ำกว่า

 

  1. WTI คือราคาน้ำมันดิบที่มีการผลิตและส่งมอบกันที่สหรัฐฯ ส่วน Brent จะเป็นราคาน้ำมันดิบที่ผลิตและมีการส่งมอบกันที่ทะเลเหนือ โดยน้ำมันดิบในสหรัฐฯ จะเบากว่า มีซัลเฟอร์น้อยกว่า คุณภาพจะต่ำกว่าน้ำมันที่ผลิตและส่งมอบกันที่ทะเลเหนือ จึงมีราคาที่ต่ำกว่า

 

  1. ราคาน้ำมันดิบ WTI และ Brent ที่เราเห็นมักจะเป็นสัญญาคนละเดือนกัน อย่าง WTI จะเป็นสัญญาของเดือนถัดไป และจะหมดอายุโดยนับจากวันที่ 25 ขึ้นมา 4 วันทำการของแต่ละเดือน อย่างสัญญาของเดือนพฤษภาคมจะหมดอายุในวันที่ 21 เมษายน และซื้อขายวันสุดท้ายในวันที่ 20 เมษายน  

ส่วนน้ำมันดิบ Brent จะต่างกัน โดยสัญญาล่วงหน้าของน้ำมันดิบ Brent ที่เราเห็นจะเป็นราคาของสัญญาล่วงหน้า 2 เดือน ยกตัวอย่างเช่น สัญญาซื้อขายส่งมอบในเดือนมิถุนายนจะซื้อขายวันสุดท้ายในวันที่ 30 เมษายน


ทำให้เราเห็นราคาน้ำมันดิบ WTI ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาดูผันผวนและปรับลดลงแรงกว่า Brent มากจนน่าประหลาดใจ

 

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ซื้อขายกันวันสุดท้ายลดต่ำลงในระดับติดลบ

 

  1. ผู้ที่เข้ามาซื้อขายสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ทำธุรกิจน้ำมันจริงและต้องการเนื้อน้ำมันจริงอย่างพวกโรงกลั่นต่างๆ และอีกกลุ่มคือพวกสถาบันการเงินอย่างบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม เทรดเดอร์ และกองทุนแบบต่างๆ ที่ต้องการเก็งกำไรส่วนต่าง แต่ไม่ได้ต้องการน้ำมันจริง ซึ่งเม็ดเงินจากกลุ่มหลังนี้มากกว่ากลุ่มแรกพอสมควร โดยเฉพาะเม็ดเงินที่เข้ามาเก็งกำไรใน ETF ที่ชื่อว่า US Oil Fund หรือ USO ซึ่งส่งผลให้ ETF ตัวนี้เข้ามาถือครองสัญญา WTI เดือนพฤษภาคมในระดับสูงถึง 25% ของทั้งหมด

 

  1. คนในกลุ่มที่สองที่กล่าวไปข้างต้นเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ต้องการน้ำมันจริงๆ อย่างแน่นอน สิ่งที่เขาจะต้องทำในช่วงเวลาที่สัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะหมดอายุก็คือขายสัญญาที่ถือในมือออกไปซื้อสัญญาตัวใหม่แทน หรือที่เรียกว่า Rollover แต่ในช่วงภาวะผิดปกติแบบนี้ทำให้มีคนเข้ามาซื้อสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของเดือนพฤษภาคมในวันสุดท้ายต่ำมากจนราคาลงมาติดลบมากกว่า 30 ดอลลาร์อย่างที่เห็น ดังนั้นต่อให้กลุ่มที่ต้องการเนื้อน้ำมันจริงๆ จะเข้ามาซื้อก็ตาม ความต้องการก็ยังไม่เพียงพอ

 

  1. ในภาวะที่ความต้องการน้ำมันผิดปกติ คือต่ำมากผิดปกติเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงต่ำมาก ปริมาณการใช้น้ำมันลดลงจากช่วงปกติเกิน 90% ส่งผลให้คลังสำหรับกักเก็บน้ำมันเหลือปริมาณที่จะเก็บน้ำมันเพิ่มได้ไม่มากนัก 

 

จากการสำรวจล่าสุดของ Rabobank ในวันที่ 19 เมษายน 2020 คลังสำหรับเก็บน้ำมันดิบมีการเก็บไปแล้วถึง 55 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ความจุทั้งหมดสามารถรองรับได้ 92 ล้านบาร์เรล ทำให้เหลือความจุที่จะรองรับน้ำมันดิบได้อีกราว 37 ล้านบาร์เรลเท่านั้น

 

  1. เมื่ออุปทานมากกว่าอุปสงค์ค่อนข้างมาก ส่งผลให้มีน้ำมันดิบเหลือเพิ่มสัปดาห์ละประมาณ 5 ล้านบาร์เรล และถ้าตัวเลขยังเป็นแบบนี้ ภายใน 7-8 สัปดาห์จะไม่มีที่เหลือให้เก็บน้ำมันอีกต่อไป

 

  1. การประชุม OPEC+ ในสัปดาห์กว่าๆ ที่ผ่านมาจึงต้องเกิดขึ้น โดยได้ข้อสรุปที่ลดกำลังการผลิตต่อวันลง 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน และจะเริ่มลดในวันที่ 1 พฤษภาคม 2020 เป็นเวลา 2 เดือน และเวลาที่เหลือจะลดแบบขั้นบันได แต่ตัวเลขการลดกำลังการผลิตทั่วโลกอาจจะมากถึง 15 ล้านบาร์เรลต่อวันได้ อยู่ที่ทางสหรัฐฯ ว่าจะช่วยลดต่อวันเท่าไร ซึ่งเขาจะต้องช่วยลดแน่ๆ ไม่อย่างนั้นจะไม่มีที่เก็บน้ำมัน

 

  1. ราคาน้ำมันดิบ WTI ของเดือนมิถุนายน 2020 อยู่ที่ระดับ 22-23 ดอลลาร์ ถึงแม้จะปรับลดลงแรงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็ยังอยู่ในภาวะปกติ ไม่ได้ติดลบเหมือนสัญญาของเดือนพฤษภาคม 2020

 

ด้วยสภาวะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ตัวที่ยาวกว่า สูงกว่าตัวใกล้สุดมากๆ ทำให้ราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ในสภาวะ Super Contango ล่าสุดสัญญาเดือนมิถุนายนต่างจากราคาของเดือนกันยายนถึง 9 ดอลลาร์ ถึงแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกและสหรัฐฯ จะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าในเดือนพฤษภาคม กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะคึกคักมากขึ้นจากการค่อยๆ คลายมาตรการล็อกดาวน์อย่างระมัดระวัง ซึ่งจะทำให้ความต้องการน้ำมันค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้

 

ด้วยความผิดปกติในช่วงต้นเดือนมีนาคม ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศต่างๆ และการทำสงครามราคาน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย จนสหรัฐฯ ทนไม่ไหว ต้องเข้ามาเป็นตัวกลางในการต่อสายคุยระหว่าง 3 มหาอำนาจของประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบอย่าง สหรัฐฯ ซาอุดีอาระเบีย และรัสเซีย โดยได้ข้อสรุปจากการประชุม OPEC+ ว่าจะมีการลดกำลังการผลิตลงสูงถึง 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2020 จากนั้นก็จะลดกำลังการผลิตเหลือ 8 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วง 6 เดือนที่เหลือของปี 2020 และจะลดกำลังการผลิตเหลือ 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเริ่มในวันที่ 1 มกราคม 2021 จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2021

 

ทาง SCBS เชื่อว่าราคาน้ำมันดิบ WTI ของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในเดือนมิถุนายนจะไม่ผันผวนเท่ากับที่เกิดขึ้นกับสัญญาซื้อขายเดือนพฤษภาคม เนื่องจากภาวะต่างๆ ที่ผิดปกติมากในช่วงราว 2 เดือนที่ผ่านมาอย่างเรื่องการทำสงครามราคาน้ำมันและการเข้ามาเก็งกำไรในราคาน้ำมันดิบ WTI ผ่าน ETF ที่ชื่อ USO ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายนในปริมาณสูงจากข่าวการลดกำลังการผลิต OPEC+ คงจะไม่เกิดขึ้นอีก 

 

นอกจากนี้ OPEC+ รวมถึงสหรัฐฯ ก็จะเริ่มลดกำลังการผลิตในอีกไม่กี่วันนี้แล้ว ก็น่าจะทำให้อุปสงค์และอุปทานอยู่ในสภาวะสมดุลมากขึ้น รวมไปถึงการบริหารน้ำมันดิบสำรองจะทำได้ดีขึ้น ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบ WTI ก็น่าจะลดลงเช่นกัน

กราฟราคาน้ำมันดิบ WTI เดือนพฤษภาคม ที่ซื้อขายวันสุดท้ายในวันที่ 20 เมษายน 2020 / ภาพ: Bloomberg 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X